Tuesday, December 22, 2009

พรปีใหม่ 2553 โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี

พรปีใหม่ 2553 โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี



พลังทั้ง 4 เพื่อความสวัสดีของสังคมไทย

สังคมไทยป่วยด้วยโรค ′การเมืองวิกฤต เศรษฐกิจวิกล คนวิวาท ชาติวิโยค′ มาหลายปี การจะหายจากโรคนี้ได้ คนไทยต้องร่วมกันสร้าง ′พลัง′ แห่งธรรมะ 4 ประการขึ้นมาในใจของแต่ละคน ธรรมะที่จะทำให้สังคมไทยมีพลังทั้ง 4 ประการคือ



1) พลังปัญญา = ลดการใช้ความรู้สึกลง เพิ่มการใช้เหตุผลให้มากขึ้น
2) พลังความเพียร = ลดการพึ่งไสยศาสตร์ลง พึ่งตนเองให้มากขึ้น
3) พลังความสุจริต = ลดการทุจริตลง เพิ่มความซื่อสัตย์โปร่งใสให้มากขึ้น
4) พลังความสามัคคี = ลดการขัดแย้งลง เพิ่มความสามัคคีให้มากขึ้น



ขอความสวัสดีจงมีแก่สรรพชีพ สรรพสัตว์ ในที่ทุกสถานในการทุกเมื่อเทอญ



พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย
สถาบันการศึกษา วิจัย ภาวนา เพื่อสันติภาพโลก

Monday, December 14, 2009

วิธีปฎิบัติธรรมที่จะช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง และช่วยคลายทุกข์ต่าง ๆ ได้ด้วย




วิธีปฎิบัติธรรมที่จะช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง และช่วยคลายทุกข์ต่าง ๆ ได้ด้วย

ใน เบื้องต้นให้ฝึกจิตให้อยู่กับกับสมาธิหรือบทสวดมนต์ วันหนึ่งๆลองฝึกนั่งสวดมนต์ดู สวดบทไหนก็ได้ ไม่ต้องสวดบทยาวมากก็ได้ ให้สวดซ้ำๆบ่อยๆไปเรื่อยๆ เวลามีเวลาว่างไม่จำเป็นต้องใช้ใจคิดในเรื่องราวต่างๆ แทนที่จะปล่อยให้คิดไปเรื่อยเปื่อย ลองนำมาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ด้วยการให้อยู่กับบทสวดมนต์ หรือจะให้อยู่กับคำบริกรรมคำใดคำหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องอะไร อย่าไปคิด ให้สงวนความคิดไว้ ประหยัดความคิด คิดในสิ่งที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปคิด ปล่อยให้เรื่องราวต่างๆในโลกนี้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขาเถิด ไปคิดมากก็ทำให้ฟุ้งซ่าน กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ถูกนั่นเอง ถ้าควบคุมใจได้แล้ว ต่อไปก็จะสามารถควบคุมบังคับให้คิดในเรื่องต่างๆที่ต้องการให้คิดได้ เรื่องที่ไม่ต้องการให้คิดก็สามารถระงับดับได้ ใจเราสามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้ ถ้ารู้จักหยุดใจ แต่ถ้าไม่รู้จัก ก็จะไม่สามารถควบคุมใจได้ เช่นเวลามีความโกรธ เราก็รู้ว่าไม่ดี เพราะเวลาโกรธ ใครจะทุกข์ถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง แต่ก็หยุดใจไม่ให้โกรธไม่ได้ เวลาเกิดความโลภ ก็รู้ว่าสิ่งที่ต้องการนั้น ไม่มีความจำเป็นเลย แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้ เพราะไม่รู้จักวิธีหยุดใจ ไม่รู้จักควบคุมใจนั่นเอง


พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ควบคุมใจเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นก็ให้ควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาก่อน เพราะการกระทำทางกาย และการกระทำทางวาจา ก็ออกมาจากใจ ใจเป็นผู้สั่ง เวลาจะลุกขึ้นใจก็ต้องสั่งให้ลุกขึ้น ถึงจะลุกขึ้นได้ เวลาจะพูดอะไร ใจก็ต้องคิดเสียก่อน ถึงจะพูดออกมาได้ ต้องตั้งกรอบไว้ ตั้งรั้วไว้ ไม่ให้การกระทำทางกาย ทางวาจา เกิดโทษขึ้นมา ในเบื้องต้นจึงต้องตั้งกรอบไว้ว่า ใจอยากจะทำอะไรก็ได้ อยากจะมีอะไรก็ได้ แต่ขอให้ทำ ขอให้หามา ในกรอบของความถูกต้อง


เมื่อควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาได้แล้ว ในลำดับต่อไปก็ให้มาควบคุมความคิดของเรา เคยคิดหรือไม่ว่ามีเรื่องบางเรื่องเราไม่อยากจะคิดเลย เพราะคิดไปทีไรก็มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็อดคิดไม่ได้ ไม่รู้จักวิธีหยุดความคิดของใจเรานั่นเอง แต่ถ้าได้ฝึกทำสมาธิ กำหนดใจให้อยู่กับบทสวดมนต์ก็ดี บทบริกรรมก็ดี ถ้าทำได้แล้ว ต่อไปสมมุติว่า ใจไปคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง แล้วทำให้เกิดความว้าวุ่น ขุ่นมัว ขึ้นมา ก็หยุดได้ด้วยการหันมาระลึกถึงบทสวดมนต์ หรือบทบริกรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว เดี๋ยวก็ลืมแล้วเรื่องต่างๆ เรื่องที่คิดส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น ไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ถ้าได้เคยฝึกทำสมาธิอยู่ตลอดเวลาแล้ว ต่อไปเวลามีเรื่องอะไรมาสร้างความไม่สบายอกไม่สบายใจ ก็สามารถลืมได้ด้วยการทำสมาธิสวดมนต์ หรือบริกรรม นั่นเอง

ใจก็ เป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่เรามักชอบเอาไฟเข้ามาเผาตัวเรา เพราะเวลาไปเห็นอะไรที่ไม่ชอบ ได้ยินอะไรที่ไม่ชอบ แทนที่จะลืมมัน ทั้งๆที่มันก็ผ่านไปแล้ว กลับลืมมันไม่ได้ เพราะใจมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เวลาไปติดกับอะไรแล้ว ก็ติดหนึบเลย ถอนออกมาดึงออกมาไม่ออก เพราะความเหนียวแน่นของอุปาทานนี่เอง นี่เป็นปัญหาของชีวิตของพวกเรา แต่โชคดีที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ที่สอนวิธีการถอดถอนอุปาทานทั้งหลายด้วยการฝึกจิต สอนให้รู้จักควบคุมบังคับจิตใจ เวลาจิตไปติด ไปผูกพันกับเรื่องอะไรที่สร้างความว้าวุ่นขุ่นมัว สร้างความทุกข์ขึ้นมา ก็ให้เบนความสนใจออกจากเรื่องนั้นเสีย ให้กลับมาอยู่กับงานที่เคยสอนให้จิตทำ ถ้าชำนาญกับการไหว้พระสวดมนต์ ก็สวดไป จนจิตสงบ เมื่อสงบแล้ว ก็จะสบาย จึงควรให้ความสำคัญกับใจยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด


เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนเรื่องอะไร ก็สอนแต่เรื่องของเราทั้งสิ้น เรื่องความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีนั้น อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ใจเป็นหลัก ใจเป็นตัวสำคัญที่สุด เป็นทั้งต้นเหตุและเป็นผู้รับผล ต้นเหตุก็คือความคิดต่างๆ ที่มีทั้งกุศลและอกุศล คือคิดดีก็มี คิดร้ายก็มี เมื่อคิดไปแล้วผลก็จะเกิดขึ้นในใจทันที คือความสุขและความทุกข์ เวลาคิดดี ใจก็มีความสุข เวลาคิดร้าย ใจก็มีความทุกข์ จึงควรให้ความสนใจกับใจมากกว่าสิ่งอื่นใด เวลาเห็นอะไรควรย้อนกลับมาดูที่ใจ ว่ามีปฏิกิริยากับสิ่งที่เห็นอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจ ความพอใจและความไม่พอใจเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดกุศลและอกุศลขึ้นมา สิ่งที่พอใจก็จะคิดดีกับสิ่งนั้นๆ ใจก็มีความสุข


สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งภายนอกก็คือสิ่งที่อยู่ภายใน คือความรู้สึกภายในใจ ว่าขณะนี้กำลังเป็นฟืนเป็นไฟ หรือยังเย็นยังสงบอยู่ เวลามีคนมาสร้างความไม่พอใจให้กับเรา ถ้ามีสติ แทนที่จะโกรธเขา กลับทำใจให้สงบ เพราะรู้ว่าความไม่พอใจที่ทำให้เกิดความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นพิษเป็นภัยกับใจ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เขาจะทำอะไรอย่างไร เราไปควบคุมบังคับ ไปห้ามเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือใจของเรา ถ้าใจไม่ไปสนใจ ไม่ไปแยแส เขาจะทำอย่างไรก็ไม่มีปัญหาอะไร ใจของเราก็จะสงบนิ่ง ที่เกิดปัญหาเพราะเราไปมีความหวัง มีความต้องการจากเขานั่นเอง เช่นต้องการให้เขาทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ แล้วเขาไม่ตอบสนองทำตามที่เราต้องการ เราก็เกิดความผิดหวัง เมื่อเกิดความผิดหวังก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความเสียใจขึ้นมา อย่างนี้เป็นความคิดที่ไม่ดี เป็นความคิดที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ทางที่ดีอย่าไปหวังอะไรจากผู้อื่น พยายามทำในสิ่งที่เราทำได้ หวังในสิ่งที่เราทำได้ ยึดตนเป็นที่พึ่งของตนเป็นหลัก


ความอยากนี้ มีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ควรใช้ปัญญาแยกแยะ สิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการบำรุงสุขดับทุกข์ในใจของเรา ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น ก็ควรหามา สิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพหรือต่อการดับทุกข์ในใจของเรา ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่เป็นปัญหาอะไร นี่คือการใช้ปัญญาในการดำรงชีวิต


ในขณะที่เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา ให้ใช้ปัญญาแยกแยะ ดูว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่ จำเป็นต้องทำหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นต้องมี ไม่จำเป็นต้องทำ ก็อย่าไปมี อย่าไปทำจะดีกว่า เพราะการแสวงหาสิ่งต่างๆนั้น เป็นความลำบาก ต้องต่อสู้ หาเงินหาทอง ทำงานทำการ เหนื่อยยากลำบากลำบน สิ่งที่ได้มาก็ไม่มีคุณค่าอะไรกับจิตใจ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง ความสุขต่างๆที่แสวงหาจากวัตถุต่างๆ จากการกระทำต่างๆ ล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น เพราะหามาได้มากน้อยเพียงไร ก็ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอสักที ต้องหามาใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงนั่นเอง ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ก็ต้องเข้าหาพระศาสนา เพราะมีบุคคลที่ได้พบความสุขที่แท้จริง แล้วนำมาเผยแผ่ให้พวกเราทราบ บุคคลนั้นก็คือพระพุทธเจ้าของเรานี่เอง ท่านเป็นบุคคลแรกในโลกนี้ ที่ได้ค้นพบความสุขที่แท้จริง ว่าอยู่ในใจของเรา อยู่ในใจที่สงบ อยู่ในใจที่ชนะความอยากต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้อยากในเรื่องปัจจัย ๔ เช่นต้องการเสื้อผ้าใส่ เพราะเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่นั้นมันขาด หรือตัวเล็กไป ใส่ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีใหม่ ก็ต้องหามา อาหารก็ต้องหามารับประทาน บ้านก็ต้องมีอยู่ ยาก็ต้องมีไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จึงต้องมีสิ่งเหล่านี้

เพราะ ความอยากความต้องการนั้น ไม่ได้ดับด้วยการแสวงหา แต่ดับด้วยการต่อสู้ความอยากต่างๆ ดับด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงฝึกฝนอบรมมา ต้องลดละความต้องการ ความอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อยู่แบบสมถะ เรียบง่าย เอาเท่าที่จำเป็นก็พอ ฝึกฝนทำจิตใจให้สงบด้วยการควบคุมดูแลจิตใจด้วยสติ อย่าปล่อยให้จิตคิดไปตามอำนาจความหลงความต้องการต่างๆ คอยควบคุมจิตให้อยู่ในคำสั่งของเรา เท่านี้คุณก็จะมีจิตใจที่เข้มแข็ง ความทุกข์ต่าง ๆ ก็จะไม่มารบกวนคุณ สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้อย่างรวดเร็วและปฏิบัติกิจต่างๆได้เป็นอย่างดี

อตฺตานญฺ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม

สอนคนอื่นอย่างใด ควรทำตนอย่างนั้น
ฝึกตนเองแล้วค่อยฝึกคนอื่น เพราะตัวเราเองฝึกยากยิ่งนัก

การจะมีจิคใจที่เข้มแข็ง ล่วงทุกข์ได้ ก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม ผมว่าคุณทำได้ครับ เจริญในธรรมครับ



ที่มา : http://dhammathai.org/webboard/view.php?No=5393

Saturday, December 12, 2009



"ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิต พรั่งพร้อมกันมาให้พรวันเกิด ด้วยถ้อยคำที่เลือกสรรมาจากใจจริง ซึ่งปราถนาดีมุ่งหมายให้ข้าพเจ้ามีความสุข ความสวัสดีด้วยประการต่างๆ ความสุข ความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคง เป็นปกติสุข ความเจริญมั่นคงทั้งนั้นจะสำเร็จผลเป็นจริงไปได้ ก็ด้วยทุกคนทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติ รู้ตัว ด้วยปัญญา รู้ผิด และด้วยความสุจริต จริงใจ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น

จึงขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกคน หมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วทำตั้งจิต ตั้งใจ ให้เที่ยงตรงหนักแน่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ คือ ชาติ บ้านเมือง อันเป็นถิ่นที่อยู่ที่ทำกินของเรา มีความเจริญ มั่นคง ยั่งยืนไป

ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย และอำนวยสุขสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคลให้สัมฤทธิผลขึ้นแก่ท่าน ทั่วหน้ากัน"

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
5 ธันวาคม 2552
ในพระราชพิธีออกมหาสมาคมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

Wednesday, December 2, 2009

ถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษา







ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ข้าพระพุทธเจ้าขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย รวมทั้งพระะบรมเดชานุภาพขององค์สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ เทวานุภาพแห่งองค์พระสยามเทวาธิราช พระหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลพิภพ โปรดอภิบาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงมีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากพระโรคาพาธทั้งปวง ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน สถิตย์เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยสืบต่อไปชั่วกาลนานเทอญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

63 ปี "พระเจ้าอยู่หัว" ผู้นำที่ไม่เหมือนใครในโลก นำพาประเทศ "อยู่ดีมีสุข"

63 ปี "พระเจ้าอยู่หัว" ผู้นำที่ไม่เหมือนใครในโลก นำพาประเทศ "อยู่ดีมีสุข"

โดย ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา



ใน ช่วง 63 ปี ระหว่าง พ.ศ.2489-2552 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว จากประมาณ 17 ล้านคน เมื่อ พ.ศ.2489 มาเป็นประมาณ 63 ล้านคน ในพ.ศ.2551

ทั้งนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองอย่างต่อ เนื่อง

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของไทยที่เคยพึ่งพิงการผลิตในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการปรับโครงสร้างเป็นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น หลังจากดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) เป็นต้นมา ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสินค้าที่มีทักษะการผลิตสูง และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านการส่งออกและการผลิต

ทั้ง นี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปีฐาน พ.ศ.2531 (GDP) ของประเทศไทยมีการขยายตัวสูง เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.33 แสนล้านบาท เมื่อ พ.ศ.2494 เป็นประมาณ 4.26 ล้านบาท ใน พ.ศ.2550 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 32 เท่า (เป็นการขยายตัวที่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อแล้ว)

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศต่อหัว ณ ราคาปีฐาน พ.ศ.2531 ของประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเพิ่มจาก 6,594 บาทต่อคนต่อปี เมื่อ พ.ศ.2494 เป็น 64,500 บาทต่อคนต่อปี ใน พ.ศ.2550 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า

ขณะ เดียวกันก็พบว่าประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีจำนวนลดลงโดยลำดับ กล่าวคือ ลดลงจากประมาณ 23.78 ล้านคน เมื่อ พ.ศ.2529 เหลือเพียง 5.36 ล้านคน ใน พ.ศ.2550 คิดเป็นสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 44.90 เป็นร้อยละ 8.50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือลดลงในสัดส่วนมากกว่า 5 เท่า

ทั้งนี้ หากวัดกันตามมาตรฐานการพัฒนาที่ใช้โดยทั่วไปแล้ว ประเทศไทยถือว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างสูง

อย่าง ไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จะพบว่ามี ความไม่สมดุล เกิดขึ้นในหลายมิติ

ที่สำคัญ ได้แก่ 1.ความไม่สมดุลด้านการกระจายรายได้ ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้ว ที่ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้มีแนวโน้มที่กลับจะเพิ่มขึ้น ดังเห็นจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงหรือกลุ่มคนรวยที่สุด 20% แรก มีสัดส่วนของรายได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 เหลือเพียงร้อยละ 4.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยกลุ่มอาชีพที่ยากจนที่สุดเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ


2. ความไม่สมดุลในการใช้และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราสูง ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่คำนึงถึงขีดจำกัดเท่าที่ควร และยังทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์มีแนวโน้มร่อยหรอ และเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดปัญหามลพิษในด้านต่างๆ เช่น น้ำเน่าเสีย อากาศเสีย กากของเสีย เสียงรบกวน และสารอันตรายที่มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนมากขึ้นตามลำดับ

3.ความ ไม่สมดุลของการพัฒนาเมืองและชนบท กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีฐานเศรษฐกิจและอัตราการเจริญเติบโตที่รวด เร็วกว่าภาคอื่นๆ เช่น ใน พ.ศ.2532 มูลค่าของผลผลิตรวมของกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 ของผลผลิตรวมของประเทศ ในขณะที่ภาคอื่นๆ มีสัดส่วนลดลงตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน

4.ปัญหาค่านิยมและ ศีลธรรมที่เสื่อมลง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจากเศรษฐกิจการเกษตรมาสู่ เศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทมาสู่ความเป็นสังคมเมืองอย่าง ต่อเนื่อง ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่แบบไทยดั้งเดิมต้องปรับเปลี่ยนเป็นการดำเนิน ชีวิตในรูปแบบสมัยใหม่ ที่เร่งรีบเผชิญภาวะการแข่งขัน และมีความกดดันสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยส่วนรวม

นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังก่อให้เกิดกระแสวัตถุนิยม ซึ่งการไร้ภูมิต้านทานที่ดีพอทำให้สังคมไทยมีค่านิยมบริโภคเกินความจำเป็น ทั้งหมดนี้ทำให้ปัญหาต่างๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาหนี้สินและปัญหาคอร์รัปชั่น มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ทรงมีบทบาทที่สำคัญ คือ "พระราชทานคำปรึกษา" "ทรงสนับสนุน" และ "ทรงตักเตือน"

พระ ราชทานคำแนะนำ ทรงเตือนสติ ผ่านพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในวาระโอกาสสำคัญแก่ผู้บริหารประเทศและประชาชนชาวไทยทุกคน ถึงการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ๆ ตลอดจนแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเหล่านั้น และแนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกิดความอยู่ดีกินดีของประชาชน

ดังเช่น พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ที่แสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริในการเพิ่มความสมดุลในการพัฒนาประเทศและ ประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งมีว่า- -

จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา


" การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้อง ด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลา นี้..."

หรือ...

"การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบ อาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาด ล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์ เพราะหากไม่กระทำด้วยความระมัดระวัง ย่อมจะหวังผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้โดยยาก..."

และ...ที่พระราชทานอีกว่า...

" ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ ว่าการจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน...แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง..."

"เศรษฐกิจพอเพียงเป็น เสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือน ตัวอาคาร ไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป..."

พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนล่วงหน้าถึงความไม่สมดุลของโครงสร้างทาง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่จะนำมาซึ่งปัญหาแก่ประชาชนและประเทศชาติ

พระ ราชดำรัสที่ได้อัญเชิญมาข้างต้น มิได้เป็นเพียงแนวคิด แต่พระองค์ได้ทรงนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมผ่านทางโครงการพัฒนานับพัน โครงการ โดยการเสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทอดพระเนตรสภาพความเป็นจริง เกิดเป็นแนวพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สมดุลเหล่า นั้น

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่ทรงคิดค้นขึ้นเพื่อลดความไม่สมดุลในสังคมไทยมายาวนานและต่อเนื่องกว่า 60 ปีนั้น ในปัจจุบันมีมากถึง 4,404 โครงการ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมีลักษณะร่วมที่สำคัญ คือ แก้ปัญหาให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะที่ แก้ปัญหาทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" จำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศ อันเป็นตัวแทนของสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาดูงานของราษฎรที่มีความสนใจศึกษา และนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพของตน เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ในลักษณะการให้บริการอย่างรวมศูนย์ครบวงจร ซึ่งเน้นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้ประชาชนนำไปปฏิบัติเองได้ เป็นการวางรากฐานให้สังคมไทยพึ่งพาตัวเอง และอยู่อย่างยั่งยืน

ศูนย์ ทั้ง 6 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ อ.เมือง จ.สกลนคร, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

โครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จาก 4,000 กว่าโครงการ คือตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมชัดแจ้งที่แสดงให้เห็น ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น "นักปรัชญา" จากการที่พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทรงเป็น "นักวิทยาศาสตร์" จากการที่ทรงค้นคว้า ทดลองแนวทางแก้ปัญหาจนเมื่อเกิดผลสำเร็จได้อย่างแน่ชัด จึงพระราชทานแนวพระราชดำริดังกล่าวต่อไป

ทรงเป็น "นักเผยแพร่" ทรงสนับสนุนให้เกิดโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ และทรงเป็น "ผู้นำ" ที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยว ข้อง สมดังที่ทรงได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ว่า- -

"พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักเผยแพร่แนวคิดและนักปฏิบัติ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ทรงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของผู้นำที่อาจไม่เหมือนใครในโลก แต่สิ่งที่โลกสามารถเรียนรู้ได้จากพระองค์ คือ ความรักและแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการทำทุกอย่าง เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรของพระองค์"

หน้า 20
วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11588 มติชนรายวัน