Thursday, March 27, 2008

พระมหากัสสปเถระ

ปูนปั้นแสดงรูปพระมหากัสสปเถระ ถวายบังคมพระพุทธสรีระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีรสังขาร ภาพปูนปั้นประดับผนังวัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม

รูปปั้นพระมหากัสสปเถระ ถวายบังคมพระพุทธสรีระ ก่อนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันรูปปั้นทั้งหมดนี้ ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร (หลวงพ่อพระพุทธชินราช) จังหวัดพิษณุโลก


คราวก่อนผู้เขียนได้หยิบยกเอางานเขียนของอาจารย์นวพร เรืองสกุล เกี่ยวกับการที่พนักงานในองค์การไม่ยอมรับตำแหน่ง ซึ่งอาจารย์นวพรได้หยิบยกจริยาวัตรของพระมหากัสสปเถระมาเป็นตัวอย่าง ได้มีผู้อ่านถามว่าพระมหากัสสปะนี้คือผู้ใด และมีความสำคัญอย่างใดต่อพระพุทธศาสนา ผู้เขียนเห็นว่าประวัติของท่านนั้นน่าสนใจ จึงได้นำมาเสนอ ณ ที่นี้

ในวัดวาอารามต่างๆ ที่มีพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ มักสร้างรูปพระอัครสาวกทั้งสองรูปคือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเป็นบริวาร แต่วัดบางแห่ง เช่น ที่พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช) ได้สร้างรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนถวายพระเพลิง โดยไม่เห็นพระสรีระเนื่องจากประทับอยู่ในพระบรมโกศ มีแต่ปลายพระบาททั้งสองข้างยื่นออกมาจากพระบรมโกศ เพื่อให้พระมหากัสสปเถระถวายบังคม นอกจากนี้ภายปูนปั้น ณ วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม ก็มีภาพปูนปั้นตอนถวายพระเพลิงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีพระมหากัสสปเถระถวายบังคมอยู่ปลายพระพุทธบาทเช่นเดียวกัน

พระมหากัสสปเถระ เดิมชื่อ ปิบผลิมาณพเป็นบุตรของกบิลพราหมณ์ ในนครมคธ เมื่อปิบผลิมาณพ มีอายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้เคี่ยวเข็นให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล แต่ ปิบผลิมาณพก็ปฏิเสธเสียทุกครั้งโดยกล่าวว่า จะอยู่ปฏิบัติท่านทั้งสองตราบเท่าที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว ท่านจะบวช ครั้นบิดามารดา เคี่ยวเข็ญหนักเข้า ปิบผลิมาณพคิดว่า เราจะทำให้มารดายอมจำนน จึงเอาทองคำสีสุกปลั่งพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อเป็นรูปหญิงคนหนึ่งแล้วจึงให้รูปหล่อหญิงนั้นนุ่งผ้าแดง ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องประดับต่าง ๆ และบอกมารดาว่าหากได้สตรีที่งามพร้อมเช่นนี้แล้วท่านจะแต่งงานด้วย นางพราหมณีเป็นคนมีปัญญาจึงคิดว่า บุตรของเราเป็นผู้มีบุญ เมื่อทำบุญไว้ในอดีตคงจะไม่ทำคนเดียว คงมีหญิงผู้ทำบุญร่วมกับบุตรของเรานี้ เป็นแน่แท้ จึงให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนมา แล้วให้ยกรูปทองคำ ขึ้นตั้งบนรถแล้วสั่งให้พารูปหล่อตระเวนไป ถ้าพบเห็นทาริกา งามดังรูปทองนี้ และเกิดในตระกูลที่เสมอกันกับนางพราหมณีโดยชาติ เสมอกันโดยโคตรและเสมอกันโดยโภคทรัพย์ ในที่ใด ก็จงให้รูปทองนี้แหละให้เป็นบรรณการแก่นางในที่นั้น

พราหมณ์เหล่านั้นก็พารูปหล่อออกไปตระเวน และคิดว่าจะไปที่ไหนกันดี จึงได้คิดว่า แคว้นมัททรัฐเป็นบ่อเกิดแห่งสตรี พวกเราควรจะไปมัททรัฐ จึงได้ ไปยังสาคลนครในมัททรัฐ ในครั้งนั้นได้พบกับนางภัททากาปิลานีมีความงามดังรูปหล่อทองคำนั้น จึงได้ทำการสู่ขอต่อบิดามารดาของนาง ชนเหล่านั้นจึงส่งข่าวแก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้เจ้าสาวแล้ว กบิลพราหมณ์ได้สดับข่าวนั้นแล้วจึงบอกแก่ปิบผลิมาณพ มาณพไม่มีความต้องการจะแต่งงาน จึงได้เขียนหนังสือถึงนางภัททากาปิลานี ว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังนางภัททาปิลานี

นางภัททากาปิลานีก็เช่นกัน เมื่อได้ฟังว่า บิดาของนางจะยกนางให้แก่ปิบผลิมาณพ จึงได้เขียนหนังสือถึงปิบผลิมาณพว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังปิบผลิมาณพ ในระหว่างเดินทางผู้ถือหนังสือทั้งสองฉบับมาพบกันในระหว่างทาง จึงได้หยุดทักทายกัน เมื่อคนรับใช้ของปิบผลิมาณพถูกฝ่ายนางภัททากาปิลานีถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็ตอบว่าเป็นหนังสือของปิบผลิมาณพส่งให้นางภัททากาปิลานี และเมื่อคนรับใช้ของนางภัททากาปิลานีถูกฝ่ายปิบผลิมาณพถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็กล่าวว่า เป็นหนังสือของนางภัททากาปิลานีส่งให้ปีบผลิมาณพ จึงพากันอ่านหนังสือทั้งสองฉบับ เมื่ออ่านแล้วจึงกล่าวว่า เป็นการกระทำของเด็ก ๆ แท้ ๆ แล้วฉีกหนังสือทั้งสองทิ้งไป แล้วเขียนขึ้นใหม่เป็นจดหมายอันแสดงความพอใจซึ่งกันและกัน และแยกย้ายกันไปส่งให้คนทั้งสองนั้น ดังนั้น คนทั้งสองนั้นก็ได้แต่งงานกัน

เมื่อแต่งงานกันแล้ว หนุ่มสาวทั้งสองก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ โดยทั้งสองต่างก็เอาพวงดอกไม้พวงหนึ่งวางไว้ กลางที่นอน มาณพขึ้นที่นอนทางด้านขวา นางภัททากาปิลานีขึ้นที่นอนทางด้านซ้าย แล้วกล่าวว่า ดอกไม้ในด้านของคนใดเหี่ยว พวกเขาจะรู้ได้ว่า ราคจิตเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น คนทั้งสองนั้นนอนไม่หลับตลอดทั้งราตรี เพราะกลัวจะถูกตัวของกันและกัน จนกระทั่งเช้า อนึ่งในเวลากลางวันก็ไม่มีแม้แต่การยิ้มหัว คนทั้งสองนั้นไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องโลกามิส ไม่จัดการทรัพย์สมบัติตราบเท่าที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่

เมื่อบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายได้ถึงแก่กรรมแล้วปิบผลิมาณพและนางภัททากาปิลานีจึงได้แจกจ่ายสมบัติและออกบวช เมื่อถึงทางสองแพร่งจึงแยกจากกัน โดยปิบผลิมาณพเดินไปตามทางด้านขวา ส่วน ภัททากาปิลานีเดินไปตามทางด้านซ้าย ต่อมาปิบผลิมาณพได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้กราบทูลขออุปสมบท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานอุปสมบทแก่ปิบผลิมาณพด้วยวิธีโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา ได้รับชื่อใหม่ว่าพระมหากัสสปะ

ต่อมาพระมหากัสสปะเถระ ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธองค์ ว่าโดยลำดับแล้วก็จัดอยู่ในลำดับที่สามของหมู่พระมหาสาวก รองจากพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นอันมาก รวมทั้งการสถาปนาเป็นเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ โดยปกติมหาสาวกผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะทางด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ย่อมจะต้องได้มาด้วยเหตุ ๔ ประการคือ ๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง ๒.โดยการมาก่อน ๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ และ ๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ในเหตุ ๔ อย่างนั้น พระเถระบางรูป ย่อมได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุอย่างเดียว บางรูปได้โดยเหตุ ๒ อย่าง บางรูปได้โดยเหตุ ๓ อย่าง บางรูปได้ด้วยเหตุ ทั้ง ๔ อย่าง ท่านพระมหากัสสปเถระก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวด้วยเหตุครบทั้ง ๔ อย่าง

๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง เรื่องที่เป็นเหตุก็คือเรื่องพระศาสดาทรงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระ ด้วยทรงพิจารณาว่า อันว่าจีวรที่เก่าเนื่องเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าดังกล่าวนี้ เฉพาะบุคคลผู้อาจสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ ผู้ถือผ้าบังสุกุลมาแต่เดิม เช่นพระมหาเถระจึงจะควรรับเอา และไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย

๒. โดยการมาก่อน ก็คือ ท่านพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้ทรงธุดงคคุณมาก แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ถึงในอดีต แม้ท่านบวชเป็นฤาษี ท่านก็เป็นผู้บำเพ็ญบารมีในทางทรงธุดงคคุณมาก มาถึง ๕๐๐ ชาติ

๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ ก็คือ เมื่อท่านอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อแสดงธรรม ย่อมไม่ละเว้นที่จะแสดงกถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นธรรมที่ชักนำให้พุทธบริษัท มีความปรารถนาน้อย มีความสันโดษ มีความสงัดกาย สงัดใจ ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ชักนำให้ปรารภความเพียร ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณของการทรงธุดงควัตรทั้งสิ้น

๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ก็คือ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่นผู้เสมอเหมือนพระมหากัสสปะ ด้วยธุดงคคุณ ๑๓ ไม่มี เพราะฉะนั้นพระเถระได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้

ฝ่ายนางภัททกาปิลานี แยกไปทางซ้าย เดินทางไปพบสำนักของปริพาชก จึงบวชอยู่ในสำนักนั้นถึง ๕ ปี เนื่องด้วยขณะนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้บวชแล้ว นางจึงได้มาบวชในสำนักของนางภิกษุณี ได้ศึกษาพระกรรมฐานบำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๓ อภิญญา ๖ เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนา ในการสังคายนานั้นได้กำหนดแยกธรรมออกเป็นหมวดหมู่ เมื่อสังคายนาแล้วจึงร้อยกรองไว้ว่า นี้พระธรรม นี้พระวินัย นี้ปฐมพุทธพจน์ นี้มัชฌิมพุทธพจน์ นี้ปัจฉิมพุทธพจน์ นี้พระวินัยปิฎก นี้พระสุตตันตปิฎก นี้พระอภิธรรมปิฎก นี้ทีฆนิกาย นี้มัชฌิมนิกาย นี้สังยุตตนิกาย นี้อังคุตตรนิกาย นี้ขุททกนิกาย นี้องค์ ๙ มีสุตตะเป็นต้น นี้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.นอกจากนั้นก็ยังแยกเป็นประเภทที่ควรรวบรวมไว้แม้อื่น ๆ ซึ่งมีหลายชนิด มีอุทานสังคหะ วัคคสังคหะ เปยยาลสังคหะ นิบาตสังคหะ เช่นเอกนิบาต และทุกนิบาต เป็นต้น สังยุตตสังคหะและปัณณาสกสังคหะเป็นอาทิ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ได้ร้อยกรองอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ

พระมหากัสสปะ หลังจากบรรลุอรหัตผล ได้สอนพระทั้งหลายให้เห็นคุณค่าของการอยู่ในที่สงัดว่า
“ผู้มีปัญญาเห็นว่าไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก การมัวแต่สงเคราะห์ (เกี่ยวข้องกับ) คนนั้นคนนี้อยู่เป็นความลำบากดังนั้นจึงไม่ชอบใจจะอยู่กับหมู่คณะ ผู้มีปัญญาไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติดรสอาหาร จึงทำให้ต้องละทิ้งประโยชน์ที่จะนำสุขมาให้ ผู้มีปัญญากล่าวว่า การไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย เป็นเปลือกตมและลูกศรที่ละเอียด ถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากยิ่ง”

จากหนังสือ อรหันตธาตุ หน้า ๗๑


Friday, March 14, 2008

ในช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสรับใช้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ช่วงเวลาปิดเทอม เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนรู้สึกมีความสุข ที่ได้พักผ่อน การพักผ่อนตามประสาผู้เขียนคือการนั่งอ่านหนังสือที่ได้หาซื้อมาเองบ้าง หรือยืมจากห้องสมุดบ้าง ที่ในช่วงเปิดเทอมไม่มีเวลาอ่าน ปิดโทรศัพท์ ปิดคอมพิวเตอร์ เสีย แล้วนั่งอ่านหนังสือก็ถือเป็นการพักผ่อนแล้ว

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือชีวลิขิต ซึ่งเป็นประวัติของศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี แล้วได้เกิดความประทับใจในข้อเขียนของคุณกล้าณรงค์ จันทิก ซึ่งเคยทำงานกับท่านอาจารย์เสนีย์ในฐานะเลขานุการส่วนตัว ในตอนหนึ่งได้เขียนเล่าเกี่ยวกับการทำงานของท่านอาจารย์เสนีย์ ที่ไม่นำเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทำงาน แม้แต่ลูกแท้ๆ ของท่านก็ไม่มีอภิสิทธิ์

“บุตรชายคนโตของท่านอาจารย์คือ ม.ล.เสรี ปราโมช จบเศรษฐศาสตร์จากหมาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ม.ล.เสรีฯ มีจิตใจเช่นเดียวกับท่านอาจารย์คือรักในการเมือง ม.ล.เสรี ปราโมช ได้ลาออกจากประธานฝ่ายอำนวยการของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เพื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตกรุงเทพมหานคร

ในการพิจารณาคัดเลือกตัวผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อถึงในเขตที่ ม.ล.เสรี ปราโมช ยื่นใบสมัคร ท่านอาจารย์ก็ขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณา เพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย ปรากฎว่า ม.ล.เสรี ปราโมช ไม่ได้รับเลือกจากพรรคให้ลงสมัครในเขตดังกล่าว ต่อมาคุณสราวุธ นิยมทรัพย์ จึงได้ชวนให้ไปลงสมัครที่จังหวัดนครปฐม ทั้งๆที่ ม.ล.เสรี ปราโมช ไม่มีฐานเสียงอยู่ที่จังหวัดนครปฐมเลย แต่ด้วยวินัย ก็ได้ยอมปฏิบัติตามมติพรรค

ผลการเลือกตั้ง ปรากฎว่า ม.ล.เสรี ปราโมช สอบตก พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

ม.ล.เสรี ปราโมช กลายเป็นคนตกงาน และทางธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ได้แต่งตั้งบุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทนไปแล้ว

ม.ล.เสรี ปราโมช ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น มีผู้คนหลายคนที่รู้จัก ม.ล.เสรี ปราโมช และรู้ถึงความสามารถได้มาขอร้องกับท่านอาจารย์เพื่อขอให้แต่งตั้ง ม.ล.เสรี ปราโมช ไปช่วยทำงานในตำแหน่งต่างๆ แม้กระทั่งตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้รับการยินยอมจากท่านอาจารย์

เคยมีผู้ตั้งคำถามกับอาจารย์ในเรื่องนี้ และพยายามที่จะเอาคำตอบจากท่านอาจารย์มาเพื่อหักล้างการไม่ยินยอมแต่งตั้งของท่านอาจารย์

“ม.ล.เสรี ปราโมช เป็นคนที่ใกล้ชิดกับอาจารย์ สามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลาหรือไม่”

“ใกล้ชิด และเรียกใช้ได้ตลอดเวลา เพราะเขาอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกับผม” ท่านยอมรับ

“ม.ล.เสรี ปราโมช เป็นคนที่อาจารย์ไว้วางใจได้มากที่สุดหรือไม่” คำถามรุกต่อ

“ไว้วางใจได้มากที่สุด เพราะเขาเป็นลูกผม” ท่านตอบ

“ม.ล.เสรี ปราโมช เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือไม่”

อาจารย์ตอบว่า “มีความรู้ความสามารถเหมาะสม”

“แล้วทำไมถึงไม่ตั้งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” คำถามที่คิดว่าสุดท้าย

ท่านตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “เพราะเขาเป็นลูกผม”

ผู้ถามรุกต่อว่า “ทำไมคนอื่นเขาตั้งลูกเป็นเลขาธิการได้ ทำไมอาจารย์ไม่ตั้งทั้งๆ ที่ ม.ล.เสรี เหมาะสมทุกอย่าง”

ท่านย้อนถามว่า “ใครบ้างที่ตั้งลูกเขาเป็นเลขา บอกมาซิ”

พอผู้ถามตอบไป ซึ่งมีอยู่หลายคน ท่านบอกว่า “นั่นคือเขา แต่ไม่ใช่ผม”

จบครับ และก็ไม่มีการแต่งตั้ง ม.ล.เสรี ปราโมช ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลยในสมัยท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะตำแหน่งใดทั้งสิ้น”

ที่มา: กล้าณรงค์ จันทิก, ๒๕๔๘, “ในช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสรับใช้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช,” ใน วิทยา แก้วภราดัย (บรรณาธิการ), ชีวลิขิต, (พิมพ์ครั้งที่ ๒), กรุงเทพฯ: มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช.

Monday, March 3, 2008

๒๖ ศตวรรษ พระพุทธเจ้าสุดยอดซี. อี. โอ.

๒๖ ศตวรรษ พระพุทธเจ้าสุดยอดซี. อี. โอ.

๔๒๐ มีพนักงานคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีความสามารถมาก แต่เขาไม่ยอมรับตำแหน่งบริหาร เขาขอเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียว จะชักจูงเขาด้วยวิธีใดดี

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตอบข้อถามข้อนี้โดยตรง แต่ข้าพเจ้าอ่านและวิเคราะห์เอาเองได้ข้อสรุปว่า เมื่อได้เสนอตำแหน่งให้แล้ว แต่ไม่ยอมรับ ก็ไม่น่าจะต้องพยายามชักจูง
ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปนี้มาอย่างไร
ข้าพเจ้าอ่านประวัติของพระมหากัสสปเถระครั้งใดก็มีข้อสงสัยว่า ทำไมพระมหากัสสปะซึ่งก่อนบวชเป็นเศรษฐี บริวารมาก มีประสบการณ์ในการเป็นนักปกครอง กลับเป็นผู้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัด จนได้รับสรรเสริญว่าเป็นเลิศในหมู่ภิกษุผู้ถือธุดงค์เป็นวัตร แม้พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตให้เลิกถือธุดงค์บางข้อเมื่อท่านชราแล้ว ท่านก็ไม่ประสงค์ ยังคงรักษาวัตรของท่านตลอดอายุ ท่านทูลพระพุทธเจ้าว่าเพื่อเป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุรุ่นหลังๆ
ตามประวัติพระมหากัสสปะท่านเบื่อหน่ายทรัพย์สมบัติ และการดูแลข้าทาสบริวาร ท่านจึงออกบวช และท่านก็สมาทานธุดงค์ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับบรรพชาจากพระพุทธเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นปุถุชนช่างสงสัย อดตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า คนอื่นๆ ที่เยื่อหน่ายบริวารแล้วออกบวชก็มี แต่ไม่ได้ปฏิเสธการอยู่ในเมือง
ตั้งคำถามแล้วไม่มีคำตอบก็เลยสันนิษฐานเอาเอง (ซึ่งคนที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกไม่พึงทำ สิ่งใดที่ไม่มีคำอธิบายก็ควรจะรับแค่ว่าเรื่องนี้ไม่ได้อธิบายไว้ ไม่ใช่คิดแต่งเติมเอาเอง) ข้าพเจ้าตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะประสบการณ์เช่นที่ท่านมีอยู่นั้น ถ้าท่านอยู่ในเมืองอาจจะเกิดปัญหาเรื่องมีฝักมีฝ่ายระหว่างพระภิกษุต่างๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรม การอยู่ป่าจึงมีประโยชน์สองประการคือ การเป็นแบบอย่างให้กับภิกษุรุ่นหลังในเรื่องการถือธุดงค์เป็นวัตร และในขณะเดียวกันก็มีผลพลอยได้ที่ตัดปัญหาเรื่องนี้ไปด้วย
ในเมื่อท่านไม่ได้เลือกที่จะอยู่ในเมือง ก็เลยไม่มีปัญหาให้เราได้ศึกษา การตั้งคำถามของข้าพเจ้าจึงเหมือนฟุ้งซ่านไปฝ่ายเดียว และการไม่อยู่ในเมืองไม่ได้หมายความว่าท่านไม่มีบริวารเลย และไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ใส่ใจกับปัญหาต่างๆ ของสงฆ์
ความเป็นผู้นำของพระมหากัสสปะ ความใส่ใจเรื่องส่วนรวม และความเป็นที่เคารพนับถือในฐานะพระเถระผู้ใหญ่เห็นได้ชัดเจนเมื่อสิ้นพระศาสดาและพระอัครสาวกทั้งคู่แล้ว ท่านเป็นผู้ริเริ่ม ชักชวน และดำเนินการสังคายาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก ๓ เดือนหลังพุทธปรินิพพาน โดยมีพระอุบาลีกับพระอานนท์เป็นผู้ช่วยซ้ายขวา (ในด้านพระวินัย และพระสูตร)
บริษัทใดมีพนักงานเช่นพระมหากัสสปะนี้ ถือว่าเป็นโชค เพราะเป็นพนักงานที่มีทั้งประสบการณ์และความสามารถ ที่พอใจจะดำรงตนอยู่อย่างเรียบง่ายที่สุด แต่ไม่ทอดธุระเมื่อเห็นว่าถึงคราวจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
เมื่อจะแต่งตั้งพนักงาน บริษัทจึงควรดูทั้งความต้องการของบริษัท และความประสงค์ของพนักงานด้วย เมื่อพนักงานไม่ประสงค์ตำแหน่งบริหาร ก็ควรมีทางออกที่ดีเพื่อให้พนักงานผู้นั้นได้รับสถานะที่สมควร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทด้วย

ที่มา: นวพร เรืองสกุล, ๒๕๔๙, ๒๖ ศตวรรษ พระพุทธเจ้าสุดยอด ซี. อี. โอ., กรุงเทพฯ: บุญศิริการพิมพ์, หน้า ๑๐๖-๑๐๗