แบบอย่างทั้ง 11 ประการ ของอาจารย์ “ปรีดี พนมยงค์”
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2547 14:07 น
แม้จะผ่านการถูกเคลือบแคลงสงสัยในหลายๆ เรื่อง แต่ถึงที่สุดแล้ว อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และรัฐบุรุษอาวุโส ก็รับได้รับการยกย่องจากอนุชนรุ่นหลัง ดังคำกล่าวที่ว่า “ทองแท้ไม่แพ้ไฟ” ถึงคุณงามความดีที่ท่านปฏิบัติตลอดชีวิตสุโข สุวรรณศิริ อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศเม็กซิโกและประเทศนิวซีแลนด์ ผู้เป็นศิษย์เก่า ธ.บ. น.ม. ต.ม.ธ.ก. รุ่น 6 เขียนถึงแบบอย่างที่ควรยึดถือของอาจารย์ปรีดีไว้ถึง 11 ประการ คือ
1. แบบอย่างของบุตรที่ดี พ่อแม่ทุกคนที่มีลูก ความรู้สึกที่เป็นยอดปรารถนาของทุกคนก็คือ ต้องการเห็นลูกเป็นคนดีและเติบโตเป็นทรัพย์สินของสังคม อาจารย์ปรีดี ถึงแม้จะเป็นบุตรของชาวบ้านผู้หนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าท่านเป็นบุตรที่ดีเลิศ คือ ประพฤติตัวดี เรียนดี และกระทำตนเป็นแบบอย่างในเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว กลับปฏิบัติตนโดยเห็นแก่ส่วนรวม บิดามารดาของท่านย่อมมีความภาคภูมิใจ และสังคมก็น่าจะนำท่านมาเป็นแบบอย่างของบุตรที่ดี
2. แบบอย่างของนักเรียนที่ดี ตลอดเวลาที่ศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา และได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ทุ่มเทให้แก่การเรียนจนผลการเรียนออกมาดีเลิศ ขณะเดียวกันเมื่อมีเวลาว่างก็ทำงานให้สังคม แม้จะเป็นงานระดับชาวบ้าน เช่น เคยช่วยบิดาทำนา ผมคิดว่านักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันน่าจะดูท่านเป็นแบบอย่าง
3. แบบอย่างของหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นที่ยอมรับกันว่า อาจารย์ปรีดีเป็นสามีที่น่าจะเอาเป็นแบบอย่างในสังคม เพราะได้ทุ่มเทความรักให้แก่ภรรยา (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) แต่เพียงผู้เดียว และเมื่อมีบุตรธิดา ก็ดูแลให้การศึกษาตามที่เขาถนัด แม้ในยามที่ท่านอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ท่านก็ยังปฏิบัติหน้าที่ของสามีที่ดีและพ่อที่ดีอย่างเต็มภาคภูมิ และไม่ขาดตกบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านสอนบุตรธิดาของท่านมิให้เห็นแก่ตัว จะประกอบอาชีพหรือปฏิบัติตัวอย่างไรก็ให้ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หัวหน้าครอบครัวโดยเฉพาะท่านที่มีอำนาจวาสนาในสังคมปัจจุบัน น่าจะยึดเป็นแบบอย่าง
4. แบบอย่างของข้าราชการที่ดี เมื่อท่านเข้ารับราชการ ท่านได้ทำหน้าที่อย่างดีเลิศ โดยถือหลักซื่อสัตย์สุจริต และเห็นแก่ประโยชน์ของสุขของประชาชนเป็นหลัก ท่านเคยกล่าวว่า ควรจะเปลี่ยนแนวคิดที่ข้าราชการเป็นนายราษฎร เป็นให้ราษฎรเป็นนายของข้าราชการ ยิ่งกว่านั้น ท่านเป็นข้าราชการที่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ไม่ใช่รอฟังแค่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ การประจบประแจงเจ้านายท่านก็ไม่เคยทำ และการคอรัปชั่นหรือการแสวงหาประโยชน์จากหน้าที่ก็ไม่เคยปรากฏ ข้าราชการทั้งหลายควรใช้เป็นแบบอย่าง เพราะถ้าเรามีข้าราชการที่ดีอย่างอาจารย์ปรีดี ประชาชนก็จะได้รับอานิสงส์ในการดำรงชีพ โดยมีความสุขตามสมควร ไม่ต้องหวาดผวาต่อการใช้อำนาจข่มขู่ หรือการเรียกร้องอามิสต่างๆ เมื่อต้องติดต่อราชการ
