Sunday, June 20, 2010
พระปฐมบรมราชโองการ
พระปฐมบรมราชโองการ
ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
พระปฐมบรมราชโองการนี้ สงเคราะห์เข้าในหลักทศพิธราชธรรม สมดังพระพุทธวจนะว่า
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
ตโต เต ชายเต ปีติ โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ
ขอพระองค์ผู้เป็นบรมกษัตริยาธิราช จงทรงพระปรีชาสามารถพิจารณาเห็นราชธรรมที่เป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ให้ดำรงในพระราชสันดานเป็นนิตย์ ดังนี้
ทาน การให้ ๑
สีลํ การตั้งสังวรรักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดปราศจากโทษ ๑
ปริจฺจาคํ การบริจาคสละ ๑
อาชฺชวํ ความซื่อตรง ๑
มทฺทวํ ความอ่อนโยน ๑
ตปํ การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว ๑
อกฺโกธํ การไม่โกรธ ๑
อวิหึสญฺจ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นตลอดถึงสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก ๑
ขนฺติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า ๑
อวิโรธนํ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดำรงอาการคงที่ ไม่ให้วิการด้วยอำนาจยินดียินร้าย ๑
บรรจบเป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ลำดับนั้นพระปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจักเกิดมีแต่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์ ดังนี้
คำโศลกแสดงธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นภาษิตของบัณฑิตผู้เกิดนอกพุทธกาลมาก่อน ภายหลังจึงนำมาร้อยกรองเป็นคำสอนในคัมภีร์พุทธศาสนา เพราะมี ๑๐ อย่าง จึงเรียกว่า ทศพิธ เพราะเป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน จึงเรียกราชธรรม
อนึ่ง หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองยังได้แก่ ราชสังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และพละกำลังของพระมหากษัตริย์เจ้า อันโบราณบัณฑิตได้กล่าวแสดงไว้โดยปริยายอื่นอีก
สังคหวัตถุ คือ พระราชจรรยานุวัตร เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ยึดหน่วงน้ำใจประชาชน เป็นราชนิติธรรมเก่าแก่ มีที่มาทั้งในทางพุทธศาสน์และพราหมณศาสน์ จำแนกเป็น ๕ ประการ แสดงอธิบายตามทางพุทธศาสน์คือ:
สสฺสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการบำรุงธัญญาหารผลาหารให้บริบูรณ์ในพระราชอาณาเขตโดยอุบายนั้นๆ เพื่อให้สรรพผลอันเกิดแต่เกษตรมณฑลอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคหวัตถุที่ ๑
ปุริสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์บุรุษ คือสงเคราะห์พระราชวงศานุวง์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ประกอบราชกิจฉลองพระคุณ ทั้งฝ่ายทหารทั้งฝ่ายพลเรือนด้วยวิธีนั้นๆ เป็นต้น ว่าทรงยกย่องพระราชทานยศฐานันดรศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่ โดยสมควรแก่กุลวงศ์ วิทยาสามารถและความชอบในราชการ เป็นสังคหวัตถุที่ ๒
สมฺมาปสํ อุบายเครื่องผูกคล้องน้ำใจประชานิกรให้นิยมยินดี คือ ทรงบำบัดความทุกข์เดือดร้อน บำรุงให้เกิดความสุข ความเจริญแก่ราษฎร และบ้านเมืองด้วยอุบายต่างๆ ปรากฏพระคุณเป็นเครื่องผูกใจประชาชนให้จงรักภักดียิ่งๆ ขึ้น เป็นสังคหวัตถุที่ ๓
วาจาเปยฺยํ ตรัสพระวาจาอ่อนหวานควรดื่มไว้ในใจ ทำความเป็นที่รักให้เกิด เช่น ทรงทักทายปราศรัยแก่บุคคลทุกชั้น ตลอดถึงราษฎรสามัญทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย โดยควรแก่ฐานะและภาวะ เป็นสังคหวัตถุที่ครบ ๔
๔ สังคหวัตถุนี้ เป็นอุบายให้เกิดสุขสมบัติ ซึ่งได้นามบัญญัติว่า นิรคฺคฬํ รัฐมณฑลราบคาบปราศจากโจรภัย จนถึงมีทวารเรือนไม่ลงกลอนเป็นคำรบ ๕
สํ.ส. ๑๕/๓๕๑/๑๑๐; องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๙/๕๔; องฺ. อฏฐก. ๒๓/๙๑/๑๕๒
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๐๕/๒๔๖; ขุ. สุ. ๒๕/๓๒๓/๓๘๓; สํ. อ. ๑/๑๖๙; อิติ. อ. ๑๒๓
จักรวรรดิวัตร คือ พระราชจรรยานุวัตรสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิพระราชาเอกในโลก ท่านแสดงไว้โดยความว่า พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน ทรงอิงอาศัยสักการะ เคารพนับถือ บูชาธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นใหญ่เป็นอธิบดี ทรงจัดการรักษาคุ้มครองป้องกันอันประกอบด้วยธรรมให้เนื่องในจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ คือ
ที่ ๑ ควรพระราชทานโอวาทและอนุเคราะห์อันโตชนคนภายในพระราชสำนัก และทรงอนุเคราะห์คนภายนอก คือพลกายกองเสนาด้วยประการต่างๆ จนถึงราษฎร ไม่ปล่อยปละละเลย
ที่ ๒ ควรทรงผูกพระราชไมตรีสมานราชสัมพันธ์มิตรกับกษัตริย์ ประธานาธิบดีแห่งประเทศนั้นๆ
ที่ ๓ ควรทรงสงเคราะห์อนุยันตกษัตริย์ คือพระราชวงศานุวงศ์ ตามสมควรแก่พระอิศริยยศ
ที่ ๔ ควรทรงเกื้อกูลพราหมณ์ คฤหบดี และคฤหบดีชน
ที่ ๕ ควรทรงอนุเคราะห์ประชาชนชาวนิคมชนบทโดยฐานานุรูป
ที่ ๖ ควรทรงอุปการะสมณฑราหมณ์ผู้มีศีลประพฤติชอบ ด้วยพระราชทานไทยธรรมบริกขารเกื้อกูลแก่ธรรมปฏิบัติ
ที่ ๗ ควรทรงจัดรักษาฝูงเนื้อและนกด้วยพระราชทานอภัยไม่ให้ใครเบียดเบียน ทำอันตรายจนเสื่อมสูญพันธุ์
ที่ ๘ ควรทรงห้ามชนทั้งหลายไม่ให้ทำกิจการที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ชักนำให้ตั้งอยู่ในกุศลสุจริตส่วนชอบ ประกอบการเลี้ยงชีพโดยทางธรรม
ที่ ๙ ชนใดขัดสนไม่มีทรัพย์พอเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะได้ ควรพระราชทานพระราชทรัพย์เจือจานให้เลี้ยงชีพ ด้วยวิธีอันเหมะสม ไม่แสวงหาด้วยทุจริต
ที่ ๑๐ ควรเสด็จเข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ตรัสถามถึงบุญบาปกุศลอกุศลให้ประจักษ์ชัด
ที่ ๑๑ ควรทรงตั้งวิรัติห้ามจิตไม่ให้เกิดอธรรมราคะในอคนิยสถาน ที่อันไม่ควรถึง
ที่ ๑๒ ควรทรงประหารวิสมโลภเจตนา ห้ามจิตมิให้ปรารถนาลาภที่ไม่ควรจะได้
ที. ปา. ๑๑/๓๕/๖๕
พละกำลังของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ๕ ประการ คือ
ข้อ ๑ กายพลํ กำลังพระกาย สมบัตินี้เกิดแต่ทรงผาสกสบายปราศจากพระโรค เพราะพระมหากษัตริย์ย่อมทรงเป็นจอมทัพ ทั้งต้องทรงปฏิบัติพระราชกรณีย์ต่างๆ จำต้องทรงพละกำลังเข้มแข็ง ถ้าขาดสมบัติข้อนี้แม้แต่จะทรงราชการก็คงไม่สะดวกได้ดี จึงควรบริหารพระองค์ให้ทรงพละกำลัง
ข้อ ๒ โภคพลํ กำลังคือโภคสมบัติ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีพระราชกิจที่พึงทรงจัด ทรงทำ และพึงมีบุคคลที่พึงบำรุงเลี้ยงเป็นอันมาก จึงควรทรงขวนขวายบำรุงกสิกรรมพานิชกรรมเป็นต้น อันเป็นทางเกิดแห่งพระราชทรัพย์ให้ไพศาล
ข้อ ๓ อมจฺจพลํ กำลังคืออำมาตย์ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีราชการที่จะทรงทำมากกว่ามาก จึงต้องมีอมาตย์ผู้ใหญ่น้อยเป็นกำลังทางนิติบัญญัติ ทางบริหารและทางตุลาการ จึงควรทรงสอดส่องวุฒิของหมู่อมาตย์แล้วยกย่องและบำราบตามควรแก่เหตุ
ข้อ ๔ อภิชจฺจพลํ กำลังคือพระชาติสูง สมบัติข้อนี้เป็นที่นิยมของมหาชน เป็นผลที่มีมาเพราะปุพเพกตปุญญตา คือได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอบรมมาแต่ในกาลก่อน เป็นเหตุให้ประพฤติดีประพฤติชอบได้โดยง่าย
ข้อครบ ๕ ปญฺญาพลํ กำลังคือปัญญา พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงประกอบพระราโชบายให้ลุล่วงอุปสรรคทั้งหลาย ต้องทรงมีพระปรีชาญาณรอบรู้ รอบคอบและสามารถ จึงควรทรงแสวงหาทางมาแห่งปัญญา ด้วยทรงวิจารณ์เหตุการณ์ภายในภายนอก อันเป็นไปในสมัยเพื่อพระญาณแจ้งเหตุผลประจักษ์ชัด
ขุ. ชา. ๒๗/๒๔๔๔/๕๔๓; ช. อ. ๗/๓๔๘
ที่มา: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. 2530. พระบรมราโชวาท. ทรงวิทย์ แก้วศรี, ประภาส สุระเสน, ชนินท์ สุขเกษี และ ประสิทธิ์ จันรัตนา (บรรณาธิการ). จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐. หน้า 2-4
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment