Saturday, February 28, 2009

ทางเดินชีวิต




ทางเดินชีวิต

คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร watdevaraj@hotmail.com



ชีวิตคนเรานั้น แท้จริงคือ การเดินทางชนิดหนึ่ง ซึ่งเดินจากความเต็มไปด้วยความทุกข์ ไปยัง ที่สุดจบสิ้นของความทุกข์ ที่ตนเคยผ่านมาแล้วนั่นเอง ไม่ว่าผู้นั้นจะทราบหรือไม่ทราบ รู้สึกหรือไม่รู้สึกก็ตาม ชีวิตก็ยังคงเป็นการเดินทางเรื่อยไปอยู่นั่นเอง

การเดินทางของชีวิตนี้ มิใช่เป็นการเดินทางด้วยเท้า ดังนั้น ทางของชีวิต จึงไม่สามารถที่จะเดินไปได้ด้วยเท้า บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน ได้พากันสนใจในทางชีวิต กันมากเป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นทางของจิต อันจะพัฒนาไปในทางสูงกว่าทางวัตถุหรือทางกาย อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้เลย

สิ่งที่เรียกกันว่า ทางเดินนั้น แม้จะมีสายเดียวก็จริง ตามธรรมดา ต้องประกอบด้วยข้อดีหลายประการเสมอ ทางชีวิตก็เช่นเดียวกัน แม้จะสายเดียว ดิ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ก็จริง แต่ก็ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เป็นต้นว่า

1. ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น

2. ศิลปะ โดยเฉพาะก็คือ ศิลปะแห่งการครองชีวิต หรือการบังคับตัวเองได้ ช่วยให้ชีวิตนี้ ดูแจ่มใส งดงาม น่าชื่นใจ น่ารักใคร่ นำมาซึ่งความเพลิดเพลิน ในการก้าวหน้า ไปด้วยความรู้ และการกระทำที่ดูงาม ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

3. ภูมิธรรม คือ ธรรมสมบัติ หรือ ความดี ความจริง ความยุติธรรม ที่ประกอบอยู่ในตัวบุคคล อันนำมาซึ่งความเลื่อมใส ความไว้วางใจ ความน่าคบหาสมาคมจากชีวิตรอบข้าง ทำให้ชีวิตนั้นตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของชีวิตทั้งหลาย

4. ความรู้ ช่วยให้มีความสามารถในการใช้ความคิด และการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ในการตัดสินใจ การแก้ไขอุปสรรคและอื่นๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดผลในการครองชีพ การสมาคม และอื่นๆ ที่จำเป็นทุกประการ โดยสมบูรณ์

5. สติปัญญา ช่วยให้การดำเนินงานของชีวิตสำเร็จลุล่วงไปได้ตามแนวของความรู้ ทำให้ งานของชีวิต ทุกชนิด ทุกระดับ ดำเนินไปได้โดยง่าย โดยเร็ว โดยสมบูรณ์ และปลอดภัย โดยประการทั้งปวง

องค์ประกอบ 5 ประการนี้ รวมกันเป็นทางสายเดียว ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างสะดวก ประสบความสุขความเจริญ ผลในโลกนี้ คือ ทรัพย์ ชื่อเสียงและมิตรภาพก็ดี ผลในโลกหน้า คือ สุคติก็ดี และผลอันสูงสุด พ้นจากโลกทั้งปวง คือ นิพพานก็ดี จักเป็นที่หวังได้ ครบถ้วน

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่ทุกชีวิตจะต้องแสวงหาทาง และมีทางเดินชีวิตของตนอันถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อก้าวหน้าไปสู่ความสะอาด หมดจด สว่างไสว และ สงบเย็น สมตามความปรารถนา

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6666 ข่าวสดรายวัน หน้า 31

Tuesday, February 10, 2009

ต้นแบบ ”รักเรียบง่าย” ที่คนไทยต้องร่วมสืบสาน ”รักตอบ”



ต้นแบบ ”รักเรียบง่าย” ที่คนไทยต้องร่วมสืบสาน ”รักตอบ”


แดงส์ ตักสิลา ผู้จัดการออนไลน์ 10 กุมภาพันธ์ 2552
fashionhora@gmail.com

ใกล้ถึงวันแห่งความรักอีกแล้ว และดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หรืออาจเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีสากลที่ครอบงำคนไทยไปด้วยแล้ว ด้วยทัศนคติที่คิดว่า Valentine’s Day เป็นวันแห่งความรักเชิงชู้สาว วันที่มีคุณค่าแค่ความรู้สึกพิเศษเฉพาะคนสองคนที่รักกัน เท่านั้นหรือ ?

คนไทยมีความรักต่อคนไทยด้วยกันหรือไม่ ? คนไทยมีความรักต่อผืนแผ่นดินไทยของเราหรือไม่ ? คนไทยแย่งชิงกันทำความดีเพื่อส่วนรวมที่ไม่ใช่ส่วนตัวหรือไม่ ?

ผมอยากเชิญชวนให้อ่านถ้อยคำ ที่ผมขออนุญาตนำมาจากปฏิทินตั้งโต๊ะของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งได้มอบให้ผม เป็นปฏิทินที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์และถ้อยคำอันมีพลังแห่ง “รักเรียบง่าย” ที่พ่อหลวงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยไม่มีการเลือกสี เลือกข้าง

กระบวนทัศน์ ”รักเรียบง่าย” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

1. องค์รวม: ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม ทรงมองอย่างครบวงจร ทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไข อย่างเชื่อมโยง

2. ไม่ติดตำรา: การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลม และรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน “ไม่ติดตำรา” ไม่ผูกมัดกับวิชาการ และเทคโนโลยี ที่ไม่เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย

3. แก้ปัญหาที่จุดเล็ก: ทรงมองข้ามปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มจากจุดเล็ก คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักมองข้าม “...ถ้าปวดหัวคิดอะไรไม่ออก..ต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน..เพื่อให้อยู่ใน สภาพที่คิดได้..”

4. ทำตามลำดับขั้น: ทรงเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน ได้แก่ สาธารณสุข ต่อไปจึงเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นสำหรับประกอบอาชีพ การพัฒนาประเทศต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ก่อน จึงค่อยเสริมสร้างความเจริญและเศรษฐกิจขั้นสูง โดยลำดับต่อไป

5. ทำงานอย่างมีความสุข: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเกษมสำราญและทรงมีความสุขทุกครั้งที่ทรงช่วยเหลือประชาชน “..ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น..”

6. การพึ่งตนเอง: การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในเบื้องต้น ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้เขาแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้ แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และสามารถ ”พึ่งตนเอง” ได้ในที่สุด

7. ทำให้ง่าย: ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานพัฒนาประเทศ ตามแนวพระราชดำริโดยง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ทรงโปรดที่จะทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งสลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย “ทำให้ง่าย”

8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด : ทรงใช้หลักในการแก้ไขด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชนนั้นมาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก “ให้ปลูกป่า โดยไม่ต้องปลูกป่า โดยปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ จะได้ประหยัดงบประมาณ”

9. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ: การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่ง จะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการและราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่เป็นจริง เพื่อที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ตามความต้องการของประชาชน

10. เศรษฐกิจพอเพียง: เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกันทุกด้าน ซึ่งสามารถทำให้อยู่ได้อย่างสมดุลโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ปรัชญานี้ได้มีการประยุกต์ใช้ทั้งระดับบุคคล องค์การ ชุมชน และทุกภาคส่วน มาแล้วอย่างได้ผล

11. การมีส่วนร่วม: ทรงเป็นนักประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น “..ต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด.. เพราะการรู้จักฟังอย่างฉลาดนั้น แท้จริงคือการระดมสติปัญญา และประสบการณ์อันหลากหลาย มาอำนวยการปฏิบัติบริหารงาน ให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง..”

12. ความเพียง (พระมหาชนก) : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเริ่มทำโครงการต่างๆ ในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมมากนัก ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์มิได้ท้อพระราชหฤทัย มุ่งมั่นพัฒนาโครงการต่างๆ ให้ราษฎรบังเกิดความร่มเย็นเป็นสุขในที่สุด

ขอให้พวกเราชาวไทย หันมาดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยความรักห่วงใยที่เรียบง่าย จริงใจ มั่นคง รวมพลังสร้างความสงบสุข “รักตอบ” พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ ด้วยการลงมือกระทำตามแนวทางอันเป็นกระบวนทัศน์ ”รักเรียบง่าย” ทั้ง ๑๒ ข้อกันเถิด แล้วคนไทยจะยังคงมีแผ่นดินไทย ไว้ให้รักหวงแหนอย่างมีระบบตราบชั่วนิรันดร์

Happy Valentine’s Day ครับ..!

http://www.manager.co.th/lady/viewnews.aspx?NewsID=9520000015021

Saturday, February 7, 2009

มาฆบูชา ๒๕๕๒







@ปาฏิโมกข์@


@ ไม่ทำชั่วทุกกรณี
ทำความดี อยู่เป็นนิตย์
ทำจิตให้บริสุทธิ์
พุทโธวาทะมาฆะฯ

@ คือโอวาทปาฏิโมกข์
คือโศลกแห่งสัจจะ
ให้รู้ที่ควรละ
แลให้รู้ที่ควรทำ

@ ความชั่วกับความดี
ดั่งสีขาวกับสีดำ
ช่วงสีที่เหลื่อมล้ำ
คือสีเทาทะมึนทอ

@ กลับผิดให้เป็นถูก
แลกลับถูกเป็นผิดต่อ
ยกย่องและเยิรยอ
แต่อำนาจและเงินตรา

@ ผิดชอบและชั่วดี
จึงต้องชี้ด้วยธรรมา
ประโยชน์ใหญ่แห่งมวลมหา
ประชาชนมาชี้ชัด

@ จึงจิตต้องบริสุทธิ์
พ้นสมมุติ พ้นจำกัด
ปรฏิโมกข์ตัวชี้วัด
ชะตากรรมประเทศไทย!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
พฤ.๕/๒/๕๒

Monday, February 2, 2009

กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ




กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ

คำว่า กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ หมายความว่าอย่างไร เพราะบางคนพ่อแม่ดี แต่ลูกไม่ดี บางคนครอบครัวดี แต่มีบริวารนำความเดือดร้อนมาให้ บางคนลูกดีแต่บุพพการีไม่ดี ถ้าจะถือว่าชาติก่อนมีความสัมพันธ์กับชาตินี้ ก็จะต้องหมายความว่า พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนฝูง ที่เคยพัวพันกันมา จะต้องไปพบกันทุกชาติเช่นนั้นหรือ จึงมีการกล่าวถึงคำว่า "ทำกรรมร่วมกันมา"

คำว่า "กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ" เป็นคำที่หมายถึงคนสองคน หรือสองฝ่ายเคยทำอะไรร่วมกันมา จะเป็นทางดีก็ได้ ทางไม่ดีก็ได้ เช่นเคยทำบุญร่วมกันมา เคยร่วมปล้นฆ่าคนมาด้วยกันเป็นต้น การกระทำที่ทำร่วมกันอย่างนี้แหละ ที่เรียกว่า “กรรมร่วมกันมา” ถ้าเป็นกรรมในชาติก่อนๆ ก็เรียกว่า เป็นกรรมในอดีตชาติความจริงมิใช่ เพราะกรรมเท่านั้นที่จะส่งผลให้มาพบกันในชาตินี้ แม้เวรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผูกกันไว้ หรือผูกไว้ทั้งสองฝ่าย ก็เป็นเหตุส่งให้มาพบกันในชาตินี้ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงมักพูดติดต่อกันว่า "กรรมเวร" ความเข้าใจที่ว่า ถ้าถือว่าชาติก่อนมีความสัมพันธ์กับชาตินี้ ก็จะต้องหมายความว่า พ่อแม่ พี่น้องเพื่อนฝูงที่เคยพัวพันกันมาจะต้องไปพบกันทุกชาตินั้น ยังเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด อันที่จริงชาติก่อนมีความสัมพันธ์กับชาตินี้จริง ในฐานะเป็นชาติที่เป็นเหตุให้เกิดมีชาตินี้ขึ้น แต่พ่อแม่พี่น้องญาติมิตรในชาติก่อนนั้น หาได้เกิดพบกันทุกชาติไม่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเงื่อนไขที่ว่า เมื่อพ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตรนั้นๆ ได้ทำกรรมจะดีหรือไม่ก็ตาม หรือได้มีเวรต่อกันมา กรรมและเวรอันนั้นแหละก็จะส่งผลให้เกิดมาพบกันในชาติต่อไป แต่จะทุกชาติหรือไม่ ก็แล้วแต่กรรมเวรที่จะก่อใหม่อีก

นัยตรงข้าม หากพ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร มีความผูกพันกันเพียงสายเลือดซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ หาได้ทำกรรมดีกรรมชั่ว หรือผูกเวรกันไว้ไม่ อย่างนี้ก็ไม่มีสาเหตุอันใดที่จะทำให้ไปเกิดพบกันอีก คือไม่มีกรรมเวรร่วมกันนั่นเอง เรื่องกรรมเรื่องเวร เป็นเรื่องลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก ยากที่จะอธิบายให้เห็นแจ้ง ด้วยหน้ากระดาษเพียงเท่านี้ได้ แต่ผู้สนใจในเรื่องนี้ศึกษาได้จากตำราและจากการสังเกตชีวิตจริงของตนและของ คนอื่น จะช่วยความเข้าใจได้มาก

เราอาจแบ่งบุคคลในกรณีนี้ ได้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ

๑. ประเภทดีด้วยกัน คือทั้งสองฝ่ายหรือทั้งหมด ได้เคยทำบุญทำความดี สร้างบารมีร่วมกันมา เรียกว่ามีดีเท่ากันว่างั้นเถอะ ประเภทนี้ก็มักจะเกิดมาดีด้วยกัน ได้ดีพอๆกันเช่นตำนานเรื่อง มฆมาณพสร้างถนนสร้างศาลามาด้วยกัน กับพวกอีก ๓๒ คน ตายไปแล้วได้เสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นต้น ประเภทนี้ ความดีมีเท่ากัน จึงได้ดี ได้พบความดีมีสุข และเสวยความดีอยู่ด้วยกันได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้มีคุณธรรมเสมอกันนั่นเองที่เห็นง่ายๆ ในประเทศนี้ก็คือ ถ้าเป็นสามีภรรยากัน สามีก็ดี ภรรยาก็ดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเห็นอกเห็นใจกัน เรียกว่า ดีทั้งคู่ถ้าเป็นพ่อแม่ลูกกัน ก็ดีทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งลูกพ่อแม่ก็รักลูก ทำเพื่อลูก และเป็นผู้นำที่ดีของลูกฝ่ายลูกก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เชื่อฟังตั้งอยู่ในโอวาท รักเคารพพ่อแม่ด้วยใจจริงถ้าเป็นเพื่อนก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ชักชวนกันไปในทางเสียหาย เป็นต้น

๒. ประเภทเสียด้วยกัน คือทั้งสองฝ่ายเคยทำบาปทำกรรมร่วมกันมา มีความชั่วพอๆกัน ชอบเรื่องร้ายๆพอกันอย่างนี้ก็เกิดมาพบกันอีก และอยู่ด้วยกันได้ แม้จะลุ่มๆดอนๆก็ไม่ค่อยแยกกัน ถึงคราวสุขก็สุขด้วยกัน ถึงคราวทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกันได้ประเภทนี้ก็เช่นกัน ถ้าเป็นสามีภรรยากันก็ประเภทหญิงร้ายชายเลวนั่นแหละ หรืออย่างพวกนักเลงเที่ยว นักเลงพนัน นักเลงสุรา จนกระทั่งนักเลงปล้นจี้ เป็นต้นคือชอบอย่างเดียวกัน ย่อมไปด้วยกันได้

๓. ประเภทมีเวรต่อกัน คือประเภทที่อีกฝ่ายหนึ่งอาจดี แต่อีกฝ่ายอาจเสีย ฝ่ายดีก็จะถูกฝ่ายเสียคอยรบกวน คอยรังควาน คอยทำลายอยู่เรื่อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมอย่างกรณีที่ยกตัวอย่างมา เช่นบางรายพ่อแม่ดี แต่ลูกไม่ดี บางรายครอบครัวดี แต่บริวารนำความเดือดร้อนมาให้นั่นแหละ กรณีอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยังผูกเวรจองกรรมไว้ จึงต้องมาพบกัน คอยขัดขวางกันอยู่ร่ำไปไม่ต้องอื่นไกลหรอก แม้แต่พระพุทธองค์ยังทรงมีมารคอยผจญ มีพระเทวทัตคอยทำลาย และมีนักบวชต่างศาสนาคอยล้างผลาญเลยนี่แหละอำนาจของเวรล่ะ ลองได้ก่อไว้ หรือถูกก่อไว้ ก็เป็นได้ตามผจญกันไม่สิ้นสุดสักที ประดุจเวรของงูกับพังพอน เวรของกากับนกเค้า และเวรของมนุษย์ผู้ถือตัวจัดในเรื่องศาสนากับผิวในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ละเวรเสีย อย่างน้อยก็ด้วยการรักษาศีล ตั้งมั่นอยู่ในศีล เพราะศีลเป็นเวรมณี เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้หมดเวรได้ แม้อย่างกรรมก็เช่นกัน ไม่ว่าจะทำคนเดียว หรือร่วมทำกับใคร หากเป็นกรรมชั่วกรรมเสียแล้ว ท่านว่าไม่ควรทำทั้งนั้น



พระธรรมกิตติวงศ์ ( ทองดี )
http://www.dhammathai.org/store/karma/view.php?No=6

ลักษณะของ “คู่สร้างคู่สม”

ลักษณะของ “คู่สร้างคู่สม”

สามีภรรยาที่ครองรักครองเรือนกันยาวนานและมีความสุขตามประสาผู้อยู่ในโลกีย วิสัย นอกจากเรื่องความสมดุลทางกามารมณ์ที่ผู้รู้สมัยนี้ให้ความสำคัญมากนั้น ยังต้องมีคุณสมบัติภายในซึ่งนับว่าเป็น “ความดีภายใน” ประกอบด้วย สามีภรรยาที่ต่างก็มี “ความดีภายใน” เหมาะสมกลมกลืนกันเรียกว่า “คู่สร้างคู่สม” มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

1. มีศรัทธาสมกัน คือ มีความเชื่อในลัทธิศาสนาอย่างเดียวกัน หรือถ้านับถือศาสนาต่างกัน ก็ต้องรู้จักให้เกียรติและเคารพลัทธิความเชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ไม่ก้าวก่ายดูถูกเหยียดหยาม ความเชื่อถือของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกความหมายหนึ่ง การมีศรัทธาสมกัน หมายถึง มีแนวคิด ความเชื่อในเรื่องทั่วๆ ไปลงรอยกันได้ มีค่านิยม มีเจตคติไปในทางเดียวกัน หรือปรับเข้าหากันได้ ไม่ดึงดันเอาแต่ความคิดความเชื่อของตนว่าถูกต้องฝ่ายเดียว

2. มีศีลสมกัน คือ มีความประพฤติ มีศีลธรรมจรรยาไม่ลักลั่นกัน ถึงขนาดคนหนึ่งเป็นคนไร้ศีลไร้ธรรม อีกคนก็มีศีลธรรม อีกความหมายหนึ่ง การมีศีลสมกัน หมายเอาเพียงการปรับความประพฤติให้เข้ากันได้ในเรื่องดี เช่น ฝ่ายหนึ่งชอบเข้าวัดฟังธรรม ทำบุญตักบาตรประจำ อีกฝ่ายก็ทำด้วยหรือไม่ทำก็ไม่ถึงกับขัดขวาง ส่วนในเรื่องไม่ดีเป็นเรื่องต่างฝ่ายต่างต้อง “ปรับปรุงตัวเอง” ให้ดีขึ้น

เช่น สามีเคยเที่ยวดึกๆ ดื่นๆ ดื่มเหล้าเมายา ก็ปรับให้ลดลงบ้าง ไม่ใช่เห็นฝ่ายหนึ่งไม่ดีแล้วปรับตนให้เลวตาม อย่างเช่น สามีเล่นม้า ภรรยาก็เล่นตาม อย่างนี้เรียกว่าปรับความประพฤติให้ชั่วเหมือนกัน ถึงจะไปกันได้ดี แต่ก็จะพากันลงนรก ไม่ถือว่าเป็น “คู่สร้างคู่สม”

3. มีน้ำใจสมกัน คือ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เสียสละเหมือนๆ กัน ถ้าฝ่ายหนึ่งงกเห็นแก่ได้ อีกฝ่ายใจกว้างเป็นมหาสมุทร เรียกว่าน้ำใจยังไม่สมกัน ควรปรับให้พอเหมาะพอสมกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งคิดเล็กคิดน้อย ไม่เคยให้อะไรใครเปล่าๆ ทุกอย่างจะต้องได้คืนหรือมีผลตอบแทนหมด แม้กระทั่งกับคนในครอบครัว อย่างนี้ก็ยากที่จะอยู่กันยืด

4. มีปัญญาสมกัน คือ มีความรู้ความเข้าใจไปกันได้ในเรื่องหลักๆ ไม่ใช่ต่างกันหรือสวนทางกันชนิดขาวกับดำ ความรู้ในที่นี้เน้นความมีเหตุมีผล ยอมรับฟังกันมากกว่า “ปริญญาบัตร” โดยนัยนี้ คนที่จบแค่มัธยมศึกษา ถ้ามีความรู้ มีเหตุมีผลเข้ากันได้ทางด้านความคิดกับคนระดับปริญญาเอก ก็สามารถเป็น “คู่สร้างคู่สม” กันทางความรู้ได้

สามีภรรยาที่ปรับศรัทธา-ความประพฤติ-น้ำใจ และปัญญาให้กลมกลืน ชีวิตคู่ก็จะราบรื่นชั่วกาลนาน

เป็นภรรยาแบบไหนดี

คนโบราณว่า ชายหนุ่มจะเลือกสตรีมาเป็นคู่ครอง ควรดูให้ครบ ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ถ้าหาได้ไม่ครบก็ควรเลือกเอาคุณสมบัติ คือ ถึงจะไม่ได้เมียสวย เมียรวย ก็ขอให้ได้เมียดี ดีแค่ไหน อย่างไรนั้นพูดยาก แล้วแต่ความเหมาะสมและความชอบส่วนตัว หญิงบางคนจู้จี้ ขี้บ่น ขี้นินทา ชายบางคนอาจเห็นว่าเหมาะสมจะเป็นภรรยาตน เพราะอยู่ด้วยกันจะได้ไม่เหงาปาก ฟังเธอนินทาคนอื่นเพลินไป อย่างนี้ก็มี

คัมภีร์พระไตรปิฎก พูดถึงภรรยาไว้ 7 ประเภท คือ

(1) ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต ได้แก่ ภรรยาล้างผลาญประเภทคู่เวรคู่กรรม คิดแต่จะทำลายสามีให้ย่อยยับ จนกระทั่งทำลายชีวิต

(2) ภรรยาเยี่ยงโจร ได้แก่ ภรรยาปล้นทรัพย์ประเภท “กะเชอก้นรั่ว” หามาได้เท่าใดไม่พอใช้จ่าย ใครมีภรรยาชนิดนี้ ต่อไปให้ร่ำรวยขนาดไหน ไม่ช้าก็หมดตัว

(3) ภรรยาเยี่ยงนาย ได้แก่ ภรรยาที่ทำตนเหนือสามี ดูถูกสามีว่าด้อยกว่าตน ภูมิใจนักหนาที่ได้แสดงตนให้คนอื่นเห็นว่าสามีเสมือนลูกไก่ในกำมือตน จะบีบก็ตายจะคลายก็รอด

(4) ภรรยาเยี่ยงแม่ ได้แก่ ภรรยาที่รักเอ็นดูสามีเสมือนแม่รักและเอ็นดูลูก ปรนนิบัติและเป็นห่วงสามีสารพัด ไม่ทอดทิ้งสามีไม่ว่ากรณีใดๆ

(5) ภรรยาเยี่ยงน้องสาว ได้แก่ ภรรยาที่ทำตนดุจน้องสาว สามีภรรยาเช่นนี้มักทะเลาะเบาะแว้งกระทบกระทั่งกันเรื่อยด้วยสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ แบบพี่ทะเลาะกับน้อง แต่ก็ตัดไม่ตายขายไม่ขาด

(6) ภรรยาเยี่ยงเพื่อน ได้แก่ ภรรยาที่เป็นเพื่อนคู่คิดของสามีเหมือนเพื่อนรัก คอยปรึกษาหารือกันและกัน ให้เกียรติกัน ช่วยงานกันและกัน เช่นสามีภรรยาเป็นครูด้วยกัน ช่วยกันตรวจการบ้านเด็ก หรือสามีเป็นนักเขียน ภรรยาช่วยค้นข้อมูล ช่วยตรวจทานต้นฉบับให้ เป็นต้น

(7) ภรรยาเยี่ยงทาสี ได้แก่ ภรรยาที่ยอมให้สามีดุด่าสับโขกตบต่อยทุบตี ยอมทนเพราะ “รัก” สามีสุดหัวใจ ภรรยาบางคนได้สามีเป็นปีศาจสุรา ต้องวิ่งซื้อน้ำแข็ง โซดา ทำกับแกล้มเลี้ยงปีศาจและเพื่อนปีศาจไม่เว้นแต่ละวันก็มี

สามีพึงทราบว่ามี 7 ประเภทเหมือนกัน สามีภรรยาทั้ง 7 ประเภทนี้มีอยู่ทั่วไป ใครเป็นคู่ครองแบบไหนก็โปรดพิจารณาเอา ถ้าที่เป็นอยู่แล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ดี ก็อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นตามต้องการ ไม่มีอะไรสายเกินแก้ ถ้าแน่วแน่แก้ไขจริงจัง


หนังสือข่าวสด รายวัน หน้า 29
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14647

แผ่เมตตาให้ศัตรู

แผ่เมตตาให้ศัตรู

โดย ปิยโสภณ (พระศรีญาณโสภณ วัดพระราม๙ กาญจนาภิเษก)

การผูกอาฆาตพยาบาท จองเวร ให้ผลข้ามพบข้ามชาติ ถ้าเราเปรียบภพชาติ เหมือนคืนวัน การนอนหลับเหมือนการตาย การตื่นจากหลับ เหมือนการเกิด ภพชาติก็ใกล้ตัวเราเข้ามา การผูกอาฆาตพยาบาท เหมือนการเข้านอนโดยไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย หลับก็ไม่เป็นสุข ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น

ในแต่ละวัน จิตใจของเราเก็บเกี่ยวเฉี่ยวโฉบอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง อิจฉา นินทา อาฆาตพยาบาท ขุ่นแค้น ขัดเคือง นานาชนิดเอาไว้ ถ้าไม่มีวิธีชำระใจ ก็จะเกิดสนิมใจขึ้นมา คนไม่อาจนอนได้อย่างมีความสุข หากไม่ชำระร่างกายฉันใด ใจที่ไม่ถูกชำระจะทำให้ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิด หลับไม่สนิท ฉันนั้น

ข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มน้อยนี้ขึ้นมาจากเรื่องจริง ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตนเอง เมื่อหนังสือนี้พิมพ์เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีผู้คนจำนวนมากเข้ามาพูดคุยสนทนาด้วย บางคนบอกว่าอ่านแล้วทำให้ได้สติ

มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาจากต่างประเทศมีสนิมใจเกิดขึ้นหมักหมมมานานกว่า ๒๐ ปี ไม่มีทางแก้ มันตามหลอกหลอนทุกอริยาบถ เข้านอน เข้าห้องน้ำ อารมณ์โกรธ เกลียดพยาบาทก็ยังตามหลอน ต้องถอนหายใจตลอดเวลา
ข้าพเจ้าแนะนำว่า เราต้องหาวิธีปลดปล่อยอารมณ์นั้นให้ได้ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องผูกอาฆาตพยาบาทใคร หรือให้ใครตามมาจองเวรเราข้ามภพข้ามชาติ แปลว่ากลาข้างหน้า เราไม่ต้องมารองรับสู้รบกับใครอีกต่อไป แต่ทว่า การอโหสิกรรมให้แก่คนที่เรารักทำได้ง่ายแต่คนที่เราชังทำได้ยาก ถึงกระนั้น เราก็ต้องทำให้ได้

การ “แผ่เมตตาให้ศัตรู” ที่เขียนไว้นี้ พอเป็นแนวทางให้ท่านทั้งหลายฝึกปฏิบัติ เพื่อวันหน้า ภพหน้า เราจะได้ไม่มีใครเป็นศัตรูต่อไป เป็นการชำระใจของเราให้สะอาดทุกวัน ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า แม้วันนี้เราจะต้องตายจากไป เราก็รู้สึกไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่มีใครเป็นศัตรูกับเรา ไม่มีหนี้กรรมเวรใด ๆ จะต้องไปชดใช้กับใครในภพอื่นชาติโน้น ใจเราก็เป็นสุขสบาย ใจเขาก็เอิบอิ่มเป็นบุญ เริ่มต้นที่เรา มิใช่รอให้เขาเริ่มต้น เริ่มต้นวันนี้ มิใช่รอให้ถึงวันพรุ่งนี้ เพราะพรุ่งนี้อาจไม่มีเรา

เจ้ากรรมนายเวร คือสัตว์น้อยใหญ่ที่เรากินเป็นอาหาร เราชอบกินหมู เจ้ากรรมนายเวรของเราคือหมู เราชอบกินไก่ เจ้ากรรมนายเวรของเราคือไก่ เราชอบกินเป็ด เจ้ากรรมนายเวรของเราคือเป็ด แม้กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เรากินมาตั้งแต่เกิด กระทั่งถึงวันนี้นับไม่ถ้วนว่ากี่ร้อยกี่พันชีวิต ก็คือเจ้ากรรมนายเวรของเราทั้งสิ้น

เนื้อหนังมังสาของเรา อวัยวะทุกส่วน ล้วนแล้วแต่มีหุ้นส่วนของชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ทั้งสิ้น บางครั้ง เราคิดว่าเป็นของเราคนเดียว ไม่เคยแผ่เมตตาให้สัตว์น้อยใหญ่ที่เรากินเข้าไปทุกวัน ๆ ทั้ง ๆ ที่เขาสละชีวิตของเขา เพื่อต่อชีวิตเราให้ยืนยาวออกไป

เขาก็รู้สึกน้อยใจที่ถูกเพิกเฉย ความน้อยใจของเขา บางครั้งทำให้เราเกิดโรคร้าย เช่น มะเร็ง เป็นต้นได้ บางทีก็ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หมอหาเหตุไม่พบ แต่พอแผ่เมตตากลับหาย เรื่องเช่นนี้ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

ทุกครั้งที่เราไหว้พระสวดมนต์ ขอให้เราแผ่เมตตาให้สัตว์น้อยใหญ่ที่เรากินเป็นอาหาร การแผ่เมตตาให้เขา แท้จริงก็คือแผ่ให้ตัวเรานั่นเอง การให้เขาคือการให้เรา เพราะเขาอยู่กับเรา เขาคือร่างกายของเรา เขาสละชีวิตเลือดเนื้อมาเป็นพลังงานชีวิตเรา แม้ขณะที่เราอ่านหนังสือหรือทำอะไรอยู่ ก็มีพลังงานของเขาคอยสนับสนุนทุกส่วน

การแผ่เมตตาทำได้ง่าย เพียงแต่ให้นึกถึงเขาเสมอ ๆ คิดถึงความดีของเขาที่ส่งเสริมให้เรามีชีวิตอยู่ได้ถึงวันนี้ หลับตาน้อมจิตอธิฐาน ขออย่าให้เราเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ให้มีความปลอดภัยในชีวิต

การแผ่เมตตา ถือเป็นการแสดงความขอบคุณต่อหลายชีวิตที่ถูกปรุงเป็นอาหารอร่อยวางบนโต๊ะ อาหารรอคอยเรามาร่วมวงขบเคี้ยว ดูเหมือนเราไม่ค่อยคิดกันในเรื่องนี้ หากแต่มองเห็นทุกอย่างบนโต๊ะเป็นความอร่อย ทั้ง ๆ ที่ความจริง เรากำลังกินศพหมู ศพไก่ ศพเป็ด ศพวัว ศพกุ้ง ศพปู ศพปลา คิดดูเถิด คล้อยหลังจากเราอิ่มเพียงชั่วโมงเดียว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา หูฉลามที่เรากินเข้าไป ก็ถูกย่อยเป็นพลังงาน ส่วนกากอาหารก็เน่าเหม็นเป็นอันตราย กระทั่งเราต้องขับถ่ายออกมาทุกวัน ๆ เราอาจคิดไม่ถึงว่า เรากำลังกินสัตว์อื่น ชีวิตเราถูกเลี้ยงด้วยชีวิตของสัตว์อื่น การกินคือการต่ออายุ วันหนึ่งเราต่ออายุ ๓ เวลา แต่ละเวลา เราต้องรับประทานสัตว์อื่นหลายสิบชีวิต ขนาดใหญ่บ้าง ขนาดเล็กบ้าง บางทีไข่ในท้องปลาที่เรากิน หากเขาได้เกิดมาเป็นตัวก็คงเป็นปลาจำนวนมหาศาล แต่เราเคี้ยวกินเป็นกับข้าวเพียงคำเดียว

การแผ่เมตตาให้สัตว์น้อยใหญ่ทที่เรากินเป็นอาหาร จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป้นการแสดงความขอบคุณ และให้อภัยต่อกันและกัน ให้เขามีความรู้สึกว่า เขามีส่วนร่วมในชีวิตของเรา เหมือนเรายินดีต้อนรับแขกที่เดินเข้ามาพักในบ้านเรา แขกก็จะรู้สึกอบอุ่นเพราะการตอนรับที่ดีของเจ้าบ้าน

ต่อมาก็มาถึงการแผ่เมตตาถึงคนที่เรารักและคนที่เรารู้สึกว่าเขาเป็นศัตรูกับ เรา คือเรารู้สึกเกลียดชังเหลือเกิน ไม่อยากพูดด้วย ไม่อยากร่วมงานด้วย ไม่อยากเกี่ยวข้อง ไม่อยากเห็นหน้า

โดยธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งเกลียดยิ่งได้อยู่ใกล้ ยิ่งโกรธก็ยิ่งถูกแกล้ง เขาทำอะไรลงไป ดูเหมือนจะขัดใจขวางหูขวางตาไปหมด เพราะเราตั้งใจไว้ผิดเสียแล้ว เพียงแต่เห็นก็เป็นทุกข์ เขาทำปากขมุบขมิบอยู่ไกล ไม่ได้ยินเสียง เรายังคิดว่าเขากำลังด่าเราได้

เราเป็นทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะจินตนาการ เป็นความผิดของเราเอง มิใช่ความผิดของเขา บางทีเขาก็แกล้งให้เราเป็นทุกข์ เพราะรู้ว่าให้ยาพิษแล้วเรายินดีรับมาดื่มเป็นความผิดของเราเอง เรากำลังจุดไฟภายในเผาเราเองต่างหาก

เป็นเรื่องน่าคิดว่า มนุษย์เราชอบมองหาความผิด ชอบจับเอาความผิด เค้นหาความผิดของคนอื่น ส่วนความผิดของตนกลับกลบเกลื่อน ไม่ค่อยจับถูก เมื่อจับผิด เขาจึงพลาดความดีตลอดเวลา อะไรที่เป็นขยะจึงขนเข้ามากองในใจทั้งหมด สุดท้ายหัวใจของเขาก็กลายเป็นกองขยะที่เน่าเหม็น มิใช่หิ้งบูชาที่งดงามอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ได้ ปรับวิธีดำรงชีวิตเสียใหม่ ไม่ให้ใจเป็นถังขยะ แต่ให้ใจเป็นหิ้งบูชาพระที่งดงามทุกวัน ด้วยการมองหาดีของคนให้พบ มองบวก คิดบวก พูดบวก เพราะการทำอะไรเป็นบวก จะทำให้ได้กำไร และใจสบาย

ส่วนการมองลบ คิดลบ พูดในทางลบ นอกจากตัวเองเกิดทุกข์แล้ว ยังทำให้ผู้อยู่รอบตัวเราเป็นทุกข์ตามไปด้วย เราควรหลีกเลี่ยงคนที่คิดในทางลบ เพราะทำให้ชีวิตเราติดลบไปด้วย

การแผ่เมตตาคือการคิดบวก พูดบวก มองหาดี ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ความจริงหาดฝึกให้เป็นนิสัย ก็เป็นเรื่องง่าย เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เราชอบใคร เราก็อยากไปหาคนนั้น เรารักใครมาก ก็อยากยกให้เขาหมด มีอะรก็ให้หมดได้โดยไม่รู้สึกเสียดาย แม้บางครั้ง เขาไม่อยากได้ เรายังอุตส่าห์ยัดเยียดให้เลยถ้าพอใจ ภูมิใจ พอเขาไม่รับ ก็อาจเสียใจลึก หาว่าไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่ยินดีตอนรับ จากรักก็พาลจะกลายเป็นร้ายไปได้

มาถึงคนที่เราเกลียดชัง เรื่องจะแบ่งใจให้ไม่มีอยู่แล้ว เรื่องง่ายก็มักเป็นเรื่องยากเสมอ จึงจำเป็นต้องหาวิธีแผ่เมตตาที่แยบคาย

โดยธรรมชาติมนุษย์ เกลียดชังใคร แม้แต่เงา เราก็ไม่อยากเห็น มีอะไรก็ไม่อยากให้ เราไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคน ๆ นั้น ต้องการเดินคนละเส้นทาง ห่างได้ยิ่งดี แต่เขาลืมคิดไปว่า ทางอารมณ์เราหนีตัวเองไม่ได้ ยิ่งเดินหนีก็ยิ่งวิ่งตาม อารมณ์โกรธเกลียดก็มักจะวิ่งตามขนาบเราไป บางทีก็วิ่งข้ามภพข้ามชาติไปกับเรา ก่อเหตุร้ายไม่สิ้นสุด ยุติพยาบาทในชาตินี้ให้ได้ แผ่เมตตาให้ อโหสิกรรมกันให้ได้ในชาตินี้

จะมีใครคิดบ้างว่า ศัตรูบางคน ตั้งความปรารถนาขอไปเกิดเป็นลูกของเรากก็มี เพื่อจะได้เผาผลาญจิตใจของเราให้ถึงที่สุด เช่น ลูกบางคนเกิดมา เพื่อผลาญทรัพย์สินสมบัติของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่เกิดทุกข์ สอนไม่ได้ บอกไม่ฟัง ทำให้พ่อแม่นอนเป็นทุกข์ กินไม่ได้ ไม่เคยมีความภูมิใจในลูก มีแต่ความกลัดกลุ้มใจ

บางคนพ่อแม่ถึงขนาดตัดขาดจากความเป็นพ่อแม่ลูกกันก็มี สิ่งเหล่านี้ เราต้องมองให้ออก และหาวิธีแก้ต้นเหตุที่ระบบความคิดของเราให้ได้

แต่ช่างน่าแปลกเหลือเกินที่คนเรา ชังใครมาก ๆ มักจะต้องได้เกี่ยวข้องกับคนนั้น ไม่อยากเห็นหน้าใครก็มักจะได้เห็นเขาอยู่บ่อย ๆ ยิ่งเกลียดยิ่งได้อยู่ใกล้ ถึงขนาดบางคนต้องมาอยู่เป็นคู่ชีวิตก็มี กรรมเวรมีจริง ผลของการอาฆาตพยาบาท ให้ผลร้ายขนาดนี้

อะไรทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พลังงานความคิดที่เราไม่ยอมปลดปล่อยอารมณ์ออกไปนั้นเองเป็นเหตุ สังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า เราคิดเกลียดเมื่อใด ก็เท่ากับเราทาสีลงบนผ้าที่สีกำลังจะเลือนหายไป เราคิดโกรธเมื่อใด เท่ากับเราตอกย้ำให้เกิดความคมชัดทางความรู้สึกขึ้นมาอีกเท่านั้น เป็นการเติมมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ที่มีต่อคน ๆ นั้น ให้คงเหลืออยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ใกล้จะเลือนหายไปแล้ว

คนเราชอบพูดถึงคนที่เราเกลียด เมื่อพูดบ่อย ๆ อารมณ์นั้นก็จะฝังแน่นในใจ แม้ไม่ปรารถนาจะเก็บความไม่ดีของคนนั้นไว้ เขาหารู้ไม่ว่า นั่นคือการนำขยะที่เน่าเหม็นมาเก็บไว้ในใจตัวเอง

ในที่สุด ใจเราก็เต็มไปด้วยอารมณ์เกลียด อารมณ์เน่าเฟะอยู่ในใจเรา พึงจำไว้ว่า คนที่เราเกลียดชังหรือโกรธแค้น หยุดพูดก็หยุดคิด หยุดคิดก็เลือนหาย เพียงแต่เราอดใจไม่ได้ มักย้ำคิดย้ำทำย้ำพูด สติเราไม่พอกับความรุนแรงของอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจไม่เข้มแข็ง จึงต้องเหยียบย่ำทำกรรมในใจตัวเอง
ขอให้สังเกตดูให้ดี เรื่องนิดเดียวสามารถบานปลายได้ด้วยคำพูดเพียงคำเดียว บางทีเราพูดนิดเดียว แต่คนฟังนำไปขยายต่ออีกสิบ พูด ๒ ครั้ง ก็นำไปขยายต่ออีกนับไม่ถ้วน ความเกลียดชังอาจเริ่มต้นจากจุดนิดเดียว แต่กลายเป็นเชื้อไวรัสมากมาย เพราะคำพูดของเรา เพราะปากของเราเอง เพราะเห็นแก่ความสนุกปาก

การปรับทุกข์ในบางครั้ง ก็ไม่ต่างอะไรกับการเติมเชื้อเพลิงความทุกข์ให้ตัวเอง เติมเชื้อแห่งความอาฆาตพยาบาทลงไปในจิตใจเราเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีแผ่เมตตาให้ถูกต้อง คือ แผ่ให้ถึงศัตรูให้ได้ เพื่อให้ความเป็นศัตรูในใจเขาและเราหมดไปจากกัน ยุติบทบาทกรรมข้ามภพข้ามชาติให้ได้
ในทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราแผ่เมตตาด้วยการใช้คำว่า “สัพเพ สัตตา แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง” คำนี้มีนัยที่สำคัญมาก นั่นคือทรงสอนให้เราแผ่เมตตาให้ถึงศัตรูได้โดยไม่รู้สึกติดขัด

ให้คิดว่าคนทุกคนเป้นเพียงสิ่งมีชีวิตที่มาเยือนโลก ชาติชั้นวรรณะเขาสมมติเรียกให้ เผอิญเกิดบนแผ่นดินไทย ก็เรียกคนไทย หากเกิดที่จีน ก็เรียกคนจีน เกิดญี่ปุ่น ก็เรียกว่าคนญี่ปุ่น แต่ความเป็นคนเป็นสัตว์เท่ากัน มีความเสมอกันในการได้ชีวิต จริง ๆ แล้ว เราก็อยู่ในโลกนี้ได้ไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไปทั้งนั้น

การมาเกิดจึงไม่ต่างจากการมาเที่ยว เมื่อวีซ่าหมดอายุ ก็ต้องรีบกลับ ถ้าเราคิดกว้าง ๆ ได้อย่างนี้ คือคิดว่าททุกคนเป็นเพียงสรรพสัตว์เท่านั้น ไม่ได้คิดว่าเป็นศัตรู ใจของเราก็จะรู้สึกสบายขึ้น เบาโปร่ง หายใจโล่ง เราก็เริ่มจะแผ่เมตตาได้

ธรรมดามนุษย์เรา เวลาแผ่เมตตาให้คนที่เรารัก พลังจิตจะถูกดึงออกไปอย่างแรง เหมือนเทน้ำลงไปในที่ลุ่ม น้ำจะใหลลงไปที่ลุ่มอย่างรวดเร็ว ส่วนการส่งกระแสจิตแผ่เมตตาไปให้คนที่เราเกลียดชัง เหมือนเทน้ำให้ไหลไปที่ดอน ย่อมเป็นไปไม่ได้

อารมณ์ที่ส่งไปถึงคนที่เราเกลียด จึงมักจะติดขัด เพราะพลังจิตไม่ยอมเดินทาง เนื่องจากมีความคิดว่า จะแผ่เมตตาให้ศัตรูทำไม ในเมื่อเขาทำเราเจ็บ เมื่อคิดเพียงเท่านี้ คนที่เป็นศัตรูก็ยังคงเป็นศัตรูอยู่ต่อไป และอาจเพิ่มความเป็นศัตรูมากขึ้นทุกครั้งที่แผ่เมตตาให้คนที่รารักเราชอบ

เหมือนมีเด็กสองคนยืนอยู่ต่อหน้าเรา คนหนึ่งเรารักมาก อีกคนเราไม่รักเลย เวลายื่นของให้เด็ก เรายื่นให้เฉพาะเด็กที่เรารัก ไม่ยื่นให้คนที่เราชัง เด็กก็รู้สึกต่างกัน ทุกครั้งที่เรายื่นของให้เด็กที่เรารัก ก็จะเพิ่มความเกลียดชังในใจของเด็กอีกคน การอิ่มครั้งที่สองของเด็กคนหนึ่ง ย่อมหมายถึงความหิวทวีคูรของเด็กอีกคน

วิธีแผ่เมตตา ท่านจึงสอนไม่ให้คิดว่าเป็นคนที่เรารักหรือชัง หากแต่ให้คิดว่า เป็นสรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ร่วมโลกเดียวกัน ทุกชีวิตเป็นเพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เท่านั้น การคิดเช่นนี้ เป็นการปรับอารมณ์ให้สมดุลกันก่อน ปรับให้ถึงธาตุเดิมของชิวิต ยกเชื้อชาติศาสนาวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความสุดโต่งทั้งรักและชัง เหมือนกับการปรับพื้นดินไม่ให้สูงหรือต่ำ แต่ปรับให้พื้นทุกตารางนิ้วได้ระดับเดียวกันหมดเสียก่อน แล้วจึงเทน้ำลงไป น้ำที่เทลงไปก็จะกระจายไปทุกพื้นที่ได้ง่าย ที่ดอนก็ไม่มี ที่ลุ่มก็ไม่เกิดขึ้น การแผ่เมตตาก็เช่นเดียวกัน

การแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียดทำได้ยาก แต่จำเป็นยิ่งกว่าแผ่เมตตาให้คนที่เรารัก เพราะปัญหาอยู่ที่ความรู้สึกเป็นศัตรู มิใช่ความรู้สึกรัก ยิ่งเกลียดมากยิ่งต้องใช้พลังจิตสูง แต่ถ้าทำได้แล้ว ก็สบายใจไปตลอดชีวิต อาจจะยากเพียงครั้งแรกครั้งเดียว ครั้งต่อไปก็ง่าย ยิ่งเราได้ปฏิบัติเป็นประจำจนเคยชิน ของยากก็เป็นของง่ายทุกอย่างก็ถือเป็นปกติ ไม่มีอุปสรรคขัดข้อง และความรู้สึกเป็นศัตรูหรือโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาท ก็จะหมดไป ก็จะเลือนหายไปจากใจเรา กระทั่งหมดสิ้น

ในที่สุด คนที่เคยเป็นศัตรูเราก็จะกลับกลายเป็นมิตร ไม่ช้าก็เร็ว การก่อเวรข้ามภพข้ามชาติกันก็จะหมดไป ทุกชีวิตก็จะปลอดจากภัยเวรในสงสารวัฏ เกิดภพใดชาติใด ก็จะพบแต่คนดี มีคนอุ้มชูช่วยเหลือ จะทำให้มีครอบครัวดี มีลูกดี มีรูปสมบัติ มีสติปัญญาดี เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ “ทำใจดี” ให้ได้ในวันนี้.


http://larndham.net/index.php?showtopic=23678

จัดการอารมณ์และความขัดแย้ง

สดจากจิตวิทยา

นฤภัค ฤธาทิพย์/กรมสุขภาพจิต



ความ รักเป็นสิ่งสวยงาม เป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝันที่จะได้มาครอบครอง แต่ในบางครั้งหากความรักไม่เป็นดังที่เราคาดหวัง หรือเกิดความขัดแย้งในความรักที่เกิดขึ้น ก็มักเป็นสาเหตุของความหึงหวง จนอาจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงที่เกิดจากความรัก

ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างคนรักมักเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก ดังนั้นการจัดการกับอารมณ์ การทำความเข้าใจและยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นเราควรที่จะมีสติรับรู้ว่าขณะนี้เรารู้สึกอย่าง ไร พิจารณาสาเหตุของปัญหา เพื่อหาหนทางในการพูดคุยร่วมกันกับคนรัก เพื่อหาทางจัดการกับความขัดแย้งหรือปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยเหตุและผล พยายามระงับสติอารมณ์ไม่พูดคุยหรือแก้ปัญหาในขณะที่กำลังโกรธ เพราะจะทำให้ขาดสติและก่อเรื่องรุนแรงได้

ความขัดแย้งระหว่างคู่ รักเกิดขึ้นได้เสมอแต่อย่าให้ความขัดแย้งมาทำลายสัมพันธภาพหรืออนาคตของตัว เรา หากความรักเกิดแปรเปลี่ยนจนไม่สามารถแก้ไขได้ก็ขอให้เก็บความทรงจำที่ดีไว้ และคงไว้ซึ่งมิตรภาพของความเป็นเพื่อนที่ดีระหว่างกัน

หน้า 2
วันที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6640 ข่าวสดรายวัน