Saturday, June 2, 2007

มนต์ที่เราสวด

มนต์ที่เราสวด
คอลัมน์ บทความธรรมดา

โดย หลวงเมือง



บ้านข้าพเจ้าที่ตลาดพลูมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นทองเหลืองมีพระปุริสลักษณะงาม พ่อเคยเล่าว่าสร้าง (ซื้อ) มา 80 บาท เมื่อ พ.ศ.2453 สมัยก่อนนี้การซื้อพระ การซื้อตำรายา และหนังสือพระธรรมต่างๆ ท่านเรียกว่าสร้าง ส่วนการซื้อเครื่องรางของขลังเรียกว่าเช่า

ต่อมาคำว่าเช่ามีความหมายแน่นอนชัดเจนว่าไม่ใช่ซื้อ แม้จะเสียเงินค่าเช่าแต่ของที่เช่ามาก็มิได้เป็นของเรา เช่นบ้านเช่า จึงใช้ว่าบูชา

กลางคืนก่อนนอนพ่อจะขึ้นไปชั้นบนบ้านเพื่อบูชาพระ คือสวดมนต์ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ยินเพราะสวดในใจ ส่วนข้าพเจ้าก็สวดนโมตัสสะ

ต่อมาพี่สอนให้สวด "อภัยปริตต์" ทันทีที่ตื่นนอนตอนเช้า เพื่อป้องกันภัย ทีแรกข้าพเจ้าคิดว่าการฝันร้ายทำให้มีภัย ต่อมารู้ว่าความฝันเป็นสิ่งบอกเหตุโดยเทวดาสำแดงให้ประจักษ์ ผู้รู้วิธีจะได้ป้องกันไว้ก่อนคือสวด "อภัยปริตต์" ขึ้นต้นว่ายันทุนนิมิตตังฯ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ญาณสังวร หรือ "สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน" ก็ทรงแนะให้พระธุดงค์กรรมฐานในสายของท่านเจริญพระปริตต์บทนี้ โดยรับสั่งว่า "ถ้าฝันร้ายให้ว่ายันทุนฯ 3 ที"

พระพุทธมนต์ที่ข้าพเจ้าสวดตั้งแต่เด็ก คือ "ชัยมงคลคาถา" โดยตั้งนโม 3 จบ แล้วสวดอิติปิโส สวากขาโต และสุปฏิปันโนไปจนหมดแล้วเริ่มขึ้นบทพาหุงซึ่งมี 8 บท ไปหมดบทที่ขึ้นต้นว่า "ทุคคาหะทิฏฐิ" และต่อด้วย "มหาการุณิโกนาโถ" จนจบ

คาถาพาหุงนี้พระอริยเจ้าองค์ใดจะรจนาไว้คงจะมีนักปราชญ์รู้ได้ ข้าพเจ้าเคยพบในเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งท่านสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ 3 เมื่อพระอภัยมณีฝากเงือกไว้กับฤๅษีที่เกาะแก้วพิสดาร ตนเองกับสินสมุทรจะอาศัยเรือท้าวสิลราชแห่งกรุงผลึกกลับบ้านเมือง ความว่า

"พระโยคีมีฤทธิ์ประสิทธิ์กล้า

ด้วยเมตตาตอบความตามวิสัย

เป็นไรมีที่ธุระพระอภัย

มิให้ใครลามลวนกวนสีกา

จงหักห่วงบ่วงใยไปเถิดท่าน

เกษมศานต์สมจิตทั้งศิษย์หา

อย่ามีทุกข์สุขังมังคลา

แล้วสวดพาหุงให้ไปจงดี"

แสดงว่าอย่างใกล้ที่สุดคาถาพาหุงหรือคาถาชนะมารก็มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แล้ว มิใช่แต่งใหม่

มีผู้บอกว่าสวดชัยมงคลคาถาทั้งหมดดังกล่าวมาแล้วนี้ทุกวันเหมือนขุดบ่อ วันหนึ่งจะพบตาน้ำซึ่งมีน้ำใช้ตลอดไป

หน้า 2 มติชน วันที่ 3 มิถุนายน 2550

No comments: