Thursday, August 14, 2008

ตำนานพระเสตังคมณี

พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปสลักจากแก้วสีขาวใส มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ตำนานกล่าวว่าเป็นศิลปะสกุลช่างละโว้ ปัจจุบันคู่กับพระศิลาดำปางปราบช้างนาฬาคีรี ณ วัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 สุเทวฤาษีได้นำเอาดอกจำปา 5 ดอกขึ้นไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบปะสนทนาด้วยพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ได้บอกแก่สุเทวฤาษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญ ที่ลวะรัฎฐจะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤาษีกลับจากดาวดึงส์เทวโลกแล้วจึงไปสู่เมืองละโว้ ขณะนั้นพระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถรเจ้าปรารภการที่จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตรแล้วขอพระวิศณุกรรมมาเนรมิต สำเร็จรูปเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤาษีและฤาษีอื่นๆก็ได้ไปประชุมช่วยในการสร้างพระด้วย เมื่อสำเร็จแล้วจึงได้บรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 องค์ พระนลาต (หน้าผาก) 1 องค์ พระอุระ (หน้าอก) 1 องค์ พระโอษฐ์ (ปาก) 1 องค์ รวม 4 แห่ง


เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐานที่เมืองละโว้มาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งสุเทวฤาษีสร้างนครหริภุญชัยขึ้นแล้ว จึงได้เชิญเสด็จพระแม่เจ้าจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้มาครองนครหริภุญชัย พระแม่เจ้าจามเทวีจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงประดิษฐาน ณ นครหริภุญชัยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี


พญามังราย ได้ยึดครองนครหริภุญชัยได้ใน พ.ศ.1824 และได้เผาเมือง ต่อมาพญามังรายได้เสด็จตรวจความเสียหาย พบว่าหอพระในพระราชวังไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ เมื่อทอดพระเนตรดูพบว่าพระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ ณ ที่หอพระ จึงเกิดพระราชศรัทธาและอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานยังที่ประทับของพระองค์ และบูชาเป็นพระพุทธรูปพระจำพระองค์


เมื่อพญามังรายสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ.1839 จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชวัง คือบริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้โปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) และพระแก้วขาวตามอย่างโลหะปราสาทของกรุงลังกาไว้ในพระอารามราชกุฎาคารเจดีย์ หรือวัดเจดีย์หลวง

ประมาณ พ.ศ.2035 ในรัชสมัยพระยอดเชียงรายครองนครเชียงใหม่ มีคนร้ายขโมยพระแก้วขาวไปถวายกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยอดเชียงรายจึงยกทัพติดตามไปอัญเชิญพระแก้วขาวกลับมาประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ตามเดิม


พ.ศ.2089 พระแก้วขาวตกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างเป็นเวลากว่า 225 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปปราบล้านช้างสำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อันเป็นที่ซึ่งพญามังรายทรงมีพระราชศรัทธาอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก


พระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณีประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครเชียงใหม่จึงได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ซ่อมแซมอยู่เสมอ ในปี พ.ศ.2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการสร้างแท่นแกะสลักด้วยไม้แก่นจันทน์หุ้มด้วยทองคำหนัก 300 บาท 3 ซีก เจ้าราชภาคินัยและเจ้าอุบลวัณณา สร้างฉัตรทองคำถวายหนัก 100 บาท พร้อมกับจารึกบนแผ่นทองคำใต้แท่นพระเป็นภาษาล้านนาไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาฉัตรทองคำได้หายไปคงเหลือแต่ที่ปักแกนก้านฉัตรเท่านั้น


ปี พ.ศ.2539 นครเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี จึงได้มีการบูรณะฐานพระแก้วขาว เนื่องจากได้มีการอัญเชิญพระแก้วขาวออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี ทำให้เนื้อไม้แก่นจันทน์บวมขยายออก มีผลให้แผ่นทองคำที่หุ้มอยู่ปริแตก นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างฉัตรทองคำน้ำหนัก 123 บาท ประดับเพชร 9 เม็ด และพลอยอีก 37 เม็ด ถวายแด่พระแก้วขาวด้วย

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร และวัดสังฆารามเชียงมั่น. 2539. เชียงมั่น: วัดแรกในเชียงใหม่. ที่ระลึกงานประเพณีนมัสการพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) พระศิลา ปอยหลวงพระวิหาร พระเจดีย์ถาวรวัตถุและฉลองสมโภชวัดเชียงมั่นเมืองเชียงใหม่ 700 ปี ณ วัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 1-5 เมษายน พ.ศ.2539.

ตำนานพระแก้วขาวกับพระศิลา วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่. 2544. พิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองสมโภชอุโบสถวัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ 700 ปี.

พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล (พระหยกเชียงราย)

เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา ปางสมาธิราบ ฐานเขียง พระโมลีเป็นต่อมกลม ขนาดหน้าตักกว้าง 49.7 เซนติเมตร สูง 65.9 เซนติเมตร ฐานแกะสลักด้วยหินหยกสีเขียวเป็นรูปบัวสูงประมาณ 1 ศอก เป็นฐานบัวศิลปะเชียงแสน เครื่องทรงสร้างด้วยอัญมณีและทองคำ แบบเครื่องทรงพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุครบ 90พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2533 คณะสงฆ์หนเหนือนำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้างพระแก้วมรกตจำลอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพลเอกชาติชาย และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ


สำหรับหินหยกที่นำมาแกะสลักเป็นพระแก้วในครั้งนี้ เป็นหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู มหานครปักกิ่ง เมื่อโรงงานหยกได้แกะสลักหินหยกเป็นพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กราบอาราธนาสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในฐานะประธานกรรมการอุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ ได้เดินทางไปรับมอบพระพุทธรูปหยกที่มหานครปักกิ่ง เพื่ออัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2534 และประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และมีพระมหาเถระ 37 รูป นั่งปรกบริกรรม เจริญภาวนาในพิธี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2534


ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระนามพระพุทธรูปหยกว่า “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา” และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า “พระหยกเชียงราย”
คณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดพิธีสมโภชอัญเชิญพระหยกเชียงรายไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม พ.ศ.2534



ที่มา: ปิลันธน์ มาลากุล,หม่อมหลวง, 2534, นวุติวัสสานุสรณ์. มปท.
ชมรมพระพุทธรูปศักดิ์ศิทธิ์, 2548,สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาคเหนือ, กรุงเทพฯ: คอมมา ดีไซน์แอนด์พริ้นต์.

พฤติกรรมเชิงคุณธรรมของผู้ที่มีคุณธรรม


๑.เป็นผู้มีความพอดี ไม่ขาด ไม่เกินความพอดี ปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง ไม่ขาดไม่เกิน ไม่มากไม่น้อย
๒.เป็นผู้ที่กระทำด้วยเจตนาดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทำไปเพื่อสิ่งดีงาม ไม่ใช่ทำด้วยการถูกบังคับ หรือด้วยผลประโยชน์ใดๆ
๓.เป็นผู้ที่มีเหตุผลพอใจที่ได้ปฏิบัติต่อผู้อื่น และเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง
๔.เป็นผู้ที่มุ่งศานติสุข หรือความสงบ ไม่ใช่มุ่งความสมบูรณ์พูนสุขเป็นที่ตั้ง
๕.เป็นผู้ที่มีความพอ รู้จักสละสิทธิทางธรรมชาติ เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมแล้วปฏิบัติตามข้อผูกพัน และหน้าที่ด้วยความเหมาะสมเป็นที่ตั้ง
๖.เป็นผู้ที่มีนิสัยอันดีงามในการทำหน้าที่ รับผิดชอบ คือ หน้าที่และทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
๗.เป็นผู้ที่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นและความอยากต่างๆ ไว้ได้ด้วยเหตุผล
๘.เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหรือมาตรการทางจริยธรรมได้เหมาะสมแก่กาลเทศะอยู่เสมอ (โกสินทร์ รังสยาพันธ์, 2530, ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา)

สภาพจิต ๕ ประการของผู้เจริญงอกงามในจริยธรรม

๑.ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ
๒.ปิติ ความอิ่มใจ
๓.ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ
๔.สุข ความมีใจคล่องแคล่ว ชื่นมื่น
๕.สมาธิ ความตั้งมั่นอยู่ในตัวของจิตใจ