Thursday, May 20, 2010

พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว


พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว
โดย พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร

คัดลอกจาก http://www.ybat.org/

ด้วยพระเมตตา แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อพสกนิกร ชาวไทยพระองค์ประดุจพระผู้สร้างแผ่นดิน ทรงเป็นดั่งผู้ มอบชีวิต มอบความรุ่งเรือง มอบความเจริญงอกงามภายใน หัวใจคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นแรง บันดาลใจจุดประกายพลังแผ่นดิน

หากเราได้มีโอกาสศึกษาพระบรม ราโชวาท แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดด้วยคำสอน ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ แต่ละข้อ แต่ละอย่างนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากการที่พระองค์ ทรงไตร่ตรองพิเคราะห์ถึงปัญหานั้น อย่างถ่อง แท้ แล้วว่าจะเป็นหนทางแห่งการแก้ปัญหา การดับทุกข์ได้ด้วยสมาธิ

ธรรมดาสภาวะจิตอันเป็นสมาธินั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากการบังคับควบคุม เกิดขึ้นจาก ความผ่อนคลาย หรือเกิดขึ้นจากภาวะคับขันต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าจะทำให้ต้อง เร่งรวบรวมสติให้มั่น ไม่ว่าสมาธิจะเกิดขึ้นอย่างไร สมาธิเป็นของดี เป็นของที่เกิดขึ้นได้จากการ ฝึกฝน เป็นของที่มีอยู่ในกาย และในจิตอันพร้อมเป็นของเข้าใจได้ เป็นของเข้าใจง่าย และใช้ได้ กับคนทุกเพศทุกวัยและความเข้าใจอันแจ่มชัดที่แสดงให้เห็นว่า สมาธิ เองก็มิใช่ของที่เกิดขึ้น โดยลำพังหรือใช้โดยลำพัง แต่สมาธิที่ดีจะยังประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มากหากผู้ใช้สมาธิรู้จักการ ปฏิบัติอันถูกต้อง ถูกต้องทั้งแก่ตนแลถูกต้องทั้งแก่ผู้อื่น ดังที่ได้ศึกษาจากรอยพระจริยวัตร แห่ง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันได้แสดงไว้ถึงเรื่องราวของ "พระสมาธิ"

ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานหรือพิธีที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องประทับอยู่ เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คงจะได้เห็นด้วยความพิศวงกันทุกคนว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อทรงนั่งลงแล้ว จะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้นตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่ง จบไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย

นอกจากนั้น ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างกระฉับกระเฉง ต่อเนื่อง ไม่มีพระอาการที่ แสดงว่าทรงเหนื่อย หรือทรงเบื่อเลย ผมเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่ง หนึ่งในกรุงเทพมหานคร พิธีนั้นยาวถึงประมาณ ๔ ชั่วโมง และมี บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนหลายพันคน ได้เห็นเหตุ การณ์เช่นว่านั้น แต่ผมได้เห็นมากกว่านั้นคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งใน ศาลาดุสิตาลัยอีก

ในการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่ แสดงว่า เอาพระทัยจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น ในการทรงดนตรี ( ที่ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นการหย่อน พระราชหฤทัย) เป็นต้น ผมเคยเห็น พระเจ้าอยู่หัวประทับทรงดนตรี ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลยแม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรงในขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน

ในการทรงเรือใบก็เช่นเดียวกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระ ทั่งจบ ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ ด้วยความฉงนว่าเสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้าซึ่งในกติกาการแข่ง เรือใบถือว่า ฟาวล์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น

แสดงว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระเจ้าอยู่หัว เป็นงานอีกชนิดหนึ่ง ที่จะต้อง ทำด้วยความจดจ่อและต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสร็จเหมือนกัน

พระราชกรณียกิจอื่นๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือด้วยการเอาพระราชหฤทัย จดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้น จึงจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้น สำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่

ผมไปรู้เอาหลังจากที่เข้ารับราชการในตำแหน่งนายตำรวจราช สำนักประจำอยู่ได้ไม่นานว่าที่ ทรงสามารถจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจทุกชนิดได้เช่นนั้นก็เพราะพระสมาธิ

ผมไม่ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หลังจากทรง ผนวชแล้ว ประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็น เวลา ๑๕ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ทรงเลือกสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เมื่อครั้งยัง เป็นพระโสภณคณาภรณ์) ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดี ว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อยแต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย

เมื่อผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนัก ประจำในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ปรากฏว่าการศึกษา และปฏิบัติสมาธิหรือกรรม ฐาน ในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติ เป็นประจำ และข้าราชสำนักข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่าย พลเรือน และทหารก็กำลังเจริญรอยพระยุคลบาทอยู่ด้วยการ ฝึกสมาธิอย่างขะมักเขม้น

ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัดสมาธิ แม้จะเคยศึกษามาก่อน โดย เฉพาะจากหนังสือของ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ ระหว่างการตามเสด็จฯ โดยรถไฟ จากกรุงเทพมหานคร ไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ การเดินทางไกลกว่าที่ผมคาดคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ ก็อ่านจบเล่ม เสียตั้งแต่กลางทาง ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ ประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความ ปลอดภัยร่วมกันสองนาย ใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ ผมจึงลองทำดูบ้างโดยใช้อานาปานสติ (คือกำหนดรู้แต่เพียงว่ากำลังหายใจเข้า และหายใจออก) อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ และ ท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด แลเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆ มากมายและเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิและกลายเป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำมาจนทุกวันนี้

เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่ม ปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกรุณาพระราชทาน หนังสือ และแถบบันทึกเสียงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ลงมา และบางครั้งก็ทรงพระกรุณา พระราชทานพระราชดำรัส แนะนำด้วยพระองค์เอง ผมจึงได้รู้ว่า พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว นั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก รับสั่งเล่าเองว่าแม้จะทรงใช้ อานาปานสติ เป็นอุบายในการทำ สมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงสามารถที่จะกำหนดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) และพระปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ได้แต่ลำพัง ต้องทรงนับกำกับ วิธีนับของพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทำดังนี้ หายใจเข้าครั้งที่หนึ่งนับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สอง นับสอง หายใจเข้าครั้งที่สาม นับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้า นับห้า หายใจออกครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจออกครั้งที่สอง นับสอง หายใจออกครั้งที่สาม นับสาม หายใจออกครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจออกครั้งที่ห้า นับห้า

เมื่อถึงห้าแล้ว หากจิตยังไม่สงบ ก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหาหนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหา ห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้น จนกว่าจิตจะสงบ

รับสั่งว่า ที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับหนึ่งเข้าหนึ่งออกตลอดเวลา

พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิ ด้วยการรวบรวม และประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุก คน แล้วก็ทรงพระกรุรา พระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติ สมาธิอยู่

ครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่าเป็นบันทึกเสียงการ แสดงธรรมเรื่อง ฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และ ทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น

ผมรับพระราชทานแถบบันทึกเสียงม้วน นั้นมาแล้วก็เอาไป ใส่เครื่องบันทึกเสียงและเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ ปิดแล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก หลังจากนั้นไม่นานนัก ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า ฟังเทปของสมเด็จฯ แล้วหรือยัง เป็นอย่างไร

ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความอันเป็น เท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่าฟังได้ไม่ทันจบ ม้วนก็ได้หยุดฟังเสียงแล้ว ตรัสถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบ บังคมทูลตรงๆ ว่า สมเด็จฯ ท่านเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคๆ เป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯ พิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำและประโยคเทศน์ของท่านนั้น ถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ที่ฟังสมเด็จฯ เทศน์ไม่รู้เรื่องนั้นก็เพราะคิดไปก่อนใช้หรือไม่ว่า สมเด็จฯ ท่านจะพูดว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่ คาดหมายจึงเบื่อ เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ก็ทรงแนะนำว่า ให้กลับไปฟังใหม่ คราวนี้อย่า คิดไปก่อนว่าสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร สมเด็จฯ หยุดก็ให้หยุดด้วย ผมกลับมาทำตามพระราช กระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯ จากแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้ง แต่ต้น ฟังด้วยสมาธิ

สมเด็จฯ หยุดตรงไหน ผมก็หยุดตรงนั้น และ ไม่คิดๆ ไปก่อนว่า สมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร คราวนี้ ผมฟังได้จนจบและเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส แถบบันทึกเสียงม้วนนั้น เป็นม้วนที่ดีที่ สุดม้วนหนึ่ง

ครั้งหนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและกราบบังคมทูล ประสบการณ์ที่ได้ขณะทำสมาธิ ผมกราบบังคมทูลว่า ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอย ขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไรแต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า ทำท่า เหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกทำสมาธิ

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ ว่า ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะ เลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น

อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำสมาธิแล้ว ผมกราบบังคมทูลว่า พอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อน ต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ครือตัวผม และที่ปลายท่อข้างล่างผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมาก กลัวจะหลุดออกจากท่อไป ผมก็เลยเลิกทำสมาธิรับสั่งเช่นเดียวกันว่า หากยังรู้ตัว (มีสติ) อยู่ ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากจะหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่สติยัง อยู่ และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตน

ต่อมาภายหลังจากการศึกษาคำสอนของ ครูปาอาจารย์ทุก ท่าน และโดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัส สอนให้ "ดำรงสติให้มั่น" ในเวลาทำสมาธิ

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิตสงบและเกิดนิมิต ในนิมิตนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร (แขนท่อนล่าง) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปจนถึงพระอัฐิ (กระดูก)

พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิ ในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนัก ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอัน เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับ พระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น

ในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้เป็นพระประมุข และในฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ให้เป็นที่ร่มเย็นของเรา และของลูกหลานของเรา จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาทด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิกัน อย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา

http://www.dharma-gateway.com/ubasok/special-01.htm

No comments: