Thursday, May 31, 2007

วิสาขบูชา 2550

Image and video hosting by TinyPic

วิสาขบูชา

วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ เวลาใกล้เที่ยง ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี พระโพธิสัตว์ เจ้าชายสิทธัตถะ พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริมหามายา ได้ประสูติใต้ต้นไม้รังหรือสาละ แห่งลุมพินีวัน

เป็นธรรมดาแห่งองค์พระโพธิสัตว์ เมื่อประสูติแล้วจักสามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้ เมื่อประสูติแล้วพระราชกุมารทรงพระดำเนินไป ๗ ก้าว และทรงเปล่งอาสภิวาจา คือ ประกาศพระองค์เป็นเอกในโลกว่า

“อัคโคหะ มัสมิ โลกัสสะ เชฎโฐ เสฏโฐหะมัสมิ
อะยะมันติมา เม ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโว”

แปลว่า “ในโลกนี้เราเป็นหนึ่ง เราเป็นยอด เราเป็นเลิศประเสริฐที่สุด
การเกิดครั้งนี้ของเรา เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มีสำหรับเรา”
เมื่อพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ได้เสด็จออกผนวช ทรงศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส กามลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่ไม่ทรงค้นพบธรรมที่พระองค์ทรงแสวงหา จึงได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงบรรลุธรรม จึงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จนกระทั่งในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ทรงเอาชนะมาร คือ กิเลสที่เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์ จึงทรงหักห้ามพระทัยเอาชนะมารเหล่านั้น ทรงระลึกถึงพระบารมี ๑๐ ทัศ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ที่ทรงบำเพ็ญมา และต่อมาทรงบรรลุญาณต่างๆ ได้แก่
ปฐมยาม ทรงบรรุลปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติได้ ทำให้ทรงหยั่งรู้ว่าขันธ์ (รูป-นาม) เป็นเพียงสภาวะอย่างหนึ่งเท่านั้นที่รวมกันเข้าเป็นขันธ์ จึงเป็นผลทำให้ทรงกำจัดความหลงใหลในขันธ์ (นาม-รูป) อันเป็นเหตุรักและชังเสียได้
มัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ (ทิพพจักขุญาณ) ทรงมองเห็นการเกิดและดับของขันธ์ของสรรพสัตว์ได้ และทำให้ทราบว่าขันธ์ (รูป-นาม) มีการเกิดขึ้น แปรปรวน และดับไปเหมือนกันหมด จะมีเลว ดี สุข ทุกข์ ก็เพราะกรรมที่ทำเอาไว้ เป็นผลให้ทรงกำจัดความหลงใหลในคติแห่งขันธ์ อันเป็นเหตุให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นเสียได้
ปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือ ปัญญารู้เหตุสิ้นไปแห่งอาสวะ เครื่องเศร้าหมองที่หมักหมมอยู่ในสันดาน เป็นเหตุให้ทรงหยั่งรู้ขันธ์ พร้อมทั้งอาการโดยความเป็นเหตุ เป็นผลสืบต่อเนื่องติดต่อกันไป เหมือนลูกโซ่ซึ่งคล้องกันเกี่ยวกันเป็นสาย ที่เรียกว่า อิทัปปัจตาปฏิจจสมุปบาท และทรงเข้าใจในอริยสัจ ๔ ประการ จึงถือว่าทรงตรัสรู้โดยพระองค์เอง ทรงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเผยแพร่ธรรมแก่สัตว์โลกเป็นเวลา ๔๕ พรรษา จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน และทรงมีพระพุทธปัจฉิมโอวาทว่า
“หันทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิโว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ”
แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงล้วนมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผ็อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพาน เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเพ็ญเดือน ๖ ณ ตำบลสาลวโนทยาน นครกุสินารา รัฐมัลละ

Wednesday, May 30, 2007

สะเดาะเคราะห์

นะโมเม โรเตโข สัพพะเทวานัง
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สัพพะธัมมานุภาเวนะ สัพพะสังฆานุภาเวนะ
พระเคราะหะจะเทวะดา สุริยัง จันทังปะมุญจะถะ
สะสิภุมโมจะเทวานัง พุทโธลาภัง ภะวิสสะติ
ชีโวสุโขจะมะหาลาภัง สัพพะทุกขัง วินาศสันติ

กราบ ๓ ครั้ง แล้วว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ
สวดอย่างนี้ ๗ วัน

พระคาถาหลวงพ่อปาน (คลองด่าน)
พุทธะเสฏโฐ มะหานาถัง
วัณณะโก สิงหะนาทะกัง
พุทธะสิริสา เตเชนะ มาระเสนา
ปะราชัยยัง ชัยยะ ชัยยะ ภะวันตุเมฯ

(ภาวนาเป็นประจำ จะเกิดเมตตามหาอำนาจ)

Tuesday, May 29, 2007

มงคลชีวิต

มงคลชีวิต

ไม่มีอะไรยาก สำหรับคนที่มีความเพียรไม่มีอะไรง่าย สำหรับคนที่เกียจคร้าน

For the industrious Nothing is difficult,For the lazy-bones Nothing is easy.

พิทักษ์คนพาล ระรานคนดี เป็นวิถีทางที่ผิดกำจัดคนพาล บริหารคนดี เป็นวิธีที่ถูก
It is wrong to protect the rogue And to harass the good;
It is right to get rid of the rogueAnd to attend the good.

โลกนี้เป็นสวรรค์ ถ้าแบ่งปันน้ำใจโลกนี้เป็นไฟ ถ้าหวังได้แต่เงิน
The world will become a paradiseShould the worldlings be charitable;
The world will be aflameShould the worldlings be money-grubbers.

เป็นอยู่อย่างผู้ใหญ่ ต้องใฝ่คุณธรรมเป็นอยู่อย่างผู้นำ ต้องทำเป็นแบบอย่าง
To live as a mature person means to Have righteousness cultivated;
To live as a leader means.To be an exemplar.

เป็นอยู่อย่างคนไทย อย่าหลงใหลต่างชาติเป็นอยู่อย่างฉลาด ต้องสะอาดกายใจ
To live as a Thai means not to Be deluded by foreigners;
To live wisely means to be cleanIn the body and the mind.

อาชีพทำได้ตามกาล การศึกษาทำได้ทุกโอกาส
Occupation is executed at certain times,
Education is executed all the time.

ควายโง่ยังใช้ทำงานได้ คนโง่ใช้ทำอะไรไม่ได้เลย
A stupid buffalo is still good for work,
A stupid fellow is good for nothing.

(พระพุทธพจนวราภรณ์ 8 ธ.ค. 46)


พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ความโศกเกิดจากความรัก
ความกลัวก็เกิดจากความรัก
ถ้าความรักไม่มีเสียแล้ว
ความโศกและความกลัวจะมีมาแต่ที่ไหน”
๑๖๔/๑๔

ศีลมีเจตนาเป็นพื้นฐาน
ถ้าผู้ไม่มีเจตนาจะงดเว้นแล้ว
ศีลทั้งหมดก็จะไม่มีในบุคคลผู้นั้นเลย
เจตนาจะมีก็เพราะผู้นั้นเห็นโทษในข้อนั้นๆ เสียก่อน
จึงงดเว้นพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า เจตนาตัวเดียวเป็นศีล
๙๑/๑๐[ จาก เทสโกวาท หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ]

ทางไปหาสุข-หาทุกข์




ทางขึ้นไปหาสุข ต้องบุกรุก ต้องระหกระเหิน
เดินเมื่อยขา ต้องไต่เขา ฝ่าหนาม ข้ามคงคา แสนระอา ลำบากไม่อยากไป

ทางเดินลงไปหาทุกข์สนุกยิ่ง น่าไปจริงหนทางกว้างใหญ่
ทั้งราบรื่นเดินง่ายกระไร ยั่วยวนใจจริงจัง ทำให้คนส่วนมากอยากจะจร

พระครูอาคมวุฒิคุณ (วิจิตร อินทปัญโญ) วัดใหม่บ้านดอน นครราชสีมา

Sunday, May 27, 2007

อานิสงส์การมีความกตัญญู

อานิสงส์การมีความกตัญญู
๑.ทำให้รักษาคุณความดีเดิมไว้ได้
๒.ทำให้สร้างคุณความดีใหม่เพิ่มได้อีก
๓.ทำให้เกิดหิริ โอตตัปปะ
๔.ทำให้เกิดขันติ
๕.ทำให้จิตใจผ่องใส มองโลกในแง่ดี
๖.ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู
๗.ทำให้ทั้งมนุษย์ และเทวดาอยากช่วยเหลือ
๘.ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิต
๙.ทำให้เป็นที่น่าคบหาของคนดี
๑๐.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

นิทานเศรษฐกิจพอเพียง [ Posttoday 30-03-50




นิทานเศรษฐกิจพอเพียง Posttoday 30-03-50

นิทานไทยเรื่องหนึ่งเล่าถึงพ่อค้า ๒ คน คนหนึ่งค้าข้าว อีกคนค้าหนังวัวควาย ทั้งคู่เดินทางรอนแรมไปต่างเมืองเพื่อซื้อสินค้ากลับมาขาย ระหว่างทางใกล้ค่ำ พบวัดแห่งหนึ่งจึงเข้าไปแนะนำตัวเองและแจ้งกับลูกศิษย์วัดที่พบว่า จะขออาศัยค้างคืนที่วัด ลูกศิษย์วัดไปกราบเรียนเจ้าอาวาส หลวงพ่อไม่ขัดข้องและกำชับให้ลูกศิษย์ดูแลผู้ผ่านทางให้ดีตามอัตภาพของวัด เนื่องจากวัดดังกล่าวเป็นวัดเล็ก ๆ จึงมีมุ้งหมอนห้องหับที่จะใช้เป็นที่นอนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น หลวงพ่อสั่งกับลูกวัดว่า ให้จัดที่นอนให้กับพ่อค้าข้าว ส่วนพ่อค้าหนังสัตว์ให้นอนระเบียงด้านนอก พ่อค้าทั้งสองไม่ขัดข้อง วันรุ่งขึ้นทั้งคู่ก็ออกเดินทางต่อไป ไม่นานนัก พ่อค้าทั้งสองเดินทางกลับมาอีกครั้งหนึ่งในเที่ยวขากลับ และมาขอพักที่วัดเดิมอีก ลูกศิษย์เตรียมจัดที่พักให้แบบเดียวกับครั้งแรก ปรากฏว่าหลวงพ่อกลับสั่งลูกศิษย์ว่า คราวนี้ให้จัดที่นอนให้กับพ่อค้าหนังสัตว์ ส่วนพ่อค้าข้าวให้นอนด้านนอก ลูกศิษย์วัดแม้จะสงสัยแต่ก็ทำตามสั่งเช้าวันรุ่งขึ้น พ่อค้าทั้งสองมานมัสการลาและขอบพระคุณในความเอื้อเฟื้อ พร้อมกับแสดงความชื่นชมว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีความยุติธรรมให้สลับกันนอนลำบากคนจะคืน หลวงพ่อตอบว่าที่ให้นอนสลับกันลำบากคนละคืนนั้น ท่านมิได้คิดจากหลักของการเฉลี่ยหรือสลับกันลำบาก เพราะไม่ทราบว่าขากลับพ่อค้าทั้งคู่จะเดินทางผ่านทางนี้อีกหรือไม่ ทั้งลูกศิษย์และพ่อค้าต่างประหลาดใจในคำตอบ จึงกราบเรียนถามว่า ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อเอาเกณฑ์อะไรให้ลูกศิษย์จัดที่นอน ท่านตอบว่าเอาเกณฑ์ของเจตนาในการเดินทาง ท่านคิดว่าในขาไปซื้อสินค้านั้น พ่อค้าข้าวย่อมคิดอยากให้สถานที่ซึ่งตนจะไปซื้อข้าวนั้น บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ผู้คนเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตดี มีข้าวกินเหลือขายไม่อดอยากขาดแคลน ตนเองจะได้ซื้อข้าวกลับไปขายได้ แต่พ่อค้าหนังสัตว์ในขาเดินทางไป ย่อมคิดอยากให้เมืองที่ตนเองไปนั้นมีสัตว์ล้มตายจำนวนมาก ๆ เช่นเกิดโรคระบาด เพื่อจะได้มีหนังสัตว์จำนวนมากให้ซื้อกลับไปขาย ดังนั้นพ่อค้าข้าวจึงสมควรได้รับการจัดที่นอนให้ดีกว่าพ่อค้าหนังสัตว์ ในทางกลับกัน เมื่อพ่อค้าทั้งสองเดินทางขากลับ พ่อค้าข้าวย่อมคิดอยากให้บ้านเมืองที่จะไปขายข้าวนั้น เกิดภัยธรรมชาติ ข้าวยากหมากแพง เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล เพื่อตนเองจะได้ขายข้าวได้มากและราคาดี แต่พ่อค้าหนังสัตว์ย่อมอยากให้วัวควายแข็งแรงไม่ล้มตาย เพื่อจะได้ขายหนังสัตว์ได้มาก ท่านจึงคิดว่าพ่อค้าหนังสัตว์ควรได้นอนสบายเมื่อพ่อค้าทั้งสองคนฟังแล้วก็ตอบหลวงพ่อไปตามตรงว่าในใจของตนนั้น คิดอย่างที่หลวงพ่อกล่าวมาจริง ๆ คือ คิดแต่รายได้ ผลกำไรของตนเองเป็นสำคัญ และอยากให้สิ่งอื่น ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามประโยชน์ของตนเอง โดยมิได้นึกถึงประโยชน์และชีวิตของผู้อื่นเลย จึงกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่นอกจากจะให้พี่พักแล้วยังให้สติแก่การประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต คือสอนมิให้คิดเอาแต่ได้หรือเอาแต่ประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง หากจะต้องคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย และไม่ควรที่จะหาประโยชน์ของตนเองบนความทุกข์ยากของผู้อื่น หรือด้วยความละโมบโลภมากโดยไม่คิดถึงใจเขาใจเรา และประโยชน์ในภายหน้าซึ่งมีร่วมกัน ที่พุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์สูงสุดซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดความยั่งยืน สรรพชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนหรือเบียดเบียนกันน้อยที่สุด การประกอบอาชีพหรือการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตนเองนั้น ในทางพุทธศาสนาจึงต้องมีจริยธรรมกำกับหรือหลอมรวมอยู่ในวิธีคิดของบุคคลเสมอไป มิเช่นนั้นการประกอบอาชีพหรือการทำมาหากินจะสร้างการเบียดเบียนเอาเปรียบคนอื่น ชีวิตอื่น-สิ่งอื่นในธรรมชาติได้มาก เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นและสิ่งอื่นเป็นอันมาก ที่สำคัญกว่านั้นคือ มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์โลกทั่วไปซึ่งหากินตามสัญชาติญาณ คือเมื่ออิ่มแล้วก็พอ และไม่มีความสามารถที่จะสะสมหรือแม้สะสมก็เป็นไปตามความจำเป็น เช่น เพียงพอเพื่อให้อยู่รอดได้ในช่วงหน้าแล้ง – หน้าหนาว แต่มนุษย์เรามีความสามารถและความรู้ในทางสติปัญญาที่จะสะสม ในขณะเดียวกันก็มีธรรมชาติฝ่ายต่ำ-ฝ่ายสูง คือ มีด้านหนึ่งซึ่งไม่พอเพียง ได้แก่ความโลภอยากได้ไม่สิ้นสุด แต่ในทางตรงข้าม มนุษย์ก็มีธรรมชาติในด้านดีงาม คือความเมตตากรุณา และสำนึกทางจริยธรรมที่คิดคำนึงถึงผู้อื่น-สิ่งอื่นด้วย หากได้รับการปลูกฝังอบรมขัดเกลา เรียนรู้จากครอบครัว ชุมชน สังคม ที่มีกฎเกณฑ์จัดระเบียบการเลี้ยงชีพและใช้ทรัพยากรให้พอเพียงแก่ทุกคน เพื่อมิให้มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมากนัก แม้ในกรณีมีความแตกต่างทางความสามารถ สติปัญญา โอกาส ฯลฯ ก็จะใช้อย่างมีสำนึกทางจริยธรรม คือรู้จักจำกัดการได้-การเอาของตนแต่พอเพียง ไม่คิดเอาเปรียบ มีชีวิตมั่งคั่งเสพสุขบนความเดือดร้อนของผู้อื่น-สิ่งอื่น แม้จะสามารถทำได้โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ก็ตาม ความพอเพียงของมนุษย์จึงเกิดขึ้นด้วยการเรียนรู้บ่มเพาะส่งเสริมธรรมชาติฝ่ายดีของมนุษย์ ให้มีวิธีคิดและจิตสำนึกมองเห็นถึงผู้อื่นสิ่งอื่นในชีวิตของเราเป็นเบื้องต้น และมองเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งเฉพาะหน้า(ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน)และประโยชน์สูงสุด คือความยั่งยืนของธรรมชาติ(ธรรม)อันเป็นที่พึ่งสูงสุดและสุดท้ายของสรรพชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องเกิดจากสังคมมีกฎกติกาและกลไกที่จะควบคุมหรือจัดระเบียบให้องค์ประกอบทุกระดับทั้งปัจเจกบุคคล ชุมชน ธุรกิจ สังคม รัฐ ฯลฯ มิให้โลภได้โดยไม่สิ้นสุด จนกระทั่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น-สิ่งอื่น รวมถึงตนเองในที่สุดด้วย เมื่อเกิดภัยธรรมชาติจากการผลาญทรัพยากรในระบบนิเวศจากกิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์กฎเกณฑ์ของสังคมดังกล่าว มิได้คิดจากเกณฑ์เฉลี่ยเหมือนดังที่พ่อค้าในนิทานคิดและเข้าใจ หากมีฐานคิดที่คำนึงถึงจริยธรรมเป็นหลักสำคัญเบื้องต้นของการจัดการ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญที่จะตอบแทนผู้ที่คิดดีคิดชอบอย่างเหมาะสมด้วย เพื่อให้จริยธรรมและความพอเพียงนั้น"กินได้" สามารถบันดาลความสุขอันยั่งยืนได้จริงด้วย มิใช่เพียงคำพูดหรือแนวคิดลอย ๆ

อรศรี งามวิทยาพงศ์
คอลัมน์ มองย้อนศร[ เป็นคอลัมน์รายสัปดาห์ ลงตีพิมพ์ใน โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ เขียนโดย..ทีมงานพุทธิกา
http://www.budnet.info/webboard/view.php?category=texta&wb_id=116

Thursday, May 24, 2007

ถ้าเราเจริญกรรมฐาน จะพบความสำเร็จของชีวิต

ถ้าเราเจริญกรรมฐาน จะพบความสำเร็จของชีวิต

ถ้าเราเจริญกรรมฐาน จะพบความสำเร็จของชีวิต เราชนะแล้วซึ่งจิตใจของเรา มีสติสัมปชัญญะ รู้จักระวังตัว รู้จักควบคุมตัวได้ รู้จักเชื่อฟังผู้มีพระคุณได้ เป็นอิสรเสรีในชีวิตได้ เราชนะใจตัวเองได้จึงจะได้ผล จะเป็นคนขยันไม่จับจด รักงาน สู้งาน ไม่มีเดี๋ยว ประหยัด รู้จักใช้ชีวิตและทรัพย์สินอย่างถูกต้อง และคุ้มค่า ไม่ใช่นั่งแล้วไปสวรรค์นิพพานอย่างที่ท่านเข้าใจ ผู้ที่ทำกรรมฐานได้จะรู้จักพัฒนาตนเองและอาชีพให้ดีขึ้น ไม่เป็นคนด้อยโอกาส จะเป็นคนมีทรัพย์ มีชื่อเสียง มีความรัก มีความสามัคคี กายสามัคคี จิตสามัคคี คนที่มีกรรมฐานจะรักครอบครัว รักหลาน รักหมู่คณะ รักประเทศชาติ จะไม่แตกพรรคแตกพวกแต่ประการใด

จะมีคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่ เป็นคนอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ อุตสาหะพยายาม และปฏิบัติตามระเบียบวินัย เขาจะรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ จะทำตัวให้ถูกกับกาละ เทศะ กิจจะ ลักษณะ จะไม่น่าเกลียด ไม่เดียดฉันท์ จะมีสติปัญญาสูง มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 ประการ คือ 1. รู้จักคิด ระบบความคิดจะดีขึ้น 2. รู้จักปรับตัวเอง 3. รู้จักแก้ปัญหา 4. มีทักษะในการทำงานและค่านิยมที่ดีงาม การพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการเจริญกรรมฐาน มีเป้าหมายดังนี้ 1. มุ่งให้ความเป็นอยู่ในครอบครัวดีขึ้น สามีภรรยาไม่มีการทะเลาะกัน ลูกเรียนหนังสือเก่งหมด 2. มุ่งให้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม 3. มุ่งให้มีเมตตาปรารถนาสุขต่อกัน 4. มุ่งให้อยู่ดีกินดี ไม่มีโรคาพยาธิเบียดเบียน
ที่มา :
http://www.jarun.org

Wednesday, May 23, 2007

มหาปทุมชาดก


มหาปทุมชาดก

พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่เห็นโทษของผู้อื่นว่าน้อยหรือมาก โดยประการทั้งปวง ไม่พิจารณาด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว ไม่พึงลงอาชญา

กษัตริย์พระองค์ใด ยังไม่ทันพิจารณาแล้วทรงลงพระราชอาชญา กษัตริย์พระองค์นั้นชื่อว่า ย่อมกลืนกินพระกระยาหารด้วยหนาม เหมือนคนตาบอดกลืนกินอาหารพร้อมด้วยแมลงวันฉะนั้น

กษัตริย์พระองค์ใด ทรงลงพระราชอาชญากับผู้ไม่ควรจะลงพระราชอาชญา ไม่ทรงลงพระราชอาชญากับผู้ที่ควรลงพระราชอาชญา กษัตริย์พระองค์นั้นเป็นเหมือนคนเดินทางไม่ราบเรียบ ไม่รู้ว่าทางเรียบหรือไม่เรียบ

กษัตริย์พระองค์ใด ทรงเห็นเหตุที่ควรลงพระราชอาชญา และไม่ควรลงพระราชอาชญา และทรงเห็นเหตุนั้นโดยประการทั้งปวงเป็นอย่างดีแล้ว ทรงปกครองบ้านเมือง กษัตริย์พระองค์นั้นสมควรปกครองราชสมบัติ

กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อนโยนโดยส่วนเดียว หรือมีพระทัยกล้าโดยส่วนเดียว ก็ไม่อาจที่จะดำรงพระองค์ไว้ในอิสริยยศที่สูงใหญ่ได้ เพราะเหตุนั้นกษัตริย์ไม่พึงประพฤติเหตุทั้งสอง คือ พระทัยอ่อนเกินไป และกล้าเกินไป

กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อน ก็ถูกประชาราษฎร์ดูหมิ่น กษัตริย์ผู้มีพระทัยแข็งนักก็มีเวร กษัตริย์ควรทราบเหตุทั้งสองอย่างแล้วประพฤติเป็นกลางๆ

ข้าแต่พระราชา คนมีราคะย่อมพูดมาก แม้คนมีโทสะก็พูดมาก พระองค์ไม่ควรจะให้ปลงพระชนม์พระราชโอรส เพราะเหตุแห่งหญิงเลย

ข้อความจากมหาปทุมชาดก

Tuesday, May 22, 2007



FW: " ลุงแจวเรือจ้าง...กับหนุ่มนักเรียนนอก..."
Date: Tue, 22 May 2007 13:19:16 +0000

เด็กหนุ่มคนหนึ่ง...เป็นชาวสงขลา...
เรียนเก่งมาก...
ได้ทุนไปเรียนอเมริกา...ตั้งแต่เด็ก...จนจบด็อกเตอร์...
จึงกลับมาเยี่ยมบ้าน...
บ้านของเด็กหนุ่ม...
อยู่อีกฟากหนึ่ง...ของทะเลสาบสงขลา...
ต้องนั่งเรือแจว...ข้ามไป...ใช้เวลาแจวประมาณหนึ่งชั่วโมง...
เรือที่ติดเครื่องยนต์...ไม่มีเหรอ...ลุง...?
ไม่มีหรอกหลาน...ที่นี่มันบ้านนอก...
มันห่างไกลความเจริญ...มีแต่เรือแจว...
โอ...ล้าสมัยมากเลยนะลุง...โบราณมาก...
ที่อเมริกา....เขาใช้เครื่องบินกันแล้วลุง...ลุงยังมานั่งแจวเรืออยู่อีก...
ไปส่งผมฝั่งโน้น...เอาเท่าไร...ลุง...?
80 บาท...
OK...ไปเลยลุง...
ในขณะที่ลุงแจวเรือ...
หนุ่มนักเรียนนอก...ก็เล่าเรื่องความทันสมัย...
ความก้าวหน้า...ความศิวิไลช์...ของอเมริกาให้ลุงฟัง...
เมืองไทย...เมื่อเทียบกับอเมริกาแล้ว...ล้าสมัยมาก...
ไม่รู้คนไทย...อยู่กันได้ยังไง...?
ทำไมไม่พัฒนา...ทำไมไม่ทำตามเขา...เลียนแบบเขาให้ทัน...?
ลุง...ลุงใช้คอมพิวเตอร์...ใช้อินเตอร์เน็ต...เป็นไหม...?
ลุงไม่รู้หรอก...ใช้ไม่เป็น...
โอโฮ้...ลุงไม่รู้เรื่องนี้น่ะ....ชีวิตลุงหายไปแล้ว...25 %....
แล้วลุงรู้ไหมว่า...เศรษฐกิจของโลก...ตอนนี้เป็นยังไง...?
ลุงไม่รู้หรอก...
ลุงไม่รู้เรื่องนี้นะ...ชีวิตของลุงหายไป...50 %
ลุง...ลุงรู้เรื่องนโยบายการค้าโลกไหม...ลุง...?
ลุง...ลุงรู้เรื่องดาวเทียมไหม...ลุง...?
ลุงไม่รู้หรอก...หลานเอ๊ย...
ชีวิตของลุง...ลุงรู้อยู่อย่างเดียว...
ว่าจะทำยังไง...ถึงจะแจวเรือให้ถึงฝั่งโน้น...
ถ้าลุงไม่รู้เรื่องนี้...ชีวิตของลุง...หายไปแล้ว...75 %
พอดีช่วงนั้น...
เกิดลมพายุพัดมาอย่างแรง...คลื่นลูกใหญ่มาก...ท้องฟ้ามืดครึ้ม...
นี่พ่อหนุ่ม...เรียนหนังสือมาเยอะ...จบดอกเตอร์จากต่างประเทศ...
ลุงอยากถามอะไรสักหน่อยได้ไหม...?
ได้...จะถามอะไรหรือลุง...?
เอ็งว่ายน้ำเป็นไหม...?
ไม่เป็นจ๊ะ...ลุง....
ชีวิตของเอ็ง...กำลังจะหายไป 100 % ...แล้วพ่อหนุ่ม...
>>>>>>>>>>>เรื่องดี ๆ มีไว้แบ่งปัน<<<<<<<<<<<<<<<<

Thursday, May 10, 2007

พระราชปัจฉิมวาจา พระจอมเกล้าฯ


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้เนื่องจากได้ทรงผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา ก่อนที่จะสวรรคต พระองค์ได้มีพระราชปัจฉิมวาจา เป็นภาษาบาลีว่า


นตฺเถตํ โลกสฺมิย

อุปาทิยมานํ อนววชฺชํ อสฺส


แปลว่า


การยึดถือมั่นอันใดไว้

จะพึงเป็นข้อหาโทษมิได้

อันนั้นไม่มีเลยในโลก


มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า


Nowhere in the world

could blamelessness for temporal

attachment be conceived.


จากพระราชปัจฉิมวาจาดังกล่าว ทำให้นึกถึง ธรรมะที่พระอาจารย์พุทธทาสสอนไว้เสมอ คือ


"สัพเพ ธัมมานาลัง อภินิเวสายะ

สรรพสิ่งทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"


ซึ่งท่านบอกว่านี่คือหัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนา

Thursday, May 3, 2007


ศิลาจารึก วัดอัมพวัน สิงห์บุรี

ทุกข์
คือ ทุกข์อุปาทานต่างๆ ที่ใจ
๑. สัจจญาณ มีสติเห็นรู้ความเป็นจริงว่า ทุกข์อุปาทานในขันธ์ ๕ เกิดที่ใจ แก้ไขได้ทันที ที่นี่และเดี๋ยวนี้
๒. กิจจญาณ มีสติเห็นรู้วิธีปฏิบัติว่า ต้องกำหนดรู้รูปนามที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปที่ทวารทั้ง ๖ นั้นให้ได้
๓. กตญาณ มีสติเห็นรู้แล้วว่า เรากำหนดรู้ได้แล้วที่ทวารทั้ง ๖ นั้น

สมุทัย
คือ เหตุให้เกิดทุกข์อุปาทานที่ใจ
๑. สัจจญาณ มีสติเห็นรู้ความเป็นจริงว่า ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา (พใจต่างๆ โลภะ) ภาวะตัณหา (ใจเป็นต่างๆ โมหะ) วิภาวะตัณหา (ไม่พอใจต่างๆ โทสะ)
๒. กิจจญาณ มีสติเห็นรู้วิธีปฏิบัติว่า ต้องละตัณหาทั้ง ๓ นั้นให้ได้เด็ดขาด
๓. กตญาณ มีสติเห็นรู้แล้วว่า เราละตัณหาทั้ง ๓ นั้นได้แล้ว

นิโรธ
คือ ความดับไม่เหลือแห่งตัณหา
๑. สัจจญาณ มีสติรู้เห็นความเป็นจริงว่า ความดับไปไม่เหลือแห่งตัญณหาทั้ง ๓ นั้น จึงจะพ้นจากทุกข์อุปาทานทั้งปวงได้จริง
๒. กิจจญาณ มีสติเห็นรู้วิธีปฏิบัติว่า ต้องทำให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาที่เป็นสัมมาทิฎฐิ
๓. กตญาณ มีสติเห็นรู้แล้วว่าเราได้ทำให้เห็นแจ้งได้แล้ว

อริยมรรคมีองค์ 8
เป็นธรรมะกำมือเดียว ที่ใช้ดับทุกข์อุปาทานทั้งปวง
๑. สัจจญาณ มีสติเห็นรู้ความเป็นจริงว่า อริยมมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็นถูกต้องเป็นต้น สามารถดับทุกข์อุปาทานทั้งปวงได้จริง
๒. กิจจญาณ มีสติเห็นรู้วิธีปฏิบัติว่า ต้องทำให้เกิดมีขึ้นมาที่กาย วาจา จิต และทิฏฐิ
๓.กตญาณ มีสติเห็นรู้แล้วว่าเราได้ทำให้เกิดมาได้แล้ว