Tuesday, April 21, 2009

การงานไม่อากูล


คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สูตรสำเร็จในชีวิตที่ผมจะกล่าวในอาทิตย์นี้คือ การงานไม่อากูลครับ คำนี้เป็นคำพระแท้ๆ ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องแน่ถ้าไม่อธิบาย การงานไม่อากูลก็คือการทำงานมิให้คั่งค้างนั่นแหละครับ

คนที่จะเจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จในชีวิตนอกจากจะเลือกคบคนดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี มีระเบียบวินัย ยกย่องคนควรยกย่อง ตลอดถึงปฏิบัติต่อลูกเมียดีแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยอีกข้อหนึ่งคือ การทำงาน

ผู้รู้ท่านหนึ่งเปรียบการทำงานดุจคนขับรถ รถมันจะใหม่เอี่ยมเครื่องเคราดี ยี่ห้อโก้เก๋ทันสมัยอย่างไร ถ้าคนไม่ขับเคลื่อนที่ มันก็เศษเหล็กธรรมดา ไม่ต่างจากขอนไม้ท่อนหนึ่งนั่นเอง

นั่งบนขอนไม้กับนั่งในรถหรูคันนั้น ได้ผลเท่ากันคือไปไม่ถึงที่หมาย

การที่จะไปถึงที่หมายได้ ก็ต้องสตาร์ตเครื่องแล้วก็ขับไป ฉันใดก็ฉันนั้น คนเราเกิดมาแล้วนั่งนอนอยู่เฉยๆ งานการไม่ทำ นอกจากจะไม่เจริญแล้ว จะพาลเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตเอา เพราะฉะนั้น อยากเจริญต้องทำงานและทำงานให้มีประสิทธิภาพ มิใช่สักแต่ว่าทำ

วิธีการทำงานมีอยู่ 2 แบบ คือ ทำแบบมงคลกับทำแบบอัปมงคล ทำแบบมงคล คือทำแล้วเจริญ มีหลักอยู่สั้นๆ 3 หลัก คือ ทำดี - ทำเต็มที่ - ทำให้เสร็จ ทำแบบอัปมงคลมีหลักสั้นเหมือนกันคือ ทำค้าง - ทำย่อหย่อน - ทำเสีย

งานอากูลก็คืองานค้างนั่นแหละครับ เป็นนิสัยของคนทำงานประเภทหนึ่ง (รวมผมด้วยบางครั้ง) มักไม่ชอบทำอะไรให้เสร็จทั้งที่ควรให้เสร็จ ทำได้หน่อยหนึ่งให้ทิ้งไว้ก่อน ผัดผ่อนไปเรื่อย "พรุ่งนี้ยังมีเวลา เอาไว้แค่นี้ก่อน" อะไรอย่างนี้เป็นต้น เหมือนคนแก่ฟันไม่ดี เคี้ยวอาหารให้ละเอียดไม่ได้ พอจวนจะละเอียดก็กะล่อมกะแล่มกลืนเข้าไป กินก็เท่ากับไม่ได้กิน เผลอๆ อาหารที่กลืนเข้าไปไม่ย่อยหรือย่อยยาก เป็นโทษแก่ร่างกายอีก

ลักษณะคนที่ทำงานคั่งค้างที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือชอบจับจด ทำงาน ก ได้หน่อยหนึ่งเบื่อ หันไปจับงาน ข ไปได้หน่อยหนึ่งหันไปจับงาน ค เลยไม่เสร็จสักอย่าง บางท่านคิดว่าคนเช่นนี้เป็นนักริเริ่มเริ่มงาน หรือวางแผนเก่ง หามิได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า คนจับจดต่างหาก

งานค้างเป็นอัปมงคลก็เพราะก่อผลเสียให้ทั้งร่างกายและใจ คิดไม่ดีไม่เห็น ทางกายเห็นได้ชัดๆ คือทำให้เปลืองแรง ต้องลงแรงถึงสองครั้งเป็นอย่างน้อย แทนที่จะเป็นครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาไถนาไว้แล้วไม่ปักดำ ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ ต้องมาเสียแรงงานไปครั้งหนึ่งแล้ว พอถึงเวลาจะปักดำจริงๆ ต้องมาไถใหม่อีก เปลืองแรงไปครั้งที่สอง

เรื่องที่เราทิ้งค้างไว้ พอถึงเวลาจะทำให้เสร็จจริงๆ ก็ต้องนำมาดูย้อนต้นใหม่อีก เพราะลืมไปแล้วว่าเรื่องเดิมเป็นอย่างไร นี่แหละครับที่ว่าเปลืองแรง

แล้วเปลืองใจล่ะเป็นอย่างไร งานที่ทิ้งค้างไว้อย่างนั้นแหละพอมีคนถามถึงหรือนึกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ ใจหายวาบทุกที ยิ่งเป็นงานที่เขากำหนดเวลาแน่นอนว่า ไม่เกินวันนั้นวันนี้ด้วยแล้วมัวแต่เอ้อระเหยอยู่ นึกขึ้นมาได้เหลืออีกสองสามวันจะครบกำหนดต้องตาลีตาเหลือกรีบๆ ทำลวกๆ พอให้เสร็จ ผลก็กลายเป็นว่าทำอย่างย่อหย่อน ทำเสีย รู้ถึงไหนอายถึงนั่น

ถ้าไม่อยากเสียคน ก็อย่าทำงานให้คั่งค้างอากูลนะครับ (บรรทัดนี้เตือนผู้เขียนเองด้วย)

อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นว่า คนทำงานคั่งค้างจะต้องได้รับผลเสียทั้งทางกายและทางใจ ทางกายนั้นต้องเปลืองแรงถึงสองครั้ง ทางใจนั้นเล่าเวลานึกถึงงานที่คั่งค้างเมื่อใดใจหายวาบเมื่อนั้น เสียสุขภาพจิตไม่น้อย

คนจะทำงานไม่ให้อากูลคั่งค้างจะต้องมีอิทธิบาท 4 ประจำใจ คือ

ฉันทะ แปลกันว่าความพอใจ ยังไม่สื่อความหมายเท่าที่ควร ถ้าจะให้เข้าใจง่ายต้องแปลว่า ความรักงาน หรือเต็มใจทำ คนเราลงได้รักอะไรแล้ว ย่อมเต็มใจทำให้ทุกอย่าง นึกถึงสมัยยังหนุ่มยังสาวก็แล้วกัน (สำหรับท่านที่ชราภาพแล้ว) คนรักชอบอะไร ต้องการอะไร ก็ยังอุตส่าห์หามาประเคนให้ด้วยความเต็มใจ ฉันใดก็ฉันนั้น การทำงานก็ไม่แตกต่างกัน เราต้องมีความรัก เพียงแต่แปรความ "รักคน" มาเป็น "รักงาน" แล้วเราก็ทุ่มเทให้กับงานได้อย่างดี

วิริยะ พากเพียรพยายามหรือแข็งใจทำ แข็งใจในที่นี้มิใช่ฝืนใจทำแบบซังกะตาย หากหมายถึงทำงานด้วยความเข้มแข็ง กล้าสู้ กล้าบุก ไม่ว่างานจะใหญ่โตหรือลำบากแค่ไหน พยายามเต็มที่ไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก

จิตตะ ตั้งใจทำ หมายถึง คิดถึงงานที่เริ่มไว้ตลอดเวลา เอาใจจดจ่ออยู่ที่งานนั้น คิดเปรียบเทียบง่ายๆ เวลาเรารักใครสักคนเราจะคิดถึงแต่คนที่เรารัก คนที่รักกันคิดถึงกันย่อมไม่มีวันจะทอดทิ้งกันแน่นอน นอกเสียแต่จะหมดรักกันเท่านั้น ฉันใด คนที่คิดถึงงานตลอดเวลา ย่อมไม่ทิ้งงาน มีแต่จะคิดหาทางปรับปรุงแก้ไขให้งานก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ฉันนั้น

วิมังสา เข้าใจทำ อันนี้หมายถึง ทำงานด้วยการใช้ปัญญาทำอย่างฉลาด คนเราถึงจะรักงานเพียงใด เอาใจจดจ่ออยู่กับงานเพียงใด ถ้าขาดปัญญาความรู้ ความเข้าใจแล้ว แทนที่งานจะสำเร็จอาจไม่สำเร็จ หรือก่อทุกข์โทษให้ก็ได้ ว่ากันว่า คนโง่ขยันนั้นอันตรายยิ่งกว่าอะไรเสียอีก เพราะแกจะขยันสร้างปัญหาให้แก่ตัวเองและคนอื่นดังตัวอย่างต่อไปนี้

บุรุษคนหนึ่งเลี้ยงลิงไว้ฝูงหนึ่ง วันหนึ่งเขาจะไปธุระต่างเมือง สั่งให้หัวหน้าลิงช่วยดูแลสวนผลไม้ที่เพิ่งปลูกใหม่ๆ เจ้านายหายไปสามสี่วันต้นไม้ในสวนตายเรียบ ไม่ใช่เพราะลิงมันขี้เกียจทำตามเจ้านายสั่ง มันทำอย่างขะมักเขม้นทีเดียว มันสั่งให้ลูกน้องช่วยกันตักน้ำมารดต้นไม้ทุกเช้า ขณะรดน้ำมันสั่งให้ลูกน้องถอนต้นไม้มาดูทุกครั้งว่า รากมันชุ่มน้ำหรือยัง ถ้ายังให้ราดน้ำลงไป ถ้ารากชุ่มแล้วจึงยัดลงหลุมกลบดินใหม่ ทำอย่างนี้ทุกวันแล้วอย่างนี้มันจะเหลืออะไร เจ้านายกลับมาเห็นต้นไม้ตายเกลี้ยงสวน แทบลมจับ นี่แหละโทษของการใช้ลิง โง่แต่ขยันรดน้ำต้นไม้

ที่สำนักงานแห่งหนึ่งผู้บริหารก็โง่ ผู้ช่วยงานก็โง่แต่ขยันขันแข็งทำงาน บางทีเซ็นสั่งงานไปทั้งที่ไม่รู้ว่าให้เขาทำอะไร พอเขาถามว่า จะให้เขาทำอะไรก็ตอบไม่ได้ เรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนแก้ไม่ไหว เพราะพวกเขาขยันสร้างเงื่อนปมเสียจริง จนผู้บริหารระดับสูงบ่นปวดศีรษะ ต้องมาช่วยแก้ไขปัญหาให้ไม่รู้จบสิ้น เวรกรรมจริงๆ คือเป็นกรรมของหน่วยงานที่มีผู้บริหารเวรๆ อย่างนั้น นี่คือโทษของการเอาคนโง่มาบริหารงาน

สรุปแล้ว คุณสมบัติของผู้ที่จะทำงานมิให้อากูล คั่งค้าง จะต้องมีความเต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำและเข้าใจทำ ใช้สูตรนี้สูตรเดียวการงานทุกอย่างไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก รับรองประสบความสำเร็จแน่นอน

หน้า 6
วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11355 มติชนรายวัน

No comments: