Saturday, December 27, 2008
Sunday, November 30, 2008
ครู
เมื่อเป็น “ศิษย์” คิดว่า...วิชายาก
ล้วนลำบากล้ำลึกเกินศึกษา
ถูกเฆี่ยน, ตีบังคับจับปากกา
ยังนึกด่า, แช่ง”ครู”อยู่มิวาย
ครั้นเติบใหญ่ใฝ่เพียรเล่าเรียนจบ
จึงค้นพบความจริงสิ่งทั้งหลาย
การเป็น”ครู”ยิ่งยากกว่ามากมาย
เหนื่อยใจ, กายแสนเข็ญไม่เว้นวาง
เขาเปรียบเทียบ “ครู” ไว้ให้พินิจ
ว่าชีวิต “ครู” เป็นเช่น “เรือจ้าง”
รับส่งศิษย์รุดหมายสู่ปลายทาง
สอนทุกอย่างมอบให้...ไร้รางวัล
ต้องอบรมบ่มนิสัยสอนใจศิษย์
ให้มีจิตมานะมุ่งขยัน
ประพฤติแต่ทางชอบกอรปคุณธรรม์
เพ่อผลบั้นปลายผองศิษย์ของตน
ชีวิต “ครู” ลำบากยากอย่างนี้
ซึ้งฤดีแล้วต้องช้ำหมองหม่น
เมื่อเล็กเคยเกลียดชังฝังกมล
บัดนี้ท้นท่วมซึ้งถึง...พระคุณ
สุรพล สุมนพัฎ
Importnat words
The six most important words,
I am sorry, I was wrong.
The five most important words,
You did it very well.
The four most important words,
What do you think?
The three most important words,
I love you.
The two most important words,
Thank you.
The one most important word,
We
The least important word,
I
ความเครียด
โลกยุคปัจจุบันนี้
มีวิทยาการล้ำหน้าไปมากมาย
คนทุกคนขวนขวายที่จักได้สิ่งต่างๆ มาสนองอารมณ์ของตน
อยากได้...อยากมี...อยากเป็นอะไร ก็ต้องหาวิธีที่จะได้มาอย่างเต็มที่
บางคนหาวิธีโดยชอบธรรมไม่ได้ ก็ใช้วิธีอันไม่ชอบธรรม
ขอเพียงให้ได้สิ่งมาสนองอารมณ์ความต้องการของตนเป็นพอ
และเมื่อไม่สามารถหาสิ่งมาสนองอารมณ์ความอยากของตนได้แล้ว
คิดหาทางเท่าใดก็ไม่ได้ดังใจ ไม่มีทางออกที่สมควรต้องการของตน
ก็คิดวุ่นวาย...คิดแล้วคิดอีก...คิดไปคิดมา
คิดมากๆ ก็เกิดความเครียด
และกลายเป็นโรคเครียดในที่สุด
โรคความเครียด
ความเครียด เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของคน
แต่ถ้าเมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว
ถ้ามีมากๆ จักเกิดผลกระทบต่อร่างกาย หน้าที่การงาน และจิตใจของตน
จึงขอให้ท่านตรวจสอบดูว่า ขณะนี้ท่านมีความเครียดหรือไม่? คือ...
๑. วิตกกังวล หงุดหงิด อารมณ์เสียบ่อย
๒. ปวดศีรษะ มึนงง รู้สึกสมองไม่โล่ง
๓. ตื่นเต้นมาก ตกใจง่าย ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม
๔. หลับไม่สนิท ฝันร้าย ท้องผูก ท้องเสีย ท้องเฟ้อ
๕. เบื่ออาหาร หรือกินมากอยากมากกว่าปกติ
๖. ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย
๗. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ถ้ามีดังนี้แสดงว่าคุณกำลังมีความเครียดมากๆ
ขอให้หาวิธีคลายเครียดและบำบัดเสียแต่เนิ่นๆ
ความเครียดจักหายไป ความสุขใจเข้ามาแทนที่
วิธีแก้โรคความเครียด
วิธีแก้ความเครียดมีมากมาย
ขอให้ลองนำวิธีต่างๆ ต่อไปนี้ไปใช้ดู อาจจะคลายเครียดได้บ้าง
๑. เมื่อเกิดความเครียดขึ้นมา ขอให้ ตั้งสติ พิจารณาว่า
บัดนี้ความเครียดได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
กล่าวคือ...ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น
๒. เมื่อยอมรับในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นแล้ว
ต่อไปขอให้เรา ปล่อยวาง ในอารมณ์ต่างๆ
อันได้แก่อารมณ์รัก อารมณ์เกลียด อารมณ์โลภ...โกรธ...หลง
แล้วค่อยหาวิธีแก้...มิใช่แก้ปัญหา แต่แก้ความเครียด
๓. วิธีแก้ปัญหาคือต้องยอมรับอีกนั่นแหละ
คือยอมรับว่า ธรรมเป็นยารักษาได้
คือใช้หลักธรรมต่างๆ ของพระพุทธเจ้าเข้าแก้ปัญหา
เชื่อแน่ว่าแนวทางที่กล่าวมาต้องรักษาได้แน่ๆ
คิดอย่างไรไม่ให้เครียด
เมื่อเกิดความเครียดขึ้นแล้ว
ขอให้ใช้ความคิดพิจารณาว่า
๑. ชีวิตนี้มีมาไม่ถึง ๑๐๐ ปี...ก็ตายแล้ว
๒. เครียดไปก็ไม่เกิดประโยชน์
ไก่...ไม่เคยเป็นโรคประสาท หรือต้องกินยาแก้โรคนั้น
เพราะมันไม่อยากมากเกินไป
๓. หาทางผ่อนคลายความเครียด
โดยการอ่านหนังสือธรรม ชมทิวทัศน์ต่างๆ
โดยการฟังธรรม ฟังเพลง ดูสารคดีเพื่อผ่อนคลาย
โดยการปฏฺบัติธรรมะ (นั่งสมาธิ) ระลึกถึงความจริง
โดยการรักษากาย วาจา ใจ ให้ถูกต้อง ดีงาม
โดยการมีพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักธรรมประจำใจอันได้แก่
มีเมตตา...ให้เขาเป็นสุข มีกรุณา...ให้เขาพ้นทุกข์
มีมุทิตา...พลอยยินดีกับเขา มีอุเบกขา...วางใจให้เป็นกลาง
ที่มา: ธรรมสภา, บันทึกแห่งชีวิต แด่...ภรรยาอันเป็นที่รักยิ่ง
Friday, November 28, 2008
“ผู้มีปัญญามากเป็นผู้ไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยม เพราะผู้มีปัญญามากไม่จำเป็นต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมอันเป็นกลโกง เป็นความไม่สุจริต ผู้มีปัญญามากสามารถใช้ปัญญา แก้ไขจัดการเรื่องราวทั้งหลายให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องด้วยดี ผู้มีปัญญารังเกียจเล่ห์เหลี่ยมไม่ยินดีที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยม แต่รู้จักเล่ห์เหลี่ยม รู้ทันผู้ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพราะปัญญาเป็นแสงสว่าง ย่อมนำให้รู้ให้เห็นให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ชัดเจนมากน้อยตามความมากน้อยของปัญญา”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
Tuesday, November 11, 2008
ทำบุญ ๑๐ วิธี ในพุทธศาสนา
บุญในพุทธศาสนาทำได้มากมายหลายวิธี สรุปได้เป็น ๑๐ วิธี คือ
๑. การบริจาคเงินและสิ่งของ เรียกว่า ทานมัย
๒. การลดละความประพฤติที่ไม่ดี และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรียกว่า
ศีลมัย
๓. การฝึกจิตรักษาใจให้สงบ เกิดปัญญา เรียกว่า ภาวนามัย
๔. การสละแรงกายช่วยเหลือผู้อื่นหรือส่วนรวม เรียกว่า ไวยาวัจจมัย
๕. ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียกว่า อปจายนมัย
๖. ความยินดีในการทำความดีของผู้อื่น เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย
๗. การเผื่อแผ่ความดีให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วม หรือได้รับส่วนบุญ เรียกว่า
ปัตติทานมัย
๘. การฟังธรรมะและศึกษาข้อคิดที่ดีงามเรียกว่า ธรรมสวนมัย
๙. การให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น เรียกว่า ธรรมเทศนามัย
๑๐. การนึกคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม เรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม
ที่มา: ๓๐ วิธีทำบุญ เพื่อสุขภาพใจและสังคม
คำอุทิศบุญ
ท่านผู้อ่านหนังสือธรรมะและผู้ร่วมสร้างบุญบารมี เมื่อได้สร้างบุญกุศลใดแล้ว หรือเมื่ออ่านหนังสือธรรมะแล้ว ให้อุทิศบุญกุศลถึงผู้ใดตามท่านปรารถนา อาจเลือกกล่าวตามตัวอย่างคำอุทิศบุญ ดังนี้
ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาติก็ดี จนถึง ณ บัดนี้ที่ได้ร่วมสร้าง อ่าน ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนธรรมะ จงมีแด่เทวดาทั้งหลายที่ประจำตัวข้าพเจ้า เทวดาที่อยู่ในบ้านเรือน อยู่ในร้านค้าอาคารที่ข้าพเจ้าได้ใช้ประโยชน์ อีกทั้งเทวดาประจำตัวบิดา มารดา ลูกหลาน ญาติของข้าพเจ้า เป็นต้น ขอให้เทวดาทั้งหลายได้โปรดมาร่วมอนุโมทนาบุญทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมา และขอให้บุญเหล่านี้จงมีแก่ญาติซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ไม่ว่าท่านจะเกิดเป็นพรหม เทวดา มาร ยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ ครุฑ นาค เงือก กินรา ผี ปีศาจ
เมื่อเทวดาและท่านทั้งหลายได้บุญกุศลเหล่านี้แล้ว ขอได้โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าและบุคคลที่เคารพรักบูชา มีสุขภาพกายใจแข็งแรง ทำงาน ทำกิจการค้าขายก็ขอให้เป็นไปด้วยดี เจริญรุ่งเรืองทั้งทรัพย์ภายนอก และทรัพย์ภายใน ข้าพเจ้าจะได้มีโอกาสสร้างบุญบารมียิ่งขึ้นด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาติก็ดี จนถึง ณ บัดนี้ที่ได้ร่วมสร้าง อ่าน ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา จงมีแก่เจ้ากรรมนายเวรตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านอาจเกิดเป็นคน สัตว์ หรือเชื้อโรคในร่างกายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลให้แก่ท่าน ขอให้ท่านได้โปรดอโหสิกรรม ท่านที่เป็นเชื้อโรคในร่างกายข้าพเจ้า ก็ขอได้โปรดออกจากร่างกายข้าพเจ้า แล้วเลือกเกิดในภพภูมิที่ดีตามที่ท่านปรารถนา
ด้วยพลานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และด้วยอานิสงส์ผลบุญที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติก็ดี ปัจจุบันชาติก็ดี จนถึง ณ บัดนี้ที่ได้ร่วมสร้าง อ่าน ศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา โปรดบันดาลให้ข้าพเจ้ามีพละกำลังกาย กำลังใจ กำลังสมาธิ กำลังความคิด กำลังสติปัญญา กำลังปิยวาจา กำลังขันติ กำลังบริวาร กำลังบารมี กำลังทรัพย์ กำลังกาลเวลา เพื่อการทำมาหาเลี้ยงชีพได้ดี จะได้มีโอกาสสร้างบุญบารมีด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เป็นเส้นทางสู่พระนิพพานด้วยเทอญ
หมายเหตุ ขอแนะนำท่านสาธุชนได้อุทิศบุญกุศลวันละมากๆ หน อย่างใช้สติ อย่างใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาของตัวอย่างคำอุทิศบุญนี้ จักช่วยให้ท่านได้มีพลังสติ พลังปัญญา เพิ่มพูนยิ่งขึ้น เมื่อสติปัญญาเพิ่มพูนจักคิดการใดก็สำเร็จได้โดยง่าย อุปสรรคใหญ่กลายเป็นเล็ก อุปสรรคเล็กสลายหายไป ขอให้สำเร็จทุกท่าน สาธุฯ
โอวาทสำหรับผู้นำ
โอวาท ท่านเล่าจื้อ
(คัดบางตอนจาก TAO OF LEADERSHIP)
แปลโดย วันทิพย์ สินสูงสุด
"ความเป็นผู้นำของพวกท่านไม่ได้อยู่ที่เทคนิคหรือการแสดง..
แต่อยู่ที่ความเงียบ และความสามารถของพวกท่านที่จะแสดงความเอาใจใส่"
"คนส่วนมากถูกความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดรบกวน......
แต่ผู้นำที่ฉลาดจะพอใจในสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่าจะเล็กน้อย..."
"คนส่วนมากนำชีวิตให้ยุ่งเหยิง...
แต่ผู้นำที่ฉลาดจะสงบ และไตร่ตรอง"
"คนส่วนมากแสวงหาสิ่งซึ่งใช้กระตุ้น และสิ่งใหม่ๆ......
แต่ผู้นำที่ฉลาดจะชอบสิ่งสามัญ และเป็นธรรมชาติ"
"เพื่อที่จะรู้ว่าคนอื่นประพฤติอย่างไร ต้องใช้ความรู้รอบ....
แต่เพื่อรู้ตนเองต้องใช้ปัญญา"
"เพื่อที่จะบริหารชีวิตของคนอื่น ต้องใช้ความเข้มแข็ง...
แต่เพื่อบริหารชีวิตของตนเอง ต้องใช้อำนาจอันแท้จริง..."
"ความสงบนิ่งของผู้นำจะชนะความเร่าร้อนของกลุ่ม....
...ความมีสติของผู้นำ เป็นเครื่องมือเบื้องต้นแห่งงานนี้"
"ยิ่งเธอมีมาก เธอก็จะได้รับมากขึ้น...เธอยิ่งต้องเฝ้าดูแลมากขึ้น....
เธอก็อาจสูญเสียมากขึ้น.... นี่เป็นเจ้าของหรือถูกเป็นเจ้าของกันแน่.."
"..แต่ถ้าเธอยอมสละสิ่งต่างๆ เสีย
เธอก็สามารถยกเลิกการใช้ชีวิตไปเฝ้าดูแลสิ่งของต่างๆ นั้นได้.."
"ขอให้พยายามสงบนิ่ง....เพื่อจะได้ค้นพบความมั่นคงภายในของเธอ...
...ถ้าเธอมีความมั่นคงภายในแล้ว.... เธอจะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอต้องการ...
...เช่นเดียวกัน เธอจะถูกล้างผลาญน้อยลง และจะอยู่ได้ยาวนานขึ้น.."
"ผู้นำที่ฉลาดรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้วก็ไป
ดังนั้น ทำไมจึงยึดฉวย และเกาะแน่นเล่า....
ทำไมจึงวิตก และงอตัวเพราะกลัวด้วยเล่า..
ทำไมจึงอยู่ในความเพ้อฝัน แห่งสิ่งที่อาจเกิดหรือไม่ด้วยเล่า..."
"น้ำนั้นเหลว อ่อนและยอม...แต่น้ำจะกัดเซาะหิน ซึ่งแข็งและไม่ยอม.....
...ผู้นำที่ฉลาดรู้ว่า การยอมรับจะเอาชนะการต่อต้าน"
"ความสุภาพอ่อนน้อมจะละลายการตั้งรับที่แข็งที่อ..."
....นี่เป็นคำพูดจริงที่มีความขัดแย็งในตัวเอง อีกข้อหนึ่ง อะไรที่อ่อนนั้นจะแข็งแรง..."
"คุณสมบัติสามประการนี้เป็นสิ่งทรงคุณค่าต่อผู้นำ...
เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย...ความเรียบง่ายและมัธยัสถ์ทางวัตถุ........
มีสำนึกแห่งความเสมอภาค....
หรือความลดน้อมถ่อมตน"
...คุณธรรมของผู้ยิ่งใหญ่...
ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้ให้กำเนิด โดยมิอ้างเป็นเจ้าของบำรุงเลี้ยง
โดยมิถือเป็นบุญคุณเกื้อกูล
โดยมิก้าวก่ายไม่นำความยิ่งใหญ่
ไปแทรกแซงขู่เข็ญบังคับใครเมื่อได้รับการเทิดทูน
ท่านไม่ท้อแท้เมื่อกิจการงานอ้นยิ่งใหญ่สำเร็จลงท่านถอนตัวจากไป....
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=icyiceberg&group=2&month=07-2006&date=13&gblog=2
Thursday, November 6, 2008
ปฐม ก กา หัดอ่าน
@ นะโมข้าจะไหว้ วระไตรระตะนา
ใส่ไว้ในเกศา วระบาทะมุนี
คุณะวระไตร ข้าใส่ไว้ในเกศี
เดชะพระมุนี ขออย่ามีที่โทษา
ข้าขอยอชุลี ใส่เกศีไหว้บาทา
พระเจ้าผู้กรุณา อยู่เกศาอย่ามีภัย
ข้าไหว้พระสะธรรม ที่ลึกล้ำคัมภีร์ใน
ได้ดูรู้เข้าใจ ขออย่าได้มีโรคา
ข้าไหว้พระภิกษุ ที่ได้ลุแก่โสดา
ไหว้พระกิทาคา อะระหาธิบดี
ข้าไหว้พระบิดา ไหว้บาทาพระชะนะนี
ไหว้พระอาจารีย์ ใส่เกศีไหว้บาทา
ข้าไหว้พระครูเจ้า ครูผู้เฒ่าใส่เกศา
ให้รู้ที่วิชา ไหว้บาทาที่พระครู
จะใคร่รู้ที่วิชา ขอเทวามาค้ำชู
ที่ใดข้าไม่รู้ เล่าว่าดูรู้แลนา
ไชโยขอเดชะ ชัยชนะแก่โลโภ
โทโสแลโมโห อย่าโลเลโจ้เจ้ใจ
กุมาระกุมารี ตะรุณีที่เยาว์วัย
จะล่อพอเข้าใจ ให้รู้จำคำวาที
ว่าไว้ใน ก กา ก ข ขา อา อิ อี
ว่าไว้ในเท่านี้ ที่พอได้ใน ก กา
แต่พอให้รู้เล่า ที่ผู้เขลาเยาวะภา
ได้ดูรู้แลนา กุมาราตะรุณี
จะใคร่ได้รู้ธรรม ที่ลึกล้ำจำไว้ดี
ได้แน่แต่เท่านี้ ดีจำเอาเบาใจครู
จะว่าแต่ล่อ ๆ ว่าแต่พอล่อใจดู
ว่าไว้พอให้รู้ ดูว่าเล่าเอาใส่ใจ
บทกวีนิพนธ์ จากหนังสือปฐม ก กา หัดอ่าน
Tuesday, October 28, 2008
จินดามณี
เข้านอกออกใน อย่าให้ลำพอง จักกราบทูลฉลอง
อย่าได้มุสาฯ
อย่าเห็นกับคน สินบาทคาดบน ให้พ้นอาญา
อย่าประจบประแจง ช่วยแรงวาสนา กิจการภารา
จงหมั่นจิตจำฯ
แม้จะว่าความ ไล่เลียงไต่ถาม ให้งามแม่นยำ
อย่าข่มเหงไพร่ หาให้ชอบธรรม เกรงบาปกลัวกรรม
ในอนาคตกาลฯ
กุศลหาไม่ เงินทองบ่าวไพร่ ถึงได้ไม่นาน
คงให้วิบัติ พลัดพรากจากสถาน เวรกรรมบันดาล
ฉิบหายวายชนม์ฯ
ที่มา: จินดามณี
Friday, September 19, 2008
แบบอย่างทั้ง 11 ประการ ของอาจารย์ “ปรีดี พนมยงค์”
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2547 14:07 น
แม้จะผ่านการถูกเคลือบแคลงสงสัยในหลายๆ เรื่อง แต่ถึงที่สุดแล้ว อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และรัฐบุรุษอาวุโส ก็รับได้รับการยกย่องจากอนุชนรุ่นหลัง ดังคำกล่าวที่ว่า “ทองแท้ไม่แพ้ไฟ” ถึงคุณงามความดีที่ท่านปฏิบัติตลอดชีวิตสุโข สุวรรณศิริ อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศเม็กซิโกและประเทศนิวซีแลนด์ ผู้เป็นศิษย์เก่า ธ.บ. น.ม. ต.ม.ธ.ก. รุ่น 6 เขียนถึงแบบอย่างที่ควรยึดถือของอาจารย์ปรีดีไว้ถึง 11 ประการ คือ
1. แบบอย่างของบุตรที่ดี พ่อแม่ทุกคนที่มีลูก ความรู้สึกที่เป็นยอดปรารถนาของทุกคนก็คือ ต้องการเห็นลูกเป็นคนดีและเติบโตเป็นทรัพย์สินของสังคม อาจารย์ปรีดี ถึงแม้จะเป็นบุตรของชาวบ้านผู้หนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าท่านเป็นบุตรที่ดีเลิศ คือ ประพฤติตัวดี เรียนดี และกระทำตนเป็นแบบอย่างในเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว กลับปฏิบัติตนโดยเห็นแก่ส่วนรวม บิดามารดาของท่านย่อมมีความภาคภูมิใจ และสังคมก็น่าจะนำท่านมาเป็นแบบอย่างของบุตรที่ดี
2. แบบอย่างของนักเรียนที่ดี ตลอดเวลาที่ศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา และได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ทุ่มเทให้แก่การเรียนจนผลการเรียนออกมาดีเลิศ ขณะเดียวกันเมื่อมีเวลาว่างก็ทำงานให้สังคม แม้จะเป็นงานระดับชาวบ้าน เช่น เคยช่วยบิดาทำนา ผมคิดว่านักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันน่าจะดูท่านเป็นแบบอย่าง
3. แบบอย่างของหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นที่ยอมรับกันว่า อาจารย์ปรีดีเป็นสามีที่น่าจะเอาเป็นแบบอย่างในสังคม เพราะได้ทุ่มเทความรักให้แก่ภรรยา (ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์) แต่เพียงผู้เดียว และเมื่อมีบุตรธิดา ก็ดูแลให้การศึกษาตามที่เขาถนัด แม้ในยามที่ท่านอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ท่านก็ยังปฏิบัติหน้าที่ของสามีที่ดีและพ่อที่ดีอย่างเต็มภาคภูมิ และไม่ขาดตกบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านสอนบุตรธิดาของท่านมิให้เห็นแก่ตัว จะประกอบอาชีพหรือปฏิบัติตัวอย่างไรก็ให้ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หัวหน้าครอบครัวโดยเฉพาะท่านที่มีอำนาจวาสนาในสังคมปัจจุบัน น่าจะยึดเป็นแบบอย่าง
4. แบบอย่างของข้าราชการที่ดี เมื่อท่านเข้ารับราชการ ท่านได้ทำหน้าที่อย่างดีเลิศ โดยถือหลักซื่อสัตย์สุจริต และเห็นแก่ประโยชน์ของสุขของประชาชนเป็นหลัก ท่านเคยกล่าวว่า ควรจะเปลี่ยนแนวคิดที่ข้าราชการเป็นนายราษฎร เป็นให้ราษฎรเป็นนายของข้าราชการ ยิ่งกว่านั้น ท่านเป็นข้าราชการที่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ไม่ใช่รอฟังแค่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ การประจบประแจงเจ้านายท่านก็ไม่เคยทำ และการคอรัปชั่นหรือการแสวงหาประโยชน์จากหน้าที่ก็ไม่เคยปรากฏ ข้าราชการทั้งหลายควรใช้เป็นแบบอย่าง เพราะถ้าเรามีข้าราชการที่ดีอย่างอาจารย์ปรีดี ประชาชนก็จะได้รับอานิสงส์ในการดำรงชีพ โดยมีความสุขตามสมควร ไม่ต้องหวาดผวาต่อการใช้อำนาจข่มขู่ หรือการเรียกร้องอามิสต่างๆ เมื่อต้องติดต่อราชการ
5. แบบอย่างของอาจารย์ที่ดี เมื่อท่านทำหน้าที่สอนหนังสือ เป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านเป็นอาจารย์ที่ดี สอนศิษย์ไม่เฉพาะในด้านวิชาการ แต่ได้สอนธรรมะให้ยึดเหนี่ยว โดยเฉพาะในด้านความถูกต้องและความเป็นธรรมต่อสังคม เพื่อศิษย์จะได้นำไปปฏิบัติในหน้าที่การงานต่อไป บรรดาครูบาอาจารย์ควรยึดถือเป็นแบบฉบับที่ดีและใช้เป็นแบบอย่าง
6. แบบอย่างของนักกฎหมายที่ดี โดยที่ท่านมีรากฐานการศึกษามาทางด้านนิติศาสตร์ ฉะนั้น เมื่อท่านทำหน้าที่ในฐานะนักกฎหมาย ท่านได้ทำตนเป็นแบบอย่างของนักกฎหมายที่ดี คือ ไม่ใช้วิชากฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แต่ให้คำนึงถึงความเป็นธรรมแก่คนในสังคม โดยเฉพาะคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ฉะนั้น การใช้กฎหมายไม่ควรดูแต่ลายลักษณ์อักษรตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องดูความเป็นธรรมเป็นใหญ่ นักกฎหมายที่ (ใฝ่) ดีจึงน่าจะดูท่านเป็นแบบอย่าง
7. แบบอย่างของนักเศรษฐศาสตร์และนักการคลังที่ดี เรื่องนี้เกือบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า ตั้งแต่ท่านทำงานการเมืองและดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ท่านได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์และความรอบรู้หลักแหลม และมีมุมมองในทางกว้าง คือมองอย่างเป็นระบบ จะเห็นได้ว่าในสมัยที่ท่านรับผิดชอบงานด้านนี้ ฐานะการคลังของประเทศนับว่าอยู่ในขั้นดีเลิศ และท่านได้กระทำการรักษาผลประโยชน์ของประเทศอย่างมหาศาล ขอยกตัวอย่างให้เห็นสักสองกรณี คือ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นต้องการพิมพ์เงินบาทใช้ระหว่างสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นยินยอม แต่ท่านได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนำทองคำมาให้เป็นทุนสำรอง โดยที่ท่านคาดการณ์สงครามได้ถูกต้องว่า ญี่ปุ่นคงแพ้สงครามแน่ และทองคำนี้อาจถูกยึดไปในฐานะทรัพย์สินของอักษะ ท่านจึงให้ญี่ปุ่นผูกหูทองคำดังกล่าวว่าเป็นของประเทศไทย ทำให้ญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องคืนทองคำนี้ให้แก่ประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ ในยุคที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านวิเคราะห์การเศรษฐกิจและการคลังของโลกได้ถูกต้อง ทำให้คาดการณ์ว่าอังกฤษต้องลดค่าเงินปอนด์แน่ๆ โดยที่เงินทุนสำรองของไทยส่วนใหญ่เป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง ท่านจึงตัดสินใจในนามรัฐบาล สั่งโอนเงินทุนสำรองจากเงินปอนด์จำนวนหนึ่งไปซื้อทองคำหนักประมาณ 1 ล้านออนซ์ และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นทุนสำรองเงินบาทแทนภายในไม่กี่วันก่อนอังกฤษประกาศลดค่าเงินปอนด์ ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มหาศาลจากการเพิ่มมูลค่าของราคาทองคำ โดยที่ตัวท่านไม่ได้ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ในทางส่วนตัวเลย
8. แบบอย่างของนักการทูตและการต่างประเทศที่ดี ในระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้แสดงความกล้าหาญเสนอแก้ไขสนธิสัญญาที่เราเสียเปรียบแก่มหาอำนาจและประเทศต่างๆ ถึง 12 ประเทศ นับเป็นการกระทำที่เป็นประวัติศาสตร์ของการต่างประเทศของไทย ที่มหาอำนาจและประเทศใหญ่ๆ ยอมตกลงกับเราเพื่อให้มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ในเวลาต่อมา ท่านยังมีความคิดว่า ประเทศเล็กๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน น่าจะรวมกลุ่มกันเพื่อมีอำนาจในการต่อรองและรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน ท่านจึงได้คิดจัดตั้ง “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ขึ้น แต่จังหวะไม่ดี พอท่านเสนอความคิดนี้ได้เพียง 2 เดือน ก็เกิดรัฐประหาร 2490 เป็นผลให้ท่านต้องลี้ภัยในต่างประเทศ แต่จากความคิดของท่านได้เป็นที่มาขององค์การส่วนภูมิภาค เริ่มจากองการอาสา อาเซียน เอเปค ฯลฯ ในเวลาต่อมา
9. แบบอย่างของผู้นำที่ดี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านได้สร้างความเป็นผู้นำด้วยการก่อตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และถึงแม้ท่านไม่ได้เป็นทหาร แต่ได้แสดงความสามารถบังคับบัญชาการสู้รบต่อผู้ครอบครอง จนทำให้สัมพันธมิตรยอมรับนับถือขบวนการเสรีไทย เป็นผลให้ประเทศไทยรอดพ้นจากสภาพการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม นับเป็นผู้นำที่กู้ชาติคนสำคัญของไทย ท่านจึงเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ดี
10. แบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดี ถึงแม้ท่านจะไม่มีโอกาสบวชพระ แต่ท่านได้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยตนเอง และสนทนาธรรมกับภิกษุที่พร้อมด้วยปฏิปทา โดยได้นิมนต์ท่านพุทธทาสไปสนทนาธรรมกับท่านถึง 2 วัน 1 คืน ท่านศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทำให้ท่านเข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักไตรลักษณ์ ซึ่งท่านได้นำไปปรับใช้กับชีวิตจริงของท่านเอง และยังได้เขียนเป็นหนังสือที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ “อนิจจังแห่งสังคม” ในเรื่องการใช้ปัญญา ท่านได้กล่าวให้โอวาทแก่ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. 2479 ว่า “ขอให้ใช้สติประกอบปัญญา นำความรู้ที่เป็นสัจจะซึ่งศึกษาเล่าเรียนมานั้นเป็นหลักนำการปฏิบัติ เพื่อรับใช้ชาติและราษฎรให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น”
11. แบบอย่างของนักการเมืองที่ดี นับตั้งแต่ท่านก้าวสู่แวดวงการเมือง สิ่งที่อยู่ในสมองของท่านก็คือ ทำอย่างไรคนยากจนและคนด้อยโอกาสจะได้ลืมตาอ้าปาก และข้อสำคัญก็คือ ท่านสละประโยชน์ส่วนตัวทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านจะรับหน้าที่สำคัญทางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นมันสมองของคณะราษฎร์ และมีตำแหน่งสำคัญจนเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งด้วยมันสมองที่เป็นอัจฉริยะของท่าน ถ้าท่านใช้อำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์ ท่านย่อมที่จะมั่งคั่งร่ำรวยได้อย่างง่ายดาย แต่ในความเป็นจริง ตั้งแต่ท่านเล่นการเมือง ท่านและครอบครัวกลับจนลงๆนี่คือแบบอย่างทั้งหมดที่ทุกคนควรศึกษาและยึดถือเป็นประทีปส่องทาง และเป็นคุณธรรมส่องใจ!!
Source:http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=2000000058261
สนทนากับเจ้าอาวาส
ส. ศิวรักษ์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ข้าพเจ้าไปอุทัยธานี (อุทัยธานีเป็นคำบาลี แปลว่าเมืองแห่งรุ่งอรุณ) ซึ่งเป็นจังหวัดหัวเมืองในภาคกลางของประเทศสยาม ห่างจากกรุงเทพ 300 กิโลเมตร เมืองนี้ไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษนัก อันที่จริงแล้ว การเดินทางไปที่นั่นก็ ลำบากมากพอดู ทางหลวงและทางรถไฟสายที่ใกล้ที่สุด อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 26 กิโลเมตร ต้องเข้าไปตามถนนลูกรังแล้วต่อเรือข้ามฟาก จึงจะเข้าตัวเมืองได้ เมืองนี้อยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง อันเป็นสาขาเล็ก ๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี การติดต่อกับกรุงเทพฯ ยังมีทางเดี่ยวคือ ทางเรือกลไฟ ทุกวันนี้อุทัยธานียังคงเป็นเมืองสงบ คนส่วนมากเป็นชาวนา อาศัยอยู่ในเรือนแพ โทรทัศน์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่วิทยุนั้นกำลังรุกเข้าไปบ่อนทำลาย ความสงบสุขอยู่โดยทั่วแล้ว
แม้อุทัยเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่ง แต่ก็ไม่มีประวัติศาสตร์จารึกอะไรไว้เป็น พิเศษพิศดาร แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมืองนี้เป็นที่กำเนิดของบุคคลมีชื่อสองคน ซึ่งเทียบได้กับอัลซิเนียดิส และโสกราติสของกรุงเอเธนส์โบราณเลยทีเดียว โดยคนแรกนั้นเป็นที่เกลียดชังของชาวเมืองโดยทั่วไป แต่ท่านหลังนั้นเป็นพระภิกษุใน พระพุทธศาสนา อันเป็นที่เคารพสักการะของคนโดยทั่วหน้า พระภิกษุรูปนี้ แท้จริงมีเชื้อสายจีน ได้เลื่อนสมณศักดิ์จนถึงขั้นสมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นที่สองรองจากประมุขของคณะสงฆ์ คือสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกเท่านั้น ถ้าว่ากันตามพระสุพรรณบัตรแล้ว พระภิกษุผู้ได้รับนามนี้ จะเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีทั้งปวง เจ้าคุณสมเด็จองค์นี้เป็น เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ (แปลว่าอัฏฐิ อันยิ่งใหญ่) อันเป็นวัดใหญ่ที่สุดวัดหนึ่งในกรุงเทพฯ พี่ชายของท่านก็เป็นเจ้าอาวาสวัดหัวเมือง โดยเป็นเจ้าคณะจังหวัดนี้ด้วย พระภิกษุสองพี่น้องนี้ ได้สร้างคุณูปการทางด้านพระศาสนาและการศึกษา ให้จังหวัดนี้เป็นอเนกประการ โดยที่เจ้าอาวาสวัดหัวเมืองผู้พี่เป็นพระที่มีความประพฤติเที่ยงตรงและ รักษา วินัยเคร่งครัด ท่านจึงสามารถชักจูงให้กุลบุตรเข้าอุปสมบทและอุทิศตัวอยู่ในพระบวรพุทธศาสนาได้สำเร็จ ถ้าหากศิษย์ของท่านรูปใดแสดงความแน่วแน่ในทางธรรมแล้ว ท่านจะส่งไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ภายใต้กา รควบคุมดูแลของเจ้าคุณสมเด็จน้องชายท่าน วัดมหาธาตุในเวลาั้นั้น จึงเป็นที่พำนักอาศัยของพระชาวจังหวัด อุทัยเป็นจำนวนมาก
เมื่อข้าพเจ้าแรกไปจังหวัดอุทัยธานี ได้พบชายชราคนหนึ่ง ประวัติของคุณลุงคนนี้ ก็เหมือน กับคนในปูนเดียวกันในเวลานั้นคือเข้าบวชเรียนในสำนักของท่านเจ้าคณะจังหวัดผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยปรนนิ- บัตร รับใช้ท่านที่วัดพิชัย (บาลี : วิชย วัดแห่งความมีชัย) เป็นเวลา 1 ปี และต่อมา ก็ถูกส่งตัวเข้า วัดมหาธาตุในกรุงเทพฯ คุณลุงบวชอยู่วัดนี้ได้ 5 พรรษา จึงสึกออกมา ข้าพเจ้าลองถามดูว่า รู้จักสมเด็จ พระวันรัตองค์ก่อนดีไหม คุณลุงตอบว่า
“รู้จักซิ เธอก็รู้ใช่ไหมว่าเจ้าคุณสมเด็จท่านเป็นชาวเมืองนี้ เรายังรู้สึกเคารพเทิดทูน ในพระเดชพระคุณท่านมาก เมื่อฉันๆไปกรุงเทพคราวนั้นกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าคุณสมเด็จ ท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส อธิบดีองค์ก่อนท่านยังคงบริหารควบคุม กิจการภาย ในวัดอยู่มาก แม้ว่าสมเด็จเจ้าอาวาสองค์นั้น ท่านมีอายุล่วงเข้าแปดสิบแล้ว”
ข้าพเจ้าจึงถามไปว่า “คุณลุงรู้จักเจ้าอาวาสองค์นี้ไหม”
ท่านตอบว่า “ไม่รู้จักเท่าไหร่หรอก ก็ท่านไม่ใช่เด็กไปจากที่นี่ ท่านมาสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระวันรัตเหมือนกันนะ เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุองค์ที่ 11 เดิมท่านชื่อ ‘ ฑิต ซึ่งย่อมากจาก คำบาลีว่า บัณฑิต แล้วท่านเป็นพระที่ฉลาดมาก ท่านมีฉายาว่า อุทาโย แต่ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับ เมืองนี้เลย ความจริงท่านเกิดที่จังหวัดอยุธยา กรุงเก่า ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่ ล่องน้ำลงไปอีก 150 กม. อย่างไรก็ตาม ฉันยังจำเรื่องราวที่คุยกับท่านได้ครั้งหนึ่ง”
“คุยกันเรื่องอะไรครับ ช่วยเล่าให้ผมฟังหน่อย”
“ความจริงแล้ว มีคนอื่นไหว้วานให้ฉันไปถามท่านอีกที เดี๋ยวนี้ฉันจำหมอนั่น ไม่ได้แล้ว ฉันรวบรวมความกล้าแล้วเข้าไปหาท่านเจ้าอาวาสผู้เฒ่า คุณก็รู้แล้วว่า พระชั้นผู้น้อย เกรงกลัว พระชั้นผู้ใหญ่ขนาดไหน โดยเฉพาะพระชั้นผู้ใหญ่ผู้คงแก่เรียน เคร่งครัดและเที่ยงธรรม ฉันดีใจว่าฉัน กล้าพอที่เข้าหาท่าน และซักถามท่านตัวต่อตัว ทันที่ที่เข้าไปในกุฏิท่าน ฉันคุกเข่าลง แล้วกราบงาม สามทีตามธรรมเนียม พอนั่งพับเพียบเรียบร้อย ก็พนมมือเรียนถามท่านว่า “ใต้เท้าครับ พวกเกล้ากระผม พระผู้เยาว์รู้สึกแปลกใจว่า ทั้งที่ใต้เท้าก็ชราภาพมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถบริหาร กิจการภายในวัด และคณะสงฆ์ได้ โดยที่ยังมีสติทรงจำดีไม่เลอะเลือน และยังสามารถรับรู้ข่าวสาร ความเป็นไปในเรื่องต่าง ๆ รอบตัวได้ดี พวกเกล้ากระผมพากันประหลาดใจว่า ทำไมใต้เท้ายังมีสติ สัมปชัญญะบริบูรณ์ และเท่าทันต่อเหตุการณ์ของโลกภายนอก พวกเกล้ากระผมบางคนใคร่จะรู้จริง ๆว่า ใต้เท้ามีหลักการ พิเศษอะไรสำหรับเป็นเครื่องดำเนินชีวิต”
“ท่านยิ้ม แล้วถามถึงชื่อคนที่ฝากถาม ฉันคงกราบเรียนบอกชื่อเจ้าของคำถาม กับท่าน แต่ตอนนี้ฉันจำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร ท่านเจ้าอาวาสผงกศีรษะรับ แต่ไม่ตอบคำถามของฉันตรงกันข้าม ท่านกลับเปรยขึ้นว่า “หากเยอรมันชนะสงคราม ฉันไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่พระศาสนา เวลานี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากำลังประชวรหนักอยู่ด้วย หากทรงเป็นอะไรไปในตอนนี้ การพระศาสนา เห็นทีจะมืดมน แต่ไหนแต่ไรมา เมื่อพระตีระฆังบอกเวลาสวดมนต์ทำวัดเช้าตอนตีสี่ พวกสุนัขมักพากัน เห่าหอนตามเสียงกลอง แต่ฉันเพิ่งสังเกตมาเมื่อไม่นานว่า เวลานี้พวกสุนัข ไม่ได้เห่าหอนกันเหมือนก่อน นี่จะเป็นลางบอกเหตุร้ายหรือดี ฉันไม่รู้ได้”
“นี่แสดงว่าจิตใจของท่านไม่สงบเลย กำลังคิดฟุ้งซ่าน และฉันเข้าใจว่าท่านต้องลืม เรื่องที่ฉันถามเมื่อครู่นี้หมดสิ้นแล้ว แต่แล้วท่านก็อยู่นิ่งสักครู่หนึ่งก่อนจะเอ่ยขึ้นทันใดว่า “เอาล่ะ กลับมาที่คำถามซึ่งเธอถามเมื่อครู่นี้ เพื่อนของเธอเขาต้องการรู้ว่า ฉันมีหลักอันใดเป็นเครื่องมือ ค้ำจุนในการประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีวิตหรือหาไม่ ฉันของตอบว่า “มี” ว่ากันตามจริงแล้วฉันถือ หลักสำคัญอยู่ 3 สูตร ฉันท่องขึ้นใจอยู่เสมอ โดยท่องเดินหน้าถอยหลังได้โดยตลอด ท่องอยู่เช่นนี้ วันแล้ววันเล่า ทั้งกลางวันกลางคืน และฉันพบว่าการทำเช่นนี้มีประโยชน์แก่ชีวิตฉันมาก”
“สูตรข้อแรก ฉันรู้ตำราไวยากรณ์มูลกัจจายน์เป็นอย่างดี ฉันท่องตำรานี้ทุกวัน เพื่อช่วยให้ความรู้ทางภาษามคธของฉันยังคงคล่องแคล่วอยู่เสมอ เดี๋ยวนี้ตำราเล่มนี้อาจจะเก่า ล้าสมัยแล้ว แต่ฉันก็อาศัยคัมภีร์นี้แหละเป็นแม่บทแห่งมคธภาษา เรียนด้วยการท่องจำ และเดี๋ยวนี้ฉันก็ยังจำมันได้ดีอยู่ ตำรานี้มีอานิสงส์กับฉันมากทีเดียว แม้ว่าพวกพระเปรียญรุ่นหลังจะ หันไปเรียนบาลีไวยากรณ์แผนใหม่ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระนิพนธ์ขึ้นแล้วก็ตาม แตพวกนี้ยังกลับมาปรึกษาฉันบ่อย ๆ ให้ช่วยแก้ปัญหา ทางไวยากรณ์ให้พวกเขา ในฐานะที่ฉัน แตกฉานตำราเก่าเป็นอย่างดีนี่เอง ฉันจึงสามารถให้คำตอบ ที่ถูกต้องแม่นยำแก่พระรุ่นใหม่ได้ หาไม่แล้ว พวกพระรุ่นหนุ่ม ๆ พวกนี้จะมีอคติต่อฉันด้วย ด้วยเจ้าใจว่าเจ้าคุณสมเด็จนี่แก่แล้ว ขี้หลงขี้ลืม เมื่อเกิดอคติเช่นนี้ ตัวพวกเขานั่นเองแหละ จะพากันเสื่อมถอยในวิชา เพราะเมื่อพระผู้น้อยคิดร้ายต่อบุคคลอื่น โดยเฉพาะต่อพระเถระผู้ใหญ่แล้วไซร้ ก็เท่ากับเขาได้ย่างก้าว สู่ทางแห่งหายนะ ซึ่งจะนำไปสู่นรกภูมิ ทางที่ถูกที่ควรพระต้องแผ่เมตตา กรุณาแก่สรรพสัตว์อยู่เสมอ ดังนั้นเพื่่อเกื้อกูลแก่ลูกวัด และเพื่อรักษาพื้นความรู้มคธภาษา ฉันจึงยึดสูตร นี้ไว้ในใจเสมอ”
“สูตรข้อสอง ฉันรู้หลักพระปาฏิโมกข์ทั้งหมดอย่างแม่นยำขึ้นใจ ดังนั้น ในวันอุโบสถเมื่อพระสวดพระวินัย ฉันจึงรู้เลยว่าพระรูปนั้นสวดผิดหรือไม่ การรู้บัญญัติข้อประพฤติ ปฏิบัติของพระภิกษุ เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับผู้อยู่ในหมู่สหธรรมิก เดิมฉันเป็นฆราวาส ยกฐานะ ตัวเองขึ้นมาเป็นสามเณร จนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุครบองค์ ต่อมาก็เลื่อนสมณศักดิ์ จากเจ้าอาวาส ชั้นผู้น้อย จนถึงชั้นสมเด็จพระวันรัตในสังฆปริมณฑลนี้ ฉันเป็นรองก็แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเท่านั้น ฉันไม่สามารถก้าวมาถึงขั้นนี้ได้เลย หากฉันไม่ปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ ของสงฆ์ถ้าฉันละเมิดศีล ข้อใหญ่แล้วไซร้ ฉันก็จะขาดจากความเป็นพระทันที แต่ถ้าฉันละเมิดศีลข้อเล็ก ๆ น้อย ๆ ฉันก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ด่างพร้อยอยู่ดี พระภิกษุจะต้องดำเนินชีวิต ที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากข้อติเตียนใด ๆ ทั้งสิ้น การสวดพระปาฏิโมกข์นี้ช่วยให้ฉันตรวจสอบตัวเอง ได้ตลอดเวลา หากฉันพบว่าฉันได้ล่วงสิกขาวินัย ข้อหนึ่งข้อใด ทั้งกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ฉันจะปลงอาบัตินั้นเสีย โดยประกาศอาบัติให้ทราบทั่วกันใน หมู่สงฆ์ ขอยกโทษเสียจากสงฆ์แล้ว ฉันก็จะกลับเป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด และมีค่าควรอยู่ในหมู่ สหธรรมิกสืบไป”
“สูตรข้อสาม ฉันจะสวดมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นประจำทุกวัน อันนับเป็นหัวใจสำหรับ การเจริญสติ ซึ่งมีอานิสงส์แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ การสวดสติปัฏฐานสูตร อาจช่วยให้บุคคลละ ความยึดมั่นถือมั่นในโลก มีสติกำหนดรู้ทุกสิ่ง และไม่หลงมัวเมาในสิ่งสมมติ สูตรนี้สามารถยัง บุคคลให้บรรลุพระสัทธรรม คือ มรรคผลนิพพานได้ในที่สุด”
“สูตรสามประการนี้แหละที่ฉันยึดถืออยู่ในใจ ฉันจะสวดท่องสูตรทั้งสามติดต่อกัน ไปเรื่องทีละสูตร โดยสวดเดินหน้าถอยหลังด้วย สวดอยู่เช่นนี้ ทั้งกลางวันกลางคืน ฉันมักสวด เวลาอยู่คนเดียว เมื่อมีใครเข้ามาพบฉัน อาจจะเป็นอาคันตุกะหรือสามเณร ที่ผลัดเวรกันขึ้นมา อ่านหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ให้ฉันฟัง ฉันก็จะหยุดสวดชั่วคราว เมื่อว่างจากคนแล้ว ฉันก็จะ กลับสวดต่อจากที่ฉันค้างไว้ ฉันปฏิบัติตามหลักนี้ ตั้งแต่สมัยเป็นพระนวกะ หลักนี้มีอานิสงส์ช่วยให้ฉันเกิด ความสบาย สงบและมีปิติสุข ภายในเพศบรรพชิตจนกระทั่งถึงทุกวันนี้”
“เอาล่ะนี่ก็สมควรแก่เวลาแล้ว เธอจงกลับไปบอกหลักปฏิบัติสามสูตรในชีวิตฉัน แก่สหธรรมิกของเธอผู้นั้นเถิด”
พิมพ์ครั้งแรก Visakha Puja 1965. (2507)
พิมพ์ซ้ำใน. ส. ศิวรักษ์ .(2527). สยามยามวิกฤต. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง
การครองใจคน
เจ้านายที่ใจดี มีความยุติธรรม เห็นอกเห็นใจและเป็นกันเองกับลูกน้อง ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือกดขี่เบียดเบียนลูกน้อง ลูกน้องย่อมจะประทับใจและให้ความเคารพยำเกรงทั้งต่อหน้าและลับหลังเมื่อลูกมีโอกาสได้เป็นเจ้านายหรือเป็นผู้บังคับบัญชาคนก็อย่าลืมความจริงข้อนี้ ถ้าอยากให้ลูกน้องรัก อยากให้เขารู้สึกประทับใจและจงรักภักดี มากกว่าทำในสิ่งที่จะทำให้เขากลัวแต่ไม่ยำเกรง ผู้ปกครองที่ใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ จะมีแต่คนกลัวแต่ไม่ประทับใจ และไม่เกิดความจงรักภักดี ส่วนผู้ที่ใช้พระคุณมากกว่าพระเดช คนเขาจะทั้งกลัวทั้งเกรง
ผู้ใหญ่ที่คิดครองใจคนโดยใช้อำนาจทางการบังคับบัญชาทำให้เขาเกรงกลัวนั้น นับว่าเข้าใจผิดโดยแท้อำนาจที่แท้จริงนั้นเกิดจากการสร้างความประทับใจเป็นสำคัญ ความประทับใจย่อมเกิดจากการให้จากความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นหลัก เช่น ให้เงินทองสิ่งของเครื่องใช้ ให้กำลังใจ ให้ความเป็นกันเอง ให้คำแนะนำที่ดี ให้คำปลอบใจ ให้อภัย ให้ความอบอุ่น รวมไปถึงให้เกียรติ ให้การยกย่องเชิดชูด้วย ถ้าต้องการจะครองใจคนตลอดไป ก็ต้องฝึกให้สิ่งเหล่านี้แก่เขาและให้บ่อยๆ การปกครองคนที่ดีก็คือปกครองใจคน และการปกครองใจคนที่ดีที่สุด คือ ปกครองให้เขาประทับใจ เมื่อเขาเกิดความประทับใจแล้ว ปัญหาในการปกครองก็แทบจะไม่มีเลยทีเดียว...
ที่มา: พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต), ๒๕๔๔, คำพ่อ คำแม่, กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,หน้า ๕๑-๕๒
Thursday, August 14, 2008
ตำนานพระเสตังคมณี
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 สุเทวฤาษีได้นำเอาดอกจำปา 5 ดอกขึ้นไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบปะสนทนาด้วยพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์ได้บอกแก่สุเทวฤาษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญ ที่ลวะรัฎฐจะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤาษีกลับจากดาวดึงส์เทวโลกแล้วจึงไปสู่เมืองละโว้ ขณะนั้นพระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถรเจ้าปรารภการที่จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตรแล้วขอพระวิศณุกรรมมาเนรมิต สำเร็จรูปเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤาษีและฤาษีอื่นๆก็ได้ไปประชุมช่วยในการสร้างพระด้วย เมื่อสำเร็จแล้วจึงได้บรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 องค์ พระนลาต (หน้าผาก) 1 องค์ พระอุระ (หน้าอก) 1 องค์ พระโอษฐ์ (ปาก) 1 องค์ รวม 4 แห่ง
เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐานที่เมืองละโว้มาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งสุเทวฤาษีสร้างนครหริภุญชัยขึ้นแล้ว จึงได้เชิญเสด็จพระแม่เจ้าจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้มาครองนครหริภุญชัย พระแม่เจ้าจามเทวีจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงประดิษฐาน ณ นครหริภุญชัยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
พญามังราย ได้ยึดครองนครหริภุญชัยได้ใน พ.ศ.1824 และได้เผาเมือง ต่อมาพญามังรายได้เสด็จตรวจความเสียหาย พบว่าหอพระในพระราชวังไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ เมื่อทอดพระเนตรดูพบว่าพระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ ณ ที่หอพระ จึงเกิดพระราชศรัทธาและอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานยังที่ประทับของพระองค์ และบูชาเป็นพระพุทธรูปพระจำพระองค์
เมื่อพญามังรายสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ.1839 จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชวัง คือบริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้โปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) และพระแก้วขาวตามอย่างโลหะปราสาทของกรุงลังกาไว้ในพระอารามราชกุฎาคารเจดีย์ หรือวัดเจดีย์หลวง
ประมาณ พ.ศ.2035 ในรัชสมัยพระยอดเชียงรายครองนครเชียงใหม่ มีคนร้ายขโมยพระแก้วขาวไปถวายกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยอดเชียงรายจึงยกทัพติดตามไปอัญเชิญพระแก้วขาวกลับมาประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ตามเดิม
พ.ศ.2089 พระแก้วขาวตกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างเป็นเวลากว่า 225 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปปราบล้านช้างสำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อันเป็นที่ซึ่งพญามังรายทรงมีพระราชศรัทธาอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก
พระแก้วขาวหรือพระเสตังคมณีประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครเชียงใหม่จึงได้รับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ซ่อมแซมอยู่เสมอ ในปี พ.ศ.2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เป็นประธานในการสร้างแท่นแกะสลักด้วยไม้แก่นจันทน์หุ้มด้วยทองคำหนัก 300 บาท 3 ซีก เจ้าราชภาคินัยและเจ้าอุบลวัณณา สร้างฉัตรทองคำถวายหนัก 100 บาท พร้อมกับจารึกบนแผ่นทองคำใต้แท่นพระเป็นภาษาล้านนาไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาฉัตรทองคำได้หายไปคงเหลือแต่ที่ปักแกนก้านฉัตรเท่านั้น
ปี พ.ศ.2539 นครเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี จึงได้มีการบูรณะฐานพระแก้วขาว เนื่องจากได้มีการอัญเชิญพระแก้วขาวออกมาให้ประชาชนสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี ทำให้เนื้อไม้แก่นจันทน์บวมขยายออก มีผลให้แผ่นทองคำที่หุ้มอยู่ปริแตก นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างฉัตรทองคำน้ำหนัก 123 บาท ประดับเพชร 9 เม็ด และพลอยอีก 37 เม็ด ถวายแด่พระแก้วขาวด้วย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร และวัดสังฆารามเชียงมั่น. 2539. เชียงมั่น: วัดแรกในเชียงใหม่. ที่ระลึกงานประเพณีนมัสการพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) พระศิลา ปอยหลวงพระวิหาร พระเจดีย์ถาวรวัตถุและฉลองสมโภชวัดเชียงมั่นเมืองเชียงใหม่ 700 ปี ณ วัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 1-5 เมษายน พ.ศ.2539.
ตำนานพระแก้วขาวกับพระศิลา วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่. 2544. พิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองสมโภชอุโบสถวัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ 700 ปี.
พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล (พระหยกเชียงราย)
ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุครบ 90พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2533 คณะสงฆ์หนเหนือนำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้างพระแก้วมรกตจำลอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพลเอกชาติชาย และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ
สำหรับหินหยกที่นำมาแกะสลักเป็นพระแก้วในครั้งนี้ เป็นหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู มหานครปักกิ่ง เมื่อโรงงานหยกได้แกะสลักหินหยกเป็นพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กราบอาราธนาสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในฐานะประธานกรรมการอุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ ได้เดินทางไปรับมอบพระพุทธรูปหยกที่มหานครปักกิ่ง เพื่ออัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2534 และประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และมีพระมหาเถระ 37 รูป นั่งปรกบริกรรม เจริญภาวนาในพิธี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2534
ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระนามพระพุทธรูปหยกว่า “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา” และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า “พระหยกเชียงราย”
คณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดพิธีสมโภชอัญเชิญพระหยกเชียงรายไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม พ.ศ.2534
ที่มา: ปิลันธน์ มาลากุล,หม่อมหลวง, 2534, นวุติวัสสานุสรณ์. มปท.
ชมรมพระพุทธรูปศักดิ์ศิทธิ์, 2548,สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาคเหนือ, กรุงเทพฯ: คอมมา ดีไซน์แอนด์พริ้นต์.
พฤติกรรมเชิงคุณธรรมของผู้ที่มีคุณธรรม
๑.เป็นผู้มีความพอดี ไม่ขาด ไม่เกินความพอดี ปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง ไม่ขาดไม่เกิน ไม่มากไม่น้อย
๒.เป็นผู้ที่กระทำด้วยเจตนาดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทำไปเพื่อสิ่งดีงาม ไม่ใช่ทำด้วยการถูกบังคับ หรือด้วยผลประโยชน์ใดๆ
๓.เป็นผู้ที่มีเหตุผลพอใจที่ได้ปฏิบัติต่อผู้อื่น และเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง
๔.เป็นผู้ที่มุ่งศานติสุข หรือความสงบ ไม่ใช่มุ่งความสมบูรณ์พูนสุขเป็นที่ตั้ง
๕.เป็นผู้ที่มีความพอ รู้จักสละสิทธิทางธรรมชาติ เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมแล้วปฏิบัติตามข้อผูกพัน และหน้าที่ด้วยความเหมาะสมเป็นที่ตั้ง
๖.เป็นผู้ที่มีนิสัยอันดีงามในการทำหน้าที่ รับผิดชอบ คือ หน้าที่และทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
๗.เป็นผู้ที่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นและความอยากต่างๆ ไว้ได้ด้วยเหตุผล
๘.เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหรือมาตรการทางจริยธรรมได้เหมาะสมแก่กาลเทศะอยู่เสมอ (โกสินทร์ รังสยาพันธ์, 2530, ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา)
สภาพจิต ๕ ประการของผู้เจริญงอกงามในจริยธรรม
๒.ปิติ ความอิ่มใจ
๓.ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ
๔.สุข ความมีใจคล่องแคล่ว ชื่นมื่น
๕.สมาธิ ความตั้งมั่นอยู่ในตัวของจิตใจ
Monday, July 21, 2008
หิริโอตัปปะคืออะไร?
หิริ คือ ความละอายต่อบาป ถึงไม่มีใครรู้แต่นึกกินแหนงแคลงใจ ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกรังเกียจ เห็นบาปเป็นของสกปรก จะทำให้ใจของเราเศร้าหมอง จึงไม่ยอมทำบาป
โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้วบาปอาจจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป
สมมติว่าเราเห็นเหล็กชิ้นหนึ่งเปื้อนอุจจาระอยู่ เราไม่อยากจับต้องรังเกียจว่าอุจจาระมาเปื้อนมือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับหิริ คือความละอายต่อบาป สมมุติว่าเราเห็นเหล็กท่อนหนึ่งเผาไฟอยู่จนร้อนแดง เรามีความรู้สึกกลัวไม่กล้าจับต้อง เพราะเกรงว่าความร้อนจะลวกเผาไหม้มือเรา ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับโอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป
“สัตบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่า ผู้มีธรรมของเทวดาในโลก” (ขุ.ชา.เอก. ๒๗/๖/๓)
เหตุที่ทำให้เกิดหิริ
๑. คำนึงถึงความเป็นคน หรือชาติตระกูล “เรานี่มีบุญอุตส่าห์ได้เกิดเป็นคนแล้ว ทำไมจึงจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากิน นั่นมันเรื่องของสัตว์เดียรัจฉาน ทำไมต้องมาแย่งเมีย ไม่ใช่หมูหมากาไก่ในฤดูผสมพันธุ์นี่ เรานี่มันชาติคน เป็นมนุษย์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว” พอคำนึงถึงชาติตระกูล หิริก็เกิดขึ้น
๒. คำนึงถึงอายุ “โธ่เอ๋ย เราก็แก่ปานนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กสาวๆ คราวลูกคราวหลานอยู่ได้อย่างไร โธ่เอ๋ย เราก็แก่ปานนี้แล้วจะมานั่งขโมยของเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร” พอคำนึงถึงวัย หิริก็เกิดขึ้น
๓. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ “ดูซิ เรามีความองอาจกล้าหาญ ทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำความชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอาละ ไม่ยอมทำความชั่วละ” พอคำนึงถึงความดีเก่าก่อน หิริก็เกิดขึ้น
๔. คำนึงถึงความเป็นพหูสูต “ดูซิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้แล้ว รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ รู้สารพัดจะรู้แล้วจะมาทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงความเป็นพหูสูต หิริก็เกิดขึ้น
๕. คำนึงถึงพระศาสดา “เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเหนื่อยยาก ตรัสรู้ธรรมแล้วทรงสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมา เราจะละเลยคำสอนของพระองค์ ไปทำความชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงพระศาสดา หิริก็เกิดขึ้น
๖. คำนึงถึงครูอาจารย์ สถานศึกษา “ฮึ เราก็ศิษย์มีครูเหมือนกัน ครูอาจารย์สู้อบรมสั่งสอนมา ชื่อเสียงสถาบันของเราก็โด่งดังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญแล้วเราจะมาทำชั่วได้อย่างไร” พอคำนึงถึงครูอาจารย์ สำนักเรียน หิริก็เกิดขึ้น
เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ
๑.กลัวคนอื่นติ “นี่ถ้าเราขืนไปขโมยของเขาเข้า คนอื่นรู้คงเอาไปพูดกันทั่ว ชื่อเสียงที่เราอุตส่าห์สร้างมาอย่างดี คงพังพินาศหมดคราวนี้เอง”เมื่อกลัวว่าคนอื่นเขาจะติเอา โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
๒.กลัวการลงโทษ “อย่าดีกว่า ขืนไปฆ่าเขาเข้า บาปกรรมตามทัน ตำรวจจับได้ มีหวังติดคุกตลอดชีวิตแน่” เมื่อกลัวว่าบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
๓.กลัวการเกิดในทุคติ “ไม่เอาละ ขืนไปขโมยของเขาอีกหน่อย ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายไม่ทำดีกว่า” เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ โอตตัปปะก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
ที่มา: ที่ระลึกงานฉลองอายุครบ ๗๒ ปี พระครูพิพัฒน์ปทุมสร หน้า๔๒๓-๔๒๔
Monday, July 14, 2008
อาลัยหลวงปู่พระพุทธพจนวราภรณ์
พ.ศ.๒๕๑๗ ท่านได้ตั้ง “มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการค้า สหกรณ์ การเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านของตนเองให้เจริญก้าวหน้า และรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ
ในการดำเนินงานนั้น ท่านได้สนับสนุนการรวมกลุ่ม ตั้งองค์กรชาวบ้านให้เข้มแข็ง ตั้งกองทุนหรือสถาบันเศรษฐกิจของชุมชนโดยวิธีการสหกรณ์ ส่งเสริมงานหัตถกรรม เพิ่มพูนความสามารถในการผลิตและบริหารจัดการ และให้นำหลักธรรมมาเป็นคุณสมบัติของสมาชิก ๔ ข้อ คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ สามัคคี รวมทั้งสนับสนุนให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยการจัดการศึกษาอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของชาวบ้าน
พระพุทธพจนวราภรณ์ได้กล่าวเสมอว่า “ผู้ที่จะทำงานพัฒนาอย่างได้ผลนั้นจะ ต้องเป็นคนมีใจรักทำงานด้วยความศรัทธา ปรารถนาจะเห็นคนที่ยังยากลำบาก สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้”
พระพุทธพจนวราภรณ์ มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สิริอายุรวม ๙๐ ปี พรรษา ๗๐ พรรษา
Thursday, May 15, 2008
เนรุชาดก อานุภาพของเนรุบรรพต
ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระศาสดา แล้วได้ไปยังหมู่บ้านชนบทตำบลหนึ่ง คนทั้งหลายเลื่อมใสในอิริยาบทของท่าน ให้ท่านฉันแล้ว สร้างบรรณศาลาในป่าให้ท่านอยู่ที่บรรณศาลานั้น และพากันถวายสักการะท่านอย่างเหลือเฟือ
ครั้งนั้น ภิกษุอื่นซึ่งเป็นพวกสัสตวาทะได้มา ณ ที่นั้น คนเหล่านั้นได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว พากันสละเถรวาททิ้ง เชื่อถือสัสสตวาท ถวายสักการะท่านเหล่านั้นเท่านั้น
ต่อมาพวกอุจเฉทวาทมา พวกเขาก็พากันสละสัสสตวาททิ้งเชื่อถืออุจเฉทวาท
ต่อมาพวกอื่น ที่เป็นอเจลกวาทมา พวกเขาก็พากันสละอุจเฉทวาททิ้ง เชื่อถือ อเจลกวาท
ท่านอยู่อย่างไม่สบายในสำนักของพวกคนเหล่านั้น ผู้ไม่รู้จักคุณและมิใช่คุณ ออกพรรษาปวารนาแล้ว จึงไปยังสำนักของพระศาสดา เป็นผู้ที่พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารแล้ว เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า เธอจำพรรษาที่ไหน ? ทูลว่า อาศัยหมู่บ้านชายแดน พระเจ้าข้า ถูกตรัสถามว่า อยู่สบายดีหรือ ? จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์อยู่อย่างเป็นทุกข์ในสำนักของผู้ไม่รู้คุณและไม่ใช่ คุณ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ บัณฑิตทั้งหลายในสมัยก่อน แม้เกิดในกำเนิดเดียรฉาน แม้เพียงวันเดียวก็ไม่อยู่กับคนทั้งหลายผู้ไม่รู้คุณและมิใช่คุณ เหตุไฉนเธอจึงอยู่ในสำนักของคนที่ไม่รู้จักคุณและ มิใช่คุณของตน พระศาสดานั้นภิกษุนั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดสุวรรณหงส์ แม้พี่ ๆ น้อง ๆ ของเขาก็มี พวกเขาพากันอยู่ที่เขาจิตกูฏ จิกกินข้าวสาลีที่เกิดเอง ในท้องที่หิมพานต์ อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาพากันเที่ยวไปในท้องถิ่นหิมพานต์นั้น แล้วกำลังกลับมายังเขาจิตกูฏ เห็นภูเขาทองลูกหนึ่ง ชื่อว่า เนรุ ในระหว่างทางจึงได้พากันเกาะอยู่บนยอดเขานั้น แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่ภูเขานั้นมีทั้งนก ทั้งกระต่าย และสัตว์ ๔ เท้านานาชนิดในทำเลหากิน ตั้งแต่เวลาเข้าไปสู่ภูเขาจะกลายเป็นมีสีเหมือนทอง เพราะต้องแสงภูเขานั้น พวกสุวรรณหงส์พากันเห็นแล้ว น้องสุดท้องของพระโพธิสัตว์ ไม่รู้เหตุนั้น สงสัยว่านั่นเป็นเหตุอะไรหนอ ? เมื่อจะสนทนากับพี่ชาย จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
[๘๔๙] กาป่า กาบ้าน และพวกเราที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย มาจับที่ภูเขาลูก
นี้แล้ว ย่อมเหมือนกันทั้งหมดทีเดียว.
[๘๕๐] ราชสีห์ เสือโคร่ง นก และเนื้อทั้งหลายซึ่งอยู่ที่ภูเขานี้ ย่อมมีสีกาย
เหมือนกันทั้งหมด ภูเขาลูกนี้ชื่อว่าอะไร?
พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า:
[๘๕๑] มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรู้จักภูเขาอันอุดมนี้ว่า เนรุบรรพต สัตว์ทุกชนิดอยู่
ที่เนรุบรรพตนี้ ย่อมมีสีกายเหมือนทอง.
น้องชายได้ยินคำนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า:
[๘๕๒] การไม่นับถือก็ดี การดูหมิ่นก็ดี การเสมอกันกับคนเลวก็ดี จะพึงมี
แก่บัณฑิตทั้งหลายในที่ใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่พอใจอยู่ในที่นั้น.*
[๘๕๓] คนเกียจคร้านกับคนขยัน คนกล้าหาญกับคนขลาด มีผู้บูชาเสมอกันในที่
ใด สัตบุรุษ ย่อมไม่อยู่ในที่นั้น ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่สามารถจะแบ่งคนให้
แปลกกันได้.
[๘๕๔] เนรุบรรพตนี้ ย่อมไม่จำแนกคนชั้นเลว คนชั้นกลาง และคนชั้นสูง
ทำให้เหมือนกันไปเสียหมด มิฉะนั้น เราจะละเนรุบรรพตนี้ไปเสีย.
* ณ ที่ใดมีทั้งการไม่นับถือ ทั้งการดูหมิ่น หรือการปราศจากความนับถือสัตบุรุษ คือ บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล หรือมีการนับถือคนเลวหรือคนทุศีล ณ ที่นั้น ผู้มีอำนาจไม่ควรอยู่
ก็แลหงส์ทั้ง ๒ ตัวนั้นครั้นพูดกันอย่างนี้แล้ว ได้พากันบินไป ยังเขาจิตกูฏนั่นเอง.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ในที่สุดแห่งสัจจะ ภิกษุนั้นได้ดำรงอยู่ ในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า หงส์ตัวน้องในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนหงส์ตัวพี่ คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ เนรุชาดก
Thursday, April 17, 2008
สร้างบริวาร
พระพุทธเจ้าทรงพรั่งพร้อมด้วยบริวารสมบัติ คือมีพระสาวกที่ทรงคุณงามความดีมีความสามารถดีมากด้วยเป็นพุทธบริวาร จึงได้เป็นกำลังประกาศพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้กระทั่งทุกวันนี้ แม้พระองค์เสด็จปรินิพพานเป็นเวลามากกว่า ๒๕ ศตวรรษแล้วก็ตาม แต่พระธรรมวินัยอันเป็นหลักคำสั่งสอนของพระองค์ ก็ยังเป็นศาสนาที่มีผู้เคารพนับถือประพฤติปฏิบัติตามๆ กันสืบมา
ผู้มีบริวารใกล้ชิดช่วยรับใช้ ถึงพร้อมด้วยบริวารสมบัติ ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง เพราะคนเราถึงจะมีวิชา มีทรัพย์ มียศ แต่ไร้บริวารก็เสมือนโล้เรือใหญ่ด้วยแรงของตนเอง จะดีเด่นและมีผู้เห็นความดีได้ชัดเจนอย่างไร
พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมครบถ้วน โดยเฉพาะทรงมีเมตตาแก่คนและสัตว์ทั่วไป สมัยหนึ่งเสด็จประทับอยู่ที่ป่าปาลิไลยก์โดยโดดเดี่ยวเพียงพระองค์เดียว เพราะทรงระอาความวิวาทของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ยังมีช้างกับลิงเข้ามาเป็นบริวารรับใช้ถวายอารักขา
ผู้ที่มีเมตตาประจำจิต รู้จักเห็นใจผู้อื่นเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ที่คล้องใจคนให้จงรักภักดียอมเป็นบริวารได้
อย่าสร้างบริวารด้วยเงินหรืออำนาจ เพราะไม่ยั่งยืนเลย แต่ถ้าผูกใจให้เขารักด้วยดีต่อเขา มีความเห็นใจเขา รู้จักสงเคราะห์เขา เป็นต้น ดังนี้ จะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยบริวารเสมอ
ที่มา: หนังสือ หลักธรรมสอนใจ หน้า ๓๘-๓๙ มีผู้พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน
Thursday, April 3, 2008
ชมสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ไหว้พระพุทธรูป 6 นิ้ว ที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร
วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งราชอาณาจักรอยุธยา และมีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ โดยสมเด็จพระสังฆราชทอง (แตงโม) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสวัดนี้ และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ได้มีการสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม อาทิ พระระเบียงหรือพระวิหารคดรอบพระอุโบสถ หอสวดมนต์ เป็นต้น
ภายในวัดใหญ่ฯ มีพระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพระพุทธลักษณะสมส่วนสวยงามมาก มีฐานพระปั้นลวดลายปิดทองประดับกระจกสี เบื้องหลังพระประธานมีพระพุทธรูปโลหะ ที่พระบาทขวามีนิ้วพระบาท 6 นิ้ว นับว่าเป็นของแปลก เบื้องหน้าพระประธานประดิษฐานพระพุทธรูปพระคันธารราษฎร์ พระอัครสาวก รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) และ รูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ ผู้ทำการบูรณะวัดใหญ่ฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5
พระอุโบสถวัดใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รูปแบบทรงไทยสมัยอยุธยา ไม่มีหน้าต่าง ผนังด้านในวาดเป็นรูปเทพชุมนุม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเพชรบุรี มีความงดงามมากดังที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวชมว่า “เส้นวาดเป็นรูปเทพชุมนุม และเครื่องอาภรณ์นั้นก็สวยงามอย่างน่าประหลาด ช่างที่อยู่ในสมัยที่ภาพเขียนเจริญถึงขีดสุดเท่านั้นจึงจะสามารถวาดจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามเช่นนี้ได้” สำหรับบานประตูพระอุโบสถวาดเป็นรูปเทพทวารบาล มีรูปทรงและสีสันสวยงาม และค่อนข้างสมบูรณ์ อายุของบานประตูและภาพวาดนั้น เจ้าหน้าที่ของวัดบอกว่ามีอายุกว่า 400 ปี
นอกจากพระพุทธรูปและพระอุโบสถแล้ว วัดใหญ่ฯ ยังมีศาลาการเปรียญ ซึ่งกล่าวกันว่าเดิมเป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าเสือพระราชทานถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม ถือเป็นตัวอย่างของพระราชมณเฑียรสมัยอยุธยาที่มีสภาพสมบูรณ์ ศาลานี้สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีขนาดใหญ่ 10 ห้อง ในศาลายังพอเห็นภาพจิตรกรรมอยู่บ้าง สิ่งที่โดดเด่นของศาลาการเปรียญนี้ได้แก่ บานประตูไม้สักแกะสลักที่สวยงามมาก โดยแกะเป็นลายก้านขดสองชั้น ออกยอดเป็นลายกระหนกและหัวสัตว์ต่างๆ อยู่ในกรอบซุ้มเรือนแก้วที่เดินเส้นซ้อนกัน บานประตูด้านซ้ายมีรอยแตก เล่าว่าเคยถูกพม่าฟันมาแล้ว นอกจากบานประตูแล้วภายในศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ฝีมืองาม รูปทรงบุษบก
บริเวณวัดมีหอไตรหลังเก่า ที่สร้างอยู่กลางสระน้ำ รูปทรงแบบเรือนไทยโบราณชั้นเดียว แต่มีเสาเพียง 3 เสา มีสะพานทอดจากริมสระไปยังหอไตร น้ำในสระมีสีเขียวมรกต ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสจะเห็นภาพพระอุโบสถสะท้อนลงบนผิวน้ำ ทำให้เกิดทัศนียภาพที่งดงามมาก
วิลาวัณย์ ฤดีศาสนต์. 2546. เพชรบุรี. กรุงเทพฯ: สารคดี.
สุมาลี งามสมบัติ. มปป. วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร. โครงการอาสาพัฒนาวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี.
ขอขอบพระคุณคุณสุเทพ รัตนนุกรม ที่อนุเคราะห์พาไปชมวัดใหญ่สุวรรณาราม
Wednesday, April 2, 2008
ชมปูนปั้นวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน ดังปรากฎศิลปโบราณวัตถุ โบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งในเขตจังหวัด ในสมัยอยุธยา เมืองเพชรบุรีมีความสำคัญในฐานะหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ที่เป็นเมืองหน้าด่าน และเป็นเมืองศูนย์กลางของการค้า เนื่องจากเรือสินค้าต่างชาติต้องจอดแวะพักก่อนเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ เมืองมอญ ดังนั้นจึงปรากฏร่องรอยการขยายตัวของชุมชน วัดวาอารามขึ้นในตัวเมืองเพชรบุรี มีการพัฒนาศิลปกรรมสกุลช่างเมืองเพชรบุรีขึ้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
เมืองเพชรบุรี มีวัดสำคัญหลายวัดที่ช่างฝีมือชาวเพชรบุรี ได้ฝากฝีมือชั้นครูไว้ ทั้งงายด้านประติมากรรม และงานจิตรกรรม วัดสำคัญที่ผู้เขียนได้ไปแวะชมลายปูนปั้น ได้แก่ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่ของเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีงานปูนปั้นที่โดดเด่น สวยงาม มากกว่าวัดอื่นๆ