Wednesday, January 6, 2010

เรียนพุทธศาสนา ใน ๑๕ นาที โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

เรียนพุทธศาสนา ใน ๑๕ นาที โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

นับตั้งแต่กาลที่โลกว่างเปล่า เริ่มกลายเป็นมนุษย์โลกขึ้น เมื่อหลายแสนปีมาแล้ว มนุษย์ได้ใช้มันสมอง แสวงหาความสุขใส่ตน เป็นลำดับๆ มาทุกๆยุค, จนในที่สุด เกิดมีผู้สั่งสอนลัทธิแห่งความสุขนั้นต่างๆกัน, ตัวผู้สอนเรียกว่า ศาสดา, คำสอนที่สอนเรียกว่า ศาสนา, ผู้ที่ทำตามคำสอน เรียกว่า ศาสนิก, ทุกอย่างค่อยแปรมาสู่ความดียิ่งขึ้นทุกที, สำหรับคำสอน ขั้น โลกิยะ หรือ จรรยา ย่อมสอนมีหลักตรงกันหมดทุกศาสนา, หลักอันนั้นว่า จงอย่าทำชั่ว จงทำดี ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น, ดังที่ทราบกันได้อยู่ทั่วไปแล้ว : แต่ส่วนคำสอนขั้นสูงสุด ที่เกี่ยวกับความสุขทางใจ อันยิ่งขึ้นไปนั้น สอนไว้ต่างกัน. ศาสนาทั้งหลาย มีจุดหมายอย่างเดียวกัน เป็นแต่สูงต่ำกว่ากัน เท่านั้น

ทุกองค์ศาสดา เว้นจากพระพุทธเจ้า สอนให้ยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งสาวกไม่มีความรู้(ไป)พิสูจน์ ว่าเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นผู้สร้างโลก และอำนวยสุขแก่สัตว์โลก เป็นที่พึ่งของตน, ให้นับถือบูชาสิ่งนั้น โดยแน่นแฟ้น ปราศจากการพิสูจน์ ทดลอง แต่อย่างใด. เริ่มต้นแต่ยุคที่ถือผี ถือไฟ ถือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ต่างๆ มาจนถึง ยุคถือพระเป็นเจ้า เช่น พระนารายณ์ และ พระพรหมของศาสนาฮินดู พระยโฮวาของศาสนาคริสเตียนและยิว และพระอหล่าของอิสลาม ต่างสอนให้มอบความเชื่อในพระเจ้าเหล่านั้น แต่ผู้เดียว ว่าเป็น ผู้มีอำนาจเหนือสิ่งใดทั้งหมด ทั้งๆที่ไม่ต้องรู้ว่า ตัวพระเจ้านั้นเป็นอะไรกันแน่ และผิดจากหลักธรรมดาโดยประการต่างๆ

ต่อ มาเมื่อสองพันปีเศษมาแล้ว ภายหลังแต่พระเจ้าของศาสนาพราหม์ ก่อนแต่พระคริสต์และพระโมหมัดของชาวยุโรปและอาหรับ๑ พระพุทธเจ้า ได้อุบัติบังเกิดขึ้น ทรงสอนการพึ่งตนเอง และทรงสอนหลักธรรมทางใจในขั้นสูง ผิดกับศาสนาอื่นทั้งหมด คือ :-

หลักกรรม

ทรงสอนเป็นใจความว่า สุขทุกข์ เป็นผลเกิดมาจากเหตุของมันเอง ได้แก่ การกระทำของผู้นั้น ผลเกิดจากการกระทำของผู้ใด ผู้นั้นต้องได้รับอย่างแน่นอนและยุติธรรม ไม่มีใครอาจสับเปลี่ยน ตัวผู้ทำ กับ ตัวผู้รับ หรือมีอำนาจเหนือกฏอันนี้ได้ นี่เรียกว่า ลัทธิกรรม มีเป็นหลักสั้นๆ ว่า สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน หมุนไปตามอำนาจเก่า ซึ่งในระหว่างนั้น ก็ทำกรรมใหม่ เพิ่มเข้า อันจะกลายเป็น กรรมเก่า ต่อไปตามลำดับ เป็นเหตุและผลของกันและกัน ไม่รู้จักสิ้นสุด คาบเกี่ยวเนื่องกัน เหมือนลูกโซ่ ไม่ขาดสาย เราเรียกความเกี่ยวพัน อันนี้กันว่า สังสารวัฏ หรือสายกรรม มันคาบเกี่ยวระหว่าง นาทีนี้ กับนาทีหน้า หรือ ชั่วโมงนี้กับชั่วโมงหน้า วันนี้กับวันหน้า เดือนนี้กับเดือนหน้า ปีนี้กับปีหน้า จนถึง ชาตินี้กับชาติหน้า สับสน แทรกแซงกัน จนรู้ได้ยาก ว่าอันไหน เป็นเหตุของอันไหนแน่ ดูเผินๆ จึงคล้ายกับว่า มีใครคอยบันดาล สายกรรม ประจำบุคคลหนึ่งๆ ย่อมผิดจากของอีกคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ต่างคน จึงต่างเป็นไปตาม แนวกรรม ของตน ไม่เหมือนกัน กรรมเป็นเหตุ สุขและทุกข์เป็นผลเกิดมาแต่กรรมนั้นๆ

หลักอนัตตา

ทรงสอนอีก ว่า ไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง ไม่มีสิ่งอันควรเรียกได้ว่า ตัวตน สรรพสิ่งไม่มีผู้ใดสร้าง เกิดขึ้นแปลกๆ ก็เพราะปัจจัยตามธรรมชาติที่จะต้องค่อยๆ แปรไปตามลำดับ ตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยไม่อยู่ในอำนาจของใคร เรียกว่า มันเป็นอนัตตา หลักอนัตตา นี้จึงมีแต่ใน พุทธศาสนา ไม่มีในศาสนาอื่น อันสอนว่า ทุกสิ่งพระเจ้าสร้างขึ้นเป็นตัวตน และอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าผู้เป็นเจ้า แห่งตัวตนทั้งหลาย

ทรงสอนว่า ไม่มีตัวตน ซึ่งเที่ยง และยั่งยืน สิ่งหนึ่งย่อมเกี่ยวเนื่องมาแต่อีกสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นก็เกิด ทยอยมาแต่สิ่งอื่น แม้สิ่งอื่นนั้น ก็เกิดทยอยมา แต่สิ่งอื่นอีก ตั้งต้นมานาน ซึ่งไม่มีใครกำหนดได้ และจะเกิด สืบต่อกันไปข้างหน้าอีกเท่าไรแน่ ก็กำหนดมิได้ เหมือนกัน กฏข้อนี้เป็นไปทำนองเดียวกัน ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณ และที่หาวิญญาณมิได้ สำหรับสิ่งที่หาวิญญาณมิได้จักยกไว้ เพราะไม่เกี่ยวกับ สุขทุกข์ ส่วนสิ่งที่มีวิญญาณ เช่น มนุษย์ และ สัตว์เดรัจฉาน ทั่วไป เป็นสิ่งควรเรียนรู้ เพราะเกี่ยวกับ สุข ทุกข์ ในชีวิตมนุษย์เรา เกิดจากการรวมพร้อมแห่ง รูปธาตุ (Physical Element) และนามธาตุ (Mental Element) อันมีประจำอยู่ตามธรรมดาในโลกนี้ เมื่อสองอย่างนี้ ยังประชุมกัน เข้าได้อย่างเหมาะส่วน ก็เป็นมนุษย์ขึ้น เช่นเดียวกับ พืชพรรณไม้ ที่อาศัย ดินฟ้าอากาศ และเชื้อในเมล็ดของมันเอง งอกงาม กลายเป็น ต้นไม้ ใหญ่โต ขึ้นได้ รูปธาตุ และ นามธาตุ นั้น แต่ละอย่าง ก็ล้วนเกิดมาจากการรวมพร้อม ของพืชอื่น อีกต่อหนึ่ง เกิดสืบต่อกันมาเป็นลำดับ จนกว่าจะเหมาะ สำหรับผสมกันเข้า ในรูปใหม่เมื่อใด รูปธาตุในกายนี้ เช่น พืชและเนื้อสัตว์ ซึ่งอาศัย สิ่งอื่น เกิดมาแล้ว หลายต่อ หลายทอด จนมาเป็น เชื้อบำรุง ร่างกายนี้ โดยเป็นเชื้อให้เกิดและบำรุง ส่วนเล็กที่สุด ของร่างกาย (Cell) ที่สำหรับจะเป็นเนื้อ หนัง กระดูก ผม ขน เล็บ ฟัน โลหิต และอื่นๆ ในร่างกายเรา ธาตุลม อันเกิดขึ้น จากธรรมชาติส่วนอื่นๆ ก็ได้ใช้เป็นลมหายใจ เข้าไป บำรุงโลหิต และ สิ่งต่างๆ โลหิตเป็นเหตุ ให้เกิดความอบอุ่น และความร้อนขึ้นได้ เท่านี้ก็พอจะมองเห็นได้ว่า มันอาศัยกัน เกิดขึ้น เป็นลำดับๆ มามากมาย นี้เป็นการเกิด การผสม การแปร ของธรรมชาติ ฝ่ายรูปธาตุ

ส่วนนามธาตุนั้น ยิ่งละเอียดมาก นามธาตุอาศัยอยู่ได้เฉพาะใน รูปธาตุ ที่ได้ปรับปรุงกันไว้เหมาะเจาะแล้ว และมีหน้าที่บังคับรูปธาตุ พร้อมทั้งตนเอง ให้ตั้งอยู่ หรือ เป็นไปต่างๆ ตลอดเวลา ที่เข้ามา เนื่องเป็นอันเดียวกัน ควรเปรียบเรื่องนี้ด้วย เครื่องไดนาโมไฟฟ้า ชิ้นโลหะต่างๆ กว่าจะมา คุมกันเข้า จนเป็นอย่างนี้ได้นั้น ล้วนแต่ เกิดจากอุตุนิยมสืบมา ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนปี จนมนุษย์นำมาปรับปรุง ให้เป็นรูปต่างๆ ก็ยังหามีไฟฟ้าเกิดขึ้นไม่ แต่เมื่อได้ยักย้าย ประกอบกันเข้า จนถูกส่วน พร้อมด้วย อาการหมุน มันจึงปรากฏแรงไฟฟ้าอย่างแรงขึ้นได้ ไฟฟ้าบางส่วนนั้น ปรากฏขึ้น มาจากการหมุนของเครื่อง การหมุนของเครื่อง กลับได้แรงไฟนั้นเอง มาช่วย สนับสนุนในการหมุนบางส่วนก็มี ถ้ามีแต่ชิ้นโลหะก็ดี มีแต่อาการหมุน อย่างเดียวก็ดี หรือมีแต่กระแสไฟฟ้า อันเป็นธรรมชาติประจำอยู่ใน สิ่งต่างๆ ในโลกก็ดี ยังไม่ประชุมกัน เข้าได้แล้ว กระแสไฟฟ้าใหม่จะไม่ปรากฏขึ้น มาได้เลย ฉันใดก็ฉันนั้น รูปธาตุ หรือ ร่างกายนี้ เปรียบเหมือน เครื่องไดนาโม นามธาตุ เปรียบเหมือน กระแสไฟฟ้า ได้อาศัยกันกลับไปกลับมา จึงเป็นไปได้ ทั้งแต่ละอย่างๆ ล้วนต้องอาศัย ความประจวบพร้อมแห่งเครื่องประกอบ ซึ่งเกิดมาแต่สิ่งอื่น หลายทอดด้วยกัน นามธาตุ ก็เกิดสืบมาโดยตรงจากพวกนามธาตุ อิงอาศัยอยู่กับรูปธาตุ เมื่อรวมกันเข้าแล้ว เราสมมุติเรียก คนหรือสัตว์ ชื่อนั้นชื่อนี้ เพื่อสะดวกแก่การพูดจา เช่นเดียวกับ สมมุติเรียก ชิ้นโลหะและวัตถุต่างๆ ว่า เครื่องไดนาโม ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้เหมือนกัน หลักของการ ที่สิ่งต่างๆ เป็นเหตุผลของกัน และให้เกิดสืบสาวกันไปนี้ เป็นปัญหา ที่ละเอียด ลึกซึ้ง ซึ่งพระองค์ ได้ทรงตีแตก อย่างทะลุปรุโปร่ง ในตอนหัวค่ำ แห่งคืนตรัสรู้ ที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ความรู้อันนี้ ทำให้พระองค์ ทรงรู้จักโลกดี พอที่จะตี ปัญหาที่สอง ออกได้ สืบไปว่า มนุษย์เราควรทำอย่างไรกัน จึงเหมาะแก่โลก ซึ่งมีธรรมชาติ เป็นอย่างนี้ หรือ จะอยู่เป็นสุขในโลกอันมีสภาวะเช่นนี้ได้? การตีปัญหาข้อสองออก ได้สำเร็จผล เกิดเป็น หลักธรรมต่างๆ ที่พระองค์ใช้สอน บริษัทในสมัยต่อมานั่นเอง อันรวมใจความได้สั้นๆ ว่า สิ่งซึ่งเกิดมาจาก สิ่งอื่น ซึ่งไม่เที่ยงถาวร และ ทั้งอาการที่สืบต่อกันมาก็ไม่ถาวรแล้ว สิ่งนั้นจะเที่ยงถาวรอย่างไรได้ ย่อม กระสับกระส่าย โยกโคลง แปรปรวน ไปตามกัน สิ่งที่แปรปรวนไม่คงที่ ย่อมก่อให้เกิด ภาวะชนิดที่ ทนได้ยาก คือ ทำให้เจ้าของได้รับความไม่พอใจ เสียใจ และเป็นทุกข์ เมื่อมันแปรปรวน และเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้แล้ว มนุษย์จึงไม่ควร ฝืนธรรมดา สะเออะเข้าไปรับเอาความทุกข์นั้น โดยเข้าใจอ้างตัวเอง เป็นเจ้าของร่างกายนี้ และร่างกายอื่น มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ ของเรา เห็นได้ตรงที่ไม่อยู่ในอำนาจเรา เราไม่ได้ทำมันขึ้น นอกจากอำนาจธรรมชาติแห่ง นาม และ รูป เท่านั้น ผู้ที่เข้าไป ผูกใจ ในสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นของภายใน และภายนอกตน ก็ดี ว่าเป็นสิ่งที่จะเป็นไปตามความประสงค์ ของตนทุกเมื่อแล้ว จะเกิดเป็นปัญหายุ่งยากขึ้น ในใจของผู้นั้น มืดมิดเกินกว่าที่เขาจะสะสางได้ พระองค์จึงทรงสอน ให้หน่าย และละวางสิ่งต่างๆ ด้วยการไม่ยึดถือทางใจ แม้ว่าตามธรรมดา คนเราจะต้องอิงอาศัยสิ่งนั้นๆ เพื่อมีชีวิตอยู่ หมายความว่า เราปฏิบัติต่อมัน ให้ถูกต้อง ก็แล้วกัน

เมื่อเราไม่เข้าไปผูกใจ ในสิ่งใด สิ่งนั้น ก็ไม่เป็นนาย บังคับใจเรา ให้อยาก ให้โกรธ ให้เกลียด ให้กลัว ให้เหี่ยวแห้ง หรือ ให้อาลัย ถึงมันได้ เราจะอยู่ เป็นสุข เมื่อใจหลุดพ้นแล้ว ก็เป็นอันว่า ไม่มีอะไร มาทำให้เรากลับเป็น ทุกข์ได้อีกจนตลอดชีวิต การคิดแล้วคิดอีก เพื่อตีปัญหานี้ให้แตก จนใจหลุดพ้น เรียกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน และเมื่อใจเราไม่ค่อยยอมคิดให้จริงจัง ลึกซื้ง เพราะอาจฟุ้งซ่าน ด้วยความรัก ความโกรธ ความกลัว ความขี้เกียจ หรืออะไรก็ตาม จะต้องทำการข่มใจ ให้ปลอดจากอุปสรรคนั้นๆเสียก่อน การข่มใจนั้น เราเรียกกันว่า สมถกัมมัฏฐาน ถ้าไม่มีอุปสรรคเหล่านี้ สมถกัมมัฏฐาน ก็ไม่เป็น ของจำเป็นนัก นอกจากจะเข้าฌาน เพื่อความสุขของพระอริยเจ้า เช่นเดียวกับ การหลับนอน เป็นการ พักผ่อน อย่างแสนสุขของพวกเราๆ เหมือนกัน คำสั่งสอน ส่วนมากของพระองค์ เราจึงพบแต่วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่

ความยึดถือ หรือ อุปาทาน

เรา จะมองเห็น อย่างแจ่มแจ้ง ได้แล้วว่า สภาพแห่งทุกข์ มีอยู่ในโลกนี้ จริง แต่บุคคล ผู้จะรับทุกข์นั้นหามีไม่ ถ้าหากเขา จะไม่หลงเข้าไปรับเอาด้วยความ เข้าใจผิดว่า สิ่งนั้นเป็นสุข และอยากได้ หรือหวงแหน จนเกิดการ ยึดมั่น หรือเข้าใจไปว่า ทั้งมัน ทั้งเขา เป็นตัวตน ที่จะอยู่ใน อำนาจของตน ได้ทุกอย่าง ตามแต่จะปราถนา คิดดูก็เป็นการน่าขัน และ น่าสลดใจ อย่างไม่มีเปรียบ ที่เราพากัน สมมุติเอา สิ่งที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ว่างเปล่า" ให้ เป็นตัว เป็นตน ขึ้น แล้ว ทำใจตัวเอง ให้ดิ้นรน ก่อความ ยุ่งยาก ให้เกิดขึ้นในใจ รัก โกรธ เกลียด กลัว ไปตาม ฉากแห่งความแปรปรวน ของสิ่งนั้นๆ ซึ่งที่แท้ มันเป็นของ "ว่างเปล่า" อยู่ตลอดเวลา ตามที่ พระองค์ตรัสไว้นั่นเอง

คำว่า "ว่างเปล่า" ในที่นี้ คือ ไม่มีแก่นสาร ตัวตน (webmaster - หมายถึง อนัตตา)ที่จะมายืนยันกับเราว่า เอาอย่างนั้น อย่างนี้กันได้ เพราะของทุกอย่างล้วนแต่มีสิ่งอื่นปรุงแต่ง ค้ำจุนกัน มาเป็นทอดๆ จึงตั้งอยู่ได้ พร้อมกับการค่อยๆ แปรไป สิ่งที่สิ่งอื่น ปรุงแต่ง จึงเป็นของว่างเปล่า ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอิสระแก่ตน ใครจะเอาสัญญามั่นเหมาะกับสิ่งเหล่านั้น อย่างไรได้ ในเมื่อทั้ง ผู้ถือสัญญา และ ผู้ให้สัญญา ก็ล้วนแต่ ไม่มีความเป็นใหญ่แก่ตน หรือมีความเป็นตัว เป็นตน ไปตามๆ กันทั้งนั้น ผู้ที่ขืน เข้าไปสัญญา หรือ ยึดมั่นในสัญญา ก็เท่ากับ เอาความว่างเปล่า ไปผูกพัน กับ ความว่าง๒ จะได้ผล อันพึงใจ จากอะไรเล่า ทั้งนี้ ก็เพราะ การหลงยึดมั่น ของว่าง ขึ้นเป็น ตัวตน เราเรียกกันว่า อุปาทาน วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น นั้น เรียกว่า อุปาทานขันธ์ มีห้าอย่าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะฉนั้น จึงตรัสรู้ว่า ขันธ์ทั้งห้า เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น อันเป็นทุกข์

หลักอริยสัจ

เรา จะเรียนรู้ หลักความจริง เหล่านี้ ได้จากโรงเรียน คือร่างกายเรานี้ เท่านั้น ของใคร ก็ของมัน ต้องอาศัยร่างกาย เป็นที่ค้นหาความจริง เป็นครู สอนความจริง เพราะในร่างกายนี้ มีลักษณะพร้อมทั้งเหตุ และผล พอเพียง ที่จะให้เราศึกษา หาความรู้ และ ทำความมั่นใจ ให้แก่เราได้ พระองค์จึงตรัสไว้ว่า

"...แน่ะเธอ! ในร่างกาย ที่ยาว วาหนึ่งนี้ นั่นเอง อันมีพร้อมทั้ง สัญญา และ ใจ ฉันได้บัญญัติ โลก (คือความทุกข์), ได้บัญญัติ โลกสมุทัย (คือ เหตุให้เกิด ทุกข์), ได้บัญญัติ โลกนิโรธ (คือความดับไม่เหลือ แห่ง ทุกข์), และได้บัญญัติ โลกนิโรธคามินีปฏิปทา (คือการทำเพื่อให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น) ไว้"

ในที่นี้ ตรัสเรียก สภาพธรรมดา อันเต็มไปด้วยทุกข์ว่า โลก, เรียก ความอยาก ทะเยอทะยาน ของสัตว์โลก เพราะความยึดมั่น เข้าใจผิดว่า เหตุให้เกิดโลก, เรียกการดับความอยากเสียแล้ว อยู่สงบเป็นสุขใจ เพราะไม่ยึดมั่น และเข้าใจถูกในสิ่งต่างๆว่า เป็นที่ดับของโลก, และทรงเรียก มรรคมีองค์แปดประการ ว่า เป็นวิธีให้ถึง ความดับของโลก นั้น อันเป็นสิ่งที่ สัตว์ทุกคน ควรกระทำ เป็นหน้าที่ประจำชีวิตของตนๆ ตามนัยนี้ เป็นอันว่า หลักใหญ่ของพุทธศาสนา คือ การสอน ให้ดับทุกข์ ภายในใจ ด้วยการศึกษาหาความจริงในกายตน และหยั่งรู้ไปถึงสิ่ง และบุคคลที่แวดล้อมตน อยู่ตามเป็นจริง ไม่ติดมั่น จนเกิดทุกข์ เพราะเห็น กฏแห่งอนัตตา แล้วมีใจปลอดโปร่งสบาย การไม่ยึดมั่นว่า เป็นตัวตน อันจะก่อ ให้เกิดการเห็นแก่ตนนั้น เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตน และผู้อื่น หรือแก่โลกทั้งสิ้น คือตนเอง จะเป็นผู้มีความสุขสงบ เยือกเย็นแสนจะเย็น ส่วนผู้อื่นนั้น นอกจากไม่ถูกผู้นั้น มาเบียดเบียนแล้ว ยังอาจประพฤติตามเขา จนได้รับความสุขอย่างเดียวกัน ไฟทุกข์ของโลกจะดับสนิท หลักธรรมทั้งหลาย แม้จะมีชื่อเรียกต่างๆ กันหมดนั้น รวมลงได้ในหลัก คือ ความดับทุกข์ทั้งสิ้น ความรู้ชนิดนี้ ย่อมนำให้เกิด ความเมตตา สงสารเพื่อน ที่กำลังอยู่ในทะเลแห่งสังสารวัฏ ด้วยกันอย่างแรงกล้า เพราะฉะนั้น เป็นอันไม่ต้องกล่าวก็ได้ว่า เมตตา เป็นหลักอันสำคัญ ใน พุทธศาสนานี้ด้วย อีกประการหนึ่ง

หลักโลกิยะ และโลกุตตระ

ผู้สำคัญในสิ่งว่าง เปล่า(webmaster - มีความหมายว่า ไปยึดติดว่าตัวตนหรือของตัวตน ทั้งที่เป็นอนัตตาหรือไม่มีตัวตนแท้จริง) ว่าเป็นแก่นสาร ก็คือผู้หลง หรือ เรียกตรงๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ปลูกสร้างฉางบรรจุความทุกข์ไว้สำหรับตน และนั่นคือ ปกติหรือธรรมดาของมนุษย์ทั้งโลก ที่เรียกว่า ยังอยู่ในวิสัย โลกิยะ ไม่ใช่โลกุตตระ คือ ผู้พ้นจากโลกด้วยน้ำใจ บางสมัยหรือบางเรื่อง ผู้แสวงหาทุกข์มาใส่ตนได้มาก กลับได้รับความยกย่องนับถือ ทั้งนี้ เพราะพากัน หลง ในสิ่งที่ยังไม่รู้จักมันดี และนับถือโลกิยะ คนยากจน ซึ่งมีอยู่เป็นส่วนมาก ทะเยอทะยาน เงินทอง ของมหาเศรษฐีอย่างแรงกล้า แต่มหาเศรษฐีนั้น ไม่ได้ทะเยอทะยาน หรือรู้สึกอะไรกี่มากน้อยในเงินทอง ของตนเองเลย เป็นแต่ทะเยอทะยานต่อส่วนที่มากขึ้น ไปกว่านั้นอีก ส่วนความหนักใจ ความหวั่นใจ เมื่อคิดเทียบส่วนแล้ว ย่อมมีเสมอกัน ไปหมด มันมีส่วนมากน้อย เท่ากับ ที่ตน สมมุติเอาความว่างเปล่า(อนัตตา)ขึ้นเป็นตัว เป็นตน ตามมากและน้อยเพียงไร ใครสมมุติขึ้นมาก ก็ต้องแบกไว้มาก และหนักกว่า! พระพุทธเจ้าเอง ก็เคยทรงแบกก้อนหิน อันหนักนี้ แต่แล้ว กลับทรงสลัดทิ้งเสีย !! เพราะพระองค์ ทรงค้นพบว่า มันคือความทุกข์ ทรมาน ของผู้เข้าใจผิด หลงเข้าไปยึดถือ เป็นของน่าสะอิดสะเอียน และตรงกันข้าม กลับเป็นของเบา สบาย สำหรับผู้ไม่หลงยึดถือ หรือสลัดทิ้งเสียได้แล้ว นี้เรียกว่า ทรงค้นพบโลกุตรธรรม เพราะฉะนั้น พุทธศาสนา ก็คือ คำสอนให้สลัดความทุกข์ออกทิ้งเสีย ให้พ้นจากความทุกข์ อันเป็นของมีประจำอยู่ในโลกแต่อย่างเดียว ไม่หลง ประกอบทุกข์ขึ้นแบกไว้ ไม่ใช่ให้อ่อนแอ ร้องขอแต่ความสุข ทั้งที่ไม่รู้จักทุกข์ และสลัดมันออกไปเสีย โดยรู้ว่า ภาวะที่หมดทุกข์ นั่นแล เป็นความสุขที่แท้, มันเป็นการ กระทำชีวิต ให้กลับกลาย มาเป็น อิสระจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ ตามธรรมชาติ อันยั่วยวนใจ ในโลก ภายหลังจากที่เราเองได้ยอมตน เข้าไปเป็นทาส ด้วยความโง่อย่างยิ่งของเรามาแล้ว ตลอดสังสารวัฏ อันยาวยืด ซ้ำซาก ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ จนกว่าเราจะรู้เท่าทันมัน ดวงใจอันข้ามขึ้น อยู่เหนือ โลก เช่นนี้ เรียกว่า โลกุตตรจิต ภาวะที่เป็นเช่นนั้น เรียกว่า โลกกุตตรธรรม โลกุตตรวิสัย, หรือ โลกุตตรภูมิ

ในวงแห่งศาสนาอื่นๆ เมื่อศาสนิกใกล้จะตาย ย่อมร้องว่า " สวรรค์! พระเจ้า! " แต่สำหรับ พุทธศาสนิก ที่แท้จริง จะร้องว่า " ความดับสนิท อย่างไม่มีเหลือ เป็นเชื้ออีกต่อไป ! " นี้แสดงว่า เขาเหล่าโน้น ยังอยากอยู่ ในโลก-โลกสวรรค์ หรือ โลกพระเจ้า ส่วน พุทธศาสนิก มีจุดหมายปลายทาง คือ ความดับไม่มีเหลือ, โลกุตตระ จึงมีแต่ใน พุทธศาสนา เท่านั้น

เมื่อ มนุษย์ ยังเป็นป่าเถื่อน, รู้จัก และปรารถนาความสุขอย่างสูงสุด เพียงการได้กิน ได้เสพย์ ของอร่อยๆพออิ่มไป ขณะหนึ่ง เท่านั้น แต่ความคิด ของมนุษย์ ในอันแสวงหาความสุขที่ยิ่งขึ้นไป ไม่ได้หยุดเฉย อยู่นานเข้า ค่อยมีความเห็นแปรไปสู่ภาวะที่สูงขึ้น จนรู้จักและปรารถนาทรัพย์สมบัติ แว่นแคว้น ปรารถนากามสุข จนถึงสวรรค์ อันเป็นที่สุดยอดของกาม นานต่อมา มีพวกหัวคิดสูงเห็นว่า สุขในกามก็ยังเป็น ของเสียดแทงหัวใจ เท่าๆ กับความหวาน อร่อยของมัน เลยนึกหาความสุขอันสูงขึ้นไป และได้ยึดเอาว่า ความมี ความเป็น แห่งชีวิต ที่ปราศจากกาม เป็นยอดสุด คือ ความเป็น พรหมนั่นเอง และบัญญัติขึ้น ในยุคนั้นว่า ความเป็นพรหม นั่นแหละ เป็นนิพพาน คำว่านิพพาน ที่แปล ตามศัพท์ว่า ปราศจากการเสียดแทง ได้เกิดมีขึ้นแต่ครั้งนั้น

ต่อมาอีกนาน พระพุทธเจ้า อุบัติขึ้น และทรงค้นพบว่า ภาวะแห่งพรหม ก็ยังไม่เที่ยง แปรปรวน และแตกดับ เช่นเดียวกับสิ่งที่ต่ำกว่าอื่นๆ จะเรียกว่า นิพพาน หาได้ไม่ ยังเสียดแทงอยู่อย่างละเอียด เพราะยังมีความสำคัญว่า ตัวตนอยู่ จะต้องเสียดแทงใจ ในเมื่อมันแตกดับ เพราะยังมี ความอยาก ความปรารถนาในทางที่แม้ไม่ใช่กามก็จริง ตัณหายังมีอยู่ จึงทรงบัญญัติ ความดับไม่เหลือเป็นตัวตน สำหรับยึดถืออีกต่อไปว่า เป็นตัวนิพพาน อันแท้จริง อันจะไม่มีใครมาบัญญัติ ความสุขให้สูงกว่านี้ ขึ้นไปได้อีก โลกุตตรธรรม หรือ นิพพาน ที่แท้จริง จะมีแต่ในพุทธศาสนา นอกนั้น ยังอยู่ในวิสัยโลกทั้งสิ้น ต่างกันสักว่าชื่อ เป็นมนุษย์โลกบ้าง เทวโลกบ้าง พรหมโลกบ้าง

พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์

หลักแห่ง พุทธศาสนา แปลกจากศาสนาอื่น ทั้งหลาย โดยเป็น ศาสนา แห่งวิชาความรู้ ที่ทนต่อการพิสูจน์ ของใครๆ ได้ทั้งสิ้น ดังที่ตรัสไว้ว่า ธรรม ในพุทธศาสนา ย่อมทนต่อการพิสูจน์ได้๓ คือ ท้าให้ใครพิสูจน์ได้ทุกอย่าง จนผู้พิสูจน์ พ่ายแพ้ภัยตัวเอง หมดมานะ กลับใจ ยอมนับถือพุทธศาสนา คำที่กล่าวกันว่า พุทธศาสนา เหมือนกัน หรือเข้ากันได้ กับ วิทยาศาสตร์นั้น มีผู้ตีความกันว่า เพราะพุทธศาสนา แยกสังขาร ร่างกาย ออกวิเคราะห์ หาความจริง เช่นเดียวกับ วิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน แยกธาตุต่างๆ ออกหา คุณสมบัติชั้นละเอียด ข้าพเจ้าเห็นว่า คำกล่าวนั้น ยังไม่เพียงพอกับคุณค่า อันสูงสุดแท้จริง ของพุทธศาสนา เพราะถ้า กล่าวเช่นนั้นแล้ว วิชาสรีรศาสตร์ หรือแพทย์ศาสตร์ อันเกี่ยวกับการแยกตรวจร่างกาย ก็จะกลายเป็น พุทธศาสนาไปส่วนหนึ่งด้วย ที่แท้ควรกล่าวว่า เหมือนกันโดยที่ หลักวิทยาศาสตร์ก็ทนต่อการพิสูจน์ อาจทำการ พิสูจน์ให้ดูเอง หรือยอมให้ใครพิสูจน์ ได้ทุกท่า ทุกทาง จนเขาหมดท่าจะพิสูจน์ เพื่อโต้แย้งอีกต่อไป และหมดความสงสัย เช่นเดียวกับพุทธศาสนา ยอมให้ใครเพ่งพิสูจน์ซักไซร์อย่างไร ก็ได้ ยอมทนอยู่ได้ จนเขาหมดวิธีพิสูจน์ และต้องเชื่อ สัจจะย่อมไม่ตาย! คำว่า วิทยาศาสตร์ ในที่นี้ หมายถึง วิชา (Science) ที่แท้จริง ทุกๆ อย่าง ไม่เฉพาะแต่การแยกธาตุ (Chemistry) เท่านั้น แม้คณิตศาสตร์ (Mathematics) ก็เป็นวิทยาศาสตร์ ในที่นี้ด้วย ถ้าท่านสงสัยว่า วิชาเลข หรือ คณิตศาสตร์ จะทนต่อพิสูจน์ ได้เหมือน พุทธศาสนา อย่างไร ก็จงลองคิดดูอย่างง่ายๆ ที่สุดว่า ๒+๓=๕ เป็นต้นนี้ มันเป็นความจริงเพียงไร มีใครบ้างที่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ๒ บวก ๓ ได้ผลเป็นอย่างอื่นนอกจาก ๕ ใครจะพิสูจน์ โดยวิธีไร กี่ร้อยกี่พันเท่า ก็ตาม มันยังคงเป็น ๒+๓=๕ อยู่เสมอ เป็นหลักที่แข็งแรง ยิ่งกว่าภูเขาหินแท่งทึบ อันอาจหวั่นไหวได้ โดยธรรมชาติ หรืออุตุนิยมแปรปรวน หลักความจริงแห่งวิทยาศาสตร์ เหล่านี้มั่นคง มีอุปมาฉันใด พุทธศาสนา ก็มีหลักแห่งความจริง หนักแน่นมั่นคง ฉันนั้น แม้จะขนเอาการแยกธาตุ และตรวจค้นพิสูจน์ อย่างที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์แผนใหม่ ทั้งหมดมาเป็นเครื่องมือพิสูจน์ ก็ไม่อาจ พิสูจน์ พุทธศาสนา ให้เศร้าหมองไปได้ เช่น พิธีต่างๆ เป็นต้น มาพิสูจน์ในนามว่า พุทธศาสนา ก็แล้วกัน ความจริง หรือพุทธศาสนา จะยังคงอยู่ชั่วโลก ไม่มีสมัย หรือขีดขั้น กำหนดเวลาอายุ เพราะเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อชำนะ ธรรมชาติด้วยความจริง เช่นนี้ ยังมิเป็นเครื่องชี้ อันเด่นชัดว่า พุทธศาสนา เข้ากันได้กับ วิทยาศาสตร์ ซึ่งโลกปัจจุบัน ย่อมบูชาอย่างสนิททั่วหน้า โดยลักษณาการอย่างไรเจียวหรือ? และข้อสำคัญที่สุด ก็คือ เมื่อมีแต่พุทธศาสนาเท่านั้น ที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ของโลกแล้ว จะยังมีศาสนาไหนอีกเล่า ที่จะเป็นศาสนาแห่งสากลโลก นอกจากพุทธศาสนา ?"

โมกขพลาราม
๑ กรกฏาคม ๒๔๗๗

---------------------------------
หมาย เหตุส่วนตัว :- ที่จริงศาสนาทั้งหลายมี จุดมุ่งหมาย อย่างเดียวกัน คือความสุข ถ้าจะปรับกันเข้าให้สนิทก็จะลงกันได้เป็น ศาสนาเดียวกัน! ใครมีคุณสมบัติแค่ไหน ย่อมอยู่ในระดับแค่นั้น เหมือนพี่น้อง หรือ ผู้มีคุณวุฒิ ยิ่งหย่อนกว่ากัน ยืนเรียงแถวกันตามลำดับวุฒิ ก็จะมีแต่ ศาสนาเดียวในโลก ! ขอแต่ อย่าถือเราถือเขา ถึงกับพยายาม ทำลายเพื่อนศาสนาอื่น เพื่อประโยชน์ตน ด้วย "การรุกเงียบๆ" อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แล้วกัน หลักศาสนาอื่นทั้งหลาย มีเพียง โลกิยะ ไม่พ้นไปได้ ส่วนพุทธศาสนา ยังมีสูงขึ้นไปถึงโลกุตตระด้วย มีทั้งสองอย่าง ใครจะเลือกเอาอย่างไหนก็ได้ หลักโลกุตตระ หรือที่เกี่ยวกับ โลกุตตระ เท่านั้น ที่พุทธศาสนา มีอยู่อย่างที่ศาสนาอื่นไม่มีเสียเลย จึง "อม" ศาสนาอื่นๆ ไว้ได้ทั้งหมด

พุทธทาส.
http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=974:2009-08-12-06-07-19&catid=61:2009-06-12-17-56-15&Itemid=246

เสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว โดย ท่านปิยโสภณ

เสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว โดย ท่านปิยโสภณ

1.ผ้าขี้ริ้วยอมสกปรกเพื่อให้ สิ่งอื่นสะอาด เสน่ห์ของคนอยู่ที่ยอมลำบากเพื่อให้ผู้อื่นเป็นสุข พ่อแม่ยอมเหนื่อยเพื่อให้ลูกหลานอยู่สุขสบายความสุขแท้ของคนคือการได้ยืนแอบ ยิ้มอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

2.ผ้าขี้ริ้วดูดซับความสกปรกได้ แต่ก็สลัดความสกปรกออกจากตัวได้ตลอดเวลา เสน่ห์ของคนอยู่ที่รู้ตัวเองว่าสกปรก ถึงเวลาต้องชำระล้างแล้ว มิใช่อมความสกปรกไว้แล้ว แกล้งบอกว่าตนเองสะอาด

3.ผ้าขี้ริ้วเป็น ผ้าที่สะอาดที่สุด ในขณะที่คนมองว่าสกปรกที่สุด เหมือนคนที่ฝึกหัดขัดเกลาตนเอง รู้จักถ่อมตนและอ่อนโยน ไม่โอหังอวดดีให้เป็นที่รังเกียจหมั่นไส้ของคนอื่น เขาจะเป็นคนที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะมาจากสกุลใด การศึกษามากหรือน้อยก็ตาม เป็นผู้ใฝ่รู้แต่ไม่อวดดี เหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทอง

4.ผ้าขี้ริ้วถึงจะเป็นผ้าไม่มีราคา แต่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ได้ เหมือนคนที่พยายามทำตนให้มีคุณค่า ด้วยการทำงานมิใช่ด้วยการประจบ ทำตนให้มีประโยชน์ ให้มีค่า ไม่ใช่งอมืองอเท้า น้อยเนื้อต่ำใจในวาสนาชะตาชีวิต ต้องสร้างกำลังใจให้ตนเองอย่ารอคอยจากคนอื่น

5.ผ้าขี้ริ้วไม่เกี่ยง งอนว่าจะถูกใช้เช็ดถูอะไร เหมือนคนที่ยอมตัวอาสาทำงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ปริปากบ่น รู้จักอาสาคน อาสาทำงาน ต้องตั้งใจทำงานโดยไม่เกี่ยงงอน ไม่ว่าจะเป็นงานใด ๆ ก็ตาม คนที่ตกงานเพราะไม่ยอมทำงาน

6.ผ้า ขี้ริ้วยอมให้ถูกใช้งานในที่สกปรกที่สุด เหมือนคนที่ยอมทำในสิ่งที่คนทั้งหลายรังเกียจ ที่เขาเห็นว่าเป็นงานชั้นต่ำ แต่ก็ตั้งใจทำให้เป็นของมีค่าขึ้นมาได้ หรือยินดีในการบริการ เหมือนคนที่อิ่มเอิบเมื่อได้บริการรับใช้คนอื่น รับใช้สังคม ดีใจเมื่อคนยินดีมาใช้บริการความรู้ ความสามารถของตน และยินดีที่ได้เสนอตัวเข้าไปบริการมากกว่าเข้าไปบริหาร

7.ผ้า ขี้ริ้วพอใจที่ได้อยู่เบื้องหลังความสะอาด เหมือนคนควรพอใจที่ได้อยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของคนอื่น ต้องมีความพอใจที่จะทำงานปิดทองหลังพระ เป็นนายอินหรือนางอิน ผู้ปิดทองหลังพระ มีความสุขและภูมิใจที่ได้มอบความสำเร็จให้คนอื่น มีมากที่ผู้น้อยบางคน ทำงานแล้วทำให้ผู้ใหญ่เล็กลง ขณะที่ตัวเองโตขึ้น

8. ผ้าขี้ริ้วทนทานต่อการขัดถูซักล้างไม่เปราะบาง เหมือนคนที่มีความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็อดทนได้ เพื่อให้สำเร็จ ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น มีจิตใจหนักแน่นไม่เปราะบางหักง่าย คือไม่เป็นคนทุกข์ง่ายใจเบา แต่นิ่งและหนักแน่นคงดุจแผ่นดิน

