Sunday, November 30, 2008

ความเครียด

ความเครียด
โลกยุคปัจจุบันนี้
มีวิทยาการล้ำหน้าไปมากมาย
คนทุกคนขวนขวายที่จักได้สิ่งต่างๆ มาสนองอารมณ์ของตน
อยากได้...อยากมี...อยากเป็นอะไร ก็ต้องหาวิธีที่จะได้มาอย่างเต็มที่
บางคนหาวิธีโดยชอบธรรมไม่ได้ ก็ใช้วิธีอันไม่ชอบธรรม
ขอเพียงให้ได้สิ่งมาสนองอารมณ์ความต้องการของตนเป็นพอ
และเมื่อไม่สามารถหาสิ่งมาสนองอารมณ์ความอยากของตนได้แล้ว
คิดหาทางเท่าใดก็ไม่ได้ดังใจ ไม่มีทางออกที่สมควรต้องการของตน
ก็คิดวุ่นวาย...คิดแล้วคิดอีก...คิดไปคิดมา
คิดมากๆ ก็เกิดความเครียด
และกลายเป็นโรคเครียดในที่สุด

โรคความเครียด
ความเครียด เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของคน
แต่ถ้าเมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว
ถ้ามีมากๆ จักเกิดผลกระทบต่อร่างกาย หน้าที่การงาน และจิตใจของตน
จึงขอให้ท่านตรวจสอบดูว่า ขณะนี้ท่านมีความเครียดหรือไม่? คือ...
๑. วิตกกังวล หงุดหงิด อารมณ์เสียบ่อย
๒. ปวดศีรษะ มึนงง รู้สึกสมองไม่โล่ง
๓. ตื่นเต้นมาก ตกใจง่าย ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม
๔. หลับไม่สนิท ฝันร้าย ท้องผูก ท้องเสีย ท้องเฟ้อ
๕. เบื่ออาหาร หรือกินมากอยากมากกว่าปกติ
๖. ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย
๗. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

ถ้ามีดังนี้แสดงว่าคุณกำลังมีความเครียดมากๆ
ขอให้หาวิธีคลายเครียดและบำบัดเสียแต่เนิ่นๆ
ความเครียดจักหายไป ความสุขใจเข้ามาแทนที่

วิธีแก้โรคความเครียด
วิธีแก้ความเครียดมีมากมาย
ขอให้ลองนำวิธีต่างๆ ต่อไปนี้ไปใช้ดู อาจจะคลายเครียดได้บ้าง
๑. เมื่อเกิดความเครียดขึ้นมา ขอให้ ตั้งสติ พิจารณาว่า
บัดนี้ความเครียดได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
กล่าวคือ...ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น
๒. เมื่อยอมรับในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นแล้ว
ต่อไปขอให้เรา ปล่อยวาง ในอารมณ์ต่างๆ
อันได้แก่อารมณ์รัก อารมณ์เกลียด อารมณ์โลภ...โกรธ...หลง
แล้วค่อยหาวิธีแก้...มิใช่แก้ปัญหา แต่แก้ความเครียด
๓. วิธีแก้ปัญหาคือต้องยอมรับอีกนั่นแหละ
คือยอมรับว่า ธรรมเป็นยารักษาได้
คือใช้หลักธรรมต่างๆ ของพระพุทธเจ้าเข้าแก้ปัญหา
เชื่อแน่ว่าแนวทางที่กล่าวมาต้องรักษาได้แน่ๆ

คิดอย่างไรไม่ให้เครียด
เมื่อเกิดความเครียดขึ้นแล้ว
ขอให้ใช้ความคิดพิจารณาว่า
๑. ชีวิตนี้มีมาไม่ถึง ๑๐๐ ปี...ก็ตายแล้ว
๒. เครียดไปก็ไม่เกิดประโยชน์
ไก่...ไม่เคยเป็นโรคประสาท หรือต้องกินยาแก้โรคนั้น
เพราะมันไม่อยากมากเกินไป
๓. หาทางผ่อนคลายความเครียด
โดยการอ่านหนังสือธรรม ชมทิวทัศน์ต่างๆ
โดยการฟังธรรม ฟังเพลง ดูสารคดีเพื่อผ่อนคลาย
โดยการปฏฺบัติธรรมะ (นั่งสมาธิ) ระลึกถึงความจริง
โดยการรักษากาย วาจา ใจ ให้ถูกต้อง ดีงาม
โดยการมีพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักธรรมประจำใจอันได้แก่
มีเมตตา...ให้เขาเป็นสุข มีกรุณา...ให้เขาพ้นทุกข์
มีมุทิตา...พลอยยินดีกับเขา มีอุเบกขา...วางใจให้เป็นกลาง


ที่มา: ธรรมสภา, บันทึกแห่งชีวิต แด่...ภรรยาอันเป็นที่รักยิ่ง

No comments: