Tuesday, April 21, 2009
การให้ทาน สูตรสำเร็จแห่งชีวิตในวันอาทิตย์นี้คือทาน
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
สูตรนี้สั้นๆ ง่ายๆ แต่ค่อนข้างทำยากสำหรับคนไทย ทั้งๆ ที่คนไทยเราเป็นคนใจบุญสุนทานนี่แหละ ลองมาดูกันว่ายากอย่างไร
โบราณจารย์ท่านสอนว่า การให้ทานมี 3 ลักษณะคือ ให้เพื่อสงเคราะห์ ให้เพื่ออนุเคราะห์ และให้เพื่อทำบุญ
การให้เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ เรียกอีกอย่างว่า ให้แบบทำบุญ เพราะเป็นการให้เพื่อบุญคุณ หรือหวังผลตอบแทน เช่น เราให้ของขวัญ ให้รางวัล เลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้า แก่ใคร เราก็ว่าเราให้โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไร แต่ในส่วนลึกแห่งดวงใจเรายังทวง "บุญคุณ" อยู่เงียบๆ อย่างน้อยก็อยากให้เขารู้สึกขอบบุญขอบคุณในน้ำใจไมตรีของเรา ลองคิดดีๆ จะเห็นเองครับ ถ้าเราไม่เข้าข้างตัวเองเกินไป
การให้อะไรแก่ใครแล้วหวังผลตอบแทน ไม่ถือว่าให้เพื่อทำบุญ ไม่ช่วยให้จิตใจสูงหรือสะอาดขึ้น เพราะแทนที่จะกะเทาะความโลภให้หลุดไปจากจิตสันดานกลับพอกให้หนาขึ้น ทำไปทำมา นักทำบุญแบบนี้จะกลายเป็นนักลงทุนหรือนักค้าบุญไปโดยไม่รู้ตัว
ทางศาสนา (ศาสนาพุทธนะครับ ศาสนาอื่นผมไม่รู้) สอนไว้ว่า การให้จะทำให้จิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น หรือทำบุญได้บุญจริงๆ นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
-สิ่งที่จะให้ต้องบริสุทธิ์ หมายถึง ข้าวปลาอาหารอะไรก็ตามที่เราจะให้นั้น ต้องเป็นของได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ขโมยคดโกงใครเขามา ของนั้นไม่จำเป็นต้องใหญ่โตมากมายหรือราคาแพงๆ น้ำพริกที่ได้มาโดยสุจริตมีผลมากกว่าโต๊ะจีนราคาพันๆ ที่โกงแชร์เขามาจัดถวายพระเสียอีก
-เจตนาจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ หลังจากให้แล้วมีจิตใจเลื่อมใสยินดีให้จริงๆ มิใช่ให้ไปแล้วนึกเสียดายภายหลัง หรือให้ด้วยมีเจตนาแอบแฝงอยู่ เช่น ให้เพื่อให้คนเขารู้ว่าตนเป็นคนใจบุญสุนทาน ให้เพื่อเอาหน้า เคยเห็นภาพคุณหญิงคุณนาย หรืออาเสี่ยร้อยล้านพันล้านบางคนกำลังบริจาคทรัพย์ทำบุญอะไรสักอย่างไหมครับ แทนที่จะมองไปที่พระสงฆ์ที่ตนกำลังประเคนของให้ กลับหันหน้ามายิ้มหราทางกล้อง บางทีถวายไปแล้วกล้องถ่ายไม่ทัน ต้องทำพิธีถวายใหม่เพื่อให้กล้องบันทึกภาพไว้ชัดๆ คนจะได้เห็นทั่วกัน อย่างนี้ส่อเจตนาว่า ให้เพื่อเอา อย่างน้อยก็เอาหน้าว่าเป็นคนใจบุญ เจตนาจะบริสุทธิ์แค่ไหนก็คิดเอาเอง
-ผู้รับต้องบริสุทธิ์ ผู้รับทานของเราต้องมีศีล มีธรรมควรแก่การให้ด้วย ทานจึงจะมีผลมาก ในทางศาสนาท่านสอนให้ถวายแก่พระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ การให้ทานแก่อลัชชีแทนจะได้บุญกลับกลายเป็นว่า ให้กำลังวังชาแก่อลัชชีมาบ่อนทำลายพระศาสนาเป็นบาปเสียอีกแน่ะ
บางท่านถามว่า บางครั้งอยู่บ้านดีๆ มีคนมากดกริ่งขอเรี่ยไรเงินไปสร้างโน่น สร้างนี่ มูลนิธิอะไรต่อมิอะไรชื่อประหลาดๆ มากันบ่อย อย่างนี้ควรให้หรือไม่ ตอบแน่ชัดลงไปไม่ได้หรอกครับ ขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณของท่าน ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่ควรให้ ขอให้ถือตามพุทธโอวาทว่า พึงพิจารณาให้ดีก่อนจึงให้
คนไทยใจบุญมักให้ทานส่งเดช จึงเป็นเครื่องมือหากินของพวกมิจฉาชีพไม่รู้จบสิ้น และมักไม่เข็ดด้วยนะครับ ที่พูดนี้ได้กับตัวเองบ่อยเหมือนกัน
การให้ทานจะเป็นบุญกุศลจริงๆ จะต้องครบองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ เจตนาต้องบริสุทธิ์ ผู้รับก็ต้องบริสุทธิ์ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีผลเหมือนกัน แต่ผลไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น
พูดถึงทานทำให้นึกถึงอีกคำหนึ่งคือ จาคะ หรือปริจาคะ (ไทยเขียน บริจาค) สองคำนี้ใช้แทนกันได้ ในที่ใดท่านใช้คำเดียวว่า "ทาน" ในที่นั้นย่อมคลุมถึงความหมายของ "จาคะ" (หรือปริจาคะ) ด้วย แต่ถ้าสองคำมาด้วยกัน (อย่างในทศพิธราชธรรม) ทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของ การสละวัตถุสิ่งของให้คนอื่น จะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ เรียกทานทั้งนั้น ส่วนจาคะ (หรือปริจาคะ) ก็จะหมายเฉพาะการเสียสละกิเลส (เช่น สละความตระหนี่ถี่เหนียวแน่น, สละความเห็นแก่ตัว)
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ว่า จาคะ หมายถึง สละความหวงแหนสิ่งของที่ตนมีออกจากใจหรือ "ตัดใจ" ทาน หมายถึง กิริยาอาการที่ยื่นสิ่งของนั้นให้คนที่ควรให้ แต่ถ้าใช้คำว่า ทาน หรือ จาคะโดดๆ ก็รวมทั้งสองความหมายนั้นอยู่ในคำเดียวกัน
มีพุทธพจน์แสดงสาเหตุที่คนให้ทานต่างๆ กัน น่าสนใจดีขอคัดมาให้ดูดังนี้ บางคนให้ทานเพราะหวังผล มีจิตผูกพันกันจึงให้ หวังสะสมจึงให้ คิดว่าจากโลกนี้ไปแล้วจะได้กินได้ใช้ บางคนให้คิดด้วยว่า การให้เป็นการกระทำที่ดี บางคนให้คิดด้วยว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายเคยทำกันมา ไม่ควรให้เสียจารีตประเพณี บางคนให้คิดด้วยว่า เรามีอยู่มีกินควรแบ่งปันให้คนที่เขาไม่มีอยู่ไม่มีกิน บางคนให้คิดด้วยว่า การให้ทานของตนเป็นเกียรติยศ บางคนให้คิดด้วยว่า เมื่อเราให้ทานจิตใจจะโสมนัสแช่มชื่น บางคนให้โดยฐานเป็นอลังการเป็นบริขารของจิต (หมายถึงเป็นเครื่องปรุงแต่งของจิตให้ดีขึ้น ฝึกจิตให้มีคุณภาพขึ้น)
ความมุ่งหมายของการให้ทานของคนสมัยพระพุทธเจ้ากับสมัยปัจจุบันคงไม่แตกต่างกันมากนัก ท่านชอบการให้แบบไหนก็เลือกเอาแล้วกัน
การให้ทานมีอยู่ 2 ประการคือ ให้เจาะจงคนให้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน กับให้แก่สงฆ์หรืออุทิศแก่ส่วนรวมเรียก สังฆทาน
อย่างแรก ทำได้ง่าย และถูกจริตนิสัยคนส่วนมากเพราะเราอยากให้อะไรแก่ใคร ก็อยากจะให้แก่คนที่เรารัก ชอบพอหรือนับถือเป็นการส่วนตัว แม้ไม่รู้จักส่วนตัว เช่น เวลาใส่บาตร บางคนยัง "เลือก" พระเลยว่า ใส่รูปนี้ดีกว่าอะไรทำนองนี้
อย่างหลัง (สังฆทาน) ทำยาก เพราะการทำใจให้เป็นกลางไม่เอียงไปข้างรัก ข้างชังนั้น ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญว่า การให้ทานไม่เจาะจง หรืออุทิศให้แก่สงฆ์ทั้งปวงมีอานิสงส์ (ผล) มากกว่าถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียอีก
คนส่วนมากยังเข้าใจผิดว่า ถวายทานแก่พระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป จึงจะเรียกสังฆทาน ไม่จริงดอกครับ ถวายพระรูปเดียวก็เป็นสังฆทานได้ ขอเพียงอย่า "เจาะจง" หรือ "เลือก" ก็แล้วกัน
วิธีถวายสังฆทานก็ไม่ต้องฟังนัก "พิธีรีตอง" ที่ไหนให้มากเรื่อง ตระเตรียมข้าวปลาอาหารที่ต้องถวาย ตั้งจิตอุทิศแก่พระสงฆ์ทั้งหมดไม่เจาะจงผู้ใด พบตัวแทนพระสงฆ์รูปใด (จะเป็นพระหรือสามเณรก็ตาม) ก็นิมนต์มารับสังฆทานที่บ้านเท่านี้ก็เป็นสังฆทานแล้วครับ
ลองหัดให้โดยไม่เจาะจง ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อการให้อย่างแท้จริงสักพักสิครับ จะรู้สึกว่าจิตใจบริสุทธิ์สะอาดและสูงขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว
วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11362 มติชนรายวัน หน้า 6
การสงเคราะห์ภรรยาและบุตร
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผมเคยไปอธิบายเรื่องจริยธรรมหรือคุณภาพชีวิตอะไรทำนองนี้ก็จำไม่แม่นที่ มสธ. อาจารย์ ดร.จันทร์ ชุ่มเมืองปัก ได้กล่าวสรุปว่า ชีวิตที่มีคุณภาพในทรรศนะของท่านไม่เหมือนใคร ว่าแล้วท่านก็หันมามองผม "คุณเสฐียรพงษ์ช่วยนำไปเผยแพร่ด้วย"
ท่านว่าดังนี้ครับ "มีเมียดี มีลูกดี มีเพื่อนดี มีหน้าที่การงานที่บอกเขาได้อย่างภาคภูมิใจ และอย่าเป็นหนี้หลาย (อย่าเป็นหนี้มากนัก) เท่านี้ก็นับว่าชีวิตมีคุณภาพแล้ว"
การมีเมีย มีลูกไม่ใช่เรื่องยาก แต่การมีเมียดีมีลูกดีนี่สิ มิใช่มีกันได้ทุกคน บ้างก่อร่างสร้างตัวจากเด็กบ้านนอกจนๆ คนหนึ่ง จนมีหน้าที่การงาน มีเกียรติในสังคม ประสบความสำเร็จที่ดีคนหนึ่ง แต่ไปได้เมียผลาญ ลูกผลาญ หายนะล่มจมก็มี
ถามหมอดูเขาก็ว่า ดวงปัตนิไม่ดี ปุตตะไม่ดี ตกเรือนมรณะวินาศ มีดาวศุกร์ทับดาวเสาร์ อะไรก็ว่ากันไป (พูดไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรนี่แหละครับ) ถามมหาบาเรียน เขาก็ว่า กรรมทำมาอย่างใดก็ย่อมได้อย่างนั้น
ท่านอธิบดีท่านหนึ่งเติบโตมาจากเด็กวัด มีลูกมาก็พยายามสอนลูกไม่ให้สุรุ่ยสุร่าย ตัวท่านเองกว่าจะก้าวมาถึงขั้นนี้ก็ต้องต่อสู้กับความลำบากลำบนสารพัด ลูกชายย้อนเอาว่า "ก็พ่อเป็นลูกชาวนาก็ลำบากเป็นธรรมดา แต่ผมเป็นลูกอธิบดีนี่ครับ" นี่แหละครับที่ว่า มีลูกน่ะง่าย แต่มีลูกดีมิใช่ของง่าย รวมทั้งเมียด้วยนะครับ
มาจากเรื่องลูกก่อน พระพุทธเจ้าท่านว่า ลูกมี 3 จำพวก เลี้ยงแล้วดีกว่าพ่อแม่ก็มี (อภิชาตบุตร) เลี้ยงแล้วเสมอพ่อแม่ก็มี (อนุชาตบุตร) เลี้ยงแล้วเลวกว่าพ่อแม่ก็มี (อวชาตบุตร) แล้วแต่บุญแต่กรรมของใคร เขาจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขาเถิด อย่าวิตกทุกข์ร้อนเลย เราในฐานะพ่อแม่ขอให้ทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุดก็พอ
นั่นคือเลี้ยงลูกให้สมกับที่เราเป็นพ่อแม่ วิธีเลี้ยงลูกให้ดี พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ 5 ประการ คือ
-กันลูกจากความชั่ว หมายถึง ป้องกันหรือกีดกันทุกวิถีทางมิให้ลูกทำชั่ว
-ปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี ดีในที่นี้เล็งไปที่ "จิตใจ" เพราะใจเป็นคลังของความดีความชั่วของคน ถ้าปลูกฝังให้ใจดีแล้วก็เท่ากับพ่อแม่ได้ทำหน้าที่ของพ่อแม่สมบูรณ์แล้ว
-ให้ลูกได้รับการศึกษา ตามตัวอักษรหมายถึง ส่งเสียให้เล่าเรียนสูงๆ โดยอรรถะหมายถึง ฝึกสอนให้ลูกเป็นคนฉลาดรู้จักใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้ฉลาดได้ นับว่าเป็นโชค ดังภาษิตหิโตปเทศบทหนึ่ง "มีลูกฉลาดแต่ตายแล้วหนึ่ง มีลูกโง่ยังมีชีวิตอยู่หนึ่ง อย่างแรกประเสริฐกว่า" คือถ้าเลี้ยงลูกแล้วโง่อย่ามีเสียเลยดีกว่า
-จัดแจงให้แต่งงานกับคนดี สนับสนุนให้ลูกได้คู่ครองดี
-มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงเวลาสมควร คือ มอบทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยากให้ลูกไว้เป็นทุนรอนดำรงชีวิตต่อไป
เคล็ดลับการเลี้ยงลูกดีของพระพุทธองค์ สรุปลงด้วยคำพูดสั้นๆ คือ "ห้ามทำชั่ว-ให้ทำตัวดี-ให้มีวิชา-หาคู่ครอง-ให้กองทุน" ทำได้ตามนี้นับว่า ไม่เสียทีที่เป็นพ่อแม่
คราวนี้มาว่าด้วยการเลี้ยงดูภรรยา เนื่องจากผู้เขียนเป็นบุรุษเพศจะขอพูดถึงการเลี้ยงดูภรรยาเท่านั้น พึงเข้าใจเอาเองว่า ถ้าท่านเป็นสตรีเพศ สูตรสำเร็จข้อนี้จะต้องเปลี่ยนเป็น "การเลี้ยงดูสามี" แทนนะครับ
พระไตรปิฎกพูดถึงภรรยาไว้ 7 ชนิด น่าสนใจดี (ชนิดของสามีก็พึงทราบโดยนัยเดียวกัน) ดังนี้นะครับ
ภรรยาเหมือนเพชฌฆาต หมายถึง ภรรยาล้างผลาญ ประเภทใจเหี้ยมโหด แช่งชักหักกระดูกสามีเช้าเย็น วันๆ เอาแต่เรียกผีมากิน ห่ามาลง พูดคำก็จะให้ตายห่า สองคำก็จะให้ตายโหง หรือประเภทมือไวเท้าไว เดี๋ยวเตะ เดี๋ยวต่อย (ผู้หญิงก็เตะต่อยเก่งนะครับ เคยเห็นมาแล้ว ปิดประตูซัดสามีผัวะๆ แถมยังร้อง "ช่วยด้วยๆ สามีซ้อมฉัน" ก็มี เป็นงั้นไป) ภรรยาประเภทนี้ ผมอยากแปลว่า ภรรยาผีมากกว่า ใครได้ภรรยาผีร่วมบ้านก็เวรกรรมของคนนั้น ช่วยไม่ได้
ภรรยาเหมือนโจร มีลักษณะล้างผลาญเหมือนประเภทแรก แต่ล้างผลาญคนละอย่าง ประเภทนี้ล้างผลาญทรัพย์ สามีหาได้เท่าไหร่ผลาญหมดเกลี้ยง เขาเรียกว่า "กระเชอก้นรั่ว" ถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม ใครได้ภรรยาโจรเป็นคู่ครอง ต่อให้ร่ำรวยขนาดไหนไม่ช้าไม่นานก็หมดตัว
ภรรยาเหมือนนาย หมายถึง ภรรยาที่เห็นสามีด้อยกว่าตัว ดูถูกเหยียดหยามสามี ภรรยาประเภทนี้ภูมิอกภูมิใจที่แสดงให้คนอื่นเห็นว่าสามีอยู่ในกำมือของตน นี้ก็ภรรยาผลาญอีกประเภทหนึ่ง ประเภทแรกผลาญชีวิตร่างกาย ประเภทที่สองผลาญทรัพย์ ประเภทที่สามผลาญศักดิ์ศรี ไม่ได้ความพอกัน
ภรรยาเหมือนแม่ น่ารักไปอีกแบบหนึ่ง เธอจะรักเอ็นดูสามีเหมือนคุณแม่รักลูก จะคอยดูแลสามีด้วยความเป็นห่วงเป็นใยสารพัด ภรรยาประเภทนี้จะไม่ทอดทิ้งสามีไม่ว่ากรณีใดๆ
ภรรยาเหมือนน้องสาว ความรักระหว่างพี่น้องเป็นความรักที่ยั่งยืนรองมาจากความรักของพ่อแม่ แต่ก็มีลุ่มๆ ดอนๆ อาจขัดใจกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง แต่ก็ตัดกันไม่ขาด ใครมีภรรยาประเภทนี้นึกเสียว่าเลี้ยงน้องไว้คนหนึ่งก็แล้วกัน ถึงทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ก็ตัดไม่ตายขายไม่ขาดดอก
ภรรยาเหมือนเพื่อน ภรรยาประเภทนี้เป็นเสมือนเพื่อนที่ถูกคอกันดี ให้เกียรติกันและกันฉันเพื่อนสนิท มีอะไรปรึกษาหารือกัน มีรสนิยมเหมือนกัน เคยเห็นสามีภรรยาประเภทนี้เป็นครูช่วยกันตรวจการบ้านเด็ก บางคู่เป็นนักเขียนเหมือนกันช่วยกันเขียนเรื่อง ช่วยกันเกลาสำนวนของกันและกัน น่าอิจฉาจัง
ภรรยาเหมือนทาสี ลดฐานะของตัวลงเป็นคนใช้ ยอมรับใช้ทุกอย่าง ยอมให้สับโขก เพราะรักตัวเดียวนี่แหละ ภรรยาบางคนได้คู่เป็นปีศาจสุรา ต้องวิ่งซื้อน้ำแข็งโซดา ทำกับแกล้มให้พ่อเจ้าประคุณมือเป็นระวิง น่าสงสารจัง
ภรรยาทั้ง 7 ประเภทนี้ ผู้อ่านคงบอกได้ว่า ประเภทไหนดี ประเภทไหนเลว แต่ไม่ว่าจะได้ภรรยาประเภทไหน สามีควรสงเคราะห์เลี้ยงดู 5 สถานดังนี้คือ ให้เกียรติยกย่อง, ไม่ดูหมิ่น, ไม่นอกใจ, ยกความเป็นใหญ่ในบ้านให้ และซื้อหาเครื่องประดับตกแต่งให้ตามกาลเวลาอันเหมาะสม ทำได้ตามนี้นับว่าเป็นสามีในอุดมคติแล้ว
อ้อ! ที่ว่ายกย่องและมอบความเป็นใหญ่ให้นั้น มิใช่มอบความเป็น "ภรรยาหลวง" ให้นะครับ อย่าเข้าใจผิด
วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11348 มติชนรายวัน
หน้า 6
การงานไม่อากูล
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
สูตรสำเร็จในชีวิตที่ผมจะกล่าวในอาทิตย์นี้คือ การงานไม่อากูลครับ คำนี้เป็นคำพระแท้ๆ ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องแน่ถ้าไม่อธิบาย การงานไม่อากูลก็คือการทำงานมิให้คั่งค้างนั่นแหละครับ
คนที่จะเจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จในชีวิตนอกจากจะเลือกคบคนดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี มีระเบียบวินัย ยกย่องคนควรยกย่อง ตลอดถึงปฏิบัติต่อลูกเมียดีแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยอีกข้อหนึ่งคือ การทำงาน
ผู้รู้ท่านหนึ่งเปรียบการทำงานดุจคนขับรถ รถมันจะใหม่เอี่ยมเครื่องเคราดี ยี่ห้อโก้เก๋ทันสมัยอย่างไร ถ้าคนไม่ขับเคลื่อนที่ มันก็เศษเหล็กธรรมดา ไม่ต่างจากขอนไม้ท่อนหนึ่งนั่นเอง
นั่งบนขอนไม้กับนั่งในรถหรูคันนั้น ได้ผลเท่ากันคือไปไม่ถึงที่หมาย
การที่จะไปถึงที่หมายได้ ก็ต้องสตาร์ตเครื่องแล้วก็ขับไป ฉันใดก็ฉันนั้น คนเราเกิดมาแล้วนั่งนอนอยู่เฉยๆ งานการไม่ทำ นอกจากจะไม่เจริญแล้ว จะพาลเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตเอา เพราะฉะนั้น อยากเจริญต้องทำงานและทำงานให้มีประสิทธิภาพ มิใช่สักแต่ว่าทำ
วิธีการทำงานมีอยู่ 2 แบบ คือ ทำแบบมงคลกับทำแบบอัปมงคล ทำแบบมงคล คือทำแล้วเจริญ มีหลักอยู่สั้นๆ 3 หลัก คือ ทำดี - ทำเต็มที่ - ทำให้เสร็จ ทำแบบอัปมงคลมีหลักสั้นเหมือนกันคือ ทำค้าง - ทำย่อหย่อน - ทำเสีย
งานอากูลก็คืองานค้างนั่นแหละครับ เป็นนิสัยของคนทำงานประเภทหนึ่ง (รวมผมด้วยบางครั้ง) มักไม่ชอบทำอะไรให้เสร็จทั้งที่ควรให้เสร็จ ทำได้หน่อยหนึ่งให้ทิ้งไว้ก่อน ผัดผ่อนไปเรื่อย "พรุ่งนี้ยังมีเวลา เอาไว้แค่นี้ก่อน" อะไรอย่างนี้เป็นต้น เหมือนคนแก่ฟันไม่ดี เคี้ยวอาหารให้ละเอียดไม่ได้ พอจวนจะละเอียดก็กะล่อมกะแล่มกลืนเข้าไป กินก็เท่ากับไม่ได้กิน เผลอๆ อาหารที่กลืนเข้าไปไม่ย่อยหรือย่อยยาก เป็นโทษแก่ร่างกายอีก
ลักษณะคนที่ทำงานคั่งค้างที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือชอบจับจด ทำงาน ก ได้หน่อยหนึ่งเบื่อ หันไปจับงาน ข ไปได้หน่อยหนึ่งหันไปจับงาน ค เลยไม่เสร็จสักอย่าง บางท่านคิดว่าคนเช่นนี้เป็นนักริเริ่มเริ่มงาน หรือวางแผนเก่ง หามิได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า คนจับจดต่างหาก
งานค้างเป็นอัปมงคลก็เพราะก่อผลเสียให้ทั้งร่างกายและใจ คิดไม่ดีไม่เห็น ทางกายเห็นได้ชัดๆ คือทำให้เปลืองแรง ต้องลงแรงถึงสองครั้งเป็นอย่างน้อย แทนที่จะเป็นครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาไถนาไว้แล้วไม่ปักดำ ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ ต้องมาเสียแรงงานไปครั้งหนึ่งแล้ว พอถึงเวลาจะปักดำจริงๆ ต้องมาไถใหม่อีก เปลืองแรงไปครั้งที่สอง
เรื่องที่เราทิ้งค้างไว้ พอถึงเวลาจะทำให้เสร็จจริงๆ ก็ต้องนำมาดูย้อนต้นใหม่อีก เพราะลืมไปแล้วว่าเรื่องเดิมเป็นอย่างไร นี่แหละครับที่ว่าเปลืองแรง
แล้วเปลืองใจล่ะเป็นอย่างไร งานที่ทิ้งค้างไว้อย่างนั้นแหละพอมีคนถามถึงหรือนึกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ ใจหายวาบทุกที ยิ่งเป็นงานที่เขากำหนดเวลาแน่นอนว่า ไม่เกินวันนั้นวันนี้ด้วยแล้วมัวแต่เอ้อระเหยอยู่ นึกขึ้นมาได้เหลืออีกสองสามวันจะครบกำหนดต้องตาลีตาเหลือกรีบๆ ทำลวกๆ พอให้เสร็จ ผลก็กลายเป็นว่าทำอย่างย่อหย่อน ทำเสีย รู้ถึงไหนอายถึงนั่น
ถ้าไม่อยากเสียคน ก็อย่าทำงานให้คั่งค้างอากูลนะครับ (บรรทัดนี้เตือนผู้เขียนเองด้วย)
อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นว่า คนทำงานคั่งค้างจะต้องได้รับผลเสียทั้งทางกายและทางใจ ทางกายนั้นต้องเปลืองแรงถึงสองครั้ง ทางใจนั้นเล่าเวลานึกถึงงานที่คั่งค้างเมื่อใดใจหายวาบเมื่อนั้น เสียสุขภาพจิตไม่น้อย
คนจะทำงานไม่ให้อากูลคั่งค้างจะต้องมีอิทธิบาท 4 ประจำใจ คือ
ฉันทะ แปลกันว่าความพอใจ ยังไม่สื่อความหมายเท่าที่ควร ถ้าจะให้เข้าใจง่ายต้องแปลว่า ความรักงาน หรือเต็มใจทำ คนเราลงได้รักอะไรแล้ว ย่อมเต็มใจทำให้ทุกอย่าง นึกถึงสมัยยังหนุ่มยังสาวก็แล้วกัน (สำหรับท่านที่ชราภาพแล้ว) คนรักชอบอะไร ต้องการอะไร ก็ยังอุตส่าห์หามาประเคนให้ด้วยความเต็มใจ ฉันใดก็ฉันนั้น การทำงานก็ไม่แตกต่างกัน เราต้องมีความรัก เพียงแต่แปรความ "รักคน" มาเป็น "รักงาน" แล้วเราก็ทุ่มเทให้กับงานได้อย่างดี
วิริยะ พากเพียรพยายามหรือแข็งใจทำ แข็งใจในที่นี้มิใช่ฝืนใจทำแบบซังกะตาย หากหมายถึงทำงานด้วยความเข้มแข็ง กล้าสู้ กล้าบุก ไม่ว่างานจะใหญ่โตหรือลำบากแค่ไหน พยายามเต็มที่ไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
จิตตะ ตั้งใจทำ หมายถึง คิดถึงงานที่เริ่มไว้ตลอดเวลา เอาใจจดจ่ออยู่ที่งานนั้น คิดเปรียบเทียบง่ายๆ เวลาเรารักใครสักคนเราจะคิดถึงแต่คนที่เรารัก คนที่รักกันคิดถึงกันย่อมไม่มีวันจะทอดทิ้งกันแน่นอน นอกเสียแต่จะหมดรักกันเท่านั้น ฉันใด คนที่คิดถึงงานตลอดเวลา ย่อมไม่ทิ้งงาน มีแต่จะคิดหาทางปรับปรุงแก้ไขให้งานก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ฉันนั้น
วิมังสา เข้าใจทำ อันนี้หมายถึง ทำงานด้วยการใช้ปัญญาทำอย่างฉลาด คนเราถึงจะรักงานเพียงใด เอาใจจดจ่ออยู่กับงานเพียงใด ถ้าขาดปัญญาความรู้ ความเข้าใจแล้ว แทนที่งานจะสำเร็จอาจไม่สำเร็จ หรือก่อทุกข์โทษให้ก็ได้ ว่ากันว่า คนโง่ขยันนั้นอันตรายยิ่งกว่าอะไรเสียอีก เพราะแกจะขยันสร้างปัญหาให้แก่ตัวเองและคนอื่นดังตัวอย่างต่อไปนี้
บุรุษคนหนึ่งเลี้ยงลิงไว้ฝูงหนึ่ง วันหนึ่งเขาจะไปธุระต่างเมือง สั่งให้หัวหน้าลิงช่วยดูแลสวนผลไม้ที่เพิ่งปลูกใหม่ๆ เจ้านายหายไปสามสี่วันต้นไม้ในสวนตายเรียบ ไม่ใช่เพราะลิงมันขี้เกียจทำตามเจ้านายสั่ง มันทำอย่างขะมักเขม้นทีเดียว มันสั่งให้ลูกน้องช่วยกันตักน้ำมารดต้นไม้ทุกเช้า ขณะรดน้ำมันสั่งให้ลูกน้องถอนต้นไม้มาดูทุกครั้งว่า รากมันชุ่มน้ำหรือยัง ถ้ายังให้ราดน้ำลงไป ถ้ารากชุ่มแล้วจึงยัดลงหลุมกลบดินใหม่ ทำอย่างนี้ทุกวันแล้วอย่างนี้มันจะเหลืออะไร เจ้านายกลับมาเห็นต้นไม้ตายเกลี้ยงสวน แทบลมจับ นี่แหละโทษของการใช้ลิง โง่แต่ขยันรดน้ำต้นไม้
ที่สำนักงานแห่งหนึ่งผู้บริหารก็โง่ ผู้ช่วยงานก็โง่แต่ขยันขันแข็งทำงาน บางทีเซ็นสั่งงานไปทั้งที่ไม่รู้ว่าให้เขาทำอะไร พอเขาถามว่า จะให้เขาทำอะไรก็ตอบไม่ได้ เรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนแก้ไม่ไหว เพราะพวกเขาขยันสร้างเงื่อนปมเสียจริง จนผู้บริหารระดับสูงบ่นปวดศีรษะ ต้องมาช่วยแก้ไขปัญหาให้ไม่รู้จบสิ้น เวรกรรมจริงๆ คือเป็นกรรมของหน่วยงานที่มีผู้บริหารเวรๆ อย่างนั้น นี่คือโทษของการเอาคนโง่มาบริหารงาน
สรุปแล้ว คุณสมบัติของผู้ที่จะทำงานมิให้อากูล คั่งค้าง จะต้องมีความเต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำและเข้าใจทำ ใช้สูตรนี้สูตรเดียวการงานทุกอย่างไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก รับรองประสบความสำเร็จแน่นอน
หน้า 6
วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11355 มติชนรายวัน
Subscribe to:
Posts (Atom)