9.ผ้า ขี้ริ้วแม้จะถูกมองว่าเป็นผ้าขี้ริ้ว แต่ไม่ทำตัวให้ขี้เหร่ เหมือนคนที่รู้ตัวเองว่า กำลังถูกึนปรามาสสบประมาท จะต้องตั้งใจเอาชนะอุปสรรค ครงนั้นให้ได้ ไม่พ่ายแพ้ต่อคำปรามาสของผู้อื่น รู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรและมีกำลังใจในสิ่งนั้น มองเห็นคุณค่าจากสิ่งที่คนทั้งหลายมองว่าไร้ค่า เมื่อมีปัญหาให้หัดมองสองด้านเสมอ ผ้าขี้ริ้วมีเสน่ห์เพราะยอมสัมผัสกับสิ่งสกปรก

เราต้องทำตัวเองให้มีคุณค่าและมองเห็นค่าของตัวเองก่อน แล้วเราจะไม่รู้สึกท้อแท้หมดหวัง

ชีวิต ของคนเราก็เช่นกัน หากทนความทุกข์ยากลำบาก ยอมสัมผัสกับงานที่ต่ำต้อยได้ก็จะมีเสน่ห์ และมีความหมาย ทุกคนจึงควรพากเพียรพยายามสร้างเสน่ห์ให้กับชีวิต อย่างที่ผ้าขี้ริ้วสร้างเสน่ห์ให้กับตนเอง คุณเห็นด้วยไหม ที่ว่าเราต้องทำตัวเองให้มีคุณค่าและมองเห็นค่าของตัวเองก่อน แล้วเราจะไม่รู้สึกท้อแท้หมดหวัง

http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1167:2009-09-13-14-28-42&catid=61:2009-06-12-17-56-15&Itemid=246

Tuesday, January 5, 2010

พระวรธัมโมวาท เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2553




สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระวรธัมโมวาท เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2553 ความว่า วันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาติ คือวันเด็กแห่งชาติ ที่ผู้ใหญ่คือคณะรัฐมนตรีประกาศยอมรับความสำคัญของเด็ก ด้วยการให้จัดเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปีในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม

คน ทุกคนมีภาระหน้าที่จะต้องทำ ผู้ที่เป็นเด็กก็มีหน้าที่อย่างเด็ก คือศึกษาเล่าเรียนให้รู้วิชาให้เต็มที่ ฝึกหัดทำการงานต่างๆ ให้เป็น ตลอดจนถึงอบรมขัดเกลาความประพฤติและความคิดให้ประณีต ให้สุจริตแจ่มใส และเฉลียวฉลาดมีเหตุผล เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ ร่วมกันรับผิดชอบต่อประเทศชาติบ้านเมืองอย่างสุจริตและจริงใจ

เด็กเป็นผู้ที่จะรับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากผู้ใหญ่รวมทั้งภาระ หน้าที่รับผิดชอบในการธำรงรักษาอิสรภาพและความสงบสุขของบ้านเมือง เด็กทุกคนจึงสมควรและจำเป็นที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง เหมาะสม ให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆหน้าที่นี้เป็นของทุกคน ที่ จะต้องร่วมมือกันกระทำโดยพร้อมเพรียงกัน และสม่ำเสมอ ผู้ที่เกิดก่อน ผ่านชีวิตมาก่อน จะต้องสงเคราะห์อนุเคราะห์ผู้ที่เกิดตามมาภายหลังด้วยการถ่ายทอดความรู้ความ ดี และประสบการณ์อันมีค่าทั้งปวงให้ ด้วยความเมตตาเอ็นดู และด้วยความบริสุทธิ์ใจให้เด็กได้ทราบ ได้เข้าใจ และที่สำคัญที่สุด ให้รู้จักคิดด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง จนสามารถเห็นจริงด้วยตนเอง ได้ในความเจริญและความเสื่อมทั้งปวง

วันเด็กปีนี้ ขอ อนุโมทนาสาธุการ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทุกท่านที่มีหน้าที่ต่อผู้น้อยคือ บิดามารดามีหน้าที่สอนบุตรธิดา พี่มีหน้าที่สอนน้อง คนรุ่นใหญ่มีหน้าที่สอนคนรุ่นเล็ก และเมื่อคนรุ่นเล็กเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็มีหน้าที่สอนคนรุ่นต่อไปดังนี้ ขออำนวยพร

ในหลวง"พระราชทานพรปีใหม่




"ในหลวง"พระราชทานพรปีใหม่ "คิดจะทำสิ่งใดต้องคิดให้ดีให้รอบคอบ" ส.ค.ส.ปีใหม่ทรงฉายกับคุณทองแดง




เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ประจำปีพุทธศักราช 2553 ความว่า ประชาชน ชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ทั้งขอขอบใจท่านเป็นอย่างมากที่วิตกห่วงใยในการเจ็บป่วยของข้าพเจ้า และแสดงออกโดยประการต่างๆ จากใจจริงที่จะให้ข้าพเจ้าหายเจ็บป่วยและมีความสุขสวัสดี

ความสุขสวัสดีนี้เป็นสิ่งที่พึงปราถนาอย่างยิ่งของคนเรา แต่จะสำเร็จผลเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและสติ ปัญญาในการประพฤติตัวปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล ในปีใหม่นี้ จึง ขอให้ชาวไทยทุกคนได้ตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรงแน่วแน่ที่จะประพฤติตัว ปฏิบัติงานให้เต็มกำลังความสามารถ โดยมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ จะคิดจะทำสิ่งใดต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี ให้รอบคอบ ทำให้ดี ให้ถูกต้อง ข้อสำคัญจะต้องระลึกรู้โดยตระหนักว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่แต่ ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลักในการประพฤติตัวและปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีผลได้รับทั่วถึงกัน ความสุข ความสวัสดีจักได้เกิดมีขึ้นทั้งแก่บุคคล ทั้งแก่ชาติบ้านเมืองไทย ดังที่ทุกคน ทุกฝ่าย ตั้งใจปราถนา


ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเคารพบูชาจงอภิบาลรักษาท่านทุกคนให้ปราศจาก ทุกข์ ปราศจากโรคภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ และความสำเร็จสมประสงค์ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน