Monday, March 3, 2008

๒๖ ศตวรรษ พระพุทธเจ้าสุดยอดซี. อี. โอ.

๒๖ ศตวรรษ พระพุทธเจ้าสุดยอดซี. อี. โอ.

๔๒๐ มีพนักงานคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีความสามารถมาก แต่เขาไม่ยอมรับตำแหน่งบริหาร เขาขอเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียว จะชักจูงเขาด้วยวิธีใดดี

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตอบข้อถามข้อนี้โดยตรง แต่ข้าพเจ้าอ่านและวิเคราะห์เอาเองได้ข้อสรุปว่า เมื่อได้เสนอตำแหน่งให้แล้ว แต่ไม่ยอมรับ ก็ไม่น่าจะต้องพยายามชักจูง
ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปนี้มาอย่างไร
ข้าพเจ้าอ่านประวัติของพระมหากัสสปเถระครั้งใดก็มีข้อสงสัยว่า ทำไมพระมหากัสสปะซึ่งก่อนบวชเป็นเศรษฐี บริวารมาก มีประสบการณ์ในการเป็นนักปกครอง กลับเป็นผู้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัด จนได้รับสรรเสริญว่าเป็นเลิศในหมู่ภิกษุผู้ถือธุดงค์เป็นวัตร แม้พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตให้เลิกถือธุดงค์บางข้อเมื่อท่านชราแล้ว ท่านก็ไม่ประสงค์ ยังคงรักษาวัตรของท่านตลอดอายุ ท่านทูลพระพุทธเจ้าว่าเพื่อเป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุรุ่นหลังๆ
ตามประวัติพระมหากัสสปะท่านเบื่อหน่ายทรัพย์สมบัติ และการดูแลข้าทาสบริวาร ท่านจึงออกบวช และท่านก็สมาทานธุดงค์ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับบรรพชาจากพระพุทธเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นปุถุชนช่างสงสัย อดตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า คนอื่นๆ ที่เยื่อหน่ายบริวารแล้วออกบวชก็มี แต่ไม่ได้ปฏิเสธการอยู่ในเมือง
ตั้งคำถามแล้วไม่มีคำตอบก็เลยสันนิษฐานเอาเอง (ซึ่งคนที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกไม่พึงทำ สิ่งใดที่ไม่มีคำอธิบายก็ควรจะรับแค่ว่าเรื่องนี้ไม่ได้อธิบายไว้ ไม่ใช่คิดแต่งเติมเอาเอง) ข้าพเจ้าตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะประสบการณ์เช่นที่ท่านมีอยู่นั้น ถ้าท่านอยู่ในเมืองอาจจะเกิดปัญหาเรื่องมีฝักมีฝ่ายระหว่างพระภิกษุต่างๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรม การอยู่ป่าจึงมีประโยชน์สองประการคือ การเป็นแบบอย่างให้กับภิกษุรุ่นหลังในเรื่องการถือธุดงค์เป็นวัตร และในขณะเดียวกันก็มีผลพลอยได้ที่ตัดปัญหาเรื่องนี้ไปด้วย
ในเมื่อท่านไม่ได้เลือกที่จะอยู่ในเมือง ก็เลยไม่มีปัญหาให้เราได้ศึกษา การตั้งคำถามของข้าพเจ้าจึงเหมือนฟุ้งซ่านไปฝ่ายเดียว และการไม่อยู่ในเมืองไม่ได้หมายความว่าท่านไม่มีบริวารเลย และไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ใส่ใจกับปัญหาต่างๆ ของสงฆ์
ความเป็นผู้นำของพระมหากัสสปะ ความใส่ใจเรื่องส่วนรวม และความเป็นที่เคารพนับถือในฐานะพระเถระผู้ใหญ่เห็นได้ชัดเจนเมื่อสิ้นพระศาสดาและพระอัครสาวกทั้งคู่แล้ว ท่านเป็นผู้ริเริ่ม ชักชวน และดำเนินการสังคายาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก ๓ เดือนหลังพุทธปรินิพพาน โดยมีพระอุบาลีกับพระอานนท์เป็นผู้ช่วยซ้ายขวา (ในด้านพระวินัย และพระสูตร)
บริษัทใดมีพนักงานเช่นพระมหากัสสปะนี้ ถือว่าเป็นโชค เพราะเป็นพนักงานที่มีทั้งประสบการณ์และความสามารถ ที่พอใจจะดำรงตนอยู่อย่างเรียบง่ายที่สุด แต่ไม่ทอดธุระเมื่อเห็นว่าถึงคราวจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
เมื่อจะแต่งตั้งพนักงาน บริษัทจึงควรดูทั้งความต้องการของบริษัท และความประสงค์ของพนักงานด้วย เมื่อพนักงานไม่ประสงค์ตำแหน่งบริหาร ก็ควรมีทางออกที่ดีเพื่อให้พนักงานผู้นั้นได้รับสถานะที่สมควร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทด้วย

ที่มา: นวพร เรืองสกุล, ๒๕๔๙, ๒๖ ศตวรรษ พระพุทธเจ้าสุดยอด ซี. อี. โอ., กรุงเทพฯ: บุญศิริการพิมพ์, หน้า ๑๐๖-๑๐๗

No comments: