Monday, December 14, 2009

วิธีปฎิบัติธรรมที่จะช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง และช่วยคลายทุกข์ต่าง ๆ ได้ด้วย




วิธีปฎิบัติธรรมที่จะช่วยให้จิตใจเข้มแข็ง และช่วยคลายทุกข์ต่าง ๆ ได้ด้วย

ใน เบื้องต้นให้ฝึกจิตให้อยู่กับกับสมาธิหรือบทสวดมนต์ วันหนึ่งๆลองฝึกนั่งสวดมนต์ดู สวดบทไหนก็ได้ ไม่ต้องสวดบทยาวมากก็ได้ ให้สวดซ้ำๆบ่อยๆไปเรื่อยๆ เวลามีเวลาว่างไม่จำเป็นต้องใช้ใจคิดในเรื่องราวต่างๆ แทนที่จะปล่อยให้คิดไปเรื่อยเปื่อย ลองนำมาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ด้วยการให้อยู่กับบทสวดมนต์ หรือจะให้อยู่กับคำบริกรรมคำใดคำหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องอะไร อย่าไปคิด ให้สงวนความคิดไว้ ประหยัดความคิด คิดในสิ่งที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปคิด ปล่อยให้เรื่องราวต่างๆในโลกนี้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขาเถิด ไปคิดมากก็ทำให้ฟุ้งซ่าน กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ถูกนั่นเอง ถ้าควบคุมใจได้แล้ว ต่อไปก็จะสามารถควบคุมบังคับให้คิดในเรื่องต่างๆที่ต้องการให้คิดได้ เรื่องที่ไม่ต้องการให้คิดก็สามารถระงับดับได้ ใจเราสามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้ ถ้ารู้จักหยุดใจ แต่ถ้าไม่รู้จัก ก็จะไม่สามารถควบคุมใจได้ เช่นเวลามีความโกรธ เราก็รู้ว่าไม่ดี เพราะเวลาโกรธ ใครจะทุกข์ถ้าไม่ใช่ตัวเราเอง แต่ก็หยุดใจไม่ให้โกรธไม่ได้ เวลาเกิดความโลภ ก็รู้ว่าสิ่งที่ต้องการนั้น ไม่มีความจำเป็นเลย แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้ เพราะไม่รู้จักวิธีหยุดใจ ไม่รู้จักควบคุมใจนั่นเอง


พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ควบคุมใจเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นก็ให้ควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาก่อน เพราะการกระทำทางกาย และการกระทำทางวาจา ก็ออกมาจากใจ ใจเป็นผู้สั่ง เวลาจะลุกขึ้นใจก็ต้องสั่งให้ลุกขึ้น ถึงจะลุกขึ้นได้ เวลาจะพูดอะไร ใจก็ต้องคิดเสียก่อน ถึงจะพูดออกมาได้ ต้องตั้งกรอบไว้ ตั้งรั้วไว้ ไม่ให้การกระทำทางกาย ทางวาจา เกิดโทษขึ้นมา ในเบื้องต้นจึงต้องตั้งกรอบไว้ว่า ใจอยากจะทำอะไรก็ได้ อยากจะมีอะไรก็ได้ แต่ขอให้ทำ ขอให้หามา ในกรอบของความถูกต้อง


เมื่อควบคุมการกระทำทางกายทางวาจาได้แล้ว ในลำดับต่อไปก็ให้มาควบคุมความคิดของเรา เคยคิดหรือไม่ว่ามีเรื่องบางเรื่องเราไม่อยากจะคิดเลย เพราะคิดไปทีไรก็มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็อดคิดไม่ได้ ไม่รู้จักวิธีหยุดความคิดของใจเรานั่นเอง แต่ถ้าได้ฝึกทำสมาธิ กำหนดใจให้อยู่กับบทสวดมนต์ก็ดี บทบริกรรมก็ดี ถ้าทำได้แล้ว ต่อไปสมมุติว่า ใจไปคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง แล้วทำให้เกิดความว้าวุ่น ขุ่นมัว ขึ้นมา ก็หยุดได้ด้วยการหันมาระลึกถึงบทสวดมนต์ หรือบทบริกรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว เดี๋ยวก็ลืมแล้วเรื่องต่างๆ เรื่องที่คิดส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น ไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ถ้าได้เคยฝึกทำสมาธิอยู่ตลอดเวลาแล้ว ต่อไปเวลามีเรื่องอะไรมาสร้างความไม่สบายอกไม่สบายใจ ก็สามารถลืมได้ด้วยการทำสมาธิสวดมนต์ หรือบริกรรม นั่นเอง

ใจก็ เป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่เรามักชอบเอาไฟเข้ามาเผาตัวเรา เพราะเวลาไปเห็นอะไรที่ไม่ชอบ ได้ยินอะไรที่ไม่ชอบ แทนที่จะลืมมัน ทั้งๆที่มันก็ผ่านไปแล้ว กลับลืมมันไม่ได้ เพราะใจมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เวลาไปติดกับอะไรแล้ว ก็ติดหนึบเลย ถอนออกมาดึงออกมาไม่ออก เพราะความเหนียวแน่นของอุปาทานนี่เอง นี่เป็นปัญหาของชีวิตของพวกเรา แต่โชคดีที่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ที่สอนวิธีการถอดถอนอุปาทานทั้งหลายด้วยการฝึกจิต สอนให้รู้จักควบคุมบังคับจิตใจ เวลาจิตไปติด ไปผูกพันกับเรื่องอะไรที่สร้างความว้าวุ่นขุ่นมัว สร้างความทุกข์ขึ้นมา ก็ให้เบนความสนใจออกจากเรื่องนั้นเสีย ให้กลับมาอยู่กับงานที่เคยสอนให้จิตทำ ถ้าชำนาญกับการไหว้พระสวดมนต์ ก็สวดไป จนจิตสงบ เมื่อสงบแล้ว ก็จะสบาย จึงควรให้ความสำคัญกับใจยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด


เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนเรื่องอะไร ก็สอนแต่เรื่องของเราทั้งสิ้น เรื่องความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีนั้น อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ใจเป็นหลัก ใจเป็นตัวสำคัญที่สุด เป็นทั้งต้นเหตุและเป็นผู้รับผล ต้นเหตุก็คือความคิดต่างๆ ที่มีทั้งกุศลและอกุศล คือคิดดีก็มี คิดร้ายก็มี เมื่อคิดไปแล้วผลก็จะเกิดขึ้นในใจทันที คือความสุขและความทุกข์ เวลาคิดดี ใจก็มีความสุข เวลาคิดร้าย ใจก็มีความทุกข์ จึงควรให้ความสนใจกับใจมากกว่าสิ่งอื่นใด เวลาเห็นอะไรควรย้อนกลับมาดูที่ใจ ว่ามีปฏิกิริยากับสิ่งที่เห็นอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจ ความพอใจและความไม่พอใจเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดกุศลและอกุศลขึ้นมา สิ่งที่พอใจก็จะคิดดีกับสิ่งนั้นๆ ใจก็มีความสุข


สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งภายนอกก็คือสิ่งที่อยู่ภายใน คือความรู้สึกภายในใจ ว่าขณะนี้กำลังเป็นฟืนเป็นไฟ หรือยังเย็นยังสงบอยู่ เวลามีคนมาสร้างความไม่พอใจให้กับเรา ถ้ามีสติ แทนที่จะโกรธเขา กลับทำใจให้สงบ เพราะรู้ว่าความไม่พอใจที่ทำให้เกิดความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นพิษเป็นภัยกับใจ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เขาจะทำอะไรอย่างไร เราไปควบคุมบังคับ ไปห้ามเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เราห้ามได้คือใจของเรา ถ้าใจไม่ไปสนใจ ไม่ไปแยแส เขาจะทำอย่างไรก็ไม่มีปัญหาอะไร ใจของเราก็จะสงบนิ่ง ที่เกิดปัญหาเพราะเราไปมีความหวัง มีความต้องการจากเขานั่นเอง เช่นต้องการให้เขาทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ แล้วเขาไม่ตอบสนองทำตามที่เราต้องการ เราก็เกิดความผิดหวัง เมื่อเกิดความผิดหวังก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความเสียใจขึ้นมา อย่างนี้เป็นความคิดที่ไม่ดี เป็นความคิดที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ทางที่ดีอย่าไปหวังอะไรจากผู้อื่น พยายามทำในสิ่งที่เราทำได้ หวังในสิ่งที่เราทำได้ ยึดตนเป็นที่พึ่งของตนเป็นหลัก


ความอยากนี้ มีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น ควรใช้ปัญญาแยกแยะ สิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการบำรุงสุขดับทุกข์ในใจของเรา ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น ก็ควรหามา สิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพหรือต่อการดับทุกข์ในใจของเรา ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่เป็นปัญหาอะไร นี่คือการใช้ปัญญาในการดำรงชีวิต


ในขณะที่เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา ให้ใช้ปัญญาแยกแยะ ดูว่าจำเป็นต้องมีหรือไม่ จำเป็นต้องทำหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นต้องมี ไม่จำเป็นต้องทำ ก็อย่าไปมี อย่าไปทำจะดีกว่า เพราะการแสวงหาสิ่งต่างๆนั้น เป็นความลำบาก ต้องต่อสู้ หาเงินหาทอง ทำงานทำการ เหนื่อยยากลำบากลำบน สิ่งที่ได้มาก็ไม่มีคุณค่าอะไรกับจิตใจ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง ความสุขต่างๆที่แสวงหาจากวัตถุต่างๆ จากการกระทำต่างๆ ล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น เพราะหามาได้มากน้อยเพียงไร ก็ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอสักที ต้องหามาใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงนั่นเอง ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ก็ต้องเข้าหาพระศาสนา เพราะมีบุคคลที่ได้พบความสุขที่แท้จริง แล้วนำมาเผยแผ่ให้พวกเราทราบ บุคคลนั้นก็คือพระพุทธเจ้าของเรานี่เอง ท่านเป็นบุคคลแรกในโลกนี้ ที่ได้ค้นพบความสุขที่แท้จริง ว่าอยู่ในใจของเรา อยู่ในใจที่สงบ อยู่ในใจที่ชนะความอยากต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้อยากในเรื่องปัจจัย ๔ เช่นต้องการเสื้อผ้าใส่ เพราะเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่นั้นมันขาด หรือตัวเล็กไป ใส่ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีใหม่ ก็ต้องหามา อาหารก็ต้องหามารับประทาน บ้านก็ต้องมีอยู่ ยาก็ต้องมีไว้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จึงต้องมีสิ่งเหล่านี้

เพราะ ความอยากความต้องการนั้น ไม่ได้ดับด้วยการแสวงหา แต่ดับด้วยการต่อสู้ความอยากต่างๆ ดับด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงฝึกฝนอบรมมา ต้องลดละความต้องการ ความอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อยู่แบบสมถะ เรียบง่าย เอาเท่าที่จำเป็นก็พอ ฝึกฝนทำจิตใจให้สงบด้วยการควบคุมดูแลจิตใจด้วยสติ อย่าปล่อยให้จิตคิดไปตามอำนาจความหลงความต้องการต่างๆ คอยควบคุมจิตให้อยู่ในคำสั่งของเรา เท่านี้คุณก็จะมีจิตใจที่เข้มแข็ง ความทุกข์ต่าง ๆ ก็จะไม่มารบกวนคุณ สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้อย่างรวดเร็วและปฏิบัติกิจต่างๆได้เป็นอย่างดี

อตฺตานญฺ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม

สอนคนอื่นอย่างใด ควรทำตนอย่างนั้น
ฝึกตนเองแล้วค่อยฝึกคนอื่น เพราะตัวเราเองฝึกยากยิ่งนัก

การจะมีจิคใจที่เข้มแข็ง ล่วงทุกข์ได้ ก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม ผมว่าคุณทำได้ครับ เจริญในธรรมครับ



ที่มา : http://dhammathai.org/webboard/view.php?No=5393

No comments: