Thursday, April 17, 2008

สร้างบริวาร

เมื่อเข้าไปในพระอุโบสถวัดต่างๆ จะเห็นว่าบนฐานชุกชี คือที่สำหรับประดิษฐานพระประธาน มักจะมีพระอัครสาวก ๒ องค์ ยืนหรือนั่งอยู่เบื้องหน้าพระประธานองค์ข้างซ้ายคือพระโมคคัลลานะ ส่วนองค์ข้างขวาคือพระสารีบุตร ซึ่งทั้งสององค์นี้เมื่อสมัยพุทธกาลได้เป็นกำลังยิ่งใหญ่ในการช่วยเผยแผ่และประดิษฐานพระพุทธศาสนาจนเป็นหลักฐานมั่นคง

พระพุทธเจ้าทรงพรั่งพร้อมด้วยบริวารสมบัติ คือมีพระสาวกที่ทรงคุณงามความดีมีความสามารถดีมากด้วยเป็นพุทธบริวาร จึงได้เป็นกำลังประกาศพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้กระทั่งทุกวันนี้ แม้พระองค์เสด็จปรินิพพานเป็นเวลามากกว่า ๒๕ ศตวรรษแล้วก็ตาม แต่พระธรรมวินัยอันเป็นหลักคำสั่งสอนของพระองค์ ก็ยังเป็นศาสนาที่มีผู้เคารพนับถือประพฤติปฏิบัติตามๆ กันสืบมา

ผู้มีบริวารใกล้ชิดช่วยรับใช้ ถึงพร้อมด้วยบริวารสมบัติ ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง เพราะคนเราถึงจะมีวิชา มีทรัพย์ มียศ แต่ไร้บริวารก็เสมือนโล้เรือใหญ่ด้วยแรงของตนเอง จะดีเด่นและมีผู้เห็นความดีได้ชัดเจนอย่างไร

พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมครบถ้วน โดยเฉพาะทรงมีเมตตาแก่คนและสัตว์ทั่วไป สมัยหนึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ป่าปาลิไลยก์โดยโดดเดี่ยวเพียงพระองค์เดียว เพราะทรงระอาความวิวาทของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ยังมีช้างกับลิงเข้ามาเป็นบริวารรับใช้ถวายอารักขา

ผู้ที่มีเมตตาประจำจิต รู้จักเห็นใจผู้อื่นเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ที่คล้องใจคนให้จงรักภักดียอมเป็นบริวารได้

อย่าสร้างบริวารด้วยเงินหรืออำนาจ เพราะไม่ยั่งยืนเลย แต่ถ้าผูกใจให้เขารักด้วยดีต่อเขา มีความเห็นใจเขา รู้จักสงเคราะห์เขา เป็นต้น ดังนี้ จะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยบริวารเสมอ

ที่มา: หนังสือ หลักธรรมสอนใจ หน้า ๓๘-๓๙ มีผู้พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน

Thursday, April 3, 2008

ชมสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ไหว้พระพุทธรูป 6 นิ้ว ที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร


วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งราชอาณาจักรอยุธยา และมีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ โดยสมเด็จพระสังฆราชทอง (แตงโม) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสวัดนี้ และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ได้มีการสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม อาทิ พระระเบียงหรือพระวิหารคดรอบพระอุโบสถ หอสวดมนต์ เป็นต้น





ภายในวัดใหญ่ฯ มีพระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพระพุทธลักษณะสมส่วนสวยงามมาก มีฐานพระปั้นลวดลายปิดทองประดับกระจกสี เบื้องหลังพระประธานมีพระพุทธรูปโลหะ ที่พระบาทขวามีนิ้วพระบาท 6 นิ้ว นับว่าเป็นของแปลก เบื้องหน้าพระประธานประดิษฐานพระพุทธรูปพระคันธารราษฎร์ พระอัครสาวก รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) และ รูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ ผู้ทำการบูรณะวัดใหญ่ฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5

สำหรับพระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแตงโมนั้น ผู้ที่มีวัยเดียวกับผู้เขียนหากความจำยังดี ก็คงจะวิชาภาษาไทยในสมัยก่อน มีบทเรียนเกี่ยวกับพระประวัติของท่าน เท่าที่ผู้เขียนจำได้นั้น สมเด็จพระสังฆราชแตงโม เดิมชื่อทอง เป็นเด็กกำพร้า ต่อมาท่านได้ไปเล่นน้ำที่แม่น้ำกับเพื่อน ได้เห็นเปลือกแตงโมลอยน้ำมา ด้วยความหิวท่านจึงรับประทานเปลือกแตงโมดังกล่าว เมื่อเพื่อนๆ เห็นจึงได้ล้อเลียนเรียกชื่อท่านว่าเด็กชายแตงโม ต่อมาท่านได้บวชเรียน ณ วัดใหญ่ (สุวรรณาราม)และได้ไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา มีความรู้ในพระธรรมวินัย ได้รับการยกย่องจากพระมหากษัตริย์ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในบั้นปลายชีวิตท่านได้ถวายพระพรลากลับบ้านเกิดไปจำวัดยังวัดใหญ่ สมเด็จพระเจ้าเสือได้พระราชทานท้องพระโรงไปสร้างเป็นศาลาการเปรียญยังวัดใหญ่ดังกล่าว



พระอุโบสถวัดใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รูปแบบทรงไทยสมัยอยุธยา ไม่มีหน้าต่าง ผนังด้านในวาดเป็นรูปเทพชุมนุม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเพชรบุรี มีความงดงามมากดังที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวชมว่า “เส้นวาดเป็นรูปเทพชุมนุม และเครื่องอาภรณ์นั้นก็สวยงามอย่างน่าประหลาด ช่างที่อยู่ในสมัยที่ภาพเขียนเจริญถึงขีดสุดเท่านั้นจึงจะสามารถวาดจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามเช่นนี้ได้” สำหรับบานประตูพระอุโบสถวาดเป็นรูปเทพทวารบาล มีรูปทรงและสีสันสวยงาม และค่อนข้างสมบูรณ์ อายุของบานประตูและภาพวาดนั้น เจ้าหน้าที่ของวัดบอกว่ามีอายุกว่า 400 ปี






นอกจากพระพุทธรูปและพระอุโบสถแล้ว วัดใหญ่ฯ ยังมีศาลาการเปรียญ ซึ่งกล่าวกันว่าเดิมเป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าเสือพระราชทานถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม ถือเป็นตัวอย่างของพระราชมณเฑียรสมัยอยุธยาที่มีสภาพสมบูรณ์ ศาลานี้สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีขนาดใหญ่ 10 ห้อง ในศาลายังพอเห็นภาพจิตรกรรมอยู่บ้าง สิ่งที่โดดเด่นของศาลาการเปรียญนี้ได้แก่ บานประตูไม้สักแกะสลักที่สวยงามมาก โดยแกะเป็นลายก้านขดสองชั้น ออกยอดเป็นลายกระหนกและหัวสัตว์ต่างๆ อยู่ในกรอบซุ้มเรือนแก้วที่เดินเส้นซ้อนกัน บานประตูด้านซ้ายมีรอยแตก เล่าว่าเคยถูกพม่าฟันมาแล้ว นอกจากบานประตูแล้วภายในศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ฝีมืองาม รูปทรงบุษบก


บริเวณวัดมีหอไตรหลังเก่า ที่สร้างอยู่กลางสระน้ำ รูปทรงแบบเรือนไทยโบราณชั้นเดียว แต่มีเสาเพียง 3 เสา มีสะพานทอดจากริมสระไปยังหอไตร น้ำในสระมีสีเขียวมรกต ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสจะเห็นภาพพระอุโบสถสะท้อนลงบนผิวน้ำ ทำให้เกิดทัศนียภาพที่งดงามมาก



นอกจากนี้หน้าบันของวิหารคดรอบพระอุโบสถ ยังได้แกะสลักเป็นรูปเลข 5 ไทย อยู่เหนือพานและพระขรรค์ แต่อยู่ใต้จุลมงกุฎ สันนิษฐานว่าทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนหน้าบันพระระเบียงด้านทิศเหนือของพระอุโบสถและพระวิหาร ตัวเลข 5 กลับด้านแปลกกว่าหน้าบันด้านอื่นๆ สันนิษฐานว่าต้องการสื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สวรรคตแล้ว
เอกสารประกอบการเขียน
วิลาวัณย์ ฤดีศาสนต์. 2546. เพชรบุรี. กรุงเทพฯ: สารคดี.
สุมาลี งามสมบัติ. มปป. วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร. โครงการอาสาพัฒนาวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี.

ขอขอบพระคุณคุณสุเทพ รัตนนุกรม ที่อนุเคราะห์พาไปชมวัดใหญ่สุวรรณาราม

Wednesday, April 2, 2008

ชมปูนปั้นวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี

ชมปูนปั้นวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี

เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน ดังปรากฎศิลปโบราณวัตถุ โบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งในเขตจังหวัด ในสมัยอยุธยา เมืองเพชรบุรีมีความสำคัญในฐานะหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ที่เป็นเมืองหน้าด่าน และเป็นเมืองศูนย์กลางของการค้า เนื่องจากเรือสินค้าต่างชาติต้องจอดแวะพักก่อนเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ เมืองมอญ ดังนั้นจึงปรากฏร่องรอยการขยายตัวของชุมชน วัดวาอารามขึ้นในตัวเมืองเพชรบุรี มีการพัฒนาศิลปกรรมสกุลช่างเมืองเพชรบุรีขึ้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

เมืองเพชรบุรี มีวัดสำคัญหลายวัดที่ช่างฝีมือชาวเพชรบุรี ได้ฝากฝีมือชั้นครูไว้ ทั้งงายด้านประติมากรรม และงานจิตรกรรม วัดสำคัญที่ผู้เขียนได้ไปแวะชมลายปูนปั้น ได้แก่ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่ของเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีงานปูนปั้นที่โดดเด่น สวยงาม มากกว่าวัดอื่นๆ






















ขอขอบพระคุณ คุณสุเทพ รัตนนุกรม ที่อนุเคราะห์พาไปชมปูนปั้นเมืองเพชรบุรี