Friday, September 19, 2008

สนทนากับเจ้าอาวาส

สนทนากับเจ้าอาวาส

ส. ศิวรักษ์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ข้าพเจ้าไปอุทัยธานี (อุทัยธานีเป็นคำบาลี แปลว่าเมืองแห่งรุ่งอรุณ) ซึ่งเป็นจังหวัดหัวเมืองในภาคกลางของประเทศสยาม ห่างจากกรุงเทพ 300 กิโลเมตร เมืองนี้ไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษนัก อันที่จริงแล้ว การเดินทางไปที่นั่นก็ ลำบากมากพอดู ทางหลวงและทางรถไฟสายที่ใกล้ที่สุด อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 26 กิโลเมตร ต้องเข้าไปตามถนนลูกรังแล้วต่อเรือข้ามฟาก จึงจะเข้าตัวเมืองได้ เมืองนี้อยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง อันเป็นสาขาเล็ก ๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี การติดต่อกับกรุงเทพฯ ยังมีทางเดี่ยวคือ ทางเรือกลไฟ ทุกวันนี้อุทัยธานียังคงเป็นเมืองสงบ คนส่วนมากเป็นชาวนา อาศัยอยู่ในเรือนแพ โทรทัศน์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่วิทยุนั้นกำลังรุกเข้าไปบ่อนทำลาย ความสงบสุขอยู่โดยทั่วแล้ว
แม้อุทัยเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่ง แต่ก็ไม่มีประวัติศาสตร์จารึกอะไรไว้เป็น พิเศษพิศดาร แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมืองนี้เป็นที่กำเนิดของบุคคลมีชื่อสองคน ซึ่งเทียบได้กับอัลซิเนียดิส และโสกราติสของกรุงเอเธนส์โบราณเลยทีเดียว โดยคนแรกนั้นเป็นที่เกลียดชังของชาวเมืองโดยทั่วไป แต่ท่านหลังนั้นเป็นพระภิกษุใน พระพุทธศาสนา อันเป็นที่เคารพสักการะของคนโดยทั่วหน้า พระภิกษุรูปนี้ แท้จริงมีเชื้อสายจีน ได้เลื่อนสมณศักดิ์จนถึงขั้นสมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นที่สองรองจากประมุขของคณะสงฆ์ คือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกเท่านั้น ถ้าว่ากันตามพระสุพรรณบัตรแล้ว พระภิกษุผู้ได้รับนามนี้ จะเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีทั้งปวง เจ้าคุณสมเด็จองค์นี้เป็น เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ (แปลว่าอัฏฐิ อันยิ่งใหญ่) อันเป็นวัดใหญ่ที่สุดวัดหนึ่งในกรุงเทพฯ พี่ชายของท่านก็เป็นเจ้าอาวาสวัดหัวเมือง โดยเป็นเจ้าคณะจังหวัดนี้ด้วย พระภิกษุสองพี่น้องนี้ ได้สร้างคุณูปการทางด้านพระศาสนาและการศึกษา ให้จังหวัดนี้เป็นอเนกประการ โดยที่เจ้าอาวาสวัดหัวเมืองผู้พี่เป็นพระที่มีความประพฤติเที่ยงตรงและ รักษา วินัยเคร่งครัด ท่านจึงสามารถชักจูงให้กุลบุตรเข้าอุปสมบทและอุทิศตัวอยู่ในพระบวรพุทธศาสนาได้สำเร็จ ถ้าหากศิษย์ของท่านรูปใดแสดงความแน่วแน่ในทางธรรมแล้ว ท่านจะส่งไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ภายใต้กา รควบคุมดูแลของเจ้าคุณสมเด็จน้องชายท่าน วัดมหาธาตุในเวลาั้นั้น จึงเป็นที่พำนักอาศัยของพระชาวจังหวัด อุทัยเป็นจำนวนมาก
เมื่อข้าพเจ้าแรกไปจังหวัดอุทัยธานี ได้พบชายชราคนหนึ่ง ประวัติของคุณลุงคนนี้ ก็เหมือน กับคนในปูนเดียวกันในเวลานั้นคือเข้าบวชเรียนในสำนักของท่านเจ้าคณะจังหวัดผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยปรนนิ- บัตร รับใช้ท่านที่วัดพิชัย (บาลี : วิชย วัดแห่งความมีชัย) เป็นเวลา 1 ปี และต่อมา ก็ถูกส่งตัวเข้า วัดมหาธาตุในกรุงเทพฯ คุณลุงบวชอยู่วัดนี้ได้ 5 พรรษา จึงสึกออกมา ข้าพเจ้าลองถามดูว่า รู้จักสมเด็จ พระวันรัตองค์ก่อนดีไหม คุณลุงตอบว่า
“รู้จักซิ เธอก็รู้ใช่ไหมว่าเจ้าคุณสมเด็จท่านเป็นชาวเมืองนี้ เรายังรู้สึกเคารพเทิดทูน ในพระเดชพระคุณท่านมาก เมื่อฉันๆไปกรุงเทพคราวนั้นกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าคุณสมเด็จ ท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส อธิบดีองค์ก่อนท่านยังคงบริหารควบคุม กิจการภาย ในวัดอยู่มาก แม้ว่าสมเด็จเจ้าอาวาสองค์นั้น ท่านมีอายุล่วงเข้าแปดสิบแล้ว”
ข้าพเจ้าจึงถามไปว่า “คุณลุงรู้จักเจ้าอาวาสองค์นี้ไหม”
ท่านตอบว่า “ไม่รู้จักเท่าไหร่หรอก ก็ท่านไม่ใช่เด็กไปจากที่นี่ ท่านมาสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระวันรัตเหมือนกันนะ เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุองค์ที่ 11 เดิมท่านชื่อ ‘ ฑิต ซึ่งย่อมากจาก คำบาลีว่า บัณฑิต แล้วท่านเป็นพระที่ฉลาดมาก ท่านมีฉายาว่า อุทาโย แต่ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับ เมืองนี้เลย ความจริงท่านเกิดที่จังหวัดอยุธยา กรุงเก่า ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่ ล่องน้ำลงไปอีก 150 กม. อย่างไรก็ตาม ฉันยังจำเรื่องราวที่คุยกับท่านได้ครั้งหนึ่ง”
“คุยกันเรื่องอะไรครับ ช่วยเล่าให้ผมฟังหน่อย”
“ความจริงแล้ว มีคนอื่นไหว้วานให้ฉันไปถามท่านอีกที เดี๋ยวนี้ฉันจำหมอนั่น ไม่ได้แล้ว ฉันรวบรวมความกล้าแล้วเข้าไปหาท่านเจ้าอาวาสผู้เฒ่า คุณก็รู้แล้วว่า พระชั้นผู้น้อย เกรงกลัว พระชั้นผู้ใหญ่ขนาดไหน โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ผู้คงแก่เรียน เคร่งครัดและเที่ยงธรรม ฉันดีใจว่าฉัน กล้าพอที่เข้าหาท่าน และซักถามท่านตัวต่อตัว ทันที่ที่เข้าไปในกุฏิท่าน ฉันคุกเข่าลง แล้วกราบงาม สามทีตามธรรมเนียม พอนั่งพับเพียบเรียบร้อย ก็พนมมือเรียนถามท่านว่า “ใต้เท้าครับ พวกเกล้ากระผม พระผู้เยาว์รู้สึกแปลกใจว่า ทั้งที่ใต้เท้าก็ชราภาพมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถบริหาร กิจการภายในวัด และคณะสงฆ์ได้ โดยที่ยังมีสติทรงจำดีไม่เลอะเลือน และยังสามารถรับรู้ข่าวสาร ความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ รอบตัวได้ดี พวกเกล้ากระผมพากันประหลาดใจว่า ทำไมใต้เท้ายังมีสติ สัมปชัญญะบริบูรณ์ และเท่าทันต่อเหตุการณ์ของโลกภายนอก พวกเกล้ากระผมบางคนใคร่จะรู้จริง ๆว่า ใต้เท้ามีหลักการ พิเศษอะไรสำหรับเป็นเครื่องดำเนินชีวิต”
“ท่านยิ้ม แล้วถามถึงชื่อคนที่ฝากถาม ฉันคงกราบเรียนบอกชื่อเจ้าของคำถาม กับท่าน แต่ตอนนี้ฉันจำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร ท่านเจ้าอาวาสผงกศีรษะรับ แต่ไม่ตอบคำถามของฉันตรงกันข้าม ท่านกลับเปรยขึ้นว่า “หากเยอรมันชนะสงคราม ฉันไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่พระศาสนา เวลานี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากำลังประชวรหนักอยู่ด้วย หากทรงเป็นอะไรไปในตอนนี้ การพระศาสนา เห็นทีจะมืดมน แต่ไหนแต่ไรมา เมื่อพระตีระฆังบอกเวลาสวดมนต์ทำวัดเช้าตอนตีสี่ พวกสุนัขมักพากัน เห่าหอนตามเสียงกลอง แต่ฉันเพิ่งสังเกตมาเมื่อไม่นานว่า เวลานี้พวกสุนัข ไม่ได้เห่าหอนกันเหมือนก่อน นี่จะเป็นลางบอกเหตุร้ายหรือดี ฉันไม่รู้ได้”
“นี่แสดงว่าจิตใจของท่านไม่สงบเลย กำลังคิดฟุ้งซ่าน และฉันเข้าใจว่าท่านต้องลืม เรื่องที่ฉันถามเมื่อครู่นี้หมดสิ้นแล้ว แต่แล้วท่านก็อยู่นิ่งสักครู่หนึ่งก่อนจะเอ่ยขึ้นทันใดว่า “เอาล่ะ กลับมาที่คำถามซึ่งเธอถามเมื่อครู่นี้ เพื่อนของเธอเขาต้องการรู้ว่า ฉันมีหลักอันใดเป็นเครื่องมือ ค้ำจุนในการประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีวิตหรือหาไม่ ฉันของตอบว่า “มี” ว่ากันตามจริงแล้วฉันถือ หลักสำคัญอยู่ 3 สูตร ฉันท่องขึ้นใจอยู่เสมอ โดยท่องเดินหน้าถอยหลังได้โดยตลอด ท่องอยู่เช่นนี้ วันแล้ววันเล่า ทั้งกลางวันกลางคืน และฉันพบว่าการทำเช่นนี้มีประโยชน์แก่ชีวิตฉันมาก”
“สูตรข้อแรก ฉันรู้ตำราไวยากรณ์มูลกัจจายน์เป็นอย่างดี ฉันท่องตำรานี้ทุกวัน เพื่อช่วยให้ความรู้ทางภาษามคธของฉันยังคงคล่องแคล่วอยู่เสมอ เดี๋ยวนี้ตำราเล่มนี้อาจจะเก่า ล้าสมัยแล้ว แต่ฉันก็อาศัยคัมภีร์นี้แหละเป็นแม่บทแห่งมคธภาษา เรียนด้วยการท่องจำ และเดี๋ยวนี้ฉันก็ยังจำมันได้ดีอยู่ ตำรานี้มีอานิสงส์กับฉันมากทีเดียว แม้ว่าพวกพระเปรียญรุ่นหลังจะ หันไปเรียนบาลีไวยากรณ์แผนใหม่ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระนิพนธ์ขึ้นแล้วก็ตาม แตพวกนี้ยังกลับมาปรึกษาฉันบ่อย ๆ ให้ช่วยแก้ปัญหา ทางไวยากรณ์ให้พวกเขา ในฐานะที่ฉัน แตกฉานตำราเก่าเป็นอย่างดีนี่เอง ฉันจึงสามารถให้คำตอบ ที่ถูกต้องแม่นยำแก่พระรุ่นใหม่ได้ หาไม่แล้ว พวกพระรุ่นหนุ่ม ๆ พวกนี้จะมีอคติต่อฉันด้วย ด้วยเจ้าใจว่าเจ้าคุณสมเด็จนี่แก่แล้ว ขี้หลงขี้ลืม เมื่อเกิดอคติเช่นนี้ ตัวพวกเขานั่นเองแหละ จะพากันเสื่อมถอยในวิชา เพราะเมื่อพระผู้น้อยคิดร้ายต่อบุคคลอื่น โดยเฉพาะต่อพระเถระผู้ใหญ่แล้วไซร้ ก็เท่ากับเขาได้ย่างก้าว สู่ทางแห่งหายนะ ซึ่งจะนำไปสู่นรกภูมิ ทางที่ถูกที่ควรพระต้องแผ่เมตตา กรุณาแก่สรรพสัตว์อยู่เสมอ ดังนั้นเพื่่อเกื้อกูลแก่ลูกวัด และเพื่อรักษาพื้นความรู้มคธภาษา ฉันจึงยึดสูตร นี้ไว้ในใจเสมอ”
“สูตรข้อสอง ฉันรู้หลักพระปาฏิโมกข์ทั้งหมดอย่างแม่นยำขึ้นใจ ดังนั้น ในวันอุโบสถเมื่อพระสวดพระวินัย ฉันจึงรู้เลยว่าพระรูปนั้นสวดผิดหรือไม่ การรู้บัญญัติข้อประพฤติ ปฏิบัติของพระภิกษุ เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับผู้อยู่ในหมู่สหธรรมิก เดิมฉันเป็นฆราวาส ยกฐานะ ตัวเองขึ้นมาเป็นสามเณร จนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุครบองค์ ต่อมาก็เลื่อนสมณศักดิ์ จากเจ้าอาวาส ชั้นผู้น้อย จนถึงชั้นสมเด็จพระวันรัตในสังฆปริมณฑลนี้ ฉันเป็นรองก็แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเท่านั้น ฉันไม่สามารถก้าวมาถึงขั้นนี้ได้เลย หากฉันไม่ปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ ของสงฆ์ถ้าฉันละเมิดศีล ข้อใหญ่แล้วไซร้ ฉันก็จะขาดจากความเป็นพระทันที แต่ถ้าฉันละเมิดศีลข้อเล็ก ๆ น้อย ๆ ฉันก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ด่างพร้อยอยู่ดี พระภิกษุจะต้องดำเนินชีวิต ที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากข้อติเตียนใด ๆ ทั้งสิ้น การสวดพระปาฏิโมกข์นี้ช่วยให้ฉันตรวจสอบตัวเอง ได้ตลอดเวลา หากฉันพบว่าฉันได้ล่วงสิกขาวินัย ข้อหนึ่งข้อใด ทั้งกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ฉันจะปลงอาบัตินั้นเสีย โดยประกาศอาบัติให้ทราบทั่วกันใน หมู่สงฆ์ ขอยกโทษเสียจากสงฆ์แล้ว ฉันก็จะกลับเป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด และมีค่าควรอยู่ในหมู่ สหธรรมิกสืบไป”
“สูตรข้อสาม ฉันจะสวดมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นประจำทุกวัน อันนับเป็นหัวใจสำหรับ การเจริญสติ ซึ่งมีอานิสงส์แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ การสวดสติปัฏฐานสูตร อาจช่วยให้บุคคลละ ความยึดมั่นถือมั่นในโลก มีสติกำหนดรู้ทุกสิ่ง และไม่หลงมัวเมาในสิ่งสมมติ สูตรนี้สามารถยัง บุคคลให้บรรลุพระสัทธรรม คือ มรรคผลนิพพานได้ในที่สุด”
“สูตรสามประการนี้แหละที่ฉันยึดถืออยู่ในใจ ฉันจะสวดท่องสูตรทั้งสามติดต่อกัน ไปเรื่องทีละสูตร โดยสวดเดินหน้าถอยหลังด้วย สวดอยู่เช่นนี้ ทั้งกลางวันกลางคืน ฉันมักสวด เวลาอยู่คนเดียว เมื่อมีใครเข้ามาพบฉัน อาจจะเป็นอาคันตุกะหรือสามเณร ที่ผลัดเวรกันขึ้นมา อ่านหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ให้ฉันฟัง ฉันก็จะหยุดสวดชั่วคราว เมื่อว่างจากคนแล้ว ฉันก็จะ กลับสวดต่อจากที่ฉันค้างไว้ ฉันปฏิบัติตามหลักนี้ ตั้งแต่สมัยเป็นพระนวกะ หลักนี้มีอานิสงส์ช่วยให้ฉันเกิด ความสบาย สงบและมีปิติสุข ภายในเพศบรรพชิตจนกระทั่งถึงทุกวันนี้”
“เอาล่ะนี่ก็สมควรแก่เวลาแล้ว เธอจงกลับไปบอกหลักปฏิบัติสามสูตรในชีวิตฉัน แก่สหธรรมิกของเธอผู้นั้นเถิด”

พิมพ์ครั้งแรก Visakha Puja 1965. (2507)
พิมพ์ซ้ำใน. ส. ศิวรักษ์ .(2527). สยามยามวิกฤต. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง

No comments: