Friday, May 14, 2010

ตำนานเสาอินทขิล

ตำนานเสาอินทขิล


วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย ซึ่งครองราชอาณาจักรลานนาไทย เป็นรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงสร้างพระเจดีย์หลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๕ ด้านหน้าพระวิหารเป็นที่ตั้งของเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจัตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสี รอบเสาวัดได้ ๕.๖๗ เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึงที่พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ประดิษฐานอยู่ในบุษบก เหนือเสาอินทขิล ให้ได้สักการะคู่กัน พระเจ้ามังรายปฐมกษัตริย์ทรงสร้างเสาอินทขิลเมื่อครั้งสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ แรกสร้างอยู่ที่วัดสะดือเมือง (หรือวัดอินทขิล) ซึ่งเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางหลังเก่า ครั้นต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ได้ย้ายเสาอินทขิลมาไว้ในวัดเจดีย์หลวงและได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๓ เสาอินทขิลเป็นเสาหลักเมือง คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษ ในอดีตเป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมากล่าวไว้ในตำนานเสาอินทขิลฉบับพื้นเมืองซึ่งท่านอาจารย์พระมหาหมื่น วุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม ผู้ล่วงลับไปแล้วรวบรวมเอาไว้อย่างพิสดาร

ในสมัยก่อนได้มีพิธีสักการบูชาเสาอินทขิลเป็นประจำทุกปี การทำพิธีดังกล่าวมักจะทำกันปลายเดือน ๘ เหนือ ข้างแรมแก่ๆ ในวันเริ่มทำพิธีนั้น พวกชาวบ้านทั้งเฒ่าแก่หนุ่มสาวก็จะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียนน้ำขมิ้นส้มป่อยพานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการบูชาการทำพิธีดังกล่าวนี้มักจะเริ่มทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ และเสร็จเอาเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ เป็นประจำทุกปีจึงเรียกกันว่า “เดือน ๘ เข้า เดือน ๙ ออก”

ในระหว่างทำพิธีนี้ เขาจะจัดให้มีซอพื้นเมืองและมีช่างฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ สังเวยเทพยดาอารักษ์ ผีเสื้อ (บ้าน) ผีเมื้อ (เมือง) หรือพูดอย่างพื้นเจนบ้าน เจนเมือง และในเมื่อถึงกำหนดพิธีทุกๆ ปี พวกช่างซอที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลสักเพียงไรจะต้องเดินทางมารวมกันที่เสาอินทขิล และผลัดกันซอเป็นพลีกรรมถวาย พวกช่างซอคนใดไม่มาในงานนี้ก็จะถูกพรรคพวกไม่คบหาสมาคมและไม่มีใครจ้างไปซอตลอดชีวิต แต่ในปัจจุบันประเพณีเลิกไปเสียแล้ว



ในกาลก่อนโน้นบริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่นี้ เป็นที่ตั้งเมืองของพวกลัวะ และพวกลัวะที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ถูกผีรบกวนต่างๆ นานา เป็นที่เดือดร้อนทั่งทั้งเมือง พระอินทร์ทรงเล็งเห็นความเดือดร้อนของพลเมือง ก็คิดจะช่วยเหลือโดยบอกให้ชาวเมืองถือศีลรักษาสัตย์ บ้านเมืองจึงรอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เมื่อพระอินทร์ทรงเล็งเห็นว่าชาวเมืองมีสัตย์ดีแล้วก็บันดาลให้บ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วขึ้นภายในเมือง และให้ชาวเมืองอธิษฐานเอาตามปรารถนา ในสมัยนั้นพวกชาวเมืองมีอยู่ ๙ ตระกูล คงจะเป็นตระกูลใหญ่ทำนองเดียวกับพวกแปะแซ่ของพวกจีน พวกลัวะ ๙ ตระกูลนั้น ก็แบ่งพวกออกเป็นหมู่ๆ ละ ๓ ตระกูล คอยอยู่เฝ้ารักษาบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้วนั้น พวกลัวะทั้ง ๙ ตระกูลนี้เองทำให้เมืองนี้ได้ชื่อว่า “เมืองนพบุรี”

ต่อมาพวกลัวะ ๙ ตระกูลนั้นได้สร้างเวียงสวนดอกขึ้นอีก และอาศัยอยู่ภายในเมืองนั้นด้วยความเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลานาน บรรดาลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขกายสบายใจ เพราะมีของทิพย์เกิดขึ้นในเมืองตน ไม้ต้องทำมาหากินก็มีกินมีใช้ ขุดเอาแก้ว เงิน ทอง จากบ่อไปขายกินก็พอ



ต่อจากนั้นข่าวความอุดมสมบูรณ์ของนพบุรีที่มีบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ของทิพย์เกิดขึ้นในเมือง ก็เป็นที่เลื่องลือทั่วไปตามบ้านเมืองต่างๆ ทั้งใกล้เคียงและห่างไกล พวกหัวเมืองต่างๆ ที่ได้ข่าวก็จัดแต่งลี้พลเป็นกองศึก ยกมาชิงเอาบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้ว พวกชาวเมืองได้ทราบข่าวศึกดังนั้นก็มีความตกใจและหวาดหวั่นเกรงในการศึก จึงนำความไปให้แก่ฤาษีที่มาจำศีลภาวนาอยู่ที่นั้นให้ความช่วยเหลือ ฤาษีจึงนำความนั้นไปกราบทูลพระอินทร์ทรงทราบ พระอินทร์จึงให้เรียกกุมภัณฑ์ ๒ ตนนั้นมาแล้วไปให้เอาเอาอินทขิลเล่มกลางใส่สาแหรกเหล็ก ให้ยักษ์ ๒ ตนหาบลงเอาไปฝังไว้ที่เมืองนพบุรี เสาอินทขิลที่ว่าอยู่บนสวรรค์และมีอยู่ด้วยกันกลายๆ เล่มที่เอามาฝังที่เมืองนพบุรีนี้ว่าเป็นเล่มกลาง

เสาอินทขิลดังกล่าวนี้มีฤทธิ์มาก ด้วยอิทธิอำนาจของเสาอินทขิลนี้เองบันดาลให้พวกข้าศึกที่ยกกองทัพมาชิงเอาเมืองนพบุรีนั้นกลายร่างเป็นพ่อค้าไปหมด และเมือ่พวกพ่อค้าเหล่านี้เข้าไปในเมืองพวกลัวะชาวเมืองก็ถามว่าท่านมีประสงค์ต้องการสิ่งไรหรือ พวกพ่อค้าก็ตอบว่า พวกเรามีความต้องการอยากได้แก้ว เงิน และทองในมือของท่าน พวกชาวเมืองก็ตอบว่า พวกท่านอยากได้สิ่งใดก็อธิษฐานเอาตามความปรารถนาเถิด ขอแต่ให้พวกท่านรักษาความสัตย์ ขอสิ่งใดจงเอาสิ่งนั้น อย่าได้ละโมบในสิ่งอื่นด้วยก็แล้วกัน พวกพ่อค้าได้ยินดังนั้นก็มีความดีใจ ต่างก็ตั้งสัจจาธิษฐานบูชาขอแก้ว เงิน ทอง ตามความปรารถนา พวกพ่อค้าเหล่านี้ได้มีอธิษฐานขออยู่ทุกปี บางคนก็ทำพิธีบูชาขอเอาตามพิธีการของพวกลัวะ บางคนก็ถือเอาวิสาสะหยิบเอาไปเสียเฉยๆ ไม่ปฏิบัติบูชาและมิหนำซ้ำยังเอาท่อนไม้ ก้อนอิฐ ก้อนดิน และอาจมีของโสโครกขว้างทิ้งบริเวณนั้น และไม่ทำพลีกรรมบวงสรวงยักษ์กุมภัณฑ์สองตนซึ่งเฝ้าอยู่ที่นั้น กุมภัณฑ์สองตนเห็นว่าพวกนั้นไม่มีความนับถือตนก็โมโหจึงพากันหามเอาเสาอินทขิลกลับขึ้นไปบนสวรรค์เสียและแต่นั้นมาบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้วก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป คนพวกนั้นจะไปขอสิ่งใดก็ไม่ได้ พวกพ่อค้าเหล่านั้นก็เลยขาดลาภและต่างพากันกลับไปยังบ้านเกิดของตนเสีย



ครั้งนั้นมีลัวะผู้เฒ่าผู้หนึ่งเคยไปสักการบูชาเสาอินทขิลเสมอ วันหนึ่งก็เอาดอกไม้ธูปเทียนจะไปบูชาเสาอินทขิล ก็ปรากฏยักษ์สองตนนั้นหามกลับไปบนสวรรค์เสียแล้ว ลัวะผู้เฒ่าคนนั้นมีความเสียใจมาก จึงร้องไห้ร้องห่มต่างๆ นาน และละจากเพศคฤหัสถ์ไปถือเพศเป็นชีปะขาวบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ใต้ต้นยางนั้น (เข้าใจว่าคงไม่ใช่ต้นยางปัจจุบัน) เป็นเวลานานถึง ๒ ปี ก็มีพระเถระเจ้าองค์หนึ่งจาริกมาแต่ป่าหิมพานต์ทำนายว่าต่อไปบ้านเมืองนี้จะถึงกาลวิบัติ พวกลัวะได้ยินดังนั้นก็มีความเกรงกลัวเป็นอันมาก จึงขอร้องให้พระเถระองค์นั้นช่วยเหลือให้พ้นภัยพิบัติ พระเถระเจ้าก็รับปากว่าจะช่วยเหลือและได้ขึ้นไปขอความช่วยเหลือจากพระอินทร์

พระอินทร์ก็บอกว่าให้ชาวเมืองหล่ออ่างขาง (กระทะใหญ่) หนา ๘ นิ้วมือขวาง กว้าง ๘ ศอก ขุดหลุมลึก ๘ ศอก แล้วให้ปั้นรูปสัตว์ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้อย่าละ ๑ คู่ ปั้นรูปคนทั้งหลายให้ครบร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา ปั้นรูปช้าง ๑ คู่ ม้า ๑ คู่ แล้วเอารูปปั้นเหล่านี้ใส่กะทะเอาลงฝังในหลุมนั้น แล้วก็เอาดินถมไว้ แล้วก่อเสาอินทขิลไว้เบื้องบน และให้ทำพิธีสักการบูชาให้เหมือนกับเสาอินทขิลจริงๆ เถิด บ้านเมืองจึงจะพ้นภัยพิบัติ

พระเถระเจ้าก็นำความมาแจ้งแก่ชาวเมือง ได้ทราบดังนั้นก็ปฏิบัติตามคำของพระอินทร์ทุกประการ และได้ทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์ที่สร้างเทียมไว้นั้นแทนเสาอินทขิลจริงมิได้ขาด บ้านเมืองก็รอดพ้นจากภัยพิบัติตามที่พระเถระได้ทำนายไว้และบ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรืองสืบมา จึงมีประเพณีสักการบูชาเสาอินทขิลมาตราบกระทั่งทุกวันนี้

ครั้นต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละได้ครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงให้สร้างกุมภัณฑ์และฤาษีไว้พร้อมกับเสาอินทขิลนั้นด้วย เพื่อให้พวกประชาชนชาวเมืองได้สักการบูชาสืบต่อไป



ตามตำนานที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เข้าใจว่าผู้แต่งตำนานคงต้องการให้ประชาชนพลเมืองมีความเคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงแต่งตำนานไว้อย่างพิสดารเพื่อเป็นการส่งเสริมศรัทธาปสาทะของชาวเมือง อย่างไรก็ตามจากปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ควรเชื่อถือได้เล่าว่า ในสมัยก่อนนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะปรากฏว่ามีเจ๊กขายก๋วยเตี๋ยวเร่ขาย เมื่อมาถึงตรงนั้นอยากปัสสาวะ ทันใดนั้นเองฝูงผึ้งที่ทำรังอยู่บนต้นไม้ยางก็บินมารุมต่อเจ๊กเสียอาการปางตาย นอกจากนี้ยังเคยมีผู้เข้าไปล่วงละเมิดหรือทำสกปรกแล้วมีอันเป็นไปเจ็บป่วยไปหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์

ต่อมาครูบาเถิ้ม เจ้าอาวาสวัดแสนฝางซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงทางไสยศาสตร์ ครั้งนั้นเห็นว่ากุมภัณฑ์เฮี้ยนนัก จึงทำพิธีไสยศาสตร์ตัดศีรษะกุมภัณฑ์ออกเสีย แล้วต่อใหม่เพื่อให้ความขลังลดลง นับแต่นั้นมากุมภัณฑ์ก็เลยลดความเฮี้ยนมาจนกระทั่งบัดนี้

เรื่องเสาอินทขิลก็เป็นอันยุติเพียงเท่านี้



อนึ่ง ประเพณีโบราณไม่นิยมให้สุภาพสตรีขึ้นไปไหว้เสาอินทขิลถึงภายในวิหารอินทขิล

ทุกๆ ปี จะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล หรือเทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา ๗ วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์การเอกชน สถานศึกษา สถาบันต่างๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีพร่วมกันจัดงานตลอด ๗ วันของงาน ชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัย จะพากันบูชาเสาอินทขิลด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบอย่างเนืองแน่น และมีการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้านสมโภชตลอดงาน เมื่อทำการบูชาเสาอินทขิลด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ท่านให้กล่าวคำบูชาดังนี้

“อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ อินทะขีลัง มังคะลัตถิ อินทะขีลัง โสตถิมังคะลัง”

ประเพณีบูชาเสาอินทขิลเริ่มงานเข้าอินทขิลในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ งานวันสุดท้ายในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคอื่น ๒ เดือน) ออกอินทขิลในวันขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๙ เรียกกันติดปากว่า “เดือน ๘ เข้าเดือน ๙ ออก” วันออกอินทขิลเป็นวันทำบุญอุทิศบรรพชน ด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระ ๑๐๘ รูป ในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง

ส่วนการทำบุญสืบชะตาเมือง “๔ แจ่ง ๕ ประตู ๑ อนุสาวรีย์” นั้นทำภายหลังงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลเสร็จแล้ว ในวันข้างขึ้นเดือน ๙ เหนือวันใดวันหนึ่ง




ที่มา: เอกสารแผ่นพับงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลประจำปี ๒๕๔๖. จัดทำโดยเทศบาลนครเชียงใหม่.

No comments: