Thursday, May 15, 2008

เนรุชาดก อานุภาพของเนรุบรรพต

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระศาสดา แล้วได้ไปยังหมู่บ้านชนบทตำบลหนึ่ง คนทั้งหลายเลื่อมใสในอิริยาบทของท่าน ให้ท่านฉันแล้ว สร้างบรรณศาลาในป่าให้ท่านอยู่ที่บรรณศาลานั้น และพากันถวายสักการะท่านอย่างเหลือเฟือ
ครั้งนั้น ภิกษุอื่นซึ่งเป็นพวกสัสตวาทะได้มา ณ ที่นั้น คนเหล่านั้นได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว พากันสละเถรวาททิ้ง เชื่อถือสัสสตวาท ถวายสักการะท่านเหล่านั้นเท่านั้น
ต่อมาพวกอุจเฉทวาทมา พวกเขาก็พากันสละสัสสตวาททิ้งเชื่อถืออุจเฉทวาท
ต่อมาพวกอื่น ที่เป็นอเจลกวาทมา พวกเขาก็พากันสละอุจเฉทวาททิ้ง เชื่อถือ อเจลกวาท
ท่านอยู่อย่างไม่สบายในสำนักของพวกคนเหล่านั้น ผู้ไม่รู้จักคุณและมิใช่คุณ ออกพรรษาปวารนาแล้ว จึงไปยังสำนักของพระศาสดา เป็นผู้ที่พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารแล้ว เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เธอจำพรรษาที่ไหน ? ทูลว่า อาศัยหมู่บ้านชายแดน พระเจ้าข้า ถูกตรัสถามว่า อยู่สบายดีหรือ ? จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่อย่างเป็นทุกข์ในสำนักของผู้ไม่รู้คุณและไม่ใช่ คุณ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลายในสมัยก่อน แม้เกิดในกำเนิดเดียรฉาน แม้เพียงวันเดียวก็ไม่อยู่กับคนทั้งหลายผู้ไม่รู้คุณและมิใช่คุณ เหตุไฉนเธอจึงอยู่ในสำนักของคนที่ไม่รู้จักคุณและ มิใช่คุณของตน พระศาสดานั้นภิกษุนั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดสุวรรณหงส์ แม้พี่ ๆ น้อง ๆ ของเขาก็มี พวกเขาพากันอยู่ที่เขาจิตกูฏ จิกกินข้าวสาลีที่เกิดเอง ในท้องที่หิมพานต์ อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาพากันเที่ยวไปในท้องถิ่นหิมพานต์นั้น แล้วกำลังกลับมายังเขาจิตกูฏ เห็นภูเขาทองลูกหนึ่ง ชื่อว่า เนรุ ในระหว่างทางจึงได้พากันเกาะอยู่บนยอดเขานั้น แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ภูเขานั้นมีทั้งนก ทั้งกระต่าย และสัตว์ ๔ เท้านานาชนิดในทำเลหากิน ตั้งแต่เวลาเข้าไปสู่ภูเขาจะกลายเป็นมีสีเหมือนทอง เพราะต้องแสงภูเขานั้น พวกสุวรรณหงส์พากันเห็นแล้ว น้องสุดท้องของพระโพธิสัตว์ ไม่รู้เหตุนั้น สงสัยว่านั่นเป็นเหตุอะไรหนอ ? เมื่อจะสนทนากับพี่ชาย จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:

[๘๔๙] กาป่า กาบ้าน และพวกเราที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย มาจับที่ภูเขาลูก
นี้แล้ว ย่อมเหมือนกันทั้งหมดทีเดียว.

[๘๕๐] ราชสีห์ เสือโคร่ง นก และเนื้อทั้งหลายซึ่งอยู่ที่ภูเขานี้ ย่อมมีสีกาย
เหมือนกันทั้งหมด ภูเขาลูกนี้ชื่อว่าอะไร?

พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า:

[๘๕๑] มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรู้จักภูเขาอันอุดมนี้ว่า เนรุบรรพต สัตว์ทุกชนิดอยู่
ที่เนรุบรรพตนี้ ย่อมมีสีกายเหมือนทอง.

น้องชายได้ยินคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า:

[๘๕๒] การไม่นับถือก็ดี การดูหมิ่นก็ดี การเสมอกันกับคนเลวก็ดี จะพึงมี
แก่บัณฑิตทั้งหลายในที่ใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่พอใจอยู่ในที่นั้น.*

[๘๕๓] คนเกียจคร้านกับคนขยัน คนกล้าหาญกับคนขลาด มีผู้บูชาเสมอกันในที่
ใด สัตบุรุษ ย่อมไม่อยู่ในที่นั้น ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่สามารถจะแบ่งคนให้
แปลกกันได้.

[๘๕๔] เนรุบรรพตนี้ ย่อมไม่จำแนกคนชั้นเลว คนชั้นกลาง และคนชั้นสูง
ทำให้เหมือนกันไปเสียหมด มิฉะนั้น เราจะละเนรุบรรพตนี้ไปเสีย.

* ณ ที่ใดมีทั้งการไม่นับถือ ทั้งการดูหมิ่น หรือการปราศจากความนับถือสัตบุรุษ คือ บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล หรือมีการนับถือคนเลวหรือคนทุศีล ณ ที่นั้น ผู้มีอำนาจไม่ควรอยู่

ก็แลหงส์ทั้ง ๒ ตัวนั้นครั้นพูดกันอย่างนี้แล้ว ได้พากันบินไป ยังเขาจิตกูฏนั่นเอง.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ในที่สุดแห่งสัจจะ ภิกษุนั้นได้ดำรงอยู่ ในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า หงส์ตัวน้องในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนหงส์ตัวพี่ คือเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ เนรุชาดก