Monday, July 21, 2008
หิริโอตัปปะคืออะไร?
หิริ คือ ความละอายต่อบาป ถึงไม่มีใครรู้แต่นึกกินแหนงแคลงใจ ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกรังเกียจ เห็นบาปเป็นของสกปรก จะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป
โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้วบาปอาจจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป
สมมติว่าเราเห็นเหล็กชิ้นหนึ่งเปื้อนอุจจาระอยู่ เราไม่อยากจับต้องรังเกียจว่าอุจจาระมาเปื้อนมือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับหิริ คือความละอายต่อบาป สมมุติว่าเราเห็นเหล็กท่อนหนึ่งเผาไฟอยู่จนร้อนแดง เรามีความรู้สึกกลัวไม่กล้าจับต้อง เพราะเกรงว่าความร้อนจะลวกเผาไหม้มือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป
“สัตบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก” (ขุ.ชา.เอก. ๒๗/๖/๓)
เหตุที่ทำให้เกิดหิริ
๑. คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากิน นั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉาน ทำไมต้องมาแย่งเมีย ไม่ใช่หมูหมากาไก่ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี่มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว” พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น
๒. คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ปานนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ย เราก็แก่ปานนี้แล้วจะมานั่งขโมยของเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น
๓. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “ดูซิ เรามีความองอาจกล้าหาญ ทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ ไม่ยอมทำความชั่วละ” พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน หิริก็เกิดขึ้น
๔. คำนึงถึงความเป็นพหูสูต “ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้วจะมาทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น
๕. คำนึงถึงพระศาสดา “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเหนื่อยยาก ตรัสรู้ธรรมแล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมา เราจะละเลยคำสอนของพระองค์ ไปทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น
๖. คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครูอาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญแล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น
เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ
๑.กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง”เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
๒.กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทัน ตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่” เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
๓.กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขาอีกหน่อย ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายไม่ทำดีกว่า” เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
ที่มา: ที่ระลึกงานฉลองอายุครบ ๗๒ ปี พระครูพิพัฒน์ปทุมสร หน้า๔๒๓-๔๒๔
Monday, July 14, 2008
อาลัยหลวงปู่พระพุทธพจนวราภรณ์
พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ ฝ่ายธรรมยุติ เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิเมตตาศึกษา และโรงเรียนเมตตาศึกษา ให้การศึกษาเด็กโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ต่อมาท่านคิดว่าคนในชนบทส่วนใหญ่ยังยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา มีความรู้น้อย ขาดทุนทรัพย์ที่จะนำมาลงทุนประกอบอาชีพ และขาดผู้นำในการดำเนินชีวิต เด็กในชนบทที่ขาดโอกาสเหล่านี้ก็ไม่มีอนาคตของชีวิต ท่านจึงคิดแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ได้แก่ การทำให้คนในชนบทขยัน ประหยัด เห็นโทษของอบายมุข เสียสละ เสริมสร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี และพัฒนาชนบททางด้านเศรษฐกิจและจิตใจพร้อมกัน
พ.ศ.๒๕๑๗ ท่านได้ตั้ง “มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการค้า สหกรณ์ การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านของตนเองให้เจริญก้าวหน้า และรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ
ในการดำเนินงานนั้น ท่านได้สนับสนุนการรวมกลุ่ม ตั้งองค์กรชาวบ้านให้เข้มแข็ง ตั้งกองทุนหรือสถาบันเศรษฐกิจของชุมชนโดยวิธีการสหกรณ์ ส่งเสริมงานหัตถกรรม เพิ่มพูนความสามารถในการผลิตและบริหารจัดการ และให้นำหลักธรรมมาเป็นคุณสมบัติของสมาชิก ๔ ข้อ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ สามัคคี รวมทั้งสนับสนุนให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยการจัดการศึกษาอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของชาวบ้าน
พระพุทธพจนวราภรณ์ได้กล่าวเสมอว่า “ผู้ที่จะทำงานพัฒนาอย่างได้ผลนั้นจะ ต้องเป็นคนมีใจรักทำงานด้วยความศรัทธา ปรารถนาจะเห็นคนที่ยังยากลำบาก สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้”
พระพุทธพจนวราภรณ์ มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สิริอายุรวม ๙๐ ปี พรรษา ๗๐ พรรษา
Subscribe to:
Posts (Atom)