Friday, March 14, 2008

ในช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสรับใช้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ช่วงเวลาปิดเทอม เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนรู้สึกมีความสุข ที่ได้พักผ่อน การพักผ่อนตามประสาผู้เขียนคือการนั่งอ่านหนังสือที่ได้หาซื้อมาเองบ้าง หรือยืมจากห้องสมุดบ้าง ที่ในช่วงเปิดเทอมไม่มีเวลาอ่าน ปิดโทรศัพท์ ปิดคอมพิวเตอร์ เสีย แล้วนั่งอ่านหนังสือก็ถือเป็นการพักผ่อนแล้ว

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือชีวลิขิต ซึ่งเป็นประวัติของศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี แล้วได้เกิดความประทับใจในข้อเขียนของคุณกล้าณรงค์ จันทิก ซึ่งเคยทำงานกับท่านอาจารย์เสนีย์ในฐานะเลขานุการส่วนตัว ในตอนหนึ่งได้เขียนเล่าเกี่ยวกับการทำงานของท่านอาจารย์เสนีย์ ที่ไม่นำเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทำงาน แม้แต่ลูกแท้ๆ ของท่านก็ไม่มีอภิสิทธิ์

“บุตรชายคนโตของท่านอาจารย์คือ ม.ล.เสรี ปราโมช จบเศรษฐศาสตร์จากหมาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ม.ล.เสรีฯ มีจิตใจเช่นเดียวกับท่านอาจารย์คือรักในการเมือง ม.ล.เสรี ปราโมช ได้ลาออกจากประธานฝ่ายอำนวยการของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เพื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตกรุงเทพมหานคร

ในการพิจารณาคัดเลือกตัวผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อถึงในเขตที่ ม.ล.เสรี ปราโมช ยื่นใบสมัคร ท่านอาจารย์ก็ขอถอนตัวไม่ร่วมพิจารณา เพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย ปรากฎว่า ม.ล.เสรี ปราโมช ไม่ได้รับเลือกจากพรรคให้ลงสมัครในเขตดังกล่าว ต่อมาคุณสราวุธ นิยมทรัพย์ จึงได้ชวนให้ไปลงสมัครที่จังหวัดนครปฐม ทั้งๆที่ ม.ล.เสรี ปราโมช ไม่มีฐานเสียงอยู่ที่จังหวัดนครปฐมเลย แต่ด้วยวินัย ก็ได้ยอมปฏิบัติตามมติพรรค

ผลการเลือกตั้ง ปรากฎว่า ม.ล.เสรี ปราโมช สอบตก พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

ม.ล.เสรี ปราโมช กลายเป็นคนตกงาน และทางธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ได้แต่งตั้งบุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทนไปแล้ว

ม.ล.เสรี ปราโมช ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น มีผู้คนหลายคนที่รู้จัก ม.ล.เสรี ปราโมช และรู้ถึงความสามารถได้มาขอร้องกับท่านอาจารย์เพื่อขอให้แต่งตั้ง ม.ล.เสรี ปราโมช ไปช่วยทำงานในตำแหน่งต่างๆ แม้กระทั่งตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้รับการยินยอมจากท่านอาจารย์

เคยมีผู้ตั้งคำถามกับอาจารย์ในเรื่องนี้ และพยายามที่จะเอาคำตอบจากท่านอาจารย์มาเพื่อหักล้างการไม่ยินยอมแต่งตั้งของท่านอาจารย์

“ม.ล.เสรี ปราโมช เป็นคนที่ใกล้ชิดกับอาจารย์ สามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลาหรือไม่”

“ใกล้ชิด และเรียกใช้ได้ตลอดเวลา เพราะเขาอยู่ในบริเวณบ้านเดียวกับผม” ท่านยอมรับ

“ม.ล.เสรี ปราโมช เป็นคนที่อาจารย์ไว้วางใจได้มากที่สุดหรือไม่” คำถามรุกต่อ

“ไว้วางใจได้มากที่สุด เพราะเขาเป็นลูกผม” ท่านตอบ

“ม.ล.เสรี ปราโมช เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือไม่”

อาจารย์ตอบว่า “มีความรู้ความสามารถเหมาะสม”

“แล้วทำไมถึงไม่ตั้งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” คำถามที่คิดว่าสุดท้าย

ท่านตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “เพราะเขาเป็นลูกผม”

ผู้ถามรุกต่อว่า “ทำไมคนอื่นเขาตั้งลูกเป็นเลขาธิการได้ ทำไมอาจารย์ไม่ตั้งทั้งๆ ที่ ม.ล.เสรี เหมาะสมทุกอย่าง”

ท่านย้อนถามว่า “ใครบ้างที่ตั้งลูกเขาเป็นเลขา บอกมาซิ”

พอผู้ถามตอบไป ซึ่งมีอยู่หลายคน ท่านบอกว่า “นั่นคือเขา แต่ไม่ใช่ผม”

จบครับ และก็ไม่มีการแต่งตั้ง ม.ล.เสรี ปราโมช ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลยในสมัยท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะตำแหน่งใดทั้งสิ้น”

ที่มา: กล้าณรงค์ จันทิก, ๒๕๔๘, “ในช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสรับใช้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช,” ใน วิทยา แก้วภราดัย (บรรณาธิการ), ชีวลิขิต, (พิมพ์ครั้งที่ ๒), กรุงเทพฯ: มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช.

No comments: