Wednesday, June 20, 2007

เลื่อนตัวเองขึ้น แต่อย่าลดคนอื่นลง


อาจารย์สอนยูโดชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชวนลูกศิษย์หนุ่มชาวอเมริกันเดินทอดน่องไปตามชายหาดยามเย็น ช่วงหนึ่งของการสนทนาอาจารย์ใช้ไม้เท้าขีดเส้นสองเส้นคู่ขนานลงไปบนผืนทรายขาวละเอียด เส้นหนึ่งยาวประมาณห้าฟุต อีกเส้นหนึ่งยาวประมาณสามฟุต
“เธอลองทำให้เส้นที่ยาวสามฟุตยาวกว่าเส้นที่ยาวห้าฟุตให้อาจารย์ดูหน่อย”

ลูกศิษย์ชาวอเมริกันหยุดคิดพินิจเส้นทั้งสองอยู่ครู่หนึ่งก็เผยยิ้มที่ริมฝีปากเหมือนค้นพบคำตอบ ชายหนุ่มบรรจงใช้เท้าข้างหนึ่งค่อยๆ ลบรอยเส้นตรงที่ยาวประมาณห้าฟุตนั้นให้สั้นลงจนเหลือนิดเดียว โดยวิธีนี้เส้นที่ยาวราวสามฟุตจึงโดดเด่นขึ้นมาแทน ลบเสร็จเขาเงยหน้าสบตาอาจารย์พลางขอความเห็น

“เช่นนี้ใช้ได้หรือยังครับ”

ผู้เป็นอาจารย์ใช้ไม้เท้าเคาะหัวลูกศิษย์เบาๆ หนึ่งทีก่อนบอกว่า

“ใช้วิธีนี้ชีวิตเธอก็มีแต่จะล้มเหลวรู้ไหม คนที่คิดจะยกตัวเองให้สูงขึ้น โดยการทำร้ายคู่แข่งนั้นไม่ฉลาดเลย ทางที่ดีจงยกตัวเองขึ้น แต่อย่าลดคนอื่นลง”

ว่าแล้วอาจารย์ก็ขีดเส้นทั้งสองใหม่ แล้วสาธิตให้ดูโดยการปล่อยเส้นที่ยาวห้าฟุตไว้อย่างเดิม แต่ขีดเส้นที่ยาวสามฟุตให้ยาวขึ้นเป็นสิบฟุต ฝ่ายลูกศิษย์ยังคงกังขา

“คู่แข่งของเธอไม่ใช่ศัตรู แต่คือครูของเธอ และเขาคือคนสำคัญที่จะทำให้เธอได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม เธอลองคิดดู หากไร้เสียซึ่งคู่แข่ง เธอจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีศักยภาพในการทำงานขนาดไหน ไม่มีอัปลักษณ์ เธอจะรู้จักความสวยงามได้อย่างไร คู่แข่งขันของเรายิ่งเก่งยิ่งฉลาดล้ำ ก็จะทำให้เรารู้จักขยับตัวเองไปให้สูงส่งยิ่งขึ้น นักสู้ที่ดีนั้นเขายืนหยัดอยู่ในสังเวียนได้เพราะมีคู่ต่อสู้ที่เข้มแข็ง คู่ต่อสู่ที่อ่อนแออาจจะทำให้เราเป็นผู้ชนะ แต่ชัยชนะนั้นมักไม่ยืนยง”
“คนที่พยายามจะเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยการฆ่าน้อง ฟ้องนาย และขายเพื่อน ถึงแม้จะทำได้สำเร็จ แต่นั่นก็เป็นความสำเร็จที่ปราศจากเกียรติคุณ ไม่อาจเอ่ยอ้างได้อย่างเต็มภาคภูมิ การเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยวิธีที่ไม่ชอบธรรม กับการเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยปล่อยให้คนอื่นได้ก้าวไปตามวิถีทางของเขาอย่างเสรนั้น มีผลลัพธ์ต่างกันเพียงไร”

“การเลื่อนตัวเองขึ้นพร้อมกับลดคนอื่นลง เธออาจชนะแต่ก็มีศัตรูเป็นของแถม การเลื่อนตัวเองขึ้นไปแต่ไม่ลดคนอื่นลง เธออาจเป็นผู้ชนะพร้อมกับมีเพื่อนแท้เพิ่มขึ้นมากมาย วิธีไหนจะดีกว่ากัน”



มิสเตอร์อินเทอร์เน็ต

ที่มา : การ์ตูนมหาสนุก ปีที่ 15 ฉบับที่ 648 ประจำวันพุธที่ 1-7 ตุลาคม 2546
หน้า 20-21




Monday, June 4, 2007

ขันติและโสรัจจะ : ธรรมะที่นักการเมืองยามนี้พึงปฏิบัติ

ขันติและโสรัจจะ : ธรรมะที่นักการเมืองยามนี้พึงปฏิบัติ


สามารถ มังสัง ผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2550

“ธรรมะอันทำให้งามสองประการ คือ ขันติ อันได้แก่ ความอดทน และโสรัจจะ อันได้แก่ ความเสงี่ยมเจียมตน” นี่คือพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหมวดอังคุตตรนิกายทุกนิบาต


โดยนัยแห่งธรรมะสองประการนี้ หมายถึงว่าผู้ใดมีไว้ในตน คือ จำได้ใช้เป็นก็จะทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นคนมีจิตใจงาม เป็นที่เคารพนับถือของผู้ที่ได้พบเห็น และได้คบค้าสมาคมด้วย


เริ่มด้วยขันติ คือ ความอดทนต่ออนิฏฐารมณ์ หรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจซึ่งผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หรือที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า อายตนะภายใน 6 ประการ


แต่ความอดทนที่น่าจะเข้าข่ายของคำว่า ขันติ ก็คือความอดทนเนื่องจากรู้เท่าทันแห่งอารมณ์ และหักห้ามใจไม่ตอบโต้ด้วยอากัปกิริยาใดๆ อันมีพื้นฐานมาจากความแค้น และมีการให้อภัยต่อผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งอนิฏฐารมณ์นั้น


ดังนั้น การที่ผู้ใหญ่ด้วยวัยหรือผู้ใหญ่ด้วยตำแหน่งที่เหนือกว่าผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งอนิฏฐารมณ์ อดทนได้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นขันติในข้อนี้


แต่การที่ผู้ซึ่งมีอายุน้อยกว่า และผู้ที่มีตำแหน่งด้อยกว่า อดทนต่ออนิฏฐารมณ์ที่ผู้แก่กว่าหรืออายุน้อยแต่ตำแหน่งสูงกว่า จึงไม่น่าจะเรียกว่า ขันติ เพราะการที่อดทนได้นั้นด้วยเกิดจากความกลัวหรือยำเกรง มากกว่าที่จะเกิดจากการรู้เท่าทัน และการให้อภัย


ส่วนโสรัจจะ ความเสงี่ยมเจียมตนนั้นมีอยู่ในบุคคลใด ไม่ว่าเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่จะทำให้ผู้นั้นเป็นที่รักเป็นที่พอใจของทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศและวัย ซึ่งมีอยู่ในบุคคลผู้มากด้วยอายุ และมากด้วยยศศักดิ์ด้วยแล้วจะยิ่งทำให้บุคคลนั้นเป็นบุคคลน่ารัก น่านับถือเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่นิยมบุคคลผู้อ่อนน้อมถ่อมตนว่าเป็นคนมีวัฒนธรรมด้วยแล้ว ยิ่งมีความจำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องมี

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000064415

Saturday, June 2, 2007

มนต์ที่เราสวด

มนต์ที่เราสวด
คอลัมน์ บทความธรรมดา

โดย หลวงเมือง



บ้านข้าพเจ้าที่ตลาดพลูมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นทองเหลืองมีพระปุริสลักษณะงาม พ่อเคยเล่าว่าสร้าง (ซื้อ) มา 80 บาท เมื่อ พ.ศ.2453 สมัยก่อนนี้การซื้อพระ การซื้อตำรายา และหนังสือพระธรรมต่างๆ ท่านเรียกว่าสร้าง ส่วนการซื้อเครื่องรางของขลังเรียกว่าเช่า

ต่อมาคำว่าเช่ามีความหมายแน่นอนชัดเจนว่าไม่ใช่ซื้อ แม้จะเสียเงินค่าเช่าแต่ของที่เช่ามาก็มิได้เป็นของเรา เช่นบ้านเช่า จึงใช้ว่าบูชา

กลางคืนก่อนนอนพ่อจะขึ้นไปชั้นบนบ้านเพื่อบูชาพระ คือสวดมนต์ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ยินเพราะสวดในใจ ส่วนข้าพเจ้าก็สวดนโมตัสสะ

ต่อมาพี่สอนให้สวด "อภัยปริตต์" ทันทีที่ตื่นนอนตอนเช้า เพื่อป้องกันภัย ทีแรกข้าพเจ้าคิดว่าการฝันร้ายทำให้มีภัย ต่อมารู้ว่าความฝันเป็นสิ่งบอกเหตุโดยเทวดาสำแดงให้ประจักษ์ ผู้รู้วิธีจะได้ป้องกันไว้ก่อนคือสวด "อภัยปริตต์" ขึ้นต้นว่ายันทุนนิมิตตังฯ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ญาณสังวร หรือ "สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน" ก็ทรงแนะให้พระธุดงค์กรรมฐานในสายของท่านเจริญพระปริตต์บทนี้ โดยรับสั่งว่า "ถ้าฝันร้ายให้ว่ายันทุนฯ 3 ที"

พระพุทธมนต์ที่ข้าพเจ้าสวดตั้งแต่เด็ก คือ "ชัยมงคลคาถา" โดยตั้งนโม 3 จบ แล้วสวดอิติปิโส สวากขาโต และสุปฏิปันโนไปจนหมดแล้วเริ่มขึ้นบทพาหุงซึ่งมี 8 บท ไปหมดบทที่ขึ้นต้นว่า "ทุคคาหะทิฏฐิ" และต่อด้วย "มหาการุณิโกนาโถ" จนจบ

คาถาพาหุงนี้พระอริยเจ้าองค์ใดจะรจนาไว้คงจะมีนักปราชญ์รู้ได้ ข้าพเจ้าเคยพบในเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งท่านสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ 3 เมื่อพระอภัยมณีฝากเงือกไว้กับฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร ตนเองกับสินสมุทรจะอาศัยเรือท้าวสิลราชแห่งกรุงผลึกกลับบ้านเมือง ความว่า

"พระโยคีมีฤทธิ์ประสิทธิ์กล้า

ด้วยเมตตาตอบความตามวิสัย

เป็นไรมีที่ธุระพระอภัย

มิให้ใครลามลวนกวนสีกา

จงหักห่วงบ่วงใยไปเถิดท่าน

เกษมศานต์สมจิตทั้งศิษย์หา

อย่ามีทุกข์สุขังมังคลา

แล้วสวดพาหุงให้ไปจงดี"

แสดงว่าอย่างใกล้ที่สุดคาถาพาหุงหรือคาถาชนะมารก็มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว มิใช่แต่งใหม่

มีผู้บอกว่าสวดชัยมงคลคาถาทั้งหมดดังกล่าวมาแล้วนี้ทุกวันเหมือนขุดบ่อ วันหนึ่งจะพบตาน้ำซึ่งมีน้ำใช้ตลอดไป

หน้า 2 มติชน วันที่ 3 มิถุนายน 2550

ลิงค์รูป

http://img251.imageshack.us/img251/5360/img02351hk8.jpg

http://i9.tinypic.com/537f3fm.jpg

Buddha Footprint

[IMG]http://i12.tinypic.com/5z1igl3.jpg[/IMG]

Bodhisatta

[IMG]http://i15.tinypic.com/4rbmjra.jpg[/IMG]