Friday, May 29, 2009
ตักบาตรอุปคุต
ตักบาตรอุปคุต
พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)
ประเพณีการทำบุญตักบาตรของชาวนครเชียงใหม่ ซึ่งนิยมทำเป็นพิเศษ ไม่ซ้ำแบบกับชาวพุทธในจังหวัดอื่น คือ การทำบุญตักบาตรในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ ซึ่งเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “เป็งปุ๊ด” บรรดาท่านผู้ใจบุญทั้งหลาย ทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่ เมื่อวันเพ็ญพุธหมุนเวียนมาบรรจบทีไร ต่างก็จะตื่นขึ้นจัดแจงของตักบาตรแต่ดึกดื่น ด้วยความปิติยินดี เล่าสืบๆ มาว่า การตักบาตรในวันเป็งปุ๊ดอานิสงส์แรง จะเท็จจริงอย่างไร ก็ขอให้ท่านติดตามเรื่องดังต่อไปนี้
ในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ตอนมารพันธปริวัตต์ ปริเฉทที่ ๒๘ เล่าไว้ว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช (พระเจ้าอโศกมหาราช) นักบุญผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ได้สร้างพระวิหาร และพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ สำเร็จลงด้วยความปลาบปลื้มยินดี มีพระประสงค์จะทำการมหกรรมฉลองเป็นการใหญ่ จะใช้เวลาฉลองถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พระองค์ทรงปริวิตกว่า การทำงานใหญ่เช่นนี้ อาจจะต้องมีอุปสรรคอันตรายเกิดขึ้น เป็นผลเสียหายแก่งานได้ จึงเสด็จเข้าไปหาพระสงฆ์ที่มีอยู่ในสมัยนั้น แล้วตรัสถามพระสงฆ์ว่า จะมีพระสงฆ์รูปใดที่สามารถจะป้องกันอันตรายมิให้เกิดขึ้นระหว่างานได้บ้าง ไม่มีพระสงฆ์รูปใดที่สามารถจะรับอาสาป้องกันอันตรายมิให้เกิดขึ้นในระหว่างงานได้ แต่พร้อมใจกันถวายพระพรว่า มีพระเถระอยู่รูปหนึ่งมีชื่อว่า อุปคุต (ชื่อเต็ม กิสนาคอุปคุตเถระ หรือ มหาอุปคุตเถระ) ท่านอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร (สะดือทะเล) พระเถระรูปนี้เท่านั้นที่จะสามารถป้องกันอันตรายได้ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ได้ทรงสดับเรื่องแล้ว ทรงพอพระทัยจึงขอร้องให้พระเถระเหล่านั้นรูปใดรูปหนึ่ง ไปอาราธนาท่านมหาอุปคุตเพื่อคุ้มครองงาน ตามเรื่องเล่าต่อไปว่า พระมหาอุปคุตรูปนี้ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง เป็นผู้มีฤทธิ์มีเดชมาก ท่านนิรมิตปราสาทที่สำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ ประดิษฐานอยู่ในท้องมหาสมุทร นั่งเข้าฌานสมาบัติ เสวยความสุขอยู่ในปราสาทนั้น โดยมิได้ฉันอาหารแต่ประการใดเลย
เมื่อพระมหาอุปคุตได้รับคำอาราธนาแล้ว จึงขึ้นมายังสถานที่ อันเป็นสถานที่ทำการมหกรรมฉลองด้วยอำนาจฌานสมาบัติ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ทอดพระเนตรรูปร่างพระเถระผอมๆ ดูทีท่าไม่น่าจะมีฤทธิ์มีเดช พระองค์ก็ไม่มั่นพระทัยว่า พระเถระจะป้องกันอันตรายได้ วันรุ่งขึ้นพระเถระเข้าไปบิณฑบาตพระราชาทรงสั่งทดลองตรัสสั่งให้ปล่อยช้างตกมันวิ่งเข้าไปหาพระเถระ พระเถระรู้ตัวหันมามอง ด้วยกิริยาเพียงเท่านั้น ช้างถึงกับยืนทื่อเหมือนท่อนไม้ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ทอดพระเนตรแล้ว รู้สึกเลื่อมใสมั่นพระทัยในคุณธรรมของพระเถระจึงเริ่มทำงานมหกรรมต่อไป
พระยามารอยู่สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสดีทราบว่า พระมหากษัตริย์จะทรงทำบุญเป็นการใหญ่ จึงลงมาจากเทวโลก เพื่อจะทำลายพิธีกรรม บันดาลด้วยฤทธิ์ให้เกิดลมห่าฝนทรายกรด กระทำให้เกิดความมืดมนอนธการ และเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายอย่าง พระเถระก็ต่อสู้ด้วยฤทธิ์ จนพระยามารพ่ายแพ้ยอมจำนน เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อเป็นการทรมานพระยามารให้หมดพยศ พระเถระจึงเนรมิตสุนัขเน่าแขวนคอพระยามาร แล้วท้าให้พระยามารให้ไปขอผู้ที่สามารถจะแก้สุนัขเน่าให้ออกจากคอได้ พระยามารจึงเที่ยวไปหาเทพไท้ผู้ทรงไว้ซึ่งเทวฤทธิ์ เพื่อให้ช่วยแก้สุนัขเน่าที่แขวนคออยู่ออก แต่หามีท่านผู้ใดสามารถแก้ได้ไม่ ทุกท่านก็บอกให้พระยามารกลับมาหาพระเถระอีก พระเถระบังคับให้พระยามารไปยังภูเขาลูกหนึ่งแล้วแก้สุนัขออกจากคอ เปลื้องกายพันธ์ (สายรัดประคต) ของตนออกให้กายพันธ์ให้ยาว แล้วผูกคอพระยามารติดไว้กับภูเขา บังคับให้อยู่นั้นตลอดเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน เมื่อครบกำหนดเสร็จงานมหกรรมแล้ว จึงปล่อยพระยามาร พระยามารสิ้นพยศ ยอมตนถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ นี่ว่าถึงประวัติความเป็นมาของพระมหาอุปคุตเถระ
คงจะนับถือสืบเนื่องมาจากเรื่องตามที่เล่ามานี้เอง พุทธศาสนิกชนในภาคเหนือ เมื่อจะมีงานปอย (ฉลอง) โบสถ์ วิหาร เป็นต้น จึงนิยมปลูกหอมหาอุปคุตไว้ในบริเวณงาน แล้วจัดแจงเครื่องอัฐบริขารตั้งขบวนไปแห่พระมหาอุปคุตมาจากแม่น้ำ โดยสมมติหินก้อนใดก้อนหนึ่งแทนพระมหาอุปคุต เพื่อคุ้มครองมิให้มีอันตรายเกิดขึ้นในงาน บางแห่งก็มีพระพุทธรูปตั้งไว้ด้วย
เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๙๙ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปร่วมงานฉัฏฐสังคายนา และงานฉลองพระพุทธศาสนายุกาล ๒๕๐๐ ณ ประเทศพม่า ได้เห็นประเพณีหนึ่งที่นิยมทำคล้ายกับพุทธศาสนิกชนภาคเหนือ คือ มณฑปสำหรับประดิษฐานพระมหาอุปคุต เข้าสร้างมณฑปขึ้นหลังหนึ่งข้างๆ เจดีย์โลกสันติ ซึ่งเป็นจุดใจกลางของงาน มณฑปเป็นรูปปราสาท หลังคาเป็นเหมือนฉัตรแหลมเล็กขึ้นไปเป็นชั้นๆ ตัวมณฑปกว้าง ๔ ศอก ยกพื้นขึ้นสูงประมาณ ๑ ศอก มีรูปพระมหาอุปคุตหน้าตักประมาณ ๑ คืบ นั่งอุ้มบาตรมือจับบาตรทำท่าจะฉันข้าว แต่มองแหงนขึ้นไปข้างบน คล้ายกับจะดูว่า จะได้เวลาฉันหรือยัง ความประสงค์ของชาวพม่าก็เพื่ออาราธนาให้พระมหาอุปคุตมาช่วยคุ้มกันมิให้มีอันตรายในงานนั่นเอง
(พระบัวเข็ม)
ในสมัยปัจจุบัน คนโดยทั่วๆไป นิยมบูชาพระบัวเข็ม ด้วยมีความเคารพนับถือว่า เป็นพระที่นำความเป็นสิริมงคลและนำโชคลาภมาให้ จึงเสาะแสวงหาบูชาไว้ด้วยราคาแพง ถ้าเป็นสิ่งของธรรมดา ก็เรียกได้ว่า เป็นสินค้าที่หาได้ยาก ของฝากที่ถูกใจเจ้านาย ไม่มีอะไรจะดีเท่าพระบัวเข็ม ตามลักษณะและศิลปกรรมการสร้างเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พระบัวเข็มเป็นศิลปกรรมของชาวพม่าและมอญ เมื่อคราวไปพม่า สืบถามเรื่องนี้จากพระพม่า ได้ความรู้บางอย่างที่ความเข้าใจของคนไทยกับคนพม่าไม่ตรงกัน ที่คนไทยเรียกว่าพระบัวเข็มนั้น ชาวพม่าเขาเรียกว่า “พระทักขิณสาขา” คนไทยเรานับถือในฐานพระสาวก แต่ชาวพม่านับถือในฐานะทั้งที่เป็นพระพุทธและพระสาวก ข้าพเจ้าสังเกตดูพระประธานที่อยู่ในบริเวณสถานที่สังคายนา และตามวัดต่างๆที่ได้ไปนมัสการ ล้วนแต่สร้างแบบพระบัวเข็ม คือมีบัวคลุมอยู่บนพระเศียรคล้ายสวมหมวกทั้งนั้น จึงทำให้มั่นใจว่าชาวพม่านับถือพระบัวเข็มในฐานะเป็นพระพุทธด้วย หาใช่ในฐานะพระสาวกไม่ ตามประวัติเล่ากันมาว่า แรกเริ่มนั้นสร้างที่เมืองอังวะ สร้างด้วยกิ่งไม้ศรีมหาโพธิ์ข้างขวา คือ กิ่งที่อยู่ทางทิศใต้ เขาจึงเรียกพระพุทธรูปชนิดนี้ว่า “ทักขิณสาขา” (กิ่งข้างขวา) กิ่งศรีมหาโพธิ์กิ่งนี้อัญเชิญมาจากเมืองลังกา ซึ่งนับถือว่าเป็นไม้ที่มีเชื้อสายสืบเนื่องมาแต่ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ได้อาศัยตรัสรู้นั้นเอง องค์แรกที่สร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปหน้าตัก ๑ ศอก เศษไม้ที่เหลือบางท่านกล่าวว่า ได้สร้างเป็นรูปพระสาวกเล็กๆ ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปู ปลา เพื่อเป็นที่สังเกตว่าไม่ใช่พระพุทธรูปแต่เป็นรูปพระสาวก ก็น่าฟังอยู่เหมือนกัน ความเข้าใจของชาวพม่า เขาแยกพระทักขิณสาขา (บัวเข็ม) และพระอุปคุตไว้คนละอย่างดังที่เล่ามาแล้วในตอนต้น ตามหิ้งพระของชาวพุทธในเมืองพม่า เขานิยมบูชาอยู่ ๓ อย่าง คือ พระทักขิณสาขา พระมหาอุปคุต และพระสีวลี การตั้งพระ เขาตั้งพระทักขิณสาขาอยู่ตรงกลาง พระอุปคุตอุ้มบาตรและพระสีวลีถือพัดตั้งไว้ข้างๆ แสดงว่า องค์กลางเป็นพระพุทธ สององค์ที่อยู่ข้างๆ นั้น เป็นพระสาวก อีกประการหนึ่ง ชาวพม่านับถือพระทักขิณสาขาและพระมหาอุปคุตให้คุณแก่คนที่สักการบูชา ไปในทางคุ้มครองป้องกันภัย ตามที่ปรากฏในตำนาน ส่วนพระที่นำโชคลาภมาให้เขานิยมบูชาพระสีวลี สำหรับความรู้สึกของคนไทย นับถือว่าทั้งพระทักขิณสาขาและพระมหาอุปคุต เป็นพระที่นำโชคลาภมาให้ ส่วนพระสีวลีมีคนรู้จักน้อยจึงไม่ค่อยมีใครพูดถึง
(พระอุปคุตมหาเถระ)
ตั้งใจจะพูดถึงเรื่องว่า ทำไมชาวพุทธในภาคเหนือ โดยเฉพาะคือในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงนิยมตักบาตรในวันเพ็ญพุธ แต่กลับไปเล่าเรื่องของพระมหาอุปคุตเสียยืดยาว ทั้งนี้ก็เพราะการตักบาตรในเพ็ญวันพุธ มีส่วนสัมพันธ์กับประวัติของพระมหาอุปคุตอยู่มาก ถ้าจะถามที่ตักบาตรในวันเพ็ญพุธว่า ทำไมจึงนิยมตักบาตรในวันนั้น ก็จะได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พระมหาอุปคุตจะออกมารับบาตรในวันนั้น
(พระสิวลี)
มีวัดอยู่วัดหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวพันกับการตักบาตรในวันเป็งปุ๊ด มีอย่างหนึ่ง เล่ากันสืบๆ มาว่า ที่เป็นที่ตั้งวัดอุปคุตเดี๋ยวนี้ ชั้นเดิมเป็นป่าช้า พระธุดงค์ที่เดินทางมาจากต่างถิ่น มักจะมาพักที่นั่น ในวันเพ็ญพุธวันหนึ่ง มีอุบาสกคนหนึ่งตักบาตรพระธุดงค์รูปหนึ่ง เมื่อท่านรับบาตรแล้วก็หายเข้าไปในบริเวณป่าช้า อุบาสกคนนั้นตามเข้าไปดูที่อยู่ของท่าน ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบพระเถระรูปนั้น ก็เกิดข่าวลือต่อๆ ไปว่า พระเถระรูปนั้น เป็นพระมหาอุปคุต และประจวบกับอุบาสกคนนั้น ต่อมาค้าขายร่ำรวย คนทั้งหลายยิ่งเชื่อมั่นว่า เพราะได้ตักบาตรพระมหาอุปคุตะวันนั้น คงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง จึงมีผู้นิยมตักบาตรในวันเป็งปุ๊ด (เพ็ญพุธ)? ต่อมามีผู้ศรัทธาเลื่อมใสบริจาคทรัพย์สร้างวัดขึ้นที่บริเวณป่าช้านั้น จึงได้ให้ชื่อว่าวัดอุปคุต จนตราบเท่าทุกวันนี้
ประเพณีการตักบาตรในวันเป็งปุ๊ด แม้จะหาหลักฐานยืนยันที่แน่นอนไม่ได้ แต่ก็เป็นประเพณีการทำบุญที่เข้าไปฝังอยู่ในความรู้สึกของประชาชนอย่างแน่นแฟ้นยากที่จะล้มเลิกเสียได้ ความจริงก็ไม่น่าจะล้มเลิก เพราะเป็นประเพณีที่ดีงามดึงประชาชนให้เข้ามาสู่ศาสนาได้ทางหนึ่ง แต่ควรจะปรับปรุงส่งเสริมให้รุดกุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลาตักบาตร เล่ากันมากว่า ประเพณีดั้งเดิมนั้น ต้องลุกขึ้นตักบาตรเวลาตี ๑ ตี ๒ ทีเดียวซึ่งทางการคณะสงฆ์ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขมาโดยลำดับและเชื่อว่าจะเป็นประเพณีการทำบุญที่เรียกร้องความสนใจจากประชาชนได้เป็นอย่างดีอีกประเพณีหนึ่ง
ที่มา: ธรรมานุภาพ ๙๐ ปี พระพุทธพจนวราภรณ์ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐. หน้า ๑๐๑-๑๐๔.
คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด
Friday, May 22, 2009
พระเจ้าฝนแสนห่า
พระพุทธรูปพระเจ้าฝนแสนห่า เป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่วิหารวัดช่างแต้ม ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดเจดีย์หลวง มีพุทธานุภาพดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ในปัจจุบันมีการอาราธนาพระพุทธรูปพระเจ้าฝนแสนห่าประดิษฐานบนรถบุษบก “ศรีเมืองเชียงใหม่” แห่ไปรอบเมือง แล้วนำไปประดิษฐานไว้หน้าวิหารวัดเจดีย์หลวงติดกับวิหารอินทขีล เพื่อให้ประชาชนบูชาสรงน้ำตลอดระยะเวลา ๗ วัน ที่มีงานประเพณีอินทขีล และให้ถือปฏิบัติดังนี้ จุดธูป เทียน บูชาเสาอินทขีล และเหรียญใสบาตรพระประจำวันเกิด ใส่ขันดอก และถือกันว่าการใส่ขันดอกควรใส่ครบทุกที่คล้ายกับการใส่บาตร แต่ใช้ห้างร้านหรือพานดอกแทนบาตรพระ และใช้ดอกไม้ธูปเทียนแทนของที่เราใส่บาตร
ประเพณีบูชาเสาอินทขิล ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย เป็นรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงสร้างพระเจดีย์หลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๕ ด้านหน้าพระวิหารเป็นที่ตั้งของเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมือง ตั้งอยู่กึ่งกลางพระวิหาร จัตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์เป็นเสาอิฐ ก่อเสาปูน ติดกระจกสีรอบเสา วัดได้ ๕.๖๗ เมตร สูง ๑.๓๐ เมตร แท่นพระบนเสาอินทขีลสูง ๙๗ เซนติเมตร รอบ ๓.๔ เมตร มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางรำพึงที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขีลให้ได้สักการะคู่กัน พระเจ้ามังราย ปฐมกษัตริย์ทรงสร้างเสาอินทขีลเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ แรกสร้างอยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล) ซึ่งเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางเก่า (ปัจจุบันคือหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้ากาวิละครองนครเชียงใหม่ได้ย้ายเสาอินทขีลมาไว้ในวัดเจดีย์หลวง และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี ๒๓๔๓ เสาอินทขีลเป็นเสาหลักเมือง คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ประวัติความเป็นมากล่าวไว้ในตำนานเสาอินทขีลฉบับพื้นเมือง ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาหมื่น วุฑฒิญาโณ วัดหอธรรมผู้ล่วงลับไปแล้ว รวบรวมไว้อย่างพิสดาร
ในสมัยก่อน ได้มีการทำพิธีสักการบูชาเสาอินทขีลเป็นประจำ ทุกปีการทำพิธีดังกล่าวมักจะทำกันในปลายเดือน ๘ เหนือ ข้างแรมแก่ๆ ในวันเริ่มพิธีนั้นพวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งเฒ่าแก่ หนุ่มสาวก็จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียนน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการบูชา
อนึ่งประเพณีโบราณไม่นิยมให้สุภาพสตรีขึ้นไปไหว้เสาอินทขีลถึงภายในวิหารอินทขีล
ทุกๆ ปีจะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขีล หรือเทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา ๗ วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเข้าอินทขีลเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์กรเอกชน สถานศึกษา สถาบันต่างๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีร่วมกันจัดงาน ตลอด ๗ วันของงาน ชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัยจะพากันมาบูชาเสาอินทขีลด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบ น้ำหอม อย่างเนืองแน่น และมีการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้าน สมโภชตลอดงาน
ประเพณีบูชาเสาอินทขีลเริ่มงานเข้าอินทขีลในวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ งานวันสุดท้ายในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคอื่น ๒ เดือน) ออกอินทขีลในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เรียกกันติดปากว่า “เดือน ๘ เข้า เดือน ๙ ออก” วันออกอินทขีลเป็นวันทำบุญอุทิศบรรพชนด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระ ๑๐๘ รูป ในพระวิหารหลวงวัดเจดีย์หลวง ส่วนการทำบุญสืบชะตาเมือง “๔ แจ่ง ๕ ประตู ๑ อนุสาวรีย์” นั้น ทำภายหลังงานประเพณีบูชาเสาอินทขีลเสร็จแล้ว ในวันข้างขึ้นเดือน ๙ เหนือ วันใดในหนึ่ง
คำบูชาเสาอินทขีล
“อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ, อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ
อินทะขีลัง มังคะลัตถิ, อินทะขีลัง โสตถิมังคะละ”
Wednesday, May 20, 2009
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา 1
“…เนื้อหาสาระและกฎเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการค้นหาความจริงของชีวิตด้วยปัญญามนุษย์ พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่าทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไรเพียงใดก็ได้ผลอย่างนั้นเพียงนั้น หากจะถามว่าพระพุทธศาสนาเป็นอะไรก็ต้องตอบว่า โดยเนื้อหาที่เป็นเรื่องความจริงของชีวิต พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญา โดยวิธีการสอนที่ยึดหลักเหตุผล พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์ หรือพูดให้ชัดลงไปอีกก็เป็นวิทยาศาสตร์ เพราฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า การสอนพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง คือการสอนให้คนสามารถพิจารณาขุดค้นหาหลักธรรมะจากชีวิต และนำหลักธรรมะนั้นมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์
เรื่องวิธีการสอนธรรมะ หรือที่พุทธสมาคมใช้คำว่า “เผยแพร่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา” ให้เข้าถึงบุคคลประเภทต่างๆ นั้น ความจริงมีปรากฏอยู่อย่างสมบูรณ์ในคัมภีร์ มีทั้งที่กล่าวไว้โดยตรงและโดยอ้อม ทั้งที่กล่าวโดยสรุปและโดยละเอียดพิสดาร ซึ่งเชื่อว่าท่านทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเป็นหลักวิชา ที่นำมาปฏิบัติได้ผลจริงๆ ได้อย่างแน่นอน
ผู้มีปัญญา ที่ปรารถนาจะช่วยผู้อื่น จะต้องพยายามศึกษาพิจารณาเลือกสรรวิธีการนั้นๆ จากตำรา นำมาใช้สอนให้เมาะแก่บุคคล แก่กาลสมัย และแก่สภาพการณ์ในปัจจุบัน คนที่เรียกว่าเป็นคนสมัยใหม่นั้น ยึดหลักเหตุผลเป็นสำคัญในการสอนคนสมัยใหม่ จะต้องนำเหตุผลที่มีอยู่ในคัมภีร์มาพิจารณา และหยิบยกแต่เฉพาะเนื้อหามาอธิบาย การสอนให้ปฏิบัติตามแบบฉบับเฉยๆ โดยปราศจากเหตุอันสมควร จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ถูกอบรม” และ “ถูกบีบบังคับ” จนหมดความสนใจ
หน้าที่ของท่านในการเผยแพร่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงอยู่ที่การเลือกเฟ้นข้อธรรมะ และเลือกเฟ้นวิธีการสอน การใช้คำพูดที่เหมาะ อธิบายหลักธรรมะเทียบเคียงกับตัวอย่างที่เป็นของจริง จนเห็นชัดเจนได้ตามสภาพจิตใจของคนสมัยปัจจุบัน เพื่อช่วยให้แต่ละคนสามารถค้นหาและเข้าใจข้อธรรมะ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นหลักการในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามฐานะของตนๆ...”
พระราชดำรัส พระราชทานในการเสด็จฯ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๓
Saturday, May 16, 2009
อัฐมีบูชา ๒๕๕๒
“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมองเห็นภัยต่างๆ ในอนาคตก็ควรเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศตัวเด็ดเดี่ยว เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง (ภัยเหล่านั้นได้แก่ ความชรา อาพาธ ข้าวยากหมากแพง คราวบ้านเมืองไม่สงบ คราวสงฆ์แตกแยก เมื่อทำความเพียรจนบรรลุธรรมแล้ว แม้ภัยเหล่านั้นจะมาถึงก็ยังคงอยู่อย่างสุขสบายได้)”
(๒๒/๗๘ ทุติยอนาคตสูตร)
Friday, May 8, 2009
วิสาขบูชา ๒๕๕๒
Subscribe to:
Posts (Atom)