5. แบบอย่างของอาจารย์ที่ดี เมื่อท่านทำหน้าที่สอนหนังสือ เป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านเป็นอาจารย์ที่ดี สอนศิษย์ไม่เฉพาะในด้านวิชาการ แต่ได้สอนธรรมะให้ยึดเหนี่ยว โดยเฉพาะในด้านความถูกต้องและความเป็นธรรมต่อสังคม เพื่อศิษย์จะได้นำไปปฏิบัติในหน้าที่การงานต่อไป บรรดาครูบาอาจารย์ควรยึดถือเป็นแบบฉบับที่ดีและใช้เป็นแบบอย่าง
6. แบบอย่างของนักกฎหมายที่ดี โดยที่ท่านมีรากฐานการศึกษามาทางด้านนิติศาสตร์ ฉะนั้น เมื่อท่านทำหน้าที่ในฐานะนักกฎหมาย ท่านได้ทำตนเป็นแบบอย่างของนักกฎหมายที่ดี คือ ไม่ใช้วิชากฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แต่ให้คำนึงถึงความเป็นธรรมแก่คนในสังคม โดยเฉพาะคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ฉะนั้น การใช้กฎหมายไม่ควรดูแต่ลายลักษณ์อักษรตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องดูความเป็นธรรมเป็นใหญ่ นักกฎหมายที่ (ใฝ่) ดีจึงน่าจะดูท่านเป็นแบบอย่าง
7. แบบอย่างของนักเศรษฐศาสตร์และนักการคลังที่ดี เรื่องนี้เกือบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า ตั้งแต่ท่านทำงานการเมืองและดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ท่านได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์และความรอบรู้หลักแหลม และมีมุมมองในทางกว้าง คือมองอย่างเป็นระบบ จะเห็นได้ว่าในสมัยที่ท่านรับผิดชอบงานด้านนี้ ฐานะการคลังของประเทศนับว่าอยู่ในขั้นดีเลิศ และท่านได้กระทำการรักษาผลประโยชน์ของประเทศอย่างมหาศาล ขอยกตัวอย่างให้เห็นสักสองกรณี คือ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นต้องการพิมพ์เงินบาทใช้ระหว่างสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นยินยอม แต่ท่านได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนำทองคำมาให้เป็นทุนสำรอง โดยที่ท่านคาดการณ์สงครามได้ถูกต้องว่า ญี่ปุ่นคงแพ้สงครามแน่ และทองคำนี้อาจถูกยึดไปในฐานะทรัพย์สินของอักษะ ท่านจึงให้ญี่ปุ่นผูกหูทองคำดังกล่าวว่าเป็นของประเทศไทย ทำให้ญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องคืนทองคำนี้ให้แก่ประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ ในยุคที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านวิเคราะห์การเศรษฐกิจและการคลังของโลกได้ถูกต้อง ทำให้คาดการณ์ว่าอังกฤษต้องลดค่าเงินปอนด์แน่ๆ โดยที่เงินทุนสำรองของไทยส่วนใหญ่เป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง ท่านจึงตัดสินใจในนามรัฐบาล สั่งโอนเงินทุนสำรองจากเงินปอนด์จำนวนหนึ่งไปซื้อทองคำหนักประมาณ 1 ล้านออนซ์ และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นทุนสำรองเงินบาทแทนภายในไม่กี่วันก่อนอังกฤษประกาศลดค่าเงินปอนด์ ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มหาศาลจากการเพิ่มมูลค่าของราคาทองคำ โดยที่ตัวท่านไม่ได้ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ในทางส่วนตัวเลย
8. แบบอย่างของนักการทูตและการต่างประเทศที่ดี ในระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้แสดงความกล้าหาญเสนอแก้ไขสนธิสัญญาที่เราเสียเปรียบแก่มหาอำนาจและประเทศต่างๆ ถึง 12 ประเทศ นับเป็นการกระทำที่เป็นประวัติศาสตร์ของการต่างประเทศของไทย ที่มหาอำนาจและประเทศใหญ่ๆ ยอมตกลงกับเราเพื่อให้มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ในเวลาต่อมา ท่านยังมีความคิดว่า ประเทศเล็กๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน น่าจะรวมกลุ่มกันเพื่อมีอำนาจในการต่อรองและรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน ท่านจึงได้คิดจัดตั้ง “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ขึ้น แต่จังหวะไม่ดี พอท่านเสนอความคิดนี้ได้เพียง 2 เดือน ก็เกิดรัฐประหาร 2490 เป็นผลให้ท่านต้องลี้ภัยในต่างประเทศ แต่จากความคิดของท่านได้เป็นที่มาขององค์การส่วนภูมิภาค เริ่มจากองการอาสา อาเซียน เอเปค ฯลฯ ในเวลาต่อมา
9. แบบอย่างของผู้นำที่ดี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านได้สร้างความเป็นผู้นำด้วยการก่อตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และถึงแม้ท่านไม่ได้เป็นทหาร แต่ได้แสดงความสามารถบังคับบัญชาการสู้รบต่อผู้ครอบครอง จนทำให้สัมพันธมิตรยอมรับนับถือขบวนการเสรีไทย เป็นผลให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสภาพการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม นับเป็นผู้นำที่กู้ชาติคนสำคัญของไทย ท่านจึงเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ดี
10. แบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดี ถึงแม้ท่านจะไม่มีโอกาสบวชพระ แต่ท่านได้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง และสนทนาธรรมกับภิกษุที่พร้อมด้วยปฏิปทา โดยได้นิมนต์ท่านพุทธทาสไปสนทนาธรรมกับท่านถึง 2 วัน 1 คืน ท่านศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทำให้ท่านเข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักไตรลักษณ์ ซึ่งท่านได้นำไปปรับใช้กับชีวิตจริงของท่านเอง และยังได้เขียนเป็นหนังสือที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ “อนิจจังแห่งสังคม” ในเรื่องการใช้ปัญญา ท่านได้กล่าวให้โอวาทแก่ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. 2479 ว่า “ขอให้ใช้สติประกอบปัญญา นำความรู้ที่เป็นสัจจะซึ่งศึกษาเล่าเรียนมานั้นเป็นหลักนำการปฏิบัติ เพื่อรับใช้ชาติและราษฎรให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น”
11. แบบอย่างของนักการเมืองที่ดี นับตั้งแต่ท่านก้าวสู่แวดวงการเมือง สิ่งที่อยู่ในสมองของท่านก็คือ ทำอย่างไรคนยากจนและคนด้อยโอกาสจะได้ลืมตาอ้าปาก และข้อสำคัญก็คือ ท่านสละประโยชน์ส่วนตัวทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านจะรับหน้าที่สำคัญทางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นมันสมองของคณะราษฎร์ และมีตำแหน่งสำคัญจนเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งด้วยมันสมองที่เป็นอัจฉริยะของท่าน ถ้าท่านใช้อำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์ ท่านย่อมที่จะมั่งคั่งร่ำรวยได้อย่างง่ายดาย แต่ในความเป็นจริง ตั้งแต่ท่านเล่นการเมือง ท่านและครอบครัวกลับจนลงๆนี่คือแบบอย่างทั้งหมดที่ทุกคนควรศึกษาและยึดถือเป็นประทีปส่องทาง และเป็นคุณธรรมส่องใจ!!
Source:http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=2000000058261
No comments:
Post a Comment