Friday, May 22, 2009

ประเพณีบูชาเสาอินทขิล ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่





วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย เป็นรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงสร้างพระเจดีย์หลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๕ ด้านหน้าพระวิหารเป็นที่ตั้งของเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมือง ตั้งอยู่กึ่งกลางพระวิหาร จัตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์เป็นเสาอิฐ ก่อเสาปูน ติดกระจกสีรอบเสา วัดได้ ๕.๖๗ เมตร สูง ๑.๓๐ เมตร แท่นพระบนเสาอินทขีลสูง ๙๗ เซนติเมตร รอบ ๓.๔ เมตร มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางรำพึงที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขีลให้ได้สักการะคู่กัน พระเจ้ามังราย ปฐมกษัตริย์ทรงสร้างเสาอินทขีลเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ แรกสร้างอยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล) ซึ่งเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางเก่า (ปัจจุบันคือหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้ากาวิละครองนครเชียงใหม่ได้ย้ายเสาอินทขีลมาไว้ในวัดเจดีย์หลวง และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี ๒๓๔๓ เสาอินทขีลเป็นเสาหลักเมือง คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ประวัติความเป็นมากล่าวไว้ในตำนานเสาอินทขีลฉบับพื้นเมือง ซึ่งท่านอาจารย์พระมหาหมื่น วุฑฒิญาโณ วัดหอธรรมผู้ล่วงลับไปแล้ว รวบรวมไว้อย่างพิสดาร

ในสมัยก่อน ได้มีการทำพิธีสักการบูชาเสาอินทขีลเป็นประจำ ทุกปีการทำพิธีดังกล่าวมักจะทำกันในปลายเดือน ๘ เหนือ ข้างแรมแก่ๆ ในวันเริ่มพิธีนั้นพวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งเฒ่าแก่ หนุ่มสาวก็จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียนน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการบูชา

อนึ่งประเพณีโบราณไม่นิยมให้สุภาพสตรีขึ้นไปไหว้เสาอินทขีลถึงภายในวิหารอินทขีล

ทุกๆ ปีจะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขีล หรือเทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา ๗ วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเข้าอินทขีลเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์กรเอกชน สถานศึกษา สถาบันต่างๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีร่วมกันจัดงาน ตลอด ๗ วันของงาน ชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัยจะพากันมาบูชาเสาอินทขีลด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบ น้ำหอม อย่างเนืองแน่น และมีการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้าน สมโภชตลอดงาน

ประเพณีบูชาเสาอินทขีลเริ่มงานเข้าอินทขีลในวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ งานวันสุดท้ายในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคอื่น ๒ เดือน) ออกอินทขีลในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เรียกกันติดปากว่า “เดือน ๘ เข้า เดือน ๙ ออก” วันออกอินทขีลเป็นวันทำบุญอุทิศบรรพชนด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระ ๑๐๘ รูป ในพระวิหารหลวงวัดเจดีย์หลวง ส่วนการทำบุญสืบชะตาเมือง “๔ แจ่ง ๕ ประตู ๑ อนุสาวรีย์” นั้น ทำภายหลังงานประเพณีบูชาเสาอินทขีลเสร็จแล้ว ในวันข้างขึ้นเดือน ๙ เหนือ วันใดในหนึ่ง

คำบูชาเสาอินทขีล

“อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ, อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ
อินทะขีลัง มังคะลัตถิ, อินทะขีลัง โสตถิมังคะละ”

No comments: