ปูนปั้นแสดงรูปพระมหากัสสปเถระ ถวายบังคมพระพุทธสรีระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีรสังขาร ภาพปูนปั้นประดับผนังวัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม
รูปปั้นพระมหากัสสปเถระ ถวายบังคมพระพุทธสรีระ ก่อนถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันรูปปั้นทั้งหมดนี้ ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร (หลวงพ่อพระพุทธชินราช) จังหวัดพิษณุโลก
คราวก่อนผู้เขียนได้หยิบยกเอางานเขียนของอาจารย์นวพร เรืองสกุล เกี่ยวกับการที่พนักงานในองค์การไม่ยอมรับตำแหน่ง ซึ่งอาจารย์นวพรได้หยิบยกจริยาวัตรของพระมหากัสสปเถระมาเป็นตัวอย่าง ได้มีผู้อ่านถามว่าพระมหากัสสปะนี้คือผู้ใด และมีความสำคัญอย่างใดต่อพระพุทธศาสนา ผู้เขียนเห็นว่าประวัติของท่านนั้นน่าสนใจ จึงได้นำมาเสนอ ณ ที่นี้
ในวัดวาอารามต่างๆ ที่มีพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ มักสร้างรูปพระอัครสาวกทั้งสองรูปคือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเป็นบริวาร แต่วัดบางแห่ง เช่น ที่พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช) ได้สร้างรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนถวายพระเพลิง โดยไม่เห็นพระสรีระเนื่องจากประทับอยู่ในพระบรมโกศ มีแต่ปลายพระบาททั้งสองข้างยื่นออกมาจากพระบรมโกศ เพื่อให้พระมหากัสสปเถระถวายบังคม นอกจากนี้ภายปูนปั้น ณ วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม ก็มีภาพปูนปั้นตอนถวายพระเพลิงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีพระมหากัสสปเถระถวายบังคมอยู่ปลายพระพุทธบาทเช่นเดียวกัน
พระมหากัสสปเถระ เดิมชื่อ ปิบผลิมาณพเป็นบุตรของกบิลพราหมณ์ ในนครมคธ เมื่อปิบผลิมาณพ มีอายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้เคี่ยวเข็นให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล แต่ ปิบผลิมาณพก็ปฏิเสธเสียทุกครั้งโดยกล่าวว่า จะอยู่ปฏิบัติท่านทั้งสองตราบเท่าที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว ท่านจะบวช ครั้นบิดามารดา เคี่ยวเข็ญหนักเข้า ปิบผลิมาณพคิดว่า เราจะทำให้มารดายอมจำนน จึงเอาทองคำสีสุกปลั่งพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อเป็นรูปหญิงคนหนึ่งแล้วจึงให้รูปหล่อหญิงนั้นนุ่งผ้าแดง ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องประดับต่าง ๆ และบอกมารดาว่าหากได้สตรีที่งามพร้อมเช่นนี้แล้วท่านจะแต่งงานด้วย นางพราหมณีเป็นคนมีปัญญาจึงคิดว่า บุตรของเราเป็นผู้มีบุญ เมื่อทำบุญไว้ในอดีตคงจะไม่ทำคนเดียว คงมีหญิงผู้ทำบุญร่วมกับบุตรของเรานี้ เป็นแน่แท้ จึงให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนมา แล้วให้ยกรูปทองคำ ขึ้นตั้งบนรถแล้วสั่งให้พารูปหล่อตระเวนไป ถ้าพบเห็นทาริกา งามดังรูปทองนี้ และเกิดในตระกูลที่เสมอกันกับนางพราหมณีโดยชาติ เสมอกันโดยโคตรและเสมอกันโดยโภคทรัพย์ ในที่ใด ก็จงให้รูปทองนี้แหละให้เป็นบรรณการแก่นางในที่นั้น
พราหมณ์เหล่านั้นก็พารูปหล่อออกไปตระเวน และคิดว่าจะไปที่ไหนกันดี จึงได้คิดว่า แคว้นมัททรัฐเป็นบ่อเกิดแห่งสตรี พวกเราควรจะไปมัททรัฐ จึงได้ ไปยังสาคลนครในมัททรัฐ ในครั้งนั้นได้พบกับนางภัททากาปิลานีมีความงามดังรูปหล่อทองคำนั้น จึงได้ทำการสู่ขอต่อบิดามารดาของนาง ชนเหล่านั้นจึงส่งข่าวแก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้เจ้าสาวแล้ว กบิลพราหมณ์ได้สดับข่าวนั้นแล้วจึงบอกแก่ปิบผลิมาณพ มาณพไม่มีความต้องการจะแต่งงาน จึงได้เขียนหนังสือถึงนางภัททากาปิลานี ว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังนางภัททาปิลานี
นางภัททากาปิลานีก็เช่นกัน เมื่อได้ฟังว่า บิดาของนางจะยกนางให้แก่ปิบผลิมาณพ จึงได้เขียนหนังสือถึงปิบผลิมาณพว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังปิบผลิมาณพ ในระหว่างเดินทางผู้ถือหนังสือทั้งสองฉบับมาพบกันในระหว่างทาง จึงได้หยุดทักทายกัน เมื่อคนรับใช้ของปิบผลิมาณพถูกฝ่ายนางภัททากาปิลานีถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็ตอบว่าเป็นหนังสือของปิบผลิมาณพส่งให้นางภัททากาปิลานี และเมื่อคนรับใช้ของนางภัททากาปิลานีถูกฝ่ายปิบผลิมาณพถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็กล่าวว่า เป็นหนังสือของนางภัททากาปิลานีส่งให้ปีบผลิมาณพ จึงพากันอ่านหนังสือทั้งสองฉบับ เมื่ออ่านแล้วจึงกล่าวว่า เป็นการกระทำของเด็ก ๆ แท้ ๆ แล้วฉีกหนังสือทั้งสองทิ้งไป แล้วเขียนขึ้นใหม่เป็นจดหมายอันแสดงความพอใจซึ่งกันและกัน และแยกย้ายกันไปส่งให้คนทั้งสองนั้น ดังนั้น คนทั้งสองนั้นก็ได้แต่งงานกัน
เมื่อแต่งงานกันแล้ว หนุ่มสาวทั้งสองก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ โดยทั้งสองต่างก็เอาพวงดอกไม้พวงหนึ่งวางไว้ กลางที่นอน มาณพขึ้นที่นอนทางด้านขวา นางภัททากาปิลานีขึ้นที่นอนทางด้านซ้าย แล้วกล่าวว่า ดอกไม้ในด้านของคนใดเหี่ยว พวกเขาจะรู้ได้ว่า ราคจิตเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น คนทั้งสองนั้นนอนไม่หลับตลอดทั้งราตรี เพราะกลัวจะถูกตัวของกันและกัน จนกระทั่งเช้า อนึ่งในเวลากลางวันก็ไม่มีแม้แต่การยิ้มหัว คนทั้งสองนั้นไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องโลกามิส ไม่จัดการทรัพย์สมบัติตราบเท่าที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่
เมื่อบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายได้ถึงแก่กรรมแล้วปิบผลิมาณพและนางภัททากาปิลานีจึงได้แจกจ่ายสมบัติและออกบวช เมื่อถึงทางสองแพร่งจึงแยกจากกัน โดยปิบผลิมาณพเดินไปตามทางด้านขวา ส่วน ภัททากาปิลานีเดินไปตามทางด้านซ้าย ต่อมาปิบผลิมาณพได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้กราบทูลขออุปสมบท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานอุปสมบทแก่ปิบผลิมาณพด้วยวิธีโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา ได้รับชื่อใหม่ว่าพระมหากัสสปะ
ต่อมาพระมหากัสสปะเถระ ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธองค์ ว่าโดยลำดับแล้วก็จัดอยู่ในลำดับที่สามของหมู่พระมหาสาวก รองจากพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นอันมาก รวมทั้งการสถาปนาเป็นเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ โดยปกติมหาสาวกผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะทางด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ย่อมจะต้องได้มาด้วยเหตุ ๔ ประการคือ ๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง ๒.โดยการมาก่อน ๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ และ ๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ในเหตุ ๔ อย่างนั้น พระเถระบางรูป ย่อมได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุอย่างเดียว บางรูปได้โดยเหตุ ๒ อย่าง บางรูปได้โดยเหตุ ๓ อย่าง บางรูปได้ด้วยเหตุ ทั้ง ๔ อย่าง ท่านพระมหากัสสปเถระก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวด้วยเหตุครบทั้ง ๔ อย่าง
๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง เรื่องที่เป็นเหตุก็คือเรื่องพระศาสดาทรงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระ ด้วยทรงพิจารณาว่า อันว่าจีวรที่เก่าเนื่องเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าดังกล่าวนี้ เฉพาะบุคคลผู้อาจสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ ผู้ถือผ้าบังสุกุลมาแต่เดิม เช่นพระมหาเถระจึงจะควรรับเอา และไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย
๒. โดยการมาก่อน ก็คือ ท่านพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้ทรงธุดงคคุณมาก แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ถึงในอดีต แม้ท่านบวชเป็นฤาษี ท่านก็เป็นผู้บำเพ็ญบารมีในทางทรงธุดงคคุณมาก มาถึง ๕๐๐ ชาติ
๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ ก็คือ เมื่อท่านอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อแสดงธรรม ย่อมไม่ละเว้นที่จะแสดงกถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นธรรมที่ชักนำให้พุทธบริษัท มีความปรารถนาน้อย มีความสันโดษ มีความสงัดกาย สงัดใจ ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ชักนำให้ปรารภความเพียร ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณของการทรงธุดงควัตรทั้งสิ้น
๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ก็คือ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่นผู้เสมอเหมือนพระมหากัสสปะ ด้วยธุดงคคุณ ๑๓ ไม่มี เพราะฉะนั้นพระเถระได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้
ฝ่ายนางภัททกาปิลานี แยกไปทางซ้าย เดินทางไปพบสำนักของปริพาชก จึงบวชอยู่ในสำนักนั้นถึง ๕ ปี เนื่องด้วยขณะนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้บวชแล้ว นางจึงได้มาบวชในสำนักของนางภิกษุณี ได้ศึกษาพระกรรมฐานบำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๓ อภิญญา ๖ เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนา ในการสังคายนานั้นได้กำหนดแยกธรรมออกเป็นหมวดหมู่ เมื่อสังคายนาแล้วจึงร้อยกรองไว้ว่า นี้พระธรรม นี้พระวินัย นี้ปฐมพุทธพจน์ นี้มัชฌิมพุทธพจน์ นี้ปัจฉิมพุทธพจน์ นี้พระวินัยปิฎก นี้พระสุตตันตปิฎก นี้พระอภิธรรมปิฎก นี้ทีฆนิกาย นี้มัชฌิมนิกาย นี้สังยุตตนิกาย นี้อังคุตตรนิกาย นี้ขุททกนิกาย นี้องค์ ๙ มีสุตตะเป็นต้น นี้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.นอกจากนั้นก็ยังแยกเป็นประเภทที่ควรรวบรวมไว้แม้อื่น ๆ ซึ่งมีหลายชนิด มีอุทานสังคหะ วัคคสังคหะ เปยยาลสังคหะ นิบาตสังคหะ เช่นเอกนิบาต และทุกนิบาต เป็นต้น สังยุตตสังคหะและปัณณาสกสังคหะเป็นอาทิ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ได้ร้อยกรองอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ
พระมหากัสสปะ หลังจากบรรลุอรหัตผล ได้สอนพระทั้งหลายให้เห็นคุณค่าของการอยู่ในที่สงัดว่า
“ผู้มีปัญญาเห็นว่าไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก การมัวแต่สงเคราะห์ (เกี่ยวข้องกับ) คนนั้นคนนี้อยู่เป็นความลำบากดังนั้นจึงไม่ชอบใจจะอยู่กับหมู่คณะ ผู้มีปัญญาไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติดรสอาหาร จึงทำให้ต้องละทิ้งประโยชน์ที่จะนำสุขมาให้ ผู้มีปัญญากล่าวว่า การไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย เป็นเปลือกตมและลูกศรที่ละเอียด ถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากยิ่ง”
จากหนังสือ อรหันตธาตุ หน้า ๗๑
ในวัดวาอารามต่างๆ ที่มีพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่ มักสร้างรูปพระอัครสาวกทั้งสองรูปคือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเป็นบริวาร แต่วัดบางแห่ง เช่น ที่พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช) ได้สร้างรูปสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนถวายพระเพลิง โดยไม่เห็นพระสรีระเนื่องจากประทับอยู่ในพระบรมโกศ มีแต่ปลายพระบาททั้งสองข้างยื่นออกมาจากพระบรมโกศ เพื่อให้พระมหากัสสปเถระถวายบังคม นอกจากนี้ภายปูนปั้น ณ วัดบางกะพ้อม จังหวัดสมุทรสงคราม ก็มีภาพปูนปั้นตอนถวายพระเพลิงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีพระมหากัสสปเถระถวายบังคมอยู่ปลายพระพุทธบาทเช่นเดียวกัน
พระมหากัสสปเถระ เดิมชื่อ ปิบผลิมาณพเป็นบุตรของกบิลพราหมณ์ ในนครมคธ เมื่อปิบผลิมาณพ มีอายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้เคี่ยวเข็นให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล แต่ ปิบผลิมาณพก็ปฏิเสธเสียทุกครั้งโดยกล่าวว่า จะอยู่ปฏิบัติท่านทั้งสองตราบเท่าที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว ท่านจะบวช ครั้นบิดามารดา เคี่ยวเข็ญหนักเข้า ปิบผลิมาณพคิดว่า เราจะทำให้มารดายอมจำนน จึงเอาทองคำสีสุกปลั่งพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อเป็นรูปหญิงคนหนึ่งแล้วจึงให้รูปหล่อหญิงนั้นนุ่งผ้าแดง ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องประดับต่าง ๆ และบอกมารดาว่าหากได้สตรีที่งามพร้อมเช่นนี้แล้วท่านจะแต่งงานด้วย นางพราหมณีเป็นคนมีปัญญาจึงคิดว่า บุตรของเราเป็นผู้มีบุญ เมื่อทำบุญไว้ในอดีตคงจะไม่ทำคนเดียว คงมีหญิงผู้ทำบุญร่วมกับบุตรของเรานี้ เป็นแน่แท้ จึงให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนมา แล้วให้ยกรูปทองคำ ขึ้นตั้งบนรถแล้วสั่งให้พารูปหล่อตระเวนไป ถ้าพบเห็นทาริกา งามดังรูปทองนี้ และเกิดในตระกูลที่เสมอกันกับนางพราหมณีโดยชาติ เสมอกันโดยโคตรและเสมอกันโดยโภคทรัพย์ ในที่ใด ก็จงให้รูปทองนี้แหละให้เป็นบรรณการแก่นางในที่นั้น
พราหมณ์เหล่านั้นก็พารูปหล่อออกไปตระเวน และคิดว่าจะไปที่ไหนกันดี จึงได้คิดว่า แคว้นมัททรัฐเป็นบ่อเกิดแห่งสตรี พวกเราควรจะไปมัททรัฐ จึงได้ ไปยังสาคลนครในมัททรัฐ ในครั้งนั้นได้พบกับนางภัททากาปิลานีมีความงามดังรูปหล่อทองคำนั้น จึงได้ทำการสู่ขอต่อบิดามารดาของนาง ชนเหล่านั้นจึงส่งข่าวแก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้เจ้าสาวแล้ว กบิลพราหมณ์ได้สดับข่าวนั้นแล้วจึงบอกแก่ปิบผลิมาณพ มาณพไม่มีความต้องการจะแต่งงาน จึงได้เขียนหนังสือถึงนางภัททากาปิลานี ว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังนางภัททาปิลานี
นางภัททากาปิลานีก็เช่นกัน เมื่อได้ฟังว่า บิดาของนางจะยกนางให้แก่ปิบผลิมาณพ จึงได้เขียนหนังสือถึงปิบผลิมาณพว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังปิบผลิมาณพ ในระหว่างเดินทางผู้ถือหนังสือทั้งสองฉบับมาพบกันในระหว่างทาง จึงได้หยุดทักทายกัน เมื่อคนรับใช้ของปิบผลิมาณพถูกฝ่ายนางภัททากาปิลานีถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็ตอบว่าเป็นหนังสือของปิบผลิมาณพส่งให้นางภัททากาปิลานี และเมื่อคนรับใช้ของนางภัททากาปิลานีถูกฝ่ายปิบผลิมาณพถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็กล่าวว่า เป็นหนังสือของนางภัททากาปิลานีส่งให้ปีบผลิมาณพ จึงพากันอ่านหนังสือทั้งสองฉบับ เมื่ออ่านแล้วจึงกล่าวว่า เป็นการกระทำของเด็ก ๆ แท้ ๆ แล้วฉีกหนังสือทั้งสองทิ้งไป แล้วเขียนขึ้นใหม่เป็นจดหมายอันแสดงความพอใจซึ่งกันและกัน และแยกย้ายกันไปส่งให้คนทั้งสองนั้น ดังนั้น คนทั้งสองนั้นก็ได้แต่งงานกัน
เมื่อแต่งงานกันแล้ว หนุ่มสาวทั้งสองก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ โดยทั้งสองต่างก็เอาพวงดอกไม้พวงหนึ่งวางไว้ กลางที่นอน มาณพขึ้นที่นอนทางด้านขวา นางภัททากาปิลานีขึ้นที่นอนทางด้านซ้าย แล้วกล่าวว่า ดอกไม้ในด้านของคนใดเหี่ยว พวกเขาจะรู้ได้ว่า ราคจิตเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น คนทั้งสองนั้นนอนไม่หลับตลอดทั้งราตรี เพราะกลัวจะถูกตัวของกันและกัน จนกระทั่งเช้า อนึ่งในเวลากลางวันก็ไม่มีแม้แต่การยิ้มหัว คนทั้งสองนั้นไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องโลกามิส ไม่จัดการทรัพย์สมบัติตราบเท่าที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่
เมื่อบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายได้ถึงแก่กรรมแล้วปิบผลิมาณพและนางภัททากาปิลานีจึงได้แจกจ่ายสมบัติและออกบวช เมื่อถึงทางสองแพร่งจึงแยกจากกัน โดยปิบผลิมาณพเดินไปตามทางด้านขวา ส่วน ภัททากาปิลานีเดินไปตามทางด้านซ้าย ต่อมาปิบผลิมาณพได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้กราบทูลขออุปสมบท สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานอุปสมบทแก่ปิบผลิมาณพด้วยวิธีโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา ได้รับชื่อใหม่ว่าพระมหากัสสปะ
ต่อมาพระมหากัสสปะเถระ ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธองค์ ว่าโดยลำดับแล้วก็จัดอยู่ในลำดับที่สามของหมู่พระมหาสาวก รองจากพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นอันมาก รวมทั้งการสถาปนาเป็นเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ โดยปกติมหาสาวกผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะทางด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ย่อมจะต้องได้มาด้วยเหตุ ๔ ประการคือ ๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง ๒.โดยการมาก่อน ๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ และ ๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ในเหตุ ๔ อย่างนั้น พระเถระบางรูป ย่อมได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุอย่างเดียว บางรูปได้โดยเหตุ ๒ อย่าง บางรูปได้โดยเหตุ ๓ อย่าง บางรูปได้ด้วยเหตุ ทั้ง ๔ อย่าง ท่านพระมหากัสสปเถระก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวด้วยเหตุครบทั้ง ๔ อย่าง
๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง เรื่องที่เป็นเหตุก็คือเรื่องพระศาสดาทรงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระ ด้วยทรงพิจารณาว่า อันว่าจีวรที่เก่าเนื่องเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าดังกล่าวนี้ เฉพาะบุคคลผู้อาจสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ ผู้ถือผ้าบังสุกุลมาแต่เดิม เช่นพระมหาเถระจึงจะควรรับเอา และไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย
๒. โดยการมาก่อน ก็คือ ท่านพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้ทรงธุดงคคุณมาก แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ถึงในอดีต แม้ท่านบวชเป็นฤาษี ท่านก็เป็นผู้บำเพ็ญบารมีในทางทรงธุดงคคุณมาก มาถึง ๕๐๐ ชาติ
๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ ก็คือ เมื่อท่านอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อแสดงธรรม ย่อมไม่ละเว้นที่จะแสดงกถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นธรรมที่ชักนำให้พุทธบริษัท มีความปรารถนาน้อย มีความสันโดษ มีความสงัดกาย สงัดใจ ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ชักนำให้ปรารภความเพียร ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณของการทรงธุดงควัตรทั้งสิ้น
๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ก็คือ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่นผู้เสมอเหมือนพระมหากัสสปะ ด้วยธุดงคคุณ ๑๓ ไม่มี เพราะฉะนั้นพระเถระได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้
ฝ่ายนางภัททกาปิลานี แยกไปทางซ้าย เดินทางไปพบสำนักของปริพาชก จึงบวชอยู่ในสำนักนั้นถึง ๕ ปี เนื่องด้วยขณะนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้บวชแล้ว นางจึงได้มาบวชในสำนักของนางภิกษุณี ได้ศึกษาพระกรรมฐานบำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๓ อภิญญา ๖ เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนา ในการสังคายนานั้นได้กำหนดแยกธรรมออกเป็นหมวดหมู่ เมื่อสังคายนาแล้วจึงร้อยกรองไว้ว่า นี้พระธรรม นี้พระวินัย นี้ปฐมพุทธพจน์ นี้มัชฌิมพุทธพจน์ นี้ปัจฉิมพุทธพจน์ นี้พระวินัยปิฎก นี้พระสุตตันตปิฎก นี้พระอภิธรรมปิฎก นี้ทีฆนิกาย นี้มัชฌิมนิกาย นี้สังยุตตนิกาย นี้อังคุตตรนิกาย นี้ขุททกนิกาย นี้องค์ ๙ มีสุตตะเป็นต้น นี้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์.นอกจากนั้นก็ยังแยกเป็นประเภทที่ควรรวบรวมไว้แม้อื่น ๆ ซึ่งมีหลายชนิด มีอุทานสังคหะ วัคคสังคหะ เปยยาลสังคหะ นิบาตสังคหะ เช่นเอกนิบาต และทุกนิบาต เป็นต้น สังยุตตสังคหะและปัณณาสกสังคหะเป็นอาทิ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ได้ร้อยกรองอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ
พระมหากัสสปะ หลังจากบรรลุอรหัตผล ได้สอนพระทั้งหลายให้เห็นคุณค่าของการอยู่ในที่สงัดว่า
“ผู้มีปัญญาเห็นว่าไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก การมัวแต่สงเคราะห์ (เกี่ยวข้องกับ) คนนั้นคนนี้อยู่เป็นความลำบากดังนั้นจึงไม่ชอบใจจะอยู่กับหมู่คณะ ผู้มีปัญญาไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ได้สมาธิยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติดรสอาหาร จึงทำให้ต้องละทิ้งประโยชน์ที่จะนำสุขมาให้ ผู้มีปัญญากล่าวว่า การไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลาย เป็นเปลือกตมและลูกศรที่ละเอียด ถอนได้ยาก บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากยิ่ง”
จากหนังสือ อรหันตธาตุ หน้า ๗๑
No comments:
Post a Comment