Tuesday, April 21, 2009
การให้ทาน สูตรสำเร็จแห่งชีวิตในวันอาทิตย์นี้คือทาน
คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
สูตรนี้สั้นๆ ง่ายๆ แต่ค่อนข้างทำยากสำหรับคนไทย ทั้งๆ ที่คนไทยเราเป็นคนใจบุญสุนทานนี่แหละ ลองมาดูกันว่ายากอย่างไร
โบราณจารย์ท่านสอนว่า การให้ทานมี 3 ลักษณะคือ ให้เพื่อสงเคราะห์ ให้เพื่ออนุเคราะห์ และให้เพื่อทำบุญ
การให้เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ เรียกอีกอย่างว่า ให้แบบทำบุญ เพราะเป็นการให้เพื่อบุญคุณ หรือหวังผลตอบแทน เช่น เราให้ของขวัญ ให้รางวัล เลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้า แก่ใคร เราก็ว่าเราให้โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไร แต่ในส่วนลึกแห่งดวงใจเรายังทวง "บุญคุณ" อยู่เงียบๆ อย่างน้อยก็อยากให้เขารู้สึกขอบบุญขอบคุณในน้ำใจไมตรีของเรา ลองคิดดีๆ จะเห็นเองครับ ถ้าเราไม่เข้าข้างตัวเองเกินไป
การให้อะไรแก่ใครแล้วหวังผลตอบแทน ไม่ถือว่าให้เพื่อทำบุญ ไม่ช่วยให้จิตใจสูงหรือสะอาดขึ้น เพราะแทนที่จะกะเทาะความโลภให้หลุดไปจากจิตสันดานกลับพอกให้หนาขึ้น ทำไปทำมา นักทำบุญแบบนี้จะกลายเป็นนักลงทุนหรือนักค้าบุญไปโดยไม่รู้ตัว
ทางศาสนา (ศาสนาพุทธนะครับ ศาสนาอื่นผมไม่รู้) สอนไว้ว่า การให้จะทำให้จิตใจเราสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น หรือทำบุญได้บุญจริงๆ นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
-สิ่งที่จะให้ต้องบริสุทธิ์ หมายถึง ข้าวปลาอาหารอะไรก็ตามที่เราจะให้นั้น ต้องเป็นของได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ขโมยคดโกงใครเขามา ของนั้นไม่จำเป็นต้องใหญ่โตมากมายหรือราคาแพงๆ น้ำพริกที่ได้มาโดยสุจริตมีผลมากกว่าโต๊ะจีนราคาพันๆ ที่โกงแชร์เขามาจัดถวายพระเสียอีก
-เจตนาจะต้องบริสุทธิ์ ก่อนให้ กำลังให้ หลังจากให้แล้วมีจิตใจเลื่อมใสยินดีให้จริงๆ มิใช่ให้ไปแล้วนึกเสียดายภายหลัง หรือให้ด้วยมีเจตนาแอบแฝงอยู่ เช่น ให้เพื่อให้คนเขารู้ว่าตนเป็นคนใจบุญสุนทาน ให้เพื่อเอาหน้า เคยเห็นภาพคุณหญิงคุณนาย หรืออาเสี่ยร้อยล้านพันล้านบางคนกำลังบริจาคทรัพย์ทำบุญอะไรสักอย่างไหมครับ แทนที่จะมองไปที่พระสงฆ์ที่ตนกำลังประเคนของให้ กลับหันหน้ามายิ้มหราทางกล้อง บางทีถวายไปแล้วกล้องถ่ายไม่ทัน ต้องทำพิธีถวายใหม่เพื่อให้กล้องบันทึกภาพไว้ชัดๆ คนจะได้เห็นทั่วกัน อย่างนี้ส่อเจตนาว่า ให้เพื่อเอา อย่างน้อยก็เอาหน้าว่าเป็นคนใจบุญ เจตนาจะบริสุทธิ์แค่ไหนก็คิดเอาเอง
-ผู้รับต้องบริสุทธิ์ ผู้รับทานของเราต้องมีศีล มีธรรมควรแก่การให้ด้วย ทานจึงจะมีผลมาก ในทางศาสนาท่านสอนให้ถวายแก่พระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ การให้ทานแก่อลัชชีแทนจะได้บุญกลับกลายเป็นว่า ให้กำลังวังชาแก่อลัชชีมาบ่อนทำลายพระศาสนาเป็นบาปเสียอีกแน่ะ
บางท่านถามว่า บางครั้งอยู่บ้านดีๆ มีคนมากดกริ่งขอเรี่ยไรเงินไปสร้างโน่น สร้างนี่ มูลนิธิอะไรต่อมิอะไรชื่อประหลาดๆ มากันบ่อย อย่างนี้ควรให้หรือไม่ ตอบแน่ชัดลงไปไม่ได้หรอกครับ ขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณของท่าน ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่ควรให้ ขอให้ถือตามพุทธโอวาทว่า พึงพิจารณาให้ดีก่อนจึงให้
คนไทยใจบุญมักให้ทานส่งเดช จึงเป็นเครื่องมือหากินของพวกมิจฉาชีพไม่รู้จบสิ้น และมักไม่เข็ดด้วยนะครับ ที่พูดนี้ได้กับตัวเองบ่อยเหมือนกัน
การให้ทานจะเป็นบุญกุศลจริงๆ จะต้องครบองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ เจตนาต้องบริสุทธิ์ ผู้รับก็ต้องบริสุทธิ์ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีผลเหมือนกัน แต่ผลไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น
พูดถึงทานทำให้นึกถึงอีกคำหนึ่งคือ จาคะ หรือปริจาคะ (ไทยเขียน บริจาค) สองคำนี้ใช้แทนกันได้ ในที่ใดท่านใช้คำเดียวว่า "ทาน" ในที่นั้นย่อมคลุมถึงความหมายของ "จาคะ" (หรือปริจาคะ) ด้วย แต่ถ้าสองคำมาด้วยกัน (อย่างในทศพิธราชธรรม) ทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของ การสละวัตถุสิ่งของให้คนอื่น จะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ เรียกทานทั้งนั้น ส่วนจาคะ (หรือปริจาคะ) ก็จะหมายเฉพาะการเสียสละกิเลส (เช่น สละความตระหนี่ถี่เหนียวแน่น, สละความเห็นแก่ตัว)
ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ว่า จาคะ หมายถึง สละความหวงแหนสิ่งของที่ตนมีออกจากใจหรือ "ตัดใจ" ทาน หมายถึง กิริยาอาการที่ยื่นสิ่งของนั้นให้คนที่ควรให้ แต่ถ้าใช้คำว่า ทาน หรือ จาคะโดดๆ ก็รวมทั้งสองความหมายนั้นอยู่ในคำเดียวกัน
มีพุทธพจน์แสดงสาเหตุที่คนให้ทานต่างๆ กัน น่าสนใจดีขอคัดมาให้ดูดังนี้ บางคนให้ทานเพราะหวังผล มีจิตผูกพันกันจึงให้ หวังสะสมจึงให้ คิดว่าจากโลกนี้ไปแล้วจะได้กินได้ใช้ บางคนให้คิดด้วยว่า การให้เป็นการกระทำที่ดี บางคนให้คิดด้วยว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายเคยทำกันมา ไม่ควรให้เสียจารีตประเพณี บางคนให้คิดด้วยว่า เรามีอยู่มีกินควรแบ่งปันให้คนที่เขาไม่มีอยู่ไม่มีกิน บางคนให้คิดด้วยว่า การให้ทานของตนเป็นเกียรติยศ บางคนให้คิดด้วยว่า เมื่อเราให้ทานจิตใจจะโสมนัสแช่มชื่น บางคนให้โดยฐานเป็นอลังการเป็นบริขารของจิต (หมายถึงเป็นเครื่องปรุงแต่งของจิตให้ดีขึ้น ฝึกจิตให้มีคุณภาพขึ้น)
ความมุ่งหมายของการให้ทานของคนสมัยพระพุทธเจ้ากับสมัยปัจจุบันคงไม่แตกต่างกันมากนัก ท่านชอบการให้แบบไหนก็เลือกเอาแล้วกัน
การให้ทานมีอยู่ 2 ประการคือ ให้เจาะจงคนให้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน กับให้แก่สงฆ์หรืออุทิศแก่ส่วนรวมเรียก สังฆทาน
อย่างแรก ทำได้ง่าย และถูกจริตนิสัยคนส่วนมากเพราะเราอยากให้อะไรแก่ใคร ก็อยากจะให้แก่คนที่เรารัก ชอบพอหรือนับถือเป็นการส่วนตัว แม้ไม่รู้จักส่วนตัว เช่น เวลาใส่บาตร บางคนยัง "เลือก" พระเลยว่า ใส่รูปนี้ดีกว่าอะไรทำนองนี้
อย่างหลัง (สังฆทาน) ทำยาก เพราะการทำใจให้เป็นกลางไม่เอียงไปข้างรัก ข้างชังนั้น ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญว่า การให้ทานไม่เจาะจง หรืออุทิศให้แก่สงฆ์ทั้งปวงมีอานิสงส์ (ผล) มากกว่าถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียอีก
คนส่วนมากยังเข้าใจผิดว่า ถวายทานแก่พระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป จึงจะเรียกสังฆทาน ไม่จริงดอกครับ ถวายพระรูปเดียวก็เป็นสังฆทานได้ ขอเพียงอย่า "เจาะจง" หรือ "เลือก" ก็แล้วกัน
วิธีถวายสังฆทานก็ไม่ต้องฟังนัก "พิธีรีตอง" ที่ไหนให้มากเรื่อง ตระเตรียมข้าวปลาอาหารที่ต้องถวาย ตั้งจิตอุทิศแก่พระสงฆ์ทั้งหมดไม่เจาะจงผู้ใด พบตัวแทนพระสงฆ์รูปใด (จะเป็นพระหรือสามเณรก็ตาม) ก็นิมนต์มารับสังฆทานที่บ้านเท่านี้ก็เป็นสังฆทานแล้วครับ
ลองหัดให้โดยไม่เจาะจง ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อการให้อย่างแท้จริงสักพักสิครับ จะรู้สึกว่าจิตใจบริสุทธิ์สะอาดและสูงขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว
วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11362 มติชนรายวัน หน้า 6
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment