Thursday, December 2, 2010

วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓




ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้จงทรงพระเกษมสำราญ มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน สถิตย์เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

Thursday, November 18, 2010

ธรรมนีติ


สตํ จกฺขู สตํ กณฺณา นายกสฺส สุโต สทา
ตถาปิ อนฺธิ พธิโร เอสา นายก ธมฺมตา

ผู้นำย่อมเป็นผู้มีตาหูนับร้อย
จึงได้ทราบเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา
แม้กระนั้นก็พึงทำเป็นคนตาบอดหูหนวกเสียบ้าง
นี้เป็นลักษณะของผู้นำ

(ธรรมนีติ 234)

Thursday, August 26, 2010

ตักบาตรเป็งปุ๊ด ที่จังหวัดเชียงราย

พิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด (เพ็ญพุธ) ที่จังหวัดเชียงราย วันที่ 24-25 สิงหาคม 2553





Wednesday, August 11, 2010

วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓



ในวโรกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้จงทรงพระเกษมสำราญ ปราศจากพระโรคาพาธ ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

Tuesday, July 20, 2010

พระโอวาท สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๓




พระโอวาท สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๓


“วันอาสาฬหบูชา เป็นวันบูชาที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในพุทธศาสนา ตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คือ เดือนอาสาฬหะ เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ ๒ เดือน ได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรกโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ท่านโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า “สิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” โดยสมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจา ให้เป็นที่ประจักษ์ ว่า อัญญาโกณฑัญญะ” คือ “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” วันนั้นจึงเป็นวันที่ พระรัตนตรัยเกิด ครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์แรกที่เกิดขึ้น คือ ท่านโกณฑัญญะ ด้วยพระบารมี พระรัตนตรัย จงมั่นใจและจงปฏิบัติเทิดทูนบูชาพระรัตนตรัย ให้เต็มจิตใจทุกเวลา ขออำนวยพร”

Sunday, June 20, 2010

พระปฐมบรมราชโองการ




พระปฐมบรมราชโองการ
ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม


พระปฐมบรมราชโองการนี้ สงเคราะห์เข้าในหลักทศพิธราชธรรม สมดังพระพุทธวจนะว่า
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
ตโต เต ชายเต ปีติ โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ
ขอพระองค์ผู้เป็นบรมกษัตริยาธิราช จงทรงพระปรีชาสามารถพิจารณาเห็นราชธรรมที่เป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ให้ดำรงในพระราชสันดานเป็นนิตย์ ดังนี้
ทาน การให้ ๑
สีลํ การตั้งสังวรรักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดปราศจากโทษ ๑
ปริจฺจาคํ การบริจาคสละ ๑
อาชฺชวํ ความซื่อตรง ๑
มทฺทวํ ความอ่อนโยน ๑
ตปํ การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว ๑
อกฺโกธํ การไม่โกรธ ๑
อวิหึสญฺจ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นตลอดถึงสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก ๑
ขนฺติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า ๑
อวิโรธนํ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดำรงอาการคงที่ ไม่ให้วิการด้วยอำนาจยินดียินร้าย ๑
บรรจบเป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ลำดับนั้นพระปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจักเกิดมีแต่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์ ดังนี้
คำโศลกแสดงธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นภาษิตของบัณฑิตผู้เกิดนอกพุทธกาลมาก่อน ภายหลังจึงนำมาร้อยกรองเป็นคำสอนในคัมภีร์พุทธศาสนา เพราะมี ๑๐ อย่าง จึงเรียกว่า ทศพิธ เพราะเป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน จึงเรียกราชธรรม
อนึ่ง หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองยังได้แก่ ราชสังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และพละกำลังของพระมหากษัตริย์เจ้า อันโบราณบัณฑิตได้กล่าวแสดงไว้โดยปริยายอื่นอีก
สังคหวัตถุ คือ พระราชจรรยานุวัตร เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ยึดหน่วงน้ำใจประชาชน เป็นราชนิติธรรมเก่าแก่ มีที่มาทั้งในทางพุทธศาสน์และพราหมณศาสน์ จำแนกเป็น ๕ ประการ แสดงอธิบายตามทางพุทธศาสน์คือ:
สสฺสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการบำรุงธัญญาหารผลาหารให้บริบูรณ์ในพระราชอาณาเขตโดยอุบายนั้นๆ เพื่อให้สรรพผลอันเกิดแต่เกษตรมณฑลอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคหวัตถุที่ ๑
ปุริสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์บุรุษ คือสงเคราะห์พระราชวงศานุวง์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ประกอบราชกิจฉลองพระคุณ ทั้งฝ่ายทหารทั้งฝ่ายพลเรือนด้วยวิธีนั้นๆ เป็นต้น ว่าทรงยกย่องพระราชทานยศฐานันดรศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่ โดยสมควรแก่กุลวงศ์ วิทยาสามารถและความชอบในราชการ เป็นสังคหวัตถุที่ ๒
สมฺมาปสํ อุบายเครื่องผูกคล้องน้ำใจประชานิกรให้นิยมยินดี คือ ทรงบำบัดความทุกข์เดือดร้อน บำรุงให้เกิดความสุข ความเจริญแก่ราษฎร และบ้านเมืองด้วยอุบายต่างๆ ปรากฏพระคุณเป็นเครื่องผูกใจประชาชนให้จงรักภักดียิ่งๆ ขึ้น เป็นสังคหวัตถุที่ ๓
วาจาเปยฺยํ ตรัสพระวาจาอ่อนหวานควรดื่มไว้ในใจ ทำความเป็นที่รักให้เกิด เช่น ทรงทักทายปราศรัยแก่บุคคลทุกชั้น ตลอดถึงราษฎรสามัญทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย โดยควรแก่ฐานะและภาวะ เป็นสังคหวัตถุที่ครบ ๔
๔ สังคหวัตถุนี้ เป็นอุบายให้เกิดสุขสมบัติ ซึ่งได้นามบัญญัติว่า นิรคฺคฬํ รัฐมณฑลราบคาบปราศจากโจรภัย จนถึงมีทวารเรือนไม่ลงกลอนเป็นคำรบ ๕
สํ.ส. ๑๕/๓๕๑/๑๑๐; องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๙/๕๔; องฺ. อฏฐก. ๒๓/๙๑/๑๕๒
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๐๕/๒๔๖; ขุ. สุ. ๒๕/๓๒๓/๓๘๓; สํ. อ. ๑/๑๖๙; อิติ. อ. ๑๒๓

จักรวรรดิวัตร คือ พระราชจรรยานุวัตรสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิพระราชาเอกในโลก ท่านแสดงไว้โดยความว่า พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน ทรงอิงอาศัยสักการะ เคารพนับถือ บูชาธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นใหญ่เป็นอธิบดี ทรงจัดการรักษาคุ้มครองป้องกันอันประกอบด้วยธรรมให้เนื่องในจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ คือ
ที่ ๑ ควรพระราชทานโอวาทและอนุเคราะห์อันโตชนคนภายในพระราชสำนัก และทรงอนุเคราะห์คนภายนอก คือพลกายกองเสนาด้วยประการต่างๆ จนถึงราษฎร ไม่ปล่อยปละละเลย
ที่ ๒ ควรทรงผูกพระราชไมตรีสมานราชสัมพันธ์มิตรกับกษัตริย์ ประธานาธิบดีแห่งประเทศนั้นๆ
ที่ ๓ ควรทรงสงเคราะห์อนุยันตกษัตริย์ คือพระราชวงศานุวงศ์ ตามสมควรแก่พระอิศริยยศ
ที่ ๔ ควรทรงเกื้อกูลพราหมณ์ คฤหบดี และคฤหบดีชน
ที่ ๕ ควรทรงอนุเคราะห์ประชาชนชาวนิคมชนบทโดยฐานานุรูป
ที่ ๖ ควรทรงอุปการะสมณฑราหมณ์ผู้มีศีลประพฤติชอบ ด้วยพระราชทานไทยธรรมบริกขารเกื้อกูลแก่ธรรมปฏิบัติ
ที่ ๗ ควรทรงจัดรักษาฝูงเนื้อและนกด้วยพระราชทานอภัยไม่ให้ใครเบียดเบียน ทำอันตรายจนเสื่อมสูญพันธุ์
ที่ ๘ ควรทรงห้ามชนทั้งหลายไม่ให้ทำกิจการที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ชักนำให้ตั้งอยู่ในกุศลสุจริตส่วนชอบ ประกอบการเลี้ยงชีพโดยทางธรรม
ที่ ๙ ชนใดขัดสนไม่มีทรัพย์พอเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะได้ ควรพระราชทานพระราชทรัพย์เจือจานให้เลี้ยงชีพ ด้วยวิธีอันเหมะสม ไม่แสวงหาด้วยทุจริต
ที่ ๑๐ ควรเสด็จเข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ตรัสถามถึงบุญบาปกุศลอกุศลให้ประจักษ์ชัด
ที่ ๑๑ ควรทรงตั้งวิรัติห้ามจิตไม่ให้เกิดอธรรมราคะในอคนิยสถาน ที่อันไม่ควรถึง
ที่ ๑๒ ควรทรงประหารวิสมโลภเจตนา ห้ามจิตมิให้ปรารถนาลาภที่ไม่ควรจะได้
ที. ปา. ๑๑/๓๕/๖๕

พละกำลังของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ๕ ประการ คือ
ข้อ ๑ กายพลํ กำลังพระกาย สมบัตินี้เกิดแต่ทรงผาสกสบายปราศจากพระโรค เพราะพระมหากษัตริย์ย่อมทรงเป็นจอมทัพ ทั้งต้องทรงปฏิบัติพระราชกรณีย์ต่างๆ จำต้องทรงพละกำลังเข้มแข็ง ถ้าขาดสมบัติข้อนี้แม้แต่จะทรงราชการก็คงไม่สะดวกได้ดี จึงควรบริหารพระองค์ให้ทรงพละกำลัง
ข้อ ๒ โภคพลํ กำลังคือโภคสมบัติ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีพระราชกิจที่พึงทรงจัด ทรงทำ และพึงมีบุคคลที่พึงบำรุงเลี้ยงเป็นอันมาก จึงควรทรงขวนขวายบำรุงกสิกรรมพานิชกรรมเป็นต้น อันเป็นทางเกิดแห่งพระราชทรัพย์ให้ไพศาล
ข้อ ๓ อมจฺจพลํ กำลังคืออำมาตย์ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีราชการที่จะทรงทำมากกว่ามาก จึงต้องมีอมาตย์ผู้ใหญ่น้อยเป็นกำลังทางนิติบัญญัติ ทางบริหารและทางตุลาการ จึงควรทรงสอดส่องวุฒิของหมู่อมาตย์แล้วยกย่องและบำราบตามควรแก่เหตุ
ข้อ ๔ อภิชจฺจพลํ กำลังคือพระชาติสูง สมบัติข้อนี้เป็นที่นิยมของมหาชน เป็นผลที่มีมาเพราะปุพเพกตปุญญตา คือได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอบรมมาแต่ในกาลก่อน เป็นเหตุให้ประพฤติดีประพฤติชอบได้โดยง่าย
ข้อครบ ๕ ปญฺญาพลํ กำลังคือปัญญา พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงประกอบพระราโชบายให้ลุล่วงอุปสรรคทั้งหลาย ต้องทรงมีพระปรีชาญาณรอบรู้ รอบคอบและสามารถ จึงควรทรงแสวงหาทางมาแห่งปัญญา ด้วยทรงวิจารณ์เหตุการณ์ภายในภายนอก อันเป็นไปในสมัยเพื่อพระญาณแจ้งเหตุผลประจักษ์ชัด
ขุ. ชา. ๒๗/๒๔๔๔/๕๔๓; ช. อ. ๗/๓๔๘

ที่มา: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. 2530. พระบรมราโชวาท. ทรงวิทย์ แก้วศรี, ประภาส สุระเสน, ชนินท์ สุขเกษี และ ประสิทธิ์ จันรัตนา (บรรณาธิการ). จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐. หน้า 2-4

Tuesday, June 8, 2010

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓



วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๔ ปี ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

Monday, May 31, 2010

การชื่นชมผู้อื่น (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)


การชื่นชมผู้อื่น (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

การชื่นชมผู้อื่น

การทำความดีแต่ละครั้งนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ทำจะได้รับผลดีด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ย่อมเกิดแก่ผู้อื่นด้วย

ทุกคนที่เป็นปุถุชน ย่อมยังต้องการกำลังใจ คือต้องการความสนับสนุนจากผู้อื่น เป็นการยากนักที่จะมีผู้ไม่แยแสความสนัสนุนจากภายนอก เพื่อให้มีความมั่นใจตัวเองเพียงพอ ดังนั้นจึงต้องมีการยกย่องสนับสนุนคนทำดี เพื่อให้กำลังใจทำความดีให้ยิ่งขึ้นต่อไป

เมื่อ ผู้ใดผู้หนึ่งทำความดี ควรแสดงความรับรู้อย่างชื่นชมให้เขาได้รู้เห็น

เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งทำความดี ได้รู้ได้เห็นเข้า อย่างน้อยกว่าควรแสดงความรับรู้อย่างชื่นชม ให้ผู้ทำความดีนั้นรู้เห็น เพื่อเป็นกำลังใจส่งเสริมให้ไม่ท้อแท้เหนื่อยหน่าย ต่อการที่จะกระทำความดีต่อไป

อย่างมากก็ให้เกิดความซาบซึ่งชื่นชมในความดีของผู้อื่นอย่างจริงจัง และที่ไม่ควรยกเว้นก็คือ ให้คิดว่าผู้ทำความดีนั้น ไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเองเท่านั้น แต่เขาทำเพื่อเราด้วย

: แสงส่องใจ
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


ที่มา [url=http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10482]::

ความริษยา (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)


ความริษยา (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)

ผู้มีความริษยานั้น ทำอะไรรุนแรงได้ร้อยแปด แม้เป็นความไม่จริงก็พูดได้ ใส่ร้ายได้ มุ่งเพียงเพื่อความฉิบหายของผู้ถูกริษยาเท่านั้น

อำนาจ ความมุ่งร้ายต่อผู้ที่ถูกริษยารุนแรงนักหนา
คิดพูดทำอะไรได้ทุกอย่าง
มุ่งพียงเพื่อทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ถูกริษยา
ผู้ถูกถือว่าเป็นศัตรูร้าย
น่าจะลืมสนิทถึงบาปกรรมที่ตนกำลังทำว่า
กำลังนำชีวิตไปนรกเพราะบาปกรรมนั้น

บาปกรรมที่เจ้าตัวผู้กระทำรู้ดีว่า เป็นบาปกรรมที่ตนทำขึ้นจริง ๆ ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่มีส่วนทำชั่วดังถูกยกขึ้นอ้างถึงเลย

ควรสงสารบรรดาผู้ที่ไม่ได้มีความริษยาด้วยแม้แต่น้อยและก็มีจิตใจห่วงบ้าน เมืองมากเกินไป ไม่อยากให้คนเลวเชิดหน้าชูตาอยู่ในบ้านเมืองอย่างคนดี อย่างที่ทำให้ใคร ๆ หลงเข้าใจว่าเป็นคนดี

ผู้ห่วงบ้านห่วงเมือง ห่วงผู้คนในบ้านในเมืองไทยว่าจะมีคนชั่วอยู่ร่วมสังคมคนดี จึงตัดสินใจทำหน้าที่ช่วยสถาบัน ด้วยการคิดพูดเต็มความสามารถเพื่อให้ความไม่ดีของผู้นั้นปรากฏประจักษ์แก่คน ทั่วไป

โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ความจริง คือไม่ได้รู้ว่าผู้ตกเป็นเหยื่อความริษยานั้นตีหน้าหลอกหลวงว่า เป็นคนดีทั้งที่เป็นคนไม่ดีสารพัดจริงหรือไม่ หรือว่าเพียงถูกกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม ความรักความห่วงใยสถาบันก็ทำให้ตัดสินใจให้ความปกป้องคุ้งครองเต็มที่ ประกาศให้รู้กันว่า คนไม่ดีกำลังเข้ามามีบทบาททำลายบ้านเมืองไทยที่รัก ให้ทำลายเขาเสียก่อน

แผนการทำลายเพื่อรักษาสถาบันที่รักของไทยจึงเริ่มกระทำกันอย่างจริงจัง กระเทือนไปทั่ว ผู้เป็นเหยื่อความริษยาที่ก็ยืนยันกับตัวเองและกับผู้ที่เชื่อในความดีของ ผู้ตกเป็นเหยื่อริษยาว่า คนเหล่านั้นกำลังทำบาปที่ร้ายแรงนักหนาจะพาความวุ่นวายเดือดร้อนรุนแรงมาสู่ ประเทศชาติ

การทำลายคนดีมีหรือจะไม่บาป
แม้จะรู้สึกว่าทำเพื่อชาติก็ตาม
แต่เมื่อผู้ต้องรับเคราะห์กรรมอย่างน่าเศร้าเสียใจที่สุดเป็นคนดี
การทำร้ายคนดีให้เดือดร้อนนักหนา
จะคิดอย่างไร จะอ้างอย่างไร
ก็ไม่พ้นต้องรับบาปอันเกิดแต่กรรมของตนแน่
เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเพียงไรเท่านั้น

ที่มา[url=http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13868]:

Thursday, May 27, 2010

วิสาขบูชา ๒๕๕๓



ในโอกาสวันวิสาขบูชา ๒๕๕๓ ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ต่อสรรพสัตว์

Saturday, May 22, 2010

เทศนาหลวงปู่มั่น "ถ้าขาดพระมหากษัตริย์ อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย"


เทศนาหลวงปู่มั่น "ถ้าขาดพระมหากษัตริย์ อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย"

เรื่องอริยบุคคลนี้ ท่านพระอาจารย์ปรารภไว้หลายสถานที่ หลายวาระ ต่างๆกัน
แล้วแต่เหตุ ท่านฯเล่าว่า ....
ชาวพุทธมีหลายประเทศ แต่จะขอกล่าวเฉพาะใกล้เคียง
เขมร ลาว เวียดนาม และพม่า นอกนี้ไม่กล่าว.......

ท่านพระอาจารย์บอกว่า
“เราไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้นแต่ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีก็ว่าไม่มี มีก็ว่ามี”
ท่านพระอาจารย์หมายถึง
พระอริยบุคคลในประเทศเหล่านี้ มีที่ประเทศพม่าเพียงคนเดียว คือ หมู่บ้านที่ท่านไปจำพรรษา เป็นผ้าขาว ที่ผู้เล่าเคยเล่าว่า บุตรสาว บุตรเขย และบุตรชายของตาผ้าขาวคนนั้นละ ที่มาจัดเสนาสนะของบิดาเขาถวายท่านพระอาจารย์ และท่านเจ้าคุณบุญมั่น ครั้งจำพรรษาที่ประเทศพม่า ท่านฯว่า
“ยกเว้นสยามประเทศแล้วนอกนั้นไม่มี ”
“สำหรับสยามประเทศ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีติดต่อมาโดยไม่ขาดสายทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงและบรรชิต แต่มรรคขั้นต้นคฤหัสถ์มากกว่า ทั้งปริมาณและมีสิกขาน้อยกว่า ”

ท่านฯ เล่าต่อไปว่า
เราไม่ได้ว่าเขา เราไม่ได้ดูหมิ่นเขา เพราะประเทศเหล่านั้นขาดความพร้อม
คือคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น เรื่องอักขระ ที่ไม่เป็นพุทธภาษา คือ ฐานกรณ์วิบัติ และ องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ องค์พระมหากษัตริย์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานี้ก็สำคัญ ขาดไม่ได้ ถ้าขาดไป อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย

ท่านพระอาจารย์ว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงประกาศพระศาสนา ทรงหาหลักค้ำประกันอันมั่นคงคือ มุ่งไปที่พระเจ้าพิมพิสาร ความสำคัญอันนี้มีมาตลอด หากประเทศใดไม่มีองค์ประกอบนี้ ซึ่งเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ก็ปฏิเสธได้เลย

เปรียบเหมือนกับก้อนเส้า ๓ ก้อน ก้อนที่ ๑ คือความเป็นชาติ ก้อนที่ ๒ มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก้อนที่ ๓ มีพระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หากขาดไปก้อนใดก้อนหนึ่ง ก็จะขาดความสมบูรณ์ไป ไม่สามารถจะใช้นึ่งต้มแกงหุงหาอาหารได้.


คัดลอกจาก หนังสือ "รำลึกวันวาน" โดยกองทุนแสงตะวัน วัดปทุมวนาราม
หมวดรำลึกพระธรรมเทศนา หน้าที่ ๒๕๘
(เป็นหนังสือรวบรวมเกร็ดประวัติ ปกิณกธรรม และพระธรรมเทศนา แห่งองค์หลวงปู่มั่น จากบันทึกความทรงจำของหลวงตาทองคำ จารุวณโณ ในสมัยที่ได้อยู่อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗-๒๔๙๒)
การโพสต์นี้ได้ถูกแก้ไขโดย ภพกฤต: 31/10/2007 - 2

Thursday, May 20, 2010

พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว


พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว
โดย พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร

คัดลอกจาก http://www.ybat.org/

ด้วยพระเมตตา แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อพสกนิกร ชาวไทยพระองค์ประดุจพระผู้สร้างแผ่นดิน ทรงเป็นดั่งผู้ มอบชีวิต มอบความรุ่งเรือง มอบความเจริญงอกงามภายใน หัวใจคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นแรง บันดาลใจจุดประกายพลังแผ่นดิน

หากเราได้มีโอกาสศึกษาพระบรม ราโชวาท แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดด้วยคำสอน ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ แต่ละข้อ แต่ละอย่างนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากการที่พระองค์ ทรงไตร่ตรองพิเคราะห์ถึงปัญหานั้น อย่างถ่อง แท้ แล้วว่าจะเป็นหนทางแห่งการแก้ปัญหา การดับทุกข์ได้ด้วยสมาธิ

ธรรมดาสภาวะจิตอันเป็นสมาธินั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากการบังคับควบคุม เกิดขึ้นจาก ความผ่อนคลาย หรือเกิดขึ้นจากภาวะคับขันต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าจะทำให้ต้อง เร่งรวบรวมสติให้มั่น ไม่ว่าสมาธิจะเกิดขึ้นอย่างไร สมาธิเป็นของดี เป็นของที่เกิดขึ้นได้จากการ ฝึกฝน เป็นของที่มีอยู่ในกาย และในจิตอันพร้อมเป็นของเข้าใจได้ เป็นของเข้าใจง่าย และใช้ได้ กับคนทุกเพศทุกวัยและความเข้าใจอันแจ่มชัดที่แสดงให้เห็นว่า สมาธิ เองก็มิใช่ของที่เกิดขึ้น โดยลำพังหรือใช้โดยลำพัง แต่สมาธิที่ดีจะยังประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มากหากผู้ใช้สมาธิรู้จักการ ปฏิบัติอันถูกต้อง ถูกต้องทั้งแก่ตนแลถูกต้องทั้งแก่ผู้อื่น ดังที่ได้ศึกษาจากรอยพระจริยวัตร แห่ง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันได้แสดงไว้ถึงเรื่องราวของ "พระสมาธิ"

ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานหรือพิธีที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องประทับอยู่ เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คงจะได้เห็นด้วยความพิศวงกันทุกคนว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อทรงนั่งลงแล้ว จะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้นตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่ง จบไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย

นอกจากนั้น ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างกระฉับกระเฉง ต่อเนื่อง ไม่มีพระอาการที่ แสดงว่าทรงเหนื่อย หรือทรงเบื่อเลย ผมเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่ง หนึ่งในกรุงเทพมหานคร พิธีนั้นยาวถึงประมาณ ๔ ชั่วโมง และมี บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนหลายพันคน ได้เห็นเหตุ การณ์เช่นว่านั้น แต่ผมได้เห็นมากกว่านั้นคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งใน ศาลาดุสิตาลัยอีก

ในการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่ แสดงว่า เอาพระทัยจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น ในการทรงดนตรี ( ที่ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นการหย่อน พระราชหฤทัย) เป็นต้น ผมเคยเห็น พระเจ้าอยู่หัวประทับทรงดนตรี ตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลยแม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรงในขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน

ในการทรงเรือใบก็เช่นเดียวกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระ ทั่งจบ ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ ด้วยความฉงนว่าเสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้าซึ่งในกติกาการแข่ง เรือใบถือว่า ฟาวล์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น

แสดงว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระเจ้าอยู่หัว เป็นงานอีกชนิดหนึ่ง ที่จะต้อง ทำด้วยความจดจ่อและต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสร็จเหมือนกัน

พระราชกรณียกิจอื่นๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือด้วยการเอาพระราชหฤทัย จดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้น จึงจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้น สำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่

ผมไปรู้เอาหลังจากที่เข้ารับราชการในตำแหน่งนายตำรวจราช สำนักประจำอยู่ได้ไม่นานว่าที่ ทรงสามารถจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจทุกชนิดได้เช่นนั้นก็เพราะพระสมาธิ

ผมไม่ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หลังจากทรง ผนวชแล้ว ประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็น เวลา ๑๕ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ทรงเลือกสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (เมื่อครั้งยัง เป็นพระโสภณคณาภรณ์) ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดี ว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อยแต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย

เมื่อผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนัก ประจำในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ปรากฏว่าการศึกษา และปฏิบัติสมาธิหรือกรรม ฐาน ในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติ เป็นประจำ และข้าราชสำนักข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่าย พลเรือน และทหารก็กำลังเจริญรอยพระยุคลบาทอยู่ด้วยการ ฝึกสมาธิอย่างขะมักเขม้น

ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัดสมาธิ แม้จะเคยศึกษามาก่อน โดย เฉพาะจากหนังสือของ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ ระหว่างการตามเสด็จฯ โดยรถไฟ จากกรุงเทพมหานคร ไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ การเดินทางไกลกว่าที่ผมคาดคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ ก็อ่านจบเล่ม เสียตั้งแต่กลางทาง ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ ประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความ ปลอดภัยร่วมกันสองนาย ใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ ผมจึงลองทำดูบ้างโดยใช้อานาปานสติ (คือกำหนดรู้แต่เพียงว่ากำลังหายใจเข้า และหายใจออก) อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ และ ท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด แลเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆ มากมายและเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิและกลายเป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำมาจนทุกวันนี้

เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่ม ปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกรุณาพระราชทาน หนังสือ และแถบบันทึกเสียงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ลงมา และบางครั้งก็ทรงพระกรุณา พระราชทานพระราชดำรัส แนะนำด้วยพระองค์เอง ผมจึงได้รู้ว่า พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว นั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก รับสั่งเล่าเองว่าแม้จะทรงใช้ อานาปานสติ เป็นอุบายในการทำ สมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงสามารถที่จะกำหนดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) และพระปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ได้แต่ลำพัง ต้องทรงนับกำกับ วิธีนับของพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทำดังนี้ หายใจเข้าครั้งที่หนึ่งนับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สอง นับสอง หายใจเข้าครั้งที่สาม นับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้า นับห้า หายใจออกครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจออกครั้งที่สอง นับสอง หายใจออกครั้งที่สาม นับสาม หายใจออกครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจออกครั้งที่ห้า นับห้า

เมื่อถึงห้าแล้ว หากจิตยังไม่สงบ ก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหาหนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหา ห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้น จนกว่าจิตจะสงบ

รับสั่งว่า ที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับหนึ่งเข้าหนึ่งออกตลอดเวลา

พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิ ด้วยการรวบรวม และประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุก คน แล้วก็ทรงพระกรุรา พระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติ สมาธิอยู่

ครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่าเป็นบันทึกเสียงการ แสดงธรรมเรื่อง ฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และ ทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น

ผมรับพระราชทานแถบบันทึกเสียงม้วน นั้นมาแล้วก็เอาไป ใส่เครื่องบันทึกเสียงและเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ ปิดแล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก หลังจากนั้นไม่นานนัก ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า ฟังเทปของสมเด็จฯ แล้วหรือยัง เป็นอย่างไร

ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความอันเป็น เท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่าฟังได้ไม่ทันจบ ม้วนก็ได้หยุดฟังเสียงแล้ว ตรัสถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบ บังคมทูลตรงๆ ว่า สมเด็จฯ ท่านเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคๆ เป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯ พิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำและประโยคเทศน์ของท่านนั้น ถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ที่ฟังสมเด็จฯ เทศน์ไม่รู้เรื่องนั้นก็เพราะคิดไปก่อนใช้หรือไม่ว่า สมเด็จฯ ท่านจะพูดว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่ คาดหมายจึงเบื่อ เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ก็ทรงแนะนำว่า ให้กลับไปฟังใหม่ คราวนี้อย่า คิดไปก่อนว่าสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร สมเด็จฯ หยุดก็ให้หยุดด้วย ผมกลับมาทำตามพระราช กระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯ จากแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้ง แต่ต้น ฟังด้วยสมาธิ

สมเด็จฯ หยุดตรงไหน ผมก็หยุดตรงนั้น และ ไม่คิดๆ ไปก่อนว่า สมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร คราวนี้ ผมฟังได้จนจบและเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส แถบบันทึกเสียงม้วนนั้น เป็นม้วนที่ดีที่ สุดม้วนหนึ่ง

ครั้งหนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและกราบบังคมทูล ประสบการณ์ที่ได้ขณะทำสมาธิ ผมกราบบังคมทูลว่า ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอย ขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไรแต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า ทำท่า เหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกทำสมาธิ

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ ว่า ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะ เลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น

อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำสมาธิแล้ว ผมกราบบังคมทูลว่า พอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อน ต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ครือตัวผม และที่ปลายท่อข้างล่างผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมาก กลัวจะหลุดออกจากท่อไป ผมก็เลยเลิกทำสมาธิรับสั่งเช่นเดียวกันว่า หากยังรู้ตัว (มีสติ) อยู่ ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากจะหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่สติยัง อยู่ และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตน

ต่อมาภายหลังจากการศึกษาคำสอนของ ครูปาอาจารย์ทุก ท่าน และโดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัส สอนให้ "ดำรงสติให้มั่น" ในเวลาทำสมาธิ

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิตสงบและเกิดนิมิต ในนิมิตนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร (แขนท่อนล่าง) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปจนถึงพระอัฐิ (กระดูก)

พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิ ในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนัก ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอัน เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับ พระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น

ในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้เป็นพระประมุข และในฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ให้เป็นที่ร่มเย็นของเรา และของลูกหลานของเรา จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาทด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิกัน อย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา

http://www.dharma-gateway.com/ubasok/special-01.htm

พระราชกฤษฎาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



พระราชกฤษฎาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์


นับตั้งแต่ผมได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยวิชาโหราศาสตร์ดวงดาวในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับเรื่อง “อิทธิพลของคราส” ผมได้มีโอกาสอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ชาติไทยซึ่งได้แก่หนังสือพระราช พงศาวดาร และจดหมายเหตุโหรต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการค้นคว้า และได้พบข้อความที่บันทึกไว้ในเอกสารเหล่านี้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ต่าง ๆ ซึ่ง เป็นสิ่งที่บอกเหตุทั้งร้ายและดีของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น อาทิ การเกิดสุริยคราส หรือจันทรคราส พระอาทิตย์ทรงกลด แผ่นดินไหว เป็นต้น ในวันที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงปราบดาภิเษก เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตราธิราชไทย เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑ ได้ปรากฏข้อความในจดหมายเหตุโหรระบุไว้ว่า

“........ณ วันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือนอ้าย เพลาโมงเศษ เสด็จออกขุนนาง ตรัสประภาษเนื้อความ ...

....... พระราชสุจริต ปรารภตั้งอุเบกขาพรหมวิหาร เพื่อจะทะนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา และ

พระอาณาประชาราษฎร นั้น อัศจรรย์แผ่นดินไหวเป็นเวลาช้านาน..........”

แต่เดิมนั้น ผมในฐานะที่เป็นวิศวกรผู้หนึ่งมิได้ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากนัก เนื่องจากมีความเชื่อว่า เป็นเหตุการณ์ประจวบเหมาะมากกว่า หรือผู้บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ได้มีเจตนาเขียนเพิ่มเติมเหตุการณ์เรื่องราว ในยุคสมัยนั้น ให้ดูขลังเป็นการเสริมพระบารมี พระบรมเดชานุภาพให้แก่พระมหากษัตราธิราชพระองค์หนึ่งพระองค์ใดเป็นพิเศษก็ ได้ จนกระทั่งได้ประสบเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้มาหลายครั้ง จึงเกิดแนวความคิดที่จะประมวลเหตุการณ์สำคัญ ที่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติเข้าเกี่ยวข้องต่าง ๆ มาวิเคราะห์โดยใช้หลักวิชาพุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และโหราศาสตร์ มาผสมผสานกัน ผมจึงขอนำบางเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบันมายกเป็นตัวอย่างเล่า สู่กันฟังดังนี้

๑. ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และองค์พระบุพมหากษัตราธิราชเจ้า เนื่องในวโรกาสวันสถาปนากรุงเทพมหานครครบรอบ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ พระอาทิตย์ได้ทรงกลดให้เห็นเป็นที่มหัศจรรย์

๒. ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙ เมื่อเสด็จ ฯ ออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้เกิดพายุอย่างแรงมีฝนตกหนักเคลื่อนที่ตามหลังขบวนเสด็จ ฯ แล้วก็ซาเม็ดไป และเมื่อเสด็จ ฯ ขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ที่ฉนวนน้ำ ท่าวาสุกรี ได้เกิดพายุฝนตามไล่หลังขบวนเสด็จฯ มาอย่างกระชั้นชิด เมื่อขบวนเสด็จ ฯ ถึงวัดอรุณราชวราราม พายุกลับสงบ ฝนหยุดตกขาดเม็ดสนิท เหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อเสด็จ ฯ ไปประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ

๓. ในวันเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งถือได้ว่า เป็นกฎหมายที่สำคัญสูงสุดของประเทศแก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๐ เวลา ๑๗.๓๒ น. ได้เกิดฟ้าผ่าอย่างรุนแรงทันที และต่อมาได้มีพายุฟ้าผ่า ฟ้าคะนอง เกิดฝนตกหนักทั่วกรุงเทพมหานคร ในวันเดียวกันได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างแรงขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะที่บริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ถึง ๒ ครั้ง ปรากฏการณ์ครั้งนี้คล้ายคลึงกับวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรง ปราบดาภิเษก คือ มีจันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นล่วงหน้า และมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในวันพระราชพิธีนั้น

การเกิดปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ได้เป็นที่ยอมรับกันมาแต่โบราณกาลว่า เป็นพระราช กฤษฎาภินิหารของพระมหากษัตราธิราชเจ้าในยุคสมัยนั้น

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มโครงการทดลองปฏิบัติการ ฝนเทียมซึ่งชาวไร่ชาวนาทั่วไปเรียกกันติดปากว่า “โครงการฝนหลวง” พระองค์ท่านได้ทรงสนพระทัยศึกษาแผนที่อากาศซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพ ดินฟ้าอากาศได้แก่อุณหภูมิ ความชื้น ความกดของอากาศ ความเร็วและทิศทางของลม ในวันเวลาปัจจุบัน และที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการ ปฏิบัติการฝนเทียม นับว่าเป็นโชคดีของผม ที่ในช่วงเวลานั้นผมได้ปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณถวายงานในด้านการ ติดต่อสื่อสารส่วนพระองค์อยู่ ดังนั้นเมื่อได้ทรงกำหนดแผนปฏิบัติการฝนเทียมแต่ละครั้งแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ผมได้ปฏิบัติหน้าที่ถวายงานเกี่ยวกับการประสานงาน ถ่ายทอดแผนและคำสั่งปฏิบัติการ ซึ่งจะพระราชทานมาให้ผมตอนหลังเที่ยงคืนแล้วเป็นประจำทุกวัน เพื่อกระจายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยบินของกระทรวงเกษตร ฯ และสถานีตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาทั้งในส่วนกลาง และในท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการฝนเทียม กับมีหน้าที่กำกับการ ควบคุมดูแลการปฏิบัติการสื่อสารของหน่วยงานเหล่านี้ด้วย ผมจึงได้มีโอกาสมีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการปฏิบัติการฝน เทียม และการศึกษาสภาพดินฟ้าอากาศจากแผนที่อากาศซึ่งได้ทรงพระกรุณาถ่ายทอดความรู้ ให้มากพอสมควร

ในโอกาสต่อมา ถึงแม้ว่าจะมิได้มีการปฏิบัติการฝนเทียม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังคงทรงศึกษาเทคนิคการพยากรณ์อากาศต่อไป จนกระทั่งทรงมีความรู้ความชำนาญในการพยากรณ์อากาศเป็นอย่างยิ่ง มิได้ด้อยกว่าผู้ชำนาญการในวิชาการแขนงนี้ทั้งภายใน และต่างประเทศ

บทเรียนที่ประเทศไทยได้รับจากกรณีวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกเมื่อวันที่ ๒๑ตุลาคม ๒๕๐๕ และจากพายุใต้ฝุ่น “เกย์” เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ นับว่าเป็นบทเรียนที่มีค่าสูงยิ่ง ซึ่งประเทศไทยต้องเซ่นสังเวยด้วยชีวิตมนุษย์ สัตว์ ทรัพย์สิน บ้านเรือน ไร่นา เป็นมูลค่ามหาศาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักถึงความทุกข์โศกสลดของพสกนิกร และทรงเมตตาสงสารผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้เป็นจำนวนมาก และไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้น อีก ดังนั้น จึงได้ทรงสละเวลา และความสุขส่วนพระองค์ส่วนหนึ่ง ศึกษาแผนที่อากาศประจำวันที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย และข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศจากศูนย์ตรวจสอบพยากรณ์อากาศของ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกผ่านเครือข่าย Internet เป็นประจำวัน เพื่อเฝ้าติดตามสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยได้ หากได้ทรงพบว่า มีการก่อตัวของลมฟ้าอากาศในลักษณะร่องความกดอากาศต่ำ แล้วมีการเพิ่มกำลังแรงไปในลักษณะเป็นดีเปรสชัน พายุโซนร้อน และพายุใต้ฝุ่นขึ้นในเส้นรุ้ง เส้นแวงที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ทั้งยังมีทิศทางการเคลื่อนที่มุ่งหน้าเข้ามาหาด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรง ติดตามเฝ้าสังเกตการณ์การเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงของลมพายุนั้นอย่างเคร่งเครียดโดยใกล้ชิดอยู่ทุกระยะ และเมื่อได้ทรงพิจารณาเห็นแน่ชัดว่า มีแนวโน้มที่ลมพายุนั้น จะมีโอกาสสร้างภัยพิบัติให้แก่พสกนิกรในพื้นที่หนึ่งใดได้ พระองค์จะทรงมีพระราชกระแส แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เตรียมพร้อมที่จะ ออกดำเนินการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยทัน ท่วงที

เหตุการณ์ที่สำคัญ ยิ่ง ครั้งล่าสุดที่อาจจะไม่มีผู้ใดได้สังเกตจดจำ และสมควรอย่างยิ่งที่จะบันทึกไว ้เพื่อเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ ภัยพิบัติที่เกิดแก่หลายจังหวัดในภาคใต้ตอนบน อันเนื่องจากพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” พัดผ่านเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ พายุนี้ได้เริ่มก่อตัวในทะเลจีนตอนใต้ห่างจากแหลมญวนไม่มากนักโดยเริ่มก่อ ตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำมาเป็นดีเปรสชัน เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ แล้ว ได้ทวีความรุนแรงกลายเป็นพายุโซนร้อนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ต่อจากนั้นได้แปรสภาพเป็นพายุใต้ฝุ่นมีความเร็วสูงสุดรอบศูนย์กลาง ประมาณ ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนที่ผ่านแหลมญวน เข้าสู่อ่าวไทย มุ่งหน้าเข้าสู่บางจังหวัดในภาคใต้ตอนบนซึ่งได้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร ลักษณะการก่อตัว ความรุนแรง และ ทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุใต้ฝุ่นนี้คล้ายกับพายุใต้ฝุ่น “เกย์” ซึ่งได้เคยก่อภัยพิบัติให้แก่จังหวัดเหล่านี้มาแล้วอย่างมหาศาล เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒

จึงเป็นการแน่นอน ที่สุด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องทรงเฝ้าติดตามสังเกตการณ์การก่อตัว การเปลี่ยนแปลงของพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แม้แต่ตัวผมเองซึ่งมีความรู้ความเข้าใจ และสนใจในเรื่องดินฟ้าอากาศมาตั้งแต่สมัยที่ได้เคยร่วมถวายงาน ในการปฏิบัติการฝนเทียมก็ได้เฝ้าติดตามอยู่อย่างใกล้ชิดเช่นกัน จากข้อมูลที่ผมได้รับจากศูนย์ตรวจสอบอุตุนิยมวิทยาของบางประเทศผ่านเครือ ข่าย Internet โดยเฉพาะศูนย์รวมข่าวอุตุนิยมวิทยา และสมุทรวิทยา กับศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อเตือนภัยจาก พายุใต้ฝุ่นของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาประจำภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวมได้คำนวณและพยากรณ์ทิศทาง ความเร็วของพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” ไว้ล่วงหน้าว่า พายุจะมีความรุนแรงสามารถก่อความเสียหายให้แก่ จังหวัดต่างๆซึ่งอยู่ในเส้นทางผ่านไม่น้อยกว่าพายุใต้ฝุ่น “เกย์” ค่อนข้างแน่นอนคำพยากรณ์ดังกล่าวได้ระบุว่า ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ตามเวลาท้องถิ่น ๑๙.๐๐ น. พายุนี้จะมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด ๑๐.๘ องศาเหนือ ลองจิจูด ๑๐๐.๘ องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดที่จุดศูนย์กลางรุนแรงถึง ๗๕ นอต หรือ ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย เคลื่อนที่มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ ๑๑ นอต หรือ ๑๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตรงเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร โดยอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ ๒๘ กิโลเมตร และจะเคลื่อนที่ถึงฝั่งภายใน ๑ ชั่วโมงเศษเท่านั้น หากเป็นเช่นคำพยากรณ์ ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพรคงจะถูกกวาดล้างโดยพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” จนหมดสิ้น สิ่งบอกเหตุดังกล่าวนี้ จึงได้สร้างความกังวลและ ความเคร่งเครียดพระทัยให้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

แต่โดยที่มิได้คาด คิด อีกไม่กี่นาทีก่อนที่จะเคลื่อนที่มาถึงฝั่ง พายุนี้ได้กลับอ่อนกำลังลงโดยฉับพลันมาเป็นพายุโซนร้อนมีความเร็วสูงสุดที่ จุดศูนย์กลางเพียง ๕๐ นอต หรือ ๙๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ทั้งทิศทางการเคลื่อนที่กลับเบี่ยงเบนขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย และถึงฝั่งที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขีนธ์ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เวลา ๐๒.๐๐ น.จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพรจึงได้รับภัยพิบัติจากพายุนี้ไม่รุนแรงนัก ดูจะเป็นการผิดปกติอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันของพายุใต้ฝุ่นใน ลักษณะนี้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ถ้าพายุยังเคลื่อนที่อยู่เหนือพื้นน้ำทะเลหรือมหาสมุทร พายุนั้นจะเพิ่มความแรง ความเร็วที่จุดศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น และจะลดลงเมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งแล้ว พายุโซนร้อน “ลินดา” นี้ก็เช่นกัน เมื่อเคลื่อนที่พ้นจากประเทศไทยลงสู่ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย ก็ได้เพิ่มความรุนแรง มากยิ่งขึ้นตามลำดับแปรสภาพกลับไปเป็นพายุใต้ฝุ่น หรือ ไซโคลน อีกครั้งหนึ่งในวันเวลาต่อมา

ผมมีความเชื่อและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันของพายุ “ลินดา” ครั้งนี้เป็นปาฏิหาริย์ และจะเกิดขึ้นได้โดยอภินิหารของท่านผู้หนึ่งซึ่งได้บำเพ็ญบารมีมาอย่างสูง มีพลังอินทรีย์ทั้งห้าที่แรงยิ่งตามหลักของพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อได้นำเอาสิ่งมหัศจรรย์ที่ได้เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่ผ่านมาประมวล ก็น่าจะได้ข้อยุติว่าเป็นพระราชกฤษฎาภินิหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เท่านั้นอย่างแน่นอน ที่แสดงให้เห็นในลักษณะเดียวกับของพระบุพมหากษัตราธิราชไทยพระองค์อื่นๆ โดยเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวสรุปไว้ในหนังสือ “กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้” ว่า

“.......ความปลอดภัยอันแท้จริงมามีเกิดขึ้นเพราะพระนเรศวรเป็นเจ้า พระองค์เดียว ผู้ทรงก่อให้เกิดความคิดใหม่ วิธีการใหม่ และความหวังใหม่ขึ้นในใจคนไทย ........ เพราะพระนเรศวรเป็นเจ้า ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เห็นได้ชัดทั่วกันว่า พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันของคนไทย มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วน พระองค์เองเลย แม้แต่น้อย .......... พระบรมราชกฤษฎาภินิหารของพระนเรศวรเป็นเจ้าจึงเป็นกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิ ได้ ........”

ประชาชนคนไทยนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีโชคดีที่พระมหากษัตราธิราชซึ่งทรงไว้ซึ่ง ทศพิธราชธรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพสูงส่ง และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกเราเหลือคณานับ ดังนั้นใน วโรกาสที่สำคัญยิ่งที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ท่านได้เวียนมาบรรจบครบ รอบอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นการ สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคนจะได้ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานถวายพระพรให้ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานตลอดไป

ที่มา: http://www.dharma-gateway.com/ubasok/special-02.htm

Friday, May 14, 2010

พระพุทธรูปพระเจ้าฝนแสนห่า

พระพุทธรูปพระเจ้าฝนแสนห่า


พระเจ้าฝนแสนห่า เป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่วิหารวัดช่างแต้มซึ่งอยู่ติดกับวัดเจดีย์หลวง มีพุทธานุภาพดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ในปัจจุบันมีการอาราธนาพระเจ้าในแสนห่าประดิษฐานบนรถบุษบก “ศรีเมืองเชียงใหม่” แห่ไปรอบเมือง แล้วนำไปประดิษฐานไว้หน้าวิหารวัดเจดีย์หลวงติดกับวิหารอินทขิล เพื่อให้ประชาชนมาบูชาสรงน้ำตลอดระยะเวลา ๗ วัน ที่มีงานประเพณีอินทขิลและให้ถือปฏิบัติดังนี้ จุดธูปเทียนบูชาเสาอินทขิล แลกเหรียญใส่บาตรพระประจำวันเกิด ใส่ขันดอกและถือกันว่าการใส่ขันดอกควรใส่ครบทุกที่คล้ายกับการใส่บาตร แต่ใช้ห้างร้านหรือพานดอกแทนบาตรพระและใช้ดอกไม้ธูปเทียนแทนของที่เราใช้ใส่บาตร

ที่มา: เอกสารแผ่นพับงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลประจำปี ๒๕๔๖. จัดทำโดยเทศบาลนครเชียงใหม่.

ตำนานเสาอินทขิล

ตำนานเสาอินทขิล


วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย ซึ่งครองราชอาณาจักรลานนาไทย เป็นรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงสร้างพระเจดีย์หลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๕ ด้านหน้าพระวิหารเป็นที่ตั้งของเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจัตุรมุขศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสี รอบเสาวัดได้ ๕.๖๗ เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึงที่พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ประดิษฐานอยู่ในบุษบก เหนือเสาอินทขิล ให้ได้สักการะคู่กัน พระเจ้ามังรายปฐมกษัตริย์ทรงสร้างเสาอินทขิลเมื่อครั้งสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ แรกสร้างอยู่ที่วัดสะดือเมือง (หรือวัดอินทขิล) ซึ่งเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางหลังเก่า ครั้นต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ได้ย้ายเสาอินทขิลมาไว้ในวัดเจดีย์หลวงและได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๓ เสาอินทขิลเป็นเสาหลักเมือง คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษ ในอดีตเป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมากล่าวไว้ในตำนานเสาอินทขิลฉบับพื้นเมืองซึ่งท่านอาจารย์พระมหาหมื่น วุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม ผู้ล่วงลับไปแล้วรวบรวมเอาไว้อย่างพิสดาร

ในสมัยก่อนได้มีพิธีสักการบูชาเสาอินทขิลเป็นประจำทุกปี การทำพิธีดังกล่าวมักจะทำกันปลายเดือน ๘ เหนือ ข้างแรมแก่ๆ ในวันเริ่มทำพิธีนั้น พวกชาวบ้านทั้งเฒ่าแก่หนุ่มสาวก็จะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียนน้ำขมิ้นส้มป่อยพานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการบูชาการทำพิธีดังกล่าวนี้มักจะเริ่มทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ และเสร็จเอาเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ เป็นประจำทุกปีจึงเรียกกันว่า “เดือน ๘ เข้า เดือน ๙ ออก”

ในระหว่างทำพิธีนี้ เขาจะจัดให้มีซอพื้นเมืองและมีช่างฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ สังเวยเทพยดาอารักษ์ ผีเสื้อ (บ้าน) ผีเมื้อ (เมือง) หรือพูดอย่างพื้นเจนบ้าน เจนเมือง และในเมื่อถึงกำหนดพิธีทุกๆ ปี พวกช่างซอที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลสักเพียงไรจะต้องเดินทางมารวมกันที่เสาอินทขิล และผลัดกันซอเป็นพลีกรรมถวาย พวกช่างซอคนใดไม่มาในงานนี้ก็จะถูกพรรคพวกไม่คบหาสมาคมและไม่มีใครจ้างไปซอตลอดชีวิต แต่ในปัจจุบันประเพณีเลิกไปเสียแล้ว



ในกาลก่อนโน้นบริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่นี้ เป็นที่ตั้งเมืองของพวกลัวะ และพวกลัวะที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ถูกผีรบกวนต่างๆ นานา เป็นที่เดือดร้อนทั่งทั้งเมือง พระอินทร์ทรงเล็งเห็นความเดือดร้อนของพลเมือง ก็คิดจะช่วยเหลือโดยบอกให้ชาวเมืองถือศีลรักษาสัตย์ บ้านเมืองจึงรอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เมื่อพระอินทร์ทรงเล็งเห็นว่าชาวเมืองมีสัตย์ดีแล้วก็บันดาลให้บ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วขึ้นภายในเมือง และให้ชาวเมืองอธิษฐานเอาตามปรารถนา ในสมัยนั้นพวกชาวเมืองมีอยู่ ๙ ตระกูล คงจะเป็นตระกูลใหญ่ทำนองเดียวกับพวกแปะแซ่ของพวกจีน พวกลัวะ ๙ ตระกูลนั้น ก็แบ่งพวกออกเป็นหมู่ๆ ละ ๓ ตระกูล คอยอยู่เฝ้ารักษาบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้วนั้น พวกลัวะทั้ง ๙ ตระกูลนี้เองทำให้เมืองนี้ได้ชื่อว่า “เมืองนพบุรี”

ต่อมาพวกลัวะ ๙ ตระกูลนั้นได้สร้างเวียงสวนดอกขึ้นอีก และอาศัยอยู่ภายในเมืองนั้นด้วยความเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลานาน บรรดาลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขกายสบายใจ เพราะมีของทิพย์เกิดขึ้นในเมืองตน ไม้ต้องทำมาหากินก็มีกินมีใช้ ขุดเอาแก้ว เงิน ทอง จากบ่อไปขายกินก็พอ



ต่อจากนั้นข่าวความอุดมสมบูรณ์ของนพบุรีที่มีบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ของทิพย์เกิดขึ้นในเมือง ก็เป็นที่เลื่องลือทั่วไปตามบ้านเมืองต่างๆ ทั้งใกล้เคียงและห่างไกล พวกหัวเมืองต่างๆ ที่ได้ข่าวก็จัดแต่งลี้พลเป็นกองศึก ยกมาชิงเอาบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้ว พวกชาวเมืองได้ทราบข่าวศึกดังนั้นก็มีความตกใจและหวาดหวั่นเกรงในการศึก จึงนำความไปให้แก่ฤาษีที่มาจำศีลภาวนาอยู่ที่นั้นให้ความช่วยเหลือ ฤาษีจึงนำความนั้นไปกราบทูลพระอินทร์ทรงทราบ พระอินทร์จึงให้เรียกกุมภัณฑ์ ๒ ตนนั้นมาแล้วไปให้เอาเอาอินทขิลเล่มกลางใส่สาแหรกเหล็ก ให้ยักษ์ ๒ ตนหาบลงเอาไปฝังไว้ที่เมืองนพบุรี เสาอินทขิลที่ว่าอยู่บนสวรรค์และมีอยู่ด้วยกันกลายๆ เล่มที่เอามาฝังที่เมืองนพบุรีนี้ว่าเป็นเล่มกลาง

เสาอินทขิลดังกล่าวนี้มีฤทธิ์มาก ด้วยอิทธิอำนาจของเสาอินทขิลนี้เองบันดาลให้พวกข้าศึกที่ยกกองทัพมาชิงเอาเมืองนพบุรีนั้นกลายร่างเป็นพ่อค้าไปหมด และเมือ่พวกพ่อค้าเหล่านี้เข้าไปในเมืองพวกลัวะชาวเมืองก็ถามว่าท่านมีประสงค์ต้องการสิ่งไรหรือ พวกพ่อค้าก็ตอบว่า พวกเรามีความต้องการอยากได้แก้ว เงิน และทองในมือของท่าน พวกชาวเมืองก็ตอบว่า พวกท่านอยากได้สิ่งใดก็อธิษฐานเอาตามความปรารถนาเถิด ขอแต่ให้พวกท่านรักษาความสัตย์ ขอสิ่งใดจงเอาสิ่งนั้น อย่าได้ละโมบในสิ่งอื่นด้วยก็แล้วกัน พวกพ่อค้าได้ยินดังนั้นก็มีความดีใจ ต่างก็ตั้งสัจจาธิษฐานบูชาขอแก้ว เงิน ทอง ตามความปรารถนา พวกพ่อค้าเหล่านี้ได้มีอธิษฐานขออยู่ทุกปี บางคนก็ทำพิธีบูชาขอเอาตามพิธีการของพวกลัวะ บางคนก็ถือเอาวิสาสะหยิบเอาไปเสียเฉยๆ ไม่ปฏิบัติบูชาและมิหนำซ้ำยังเอาท่อนไม้ ก้อนอิฐ ก้อนดิน และอาจมีของโสโครกขว้างทิ้งบริเวณนั้น และไม่ทำพลีกรรมบวงสรวงยักษ์กุมภัณฑ์สองตนซึ่งเฝ้าอยู่ที่นั้น กุมภัณฑ์สองตนเห็นว่าพวกนั้นไม่มีความนับถือตนก็โมโหจึงพากันหามเอาเสาอินทขิลกลับขึ้นไปบนสวรรค์เสียและแต่นั้นมาบ่อเงิน บ่อทองและบ่อแก้วก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป คนพวกนั้นจะไปขอสิ่งใดก็ไม่ได้ พวกพ่อค้าเหล่านั้นก็เลยขาดลาภและต่างพากันกลับไปยังบ้านเกิดของตนเสีย



ครั้งนั้นมีลัวะผู้เฒ่าผู้หนึ่งเคยไปสักการบูชาเสาอินทขิลเสมอ วันหนึ่งก็เอาดอกไม้ธูปเทียนจะไปบูชาเสาอินทขิล ก็ปรากฏยักษ์สองตนนั้นหามกลับไปบนสวรรค์เสียแล้ว ลัวะผู้เฒ่าคนนั้นมีความเสียใจมาก จึงร้องไห้ร้องห่มต่างๆ นาน และละจากเพศคฤหัสถ์ไปถือเพศเป็นชีปะขาวบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ใต้ต้นยางนั้น (เข้าใจว่าคงไม่ใช่ต้นยางปัจจุบัน) เป็นเวลานานถึง ๒ ปี ก็มีพระเถระเจ้าองค์หนึ่งจาริกมาแต่ป่าหิมพานต์ทำนายว่าต่อไปบ้านเมืองนี้จะถึงกาลวิบัติ พวกลัวะได้ยินดังนั้นก็มีความเกรงกลัวเป็นอันมาก จึงขอร้องให้พระเถระองค์นั้นช่วยเหลือให้พ้นภัยพิบัติ พระเถระเจ้าก็รับปากว่าจะช่วยเหลือและได้ขึ้นไปขอความช่วยเหลือจากพระอินทร์

พระอินทร์ก็บอกว่าให้ชาวเมืองหล่ออ่างขาง (กระทะใหญ่) หนา ๘ นิ้วมือขวาง กว้าง ๘ ศอก ขุดหลุมลึก ๘ ศอก แล้วให้ปั้นรูปสัตว์ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้อย่าละ ๑ คู่ ปั้นรูปคนทั้งหลายให้ครบร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา ปั้นรูปช้าง ๑ คู่ ม้า ๑ คู่ แล้วเอารูปปั้นเหล่านี้ใส่กะทะเอาลงฝังในหลุมนั้น แล้วก็เอาดินถมไว้ แล้วก่อเสาอินทขิลไว้เบื้องบน และให้ทำพิธีสักการบูชาให้เหมือนกับเสาอินทขิลจริงๆ เถิด บ้านเมืองจึงจะพ้นภัยพิบัติ

พระเถระเจ้าก็นำความมาแจ้งแก่ชาวเมือง ได้ทราบดังนั้นก็ปฏิบัติตามคำของพระอินทร์ทุกประการ และได้ทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์ที่สร้างเทียมไว้นั้นแทนเสาอินทขิลจริงมิได้ขาด บ้านเมืองก็รอดพ้นจากภัยพิบัติตามที่พระเถระได้ทำนายไว้และบ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรืองสืบมา จึงมีประเพณีสักการบูชาเสาอินทขิลมาตราบกระทั่งทุกวันนี้

ครั้นต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละได้ครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงให้สร้างกุมภัณฑ์และฤาษีไว้พร้อมกับเสาอินทขิลนั้นด้วย เพื่อให้พวกประชาชนชาวเมืองได้สักการบูชาสืบต่อไป



ตามตำนานที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เข้าใจว่าผู้แต่งตำนานคงต้องการให้ประชาชนพลเมืองมีความเคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงแต่งตำนานไว้อย่างพิสดารเพื่อเป็นการส่งเสริมศรัทธาปสาทะของชาวเมือง อย่างไรก็ตามจากปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ควรเชื่อถือได้เล่าว่า ในสมัยก่อนนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะปรากฏว่ามีเจ๊กขายก๋วยเตี๋ยวเร่ขาย เมื่อมาถึงตรงนั้นอยากปัสสาวะ ทันใดนั้นเองฝูงผึ้งที่ทำรังอยู่บนต้นไม้ยางก็บินมารุมต่อเจ๊กเสียอาการปางตาย นอกจากนี้ยังเคยมีผู้เข้าไปล่วงละเมิดหรือทำสกปรกแล้วมีอันเป็นไปเจ็บป่วยไปหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์

ต่อมาครูบาเถิ้ม เจ้าอาวาสวัดแสนฝางซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงทางไสยศาสตร์ ครั้งนั้นเห็นว่ากุมภัณฑ์เฮี้ยนนัก จึงทำพิธีไสยศาสตร์ตัดศีรษะกุมภัณฑ์ออกเสีย แล้วต่อใหม่เพื่อให้ความขลังลดลง นับแต่นั้นมากุมภัณฑ์ก็เลยลดความเฮี้ยนมาจนกระทั่งบัดนี้

เรื่องเสาอินทขิลก็เป็นอันยุติเพียงเท่านี้



อนึ่ง ประเพณีโบราณไม่นิยมให้สุภาพสตรีขึ้นไปไหว้เสาอินทขิลถึงภายในวิหารอินทขิล

ทุกๆ ปี จะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล หรือเทศกาลบูชาเสาหลักเมืองเป็นเวลา ๗ วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์การเอกชน สถานศึกษา สถาบันต่างๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีพร่วมกันจัดงานตลอด ๗ วันของงาน ชาวเชียงใหม่ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศทุกวัย จะพากันบูชาเสาอินทขิลด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบอย่างเนืองแน่น และมีการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้านสมโภชตลอดงาน เมื่อทำการบูชาเสาอินทขิลด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ท่านให้กล่าวคำบูชาดังนี้

“อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ อินทะขีลัง สิทธิไชยยะ อินทะขีลัง มังคะลัตถิ อินทะขีลัง โสตถิมังคะลัง”

ประเพณีบูชาเสาอินทขิลเริ่มงานเข้าอินทขิลในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ งานวันสุดท้ายในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ภาคเหนือนับเดือนไวกว่าภาคอื่น ๒ เดือน) ออกอินทขิลในวันขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๙ เรียกกันติดปากว่า “เดือน ๘ เข้าเดือน ๙ ออก” วันออกอินทขิลเป็นวันทำบุญอุทิศบรรพชน ด้วยการถวายภัตตาหารเพลพระ ๑๐๘ รูป ในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง

ส่วนการทำบุญสืบชะตาเมือง “๔ แจ่ง ๕ ประตู ๑ อนุสาวรีย์” นั้นทำภายหลังงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลเสร็จแล้ว ในวันข้างขึ้นเดือน ๙ เหนือวันใดวันหนึ่ง




ที่มา: เอกสารแผ่นพับงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลประจำปี ๒๕๔๖. จัดทำโดยเทศบาลนครเชียงใหม่.

Wednesday, May 12, 2010

Crisis Leadership ผู้นำในภาวะวิกฤต

Crisis Leadership ผู้นำในภาวะวิกฤต

คอลัมน์ Executive Coach

โดย คม สุวรรณพิมล Leadership Coach kom@coachforgoal.com


"วิกฤตการณ์ !"

คำนี้อาจฟังดูน่าตกใจนะครับ แต่เหลือเชื่อที่ปัจจุบันธุรกิจของเราก็กำลังเผชิญกับมันอยู่

"เรา ไม่เคยเดินเข้าไปหาวิกฤตการณ์ แต่มันก็มักจะเดินมาหาเรา"

คำว่า "วิกฤตการณ์" นี้หลาย ๆ ท่านฟังดูอาจจะรู้สึกเหมือนว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องมีผลกระทบในวงกว้างและยิ่ง ใหญ่ระดับประเทศเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤตการณ์สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ ในทุกระดับ

ซึ่งเราสามารถจัดให้ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อยู่ในประเภท "วิกฤตการณ์ที่กระทบธุรกิจ" ได้ทั้งนั้น

เพราะ "วิกฤตการณ์ คือ เครื่องมือวัดความสามารถของผู้บริหาร"

พอเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น ผู้บริหารหลายท่านก็จะนึกถึง "Crisis Management" หรือการจัดการในภาวะวิกฤตที่เคยศึกษามา

แต่ในความเป็นจริงแล้ว "Crisis Management กับ Crisis Leadership นั้นมีความแตกต่างกันสิ้นเชิง

โดย Crisis Management นั้นจะเกี่ยวข้องกับ "ขั้นตอน" ในการปฏิบัติงานเมื่อต้องเจอกับภาวะวิกฤต

แต่ Crisis Leadership จะเกี่ยวข้องกับ "ภาวะการเป็นผู้นำ" ที่ต้องจัดการกับปฏิกิริยาตอบสนองของคนในองค์กร ซึ่งรวมถึง "การจัดการตัวเอง" ด้วย

ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เป็นเครื่องชี้ให้ เห็นความแตกต่างระหว่างผู้นำในภาวะปกติกับผู้นำในสถานการณ์ฉุกเฉิน

และ ที่สำคัญผู้บริหารหลาย ๆ คนยังจัดการในภาวะเช่นนี้ได้ไม่ค่อยดีนัก

อุปสรรค สำคัญก็คือ "อารมณ์และบุคลิกลักษณะของผู้บริหารเอง"

เพราะเมื่อเกิด เรื่องร้ายขึ้นอย่างฉับพลัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริหารส่วนใหญ่ที่ขาดทักษะนี้มักจะหลุดความเป็นตัวของ ตัวเอง

บางครั้งกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งในระหว่าง Crisis นั้น ผู้บริหารจะต้องเผชิญกับอารมณ์ที่สับสน ทั้งของตนเองและทีมงาน ซึ่งบางครั้งอาจจะขาดสติบางอย่างที่ควรจะเป็นไป

ผู้บริหารที่ดีจะ ต้องคอยระวังและควบคุมอารมณ์ของตนเอง

ผมมีหลักการง่าย ๆ ที่จะทำให้ผู้บริหารเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Crisis Leadership ที่สามารถจะควบคุมทีมงาน และนำพาธุรกิจในผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้

ผมขอ เรียกหลักการนี้ว่า "Crisis Leadership Competency" โดยมีหลักที่สามารถจำได้ง่าย ๆ คือ "H.O.P.E"

คำง่าย ๆ นี้สามารถสร้างบุคลิกการเป็นผู้นำในภาวะวิกฤต ที่บ่งบอกถึงความรับผิดชอบ การสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้

โดย H.O.P.E สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

hope : วันที่ดีที่สุด เกิดขึ้นในอนาคต

ผู้บริหาร ต้องเริ่มต้นในการตั้งทัศนคติในใจก่อนเป็นอันดับแรกว่า สิ่งที่ดี ๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

เพราะถ้าเราไม่เริ่มตั้งต้นที่ ทัศนคติแบบนี้แล้ว คุณจะเป็นผู้นำในช่วงนี้ลำบาก เพราะคุณจะกลายเป็นคนที่ไม่ยอมรับความจริง มองแต่เรื่องในอดีต

และ ก็จะเกิดการ "กล่าวโทษ" ทุกอย่างตั้งแต่สถานการณ์ หรือคนอื่น ๆ แทนที่จะทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจไปกับการแก้ไขภาวะคับขัน กลับใช้เวลานึกแต่อดีต และหา "แพะ"กับสถานการณ์ซึ่งไม่มีประโยชน์ใด ๆ

ถ้า เราตั้งต้นด้วยความคิด ความหวัง ความมุ่งมั่น สติในการจัดการจะตามมา

optimism : ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น

"Be realistic but optimistic" เมื่อคุณเผชิญกับปัญหา จงมองมันด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเป็นจริง จะเสียหายรุนแรงเท่าใดก็จงมองมันให้เห็น อย่าหลบอย่าเลี่ยงที่จะไม่มอง แต่การมองของคุณนั้นต้องมองความจริงนั้นในทางที่ดี !

"เป็นอะไรที่ ดูขัดแย้ง" เพราะการมองที่ความจริงเราจะเห็นแง่ดีได้อย่างไร ?

แต่ ถ้าคุณมองมันแต่ในแง่ดีแล้วคุณจะเห็นความจริงได้อย่างไร ?

มันเป็น หลักการที่ดูเหมือนหลอกตัวเอง แต่ความจริงแล้วมันคือ "การยอมรับความจริง แต่ไม่ท้อถอย"

ถ้าคุณไม่ยอมรับความจริง คุณจะไม่มีทางเห็นปัญหาอย่างแท้จริง อย่าหลอกตัวเองว่าทำ "ชนะ" หรือ "เราไม่กระทบ"

เพราะในความเป็นจริงเราได้รับผลกระทบนั้นเต็ม ๆ ฉะนั้นต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะ Crisis ต้องการความจริง

ถ้าหามัน ให้เจอแล้วคุณจะได้รับซึ่งทักษะที่คุณต้องมีเพื่อให้บรรลุ competency นั่นก็คือ "การวินิจฉัย" ปัญหาและ "การวางกลยุทธ์" ที่ทำให้คุณมองทุกอย่างทะลุปรุโปร่งและสร้าง solutionได้อย่างถูกต้อง

people : คนอื่น ๆ ต้องการเรา

คุณคือคนสำคัญที่จะนำพาทีมงานให้รอดพ้น

ถ้า คุณมีทัศนคติแบบนี้คุณจะไม่มีวันทิ้งคนอื่นถึงแม้คุณจะไม่ใช่คนที่เก่งที่ สุด แต่คุณรู้ว่าคนอื่น ๆ ต้องการคุณทักษะการเป็นผู้นำที่อยู่ในสัญชาตญาณของคุณจะออกมาโดยอัตโนมัติ

ซึ่ง หัวใจสำคัญของหลักการในข้อนี้คือ "การสื่อสาร" ที่คุณจะต้องสร้างให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของคนอื่น ๆ ให้ได้

โดย หลักการสื่อสาร 3 ประการ คือ Tell the fact, Define situation และ Give the hope

คุณต้องบอกความจริงและประเมินสถานการณ์ให้ทีมงานเข้าใจ

สุด ท้าย คือการให้ความหวัง

การสื่อสาร 3 ขั้นที่จะทำให้ "หัวใจของทีมงานรวมเป็นหนึ่งเดียว" และพร้อมที่จะก้าวข้ามอุปสรรคโดยมีคุณเป็นผู้นำ

empathy : ความทุกข์ของผู้อื่น กระทบจิตใจเรา

ความเข้าอกเข้าใจเป็นสิ่งที่ผู้ บริหารจำเป็นต้องมีอย่างยิ่งในภาวะคับขันเช่นนี้ สิ่งที่คุณประสบอยู่มันกระทบจิตใจของ ผู้เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเข้าใจนี้เริ่มตั้งแต่ ระดับองค์กรที่คุณต้องเข้าใจความรู้สึกขององค์กร และเข้าใจความรู้สึกทีมงาน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก ความเจ็บปวด ความท้อถอย ความลังเลสงสัย

ซึ่ง ความเข้าอกเข้าใจนี้ ทักษะสำคัญ ก็คือ "การฟังทีมงาน" ของเราเอง

ถ้า เราฟัง เราจะเข้าใจ อย่าคิดแต่เพียงการ "สั่ง" เพราะในภาวะฉุกเฉิน ผู้บริหารหลายคนลืมที่จะฟัง ทำให้ขาดโอกาสดี ๆ ในการแก้ปัญหาและรวมทีมเป็นหนึ่งเดียว

Crisis Leadership Competency นี้ เป็นการสร้างพฤติกรรมของผู้บริหาร โดยเปลี่ยนทัศนคติและอารมณ์ที่สับสนในช่วงวิกฤตให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีเป้าหมายและนำทักษะที่ถูกต้องมาใช้ให้ตรงกับสถานการณ์

คุณลอง ฝึกดูนะครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่า "สถานการณ์ตอนนี้คุณจำเป็นต้องใช้มันแน่นอน"

หน้า 26
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4209 ประชาชาติธุรกิจ

Tuesday, May 4, 2010

วันฉัตรมงคล ๒๕๕๓ และวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกครบ ๖๐ ปี



ในวโรกาสวันฉัตรมงคลและวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกครบ ๖๐ ปี ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญในไอศูรย์สิริราชสมบัติ มีพระพลานามัยแข็งแรง สถิตย์เป็นมิ่งขวัญของชนชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

Wednesday, April 7, 2010

เอล็กซานเดอร์มหาราช

มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของกรีก นาม เอล็กซานเดอร์มหาราช , ภายหลังจากที่ได้เข้าครอบครอง อาณาจักรน้อยใหญ่มากมาย ก็ได้เดินทัพกลับบ้าน ระหว่างทางท่านได้ล้มป่วยลง และต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานนับเดือน เมื่อความตายกำลังใกล้เข้ามา, เอล็กซานเดอร์ก็ระลึกขึ้นได้ว่า ไม่ว่าชัยชนะที่ได้มา หรือแม้แต่กองทัพอันเกรียงไกร หรือแม้แต่ดาบ อันคมกริบ หรือความมั่งคั่งทั้งหลายที่มีอยู่ หาได้มีประโยชน์อันใดไม่

ท่านได้เรียกให้ขุนพลทั้งหลาย เข้ามาพบและกล่าวว่า ข้าพเจ้าคงจะต้องจากโลกนี้ไปในเร็วๆ นี้ แต่ก่อนที่จะตาย ข้าพเจ้าขอให้ช่วยพวกท่านช่วยเติม เต็มความปรารถนา 3 ประการ ของข้าพเจ้า และอย่าให้ขาดแม้แต่สิ่งเดียว ขุนพลทั้งหลายต่างร้องไห้น้ำตานองหน้า และทุกคนเห็นพ้องกันที่ ะยึดถือและจะทำให้สำเร็จตามคำปรารถนานั้น

- ความปรารถนาข้อแรกของข้าพเจ้า : ข้าพเจ้าขอให้เพียงลำพังแพทย์ผู้ทำการรักษา เป็นผู้แบกโลงศพของข้าพเจ้า
- ความปรารถนาข้อที่สอง : เมื่อแบกโลงศพของข้าพเจ้าไปยังสุสาน เส้นทางที่นำโลงศพไปสู่สุสาน ขอให้โปรยด้วยทองคำ เงิน และอัญมณีต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าได้สะสมไว้ในท้องพระคลัง
- ความปรารถนาข้อที่สาม ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย : ขอให้นำมือทั้ง 2 ข้าง ของข้าพเจ้าห้อยไว้ข้างโลงศพ
ผู้คนทั้งหลายที่ได้มารวมกันอยู่ต่างล้วนสงสัยในความปรารถนาของพระราชาของพวกเขา แต่ก็ไม่มีใครกล้าเอ่ยถาม / หนึ่งในขุนพลอันเป็นที่รักยิ่งของกษัตริย์เอล็กซานเดอร์ ได้นำมือของเอล็กซานเดอร์ขึ้นมาจุมพิต และแนบมือนั้นไว้ที่หน้าอก(หัวใจ) ของเขา พร้อมเอ่ยว่า องค์พระราชา... พวกเราพร้อมจะดำเนินการเติมเต็มตาม
ความปรารถนาของพระองค์ เพียงแต่ขอพระองค์โปรดบอกเหตุผลว่า ทำไมพระองค์จึงขอให้ดำเนินการตามความปรารถนาเช่นนั้น
ถึงตอนนี้เอล็กซานเดอร์ ได้ถอนหายใจอยากลึกๆ และกล่าวว่า “ ข้าพเจ้าอยากให้ทั้งโลกได้รู้ไว้เกี่ยวกับ บทเรียน 3 เรื่องซึ่งข้าพเจ้าได้เรียนผ่านมาแล้ว”
- ที่ข้าพเจ้าต้องการให้แพทย์ผู้ทำการรักษาข้าพเจ้า เป็นผู้แบกโลงศพของข้าพเจ้า ก็เพื่อว่า ผู้คนทั้งหลาย จะได้ตระหนักไว้เสมอว่าไม่มีหมอคนได้ที่จะสามารถจะรักษา คนป่วยได้อย่างจริงๆ พวกหมอเหล่านั้นเขาไม่มีพลังอำนาจใดๆ ยื้อชีวิตจากความตายได้ ฉะนั้นขอให้อย่ายื้อชีวิตของใครให้คงอยู่ตลอดไปเลย
- ที่ข้าพเจ้า อยากให้โปรย ทอง เงิน ฯลฯ บนเส้นทางไปสู่สุสาน ก็เพื่อจะบอกผู้คนทั้งหลายว่า ... แม้แต่เศษเสี้ยวเดียว ของแก้วแหวน เงินทอง ซึ่งข้าพเจ้าหามาได้ข้าพเจ้าก็เอาไปไม่ได้
- และความปรารถนา ข้อสุดท้าย ... ที่ขอให้นำมือทั้ง 2 ข้างของข้าพเจ้า ห้อยไว้ ข้างนอกโลง .. ก็เพื่อว่า ผู้คนจะรู้เอาไว้ว่า ข้าพเจ้ามามือเปล่าในโลกนี้ และข้าพเจ้าก็จากโลกนี้ไปอย่างมือเปล่า

สุดท้ายในคำกล่าวของเอล็กซาน เดอร์ “ ขอให้ฝังข้าพเจ้า, ไม่ต้องสร้างอนุสรณ์สถานใดๆ, ปล่อยให้มือทั้ง 2 ห้อยอยู่ข้างนอกโลง เพื่อที่โลกจะได้รู้ว่า “บุคคลผู้ซึ่งเอาชนะมาแล้วทั้งโลก .... ในที่สุดก็ไม่เหลืออะไรติดมือไปเลย แม้แต่นิดเดียว”

จาก forworded mail

Tuesday, April 6, 2010

ฉลาดทำใจในยามการเมือง ขัดแย้ง แบ่งฝักฝ่าย

ฉลาดทำใจในยามการเมืองขัดแย้ง แบ่งฝักฝ่าย

พระไพศาล วิสาโล
เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะในระดับประเทศ ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเราด้วยมักถูกดึงเข้าไปเป็นฝักฝ่าย ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว และลุกลามไปถึงที่ทำงานและในบ้าน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ใด ๆ มาเกี่ยวข้อง หากเป็นเพราะความคิดเห็นต่างกัน หรือสนับสนุนคนละฝ่ายกันเท่านั้น

ในสภาพเช่นนี้พึงระลึกไว้ว่า คนเรานั้นเห็นต่างกันได้ อาจเป็นเพราะได้ข้อมูลต่างกัน หรือ มีเกณฑ์วัดความดีและความสำเร็จต่างกันก็ได้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ข้อสำคัญก็คือคนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่คนเลว คนดีก็มีสิทธิเห็นต่างจากเราได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเห็นเขาเป็นศัตรู

ควรมองคนให้กว้างขึ้น แล้วเราจะพบว่า แม้เขาจะคิดต่างจากเราในเรื่องนี้ แต่ก็มีหลายเรื่องที่คิดเหมือนกับเรา จึงไม่ควรมองเห็นเขาเป็นศัตรูเพียงเพราะว่าคิดต่างจากเราในเรื่องนี้หรือ เรื่องนั้น จะว่าไปแล้วคนเราทุกคนมีความเหมือนมากกว่าความต่าง ถ้าเราไปติดอยู่กับความต่าง เราจะมองกันเป็นศัตรูได้ง่าย แล้วความโกรธเกลียดจะเผาลนจิตใจเรา แต่ถ้าเรามองไปที่ความเหมือนให้มากๆ จะพบว่าเราเป็นเพื่อนกัน รักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน

นอกจากมองกว้างแล้ว ควรมองให้ไกลด้วย วันนี้เรากับเขาอาจอยู่คนละมุม แต่พรุ่งนี้เรากับเขาอาจร่วมมือร่วมใจกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ ดังคนไทยทั้งประเทศได้แสดงให้เห็นเมื่อครั้งร่วมใจกู้ภัยสึนามิมาแล้ว เพราะ ฉะนั้นแม้จะขัดแย้งกัน แต่อย่าทะเลาะกันจนมองหน้าไม่ติด เพราะวันพรุ่งนี้เราอาจจำเป็นต้องมาจับมือกันก็ได้

ที่สำคัญก็คือคนที่เห็นต่างจากเราบางคนก็เป็นคู่รัก เป็นญาติพี่น้อง หรือมิตรสหาย เราจะต้องมีชีวิตร่วมกันไปอีกนาน ดังนั้นจะทะเลาะวิวาทกันไปทำไม พึงตระหนักว่าประเด็นการเมืองที่ขัดแย้งกันนั้น ส่วนใหญ่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานก็สร่างซาไป ไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่อีกต่อไป แต่หากเราทะเลาะกันจนมองหน้าไม่ติดแล้ว ความบาดหมางจะกินใจทุกฝ่ายไปอีกนาน จึงควรพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ที่จะต้องวิวาทกันในเรื่องการเมืองที่หาความแน่ นอนไม่ได้

ประการสุดท้ายคือ . แผ่เมตตาให้คู่กรณีที่อยู่คนละฝ่ายกับเราบ้าง พึงตระหนักว่า ความโกรธเกลียดไม่เป็นผลดีแก่จิตใจของเรา ทุกครั้งที่เรารู้สึกโกรธเกลียด มีจิตปรารถนาร้ายต่อใคร คนแรกที่ถูกทำร้ายคือเรา ความโกรธเกลียดนั้นทำร้ายเราก่อนที่จะไปทำร้ายคนอื่นเสียอีก เพียงแค่คิดถึงเขาก่อนนอน ก็อาจทำให้เรานอนไม่หลับ เกิดความเครียด ความดันโลหิตขึ้น อย่าปล่อยให้ความโกรธเกลียดบั่นทอนจิตใจของเรา ขับไล่ความโกรธเกลียดไปด้วยการแผ่เมตตา

ทุกคืนก่อนนอน ลองแผ่เมตตาให้เขาด้วยความปรารถนาดี ขอให้เขาหลุดพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์ ขอให้ความโลภ โกรธ หลงอย่าได้เกาะกุมจิตใจเขาเลย ขอให้เขามีสัมมาทิฏฐิและมีโอกาสเข้าถึงความสงบสุขที่ลึกซึ้งในชีวิต เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์พบเห็นภาพของคู่ตรงข้ามที่เราไม่ชอบใจ แผ่เมตตาทำนองนี้ให้เขาด้วยก็ดี อย่างน้อยใจเราจะได้ไม่เร่าร้อนหรือถูกเผาลนด้วยความโกรธเกลียด

ไม่มีทางลัดสู่ความสงบ ยอมเสียเวลาดีกว่าเสียเลือดเนื้อ
วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2553 มติชนออนไลน์

Sunday, April 4, 2010

ทอดผ้าป่าสร้างพระวิหารวัดสันคะยอม

ตามที่พระวิหารวัดสันคะยอม ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้ถูกเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 คณะศรัทธา พุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งกองผ้าป่าเพื่อสมทบทุนสร้างพระวิหารใหม่เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ โดยได้นำไปทอดถวายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2553 โดยได้เงินทำบุญจากผู้มีจิตอันเป็นกุศลทั้งสิ้น 53,887 บาท จึงเรียนมาเพื่อโปรดอนุโมทนาในบุญกุศลครั้งนี้โดยทั่วกัน


จารึกการสร้างพระวิหารหลังเก่าเมื่อ พ.ศ. 2503


พระพุทธรูปที่เหลือจากเพลิงไหม้พระวิหาร



พระพุทธรูปที่เหลือจากเพลิงไหม้พระวิหาร


พระพุทธรูปไม้สักที่ถูกเพลิงไหม้


พระพุทธรูปไม้สักที่ถูกเพลิงไหม้


พระพุทธรูปที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้



รูปภาพและผ้ายันต์ที่เหลือจากเพลิงไหม้


บริเวณที่ตั้งพระวิหารเดิมได้รับการปรับแต่งพื้นที่แล้ว


พระประธานในพระวิหารเดิมได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้


พระประธานในพระวิหารหลังเดิม ปัจจุบันอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลาการเปรียญ


พระพุทธรูปในศาลาการเปรียญ


องค์ผ้าป่าก่อนถวาย


พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี

Thursday, April 1, 2010

สมเด็จ พระเทพฯ องค์"วิศิษฏศิลปิน"

สมเด็จ พระเทพฯ องค์"วิศิษฏศิลปิน"


ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนและเยาวชนมีจิตสำนึกรักและหวงแหนมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ของชาติไทย โดยการรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนมีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้า ของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และร่วมรับผิดชอบดูแลทำนุบำรุงรักษาไว้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น ลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถาน โบราณวัตถุให้น้อยลง

นอก จากจะเป็นวันที่ต้องการให้ประชาชนชาวไทยรำลึกถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติแล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้วันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นวันเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวัน พระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เวียนมาบรรจบครบรอบ 30 ปี ในวันที่ 2 เม.ย. 2528 ที่พระ องค์ทรงเป็นองค์เอกอัครราชูปถัมภก มรดกวัฒนธรรมไทย และสนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงานวัฒนธรรมของชาติตลอดมา พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณีย กิจ และราชจริยวัตรในด้านอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่างๆ ทั้งด้านพุทธศาสนา ภาษาไทยและวรรณกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี งานช่าง สถาปัตยกรรมและดนตรีไทย


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน ทั้งงานพระราชนิพนธ์ต่างๆ ทั้งประเพณีวัฒน ธรรม ภาษา และศาสนา ด้านการประพันธ์พระองค์ทรงสนพระทัยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เนื่องด้วยทรงเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จนได้รับฉายาว่า "หนอนหนังสือ" ทำให้ทรงมีความรู้มากมาย พระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมถึงพระราชนิพนธ์แปลต่างๆ อาทิ วรรณวลี ซึ่งพระราชนิพนธ์เป็นบทร้อยกรอง กษัตริยานุสรณ์ พระราชนิพนธ์เป็นโคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พุทธศาสนาสุภาษิตคำโคลง พระราชนิพนธ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 38 พรรษา เดินตามรอยพ่อ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งพระทัยในพระราชกรณียกิจ ด้านต่างๆ เพื่อประชาชนชาวไทยทั้งของพระองค์เองและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ได้รับความนิยมมาก




เมื่อทรงมีโอกาสเสด็จประพาสต่างประเทศ จะทรงนำประสบการณ์ที่ทรงประสบมานิพนธ์เป็นหนังสือซึ่งมีคุณค่าทางประวัติ ศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีของประเทศนั้นเป็นอย่างดี

ด้านดนตรีไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดเป็นอย่างมาก ทรงหัดเริ่มเล่นซอด้วงก่อนเป็นอันดับแรก และทรงเล่นมาตลอดจนมีความสามารถในการเล่นยอดเยี่ยม

พระราชนิพนธ์ตอน หนึ่งในเรื่อง "เหตุใดข้าพเจ้าจึงชอบเล่นดนตรีไทย" ความว่า "ดนตรีไทยนี้เล่นแล้วติดจริงๆ สบโอกาสเมื่อไรก็ต้องไปฟัง แต่ก่อนอธิบายได้ว่าชอบเพราะชาตินิยม หลังๆ นี้ชอบเพราะฟังแล้วสนุกตื่นเต้น มีทุกรส..." นอกจากจะโปรดการเล่นดนตรีไทยแล้ว ยังทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง เพลงแรกที่นิพนธ์ คือ เพลงส้มตำ ซึ่งเป็นที่นิยมและชื่นชอบของประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่เข้าใจง่าย ใช้ภาษาสละสลวย พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์อีกหลายเพลง เช่น เต่ากินผักบุ้ง เต่าเห่

ด้วย พระอัจฉริยภาพของพระองค์ ในปีพ.ศ. 2546 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติทูล เกล้าฯ ถวายพระสมัญญา "วิศิษฏศิลปิน" แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นศิลปินผู้มีอัจฉริยภาพหลายสาขาเป็นที่ยอมรับ ประจักษ์ชัดในวงการศิลปะ

ในวันที่ 2 เมษายน 2553 วันอนุรักษ์มรดกไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงเชิญชวนประชาชนชาวไทย ตระหนักถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมของชาติ ร่วมกันหวงแหน อนุรักษ์ และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทยของเราให้ดำรงอยู่ สมกับที่พระองค์ท่านบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันก่อเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจักได้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยของเราสืบไป

หน้า 25
วันที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7064 ข่าวสดรายวัน

Wednesday, March 31, 2010

๒๒๓ ปี พระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว




ด้วยความสำนึุกในพระมหากรุณาธิคุณ

"ด้วยก่อน เก่าเหล่าลูกตระกูลปราชญ์
ทั้งเชื้อชาติชนผู้ดีมียศศักดิ์
ย่อมหัดฝึกศึกษาข้างอาลักษณ์
ล้วนรู้หลักพากย์พจน์กลบทกลอน

ทุกวันนี้มีแต่พาลสันดานหยาบ
ประพฤติบาปไปเสียสิ้นแผ่นดินกระฉ่อน
จะหาปราชญ์เจียนจะขาดพระนคร
จึงขอพรพุทธาไตรญาคุณ

อันกุลบุตรจะสืบสายไปภายหน้า
จงปรีชาแช่มชื่นทุกหมื่นขุน
ให้ฝักใฝ่ในกุศลผลบุญ
อย่ามัวมุ่นฝิ่นฝาสุราบาน

พึงส้องเสพสัปปุรุสสุจริต
รู้ชั่วชอบประกอบกิจเป็นแก่นสาร
สดับเรื่องเรืองปัญญาปรีชา ชาญ
สุภาษิตพิสดารหมั่นอ่านเรียน"

(คัดลอกตามต้นฉบับ)

Wednesday, March 10, 2010

ปาฏิหาริย์นวดมือบำบัด 15 อาการยอดฮิต (ชีวจิต)

ปาฏิหาริย์นวดมือบำบัด 15 อาการยอดฮิต (ชีวจิต)

ใครที่มีปัญหาสุขภาพ วันนี้มีวิธีบำบัดอาการเหล่านั้นด้วยการนวดมือมาบอกต่อกัน

1. นวดกระตุ้นต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนหลักสองตัว ได้แก่ ไทร็อกซิน ซึ่งทำหน้าที่เร่งการทำงานของระบบเผาผลาญอาหาร และคาลซิโทนิน ซึ่งทำหน้าที่ลดระดับแคลเซียมในเลือด

ต่อมไทรอยด์ยังทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบภายในร่างกาย ระดับน้ำและพลังงานในเนื้อเยื่อ รวมถึงความหนาแน่นของกระดูก พัฒนาการและการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ การทรงตัว ความสงบใจ และสุขภาพโดยรวม

เราอาจกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข เบิกบาน หรือซึมเศร้า เชื่องช้า เก็บกด ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ทั้งสิ้น

วิธีการนวดมีดังนี้

- ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่ง กดที่โคนนิ้วหัวแม่มือด้านในของอีกข้างหนึ่ง

- นวดกดไล่ไปรอบ ๆ บริเวณนี้

หากมีความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ จะรู้สึกเจ็บเวลากด

2. นวดเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น

ถ้าระบบประสาทเหนื่อยล้า การทำงานของกล้ามเนื้อตาก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะกล้ามเนื้อตาทำงานภายใต้การควบคุมของระบบประสาท

การปฏิบัติเพื่อถนอมสายตานั้น ได้แก่ การออกกำลังกาย อาหารสุขภาพ พร้อมกินวิตามินเสริมบ้าง

ส่วนวิธีนวดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นมีดังนี้

- ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดกดหมุนบริเวณโคนนิ้วทุกนิ้ว นวดนานนิ้วละสอง-สามวินาที

- นวดถูให้ทั่วมือ

- นวดตามแบบข้อ 1 อีกครั้ง แต่นวดนานนิ้วละหนึ่ง-สองนาที

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ควรนวดเป็นประจำทุกวัน

นอกจากนี้แล้ว ควรนวดจุดสะท้อนตับบนมือขวา และนวดจุดสะท้อนไตของทั้งสองมือไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้ร่างกายได้ทำความสะอาดพลังงานคั่งค้าง ออกไปทางอวัยวะทั้งสองนี้ ฉะนั้น หากสุขภาพตับและไตไม่ดี มักมีปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการมองเห็นด้วยเช่นกัน

3. นวดกระตุ้นการได้ยิน

การได้ยิน คือ การเดินทางของพลังงานจากหลายส่วน ส่วนแรกคือ พลังงานเสียงที่มากระทบหูภายนอก ซึ่งสัมพันธ์กับนิ้วก้อย

ส่วนที่สองคือ พลังงานเสียงที่ผ่านเข้าไปในช่องหู ซึ่งสัมพันธ์กับนิ้วนาง

ส่วนที่สามคือ พลังงานการเคลื่อนที่ของคลื่นเสียง ที่ก่อให้เกิดอาการสั่นสะเทือนของอวัยวะภายในหู ซึ่งสัมพันธ์กับนิ้วกลาง

ส่วนที่สี่คือ พลังงานของคลื่นเสียง ที่ก่อให้เกิดอาการสั่นสะเทือนของประสาทเล็กประสาทน้อยภายในหู ซึ่งสัมพันธ์กับนิ้วชี้

ส่วนที่ห้าคือ พลังงานจากการสั่นสะเทือนของเสียงที่เดินทางไปแปลความหมายที่สมอง ซึ่งสัมพันธ์กับนิ้วโป้ง

วิธีนวดเพื่อกระตุ้นการได้ยินมีดังนี้

- นวดกดปลายนิ้วทุกนิ้ว ค้างไว้นิ้วละ 4 นาที เพื่อส่งพลังผ่านไซนัสที่สัมพันธ์กับการได้ยิน

- นวดกดจุดสะท้อนต่อมพิทูทารี ซึ่งอยู่ตรงกลางนิ้วโป้ง เพื่อเพิ่มการพลังสมอง

4. นวดแก้ไอ

จุดสะท้อนลำคอนั้นตั้งอยู่บริเวณนิ้วโป้งและนิ้วใกล้เคียง ฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นที่ลำคอ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บคอหรือไอ จึงต้องนวดกดบริเวณนั้น

วิธีการมีดังนี้คือ ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้กดบีบบริเวณโคนนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ค้างไว้นานราว 5-10 นาที

5. นวดแก้ปวดไมเกรน

อาการปวดไมเกรนเกิดจากความไม่ปกติของการไหลเวียนโลหิตในสมอง แพ้อาหารหรือความตึงเครียดของร่างกาย

การบำบัดอาการปวดไมเกรนคือ การทำให้เส้นประสาทต่าง ๆ ผ่อนคลาย พร้อมกันนั้นก็กระตุ้นให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น

วิธีการนวดมือคือ

- นวดผ่อนคลายจุดสะท้อนต่อมพิทูทารีและต่อมอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเอ็นด็อก ริน ซึ่งอยู่บริเวณนิ้วโป้ง เพื่อสร้างความสมดุลของฮอร์โมนและลดระดับสารเอ็นโดฟิน

- นวดกดจุดสะท้อนหัวใจ เพื่อให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองดีขึ้น

- นวดกดจุดสะท้อนตับ เพื่อกระตุ้นให้ตับขับสารพิษ และช่วยเสริมสร้างระบบย่อยอาหารและการดูดซึม

6. นวดแก้ปวดข้อ

ไม่ว่าสาเหตุของอาการปวดข้อจะมาจากรูมาตอยด์ เก๊าต์ หรือเอสแอลอี แต่การเยียวยาอาการก็ไม่ต่างกัน นั่นคือ ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ ลดความเครียด

การนวดมือก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวด และการฟื้นฟูการทำงานของข้อได้ เพราะการนวดมือช่วยสร้างสมดุลให้อวัยวะภายใน ด้วยการกระตุ้นระบบการไหลเวียน ขับท็อกซิน ออกไปจากระบบการทำงานส่วนนั้น ๆ

ฉะนั้นการนวดมือเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อ จึงคือการนวดต่อมต่าง ๆ ในกลุ่มเอ็นด็อกตริน

7. นวดบำบัดไฮโปไกลซีเมีย

ถึงวันนี้ เรายังรู้จักโรคไฮโปไกลซีเมียกันน้อยเหลือเกิน เพราะผู้คนไม่รู้ว่านี่คือโรค ทั้งที่ก่ออันตรายต่อชีวิต

สาเหตุหลักของโรคไฮโปไกลซีเมียคือ ระดับน้ำตาลต่ำ จึงก่อให้เกิดหลายอาการทั้งทางกายและใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล อาการที่ว่าได้แก่ กระวนกระวาย ปวดหัวไมเกรน ปวดข้อ นอนไม่หลับ ภูมิแพ้

คุณหมอส่วนใหญ่จึงรักษาไปตามอาการที่เป็น บ้างก็รักษาด้วยยาจิตเวช ซึ่งมักเป็นยาที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด อาการจึงแย่ลงไปอีก

โรคนี้ไม่เกี่ยวกับต่อมไหนทำงานน้อยหรือมาก ฉะนั้นการนวดมือบำบัดอาการของโรคไฮโปไกลซีเมีย จึงคือการกระตุ้นต่อมต่าง ๆ ในกลุ่มเอ็นด็อกตริน เพื่อกระตุ้นระบบอิมมูนซิสเต็มนั่นเอง

8. นวดแก้ผมร่วงและผมหงอก

เส้นผมมักสะท้อนสุขภาพร่างกายโดยรวม นักวิทยาศาสตร์มักแนะนำให้เรากินโปรตีน ซิลิก้า และแคลเซียม เพื่อเส้นผมสวยแข็งแรง แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าพลังงานไฟฟ้าสถิตย์จากเล็บนั้น ช่วยเสริมสุขภาพเส้นผมได้

การนวดจุดสะท้อนเส้นผม ซึ่งอยู่บริเวณเล็บมือของเรา จึงช่วยยับยั้งการหลุดร่วงและหงอกก่อนวัยได้

- กำมือทั้งสองข้างไว้หลวม ๆ ประกบกำมือทั้งสองข้างเข้าหากัน โดยให้เล็บทั้งสองมือชนกัน

- ถูเล็บมือซ้ายกับเล็บมือขวาเร็ว ๆ

ทำท่านี้วันละหนึ่งครั้ง ๆ ละ 5 นาที

9. นวดแก้ปวดหลัง

ลังและกระดูกสันหลังมีส่วนสำคัญต่อระบบสุขภาพโดยรวมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งรวมเส้นประสาทสำคัญมากมาย ทำให้ร่างกายคนเราจะสมบูรณ์แข็งแรงไม่ได้ หากกระดูกสันหลังไม่เรียงกันอยู่ในแนวปกติ

การนวดกดจุดสะท้อนหลังคือ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังจากความตึงเครียด ดังนี้

- นวดกดจุดสะท้อนกระดูกสันหลังส่วนเซอวิคอล (บริเวณต้นคอ) ซึ่งอยู่บริเวณข้อแรกของนิ้วโป้งมือซ้าย

- นวดกดจุดสะท้อนกระดูกสันหลังส่วนอื่น ๆ ซึ่งอยู่บริเวณข้อแรกของนิ้วโป้งมือขวา

10. นวดกระตุ้นการย่อยอาหาร

กระเพาะอาหารมีหน้าที่ย่อยทุกสิ่งทุกอย่างที่ร่างกายกินผ่านปากเข้าไป ซึ่งบ้างก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย บ้างก็ทำลายกระเพาะอาหาร และทุกระบบของร่างกาย

เมื่ออาหารผ่านเข้าปาก การเคี้ยวบดอาหารในปากให้ละเอียดนั้น ช่วยผ่อนแรงกระเพาะอาหารได้อักโข แถมยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย

การนวดกดจุดสะท้อนกระเพาะอาหาร จึงคือการกระตุ้นประสิทธิภาพการย่อยอาหารให้ดีขึ้น ซึ่งมีท่าดังนี้คือ

- ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางมือขวา จับบริเวณจุดสะท้อนกระเพาะอาหาร ซึ่งอยู่บริเวณจุดตัดของโคนนิ้วโป้งและนิ้วชี้มือซ้าย

- กดคลึงจุดนั้นด้วยนิ้วโป้ง ขณะที่นิ้วชี้และนิ้วกลางกึ่งประคองกึ่งกดด้านหลังมือเอาไว้

11. นวดบำรุงหัวใจ

หัวใจมีหน้าที่นำออกซิเจนผ่านกระแสเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนำกลับเข้ามาเติมออกซิเจน โดยกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งนาที

ปกติกล้ามเนื้อหัวใจมีบทบาทในการทำหน้าที่นี้ ผ่านกริยาการบีบตัว โดยเราสามารถสังเกตได้จากการที่หัวใจเต้นตุบ ตุบ ทุกครั้งที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวแล้ว กล้ามเนื้อหัวใจต้องการช่วงเวลาพักนานกว่าจังหวะการบีบตัวเสียอีก

การนวดกดจุดสะท้อนหัวใจ จึงเป็นการบริหารกล้ามเนื้อหัวใจให้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น วิธีการคือ

- หาตำแหน่งของจุดสะท้อนหัวใจบนมือ นั่นคือ บริเวณกลางฝ่ามือ ใต้นิ้วนางของมือซ้าย

- กดจุดนั้นด้วยนิ้วโป้งซ้าย อีกสี่นิ้วที่เหลือ ประคองหลังมือ และกดจิกหลังมือไว้

12. นวดแก้อาการเป็นลม

อาการเป็นลม มีสาเหตุจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้สมองขาดออกซิเจน การนวดมือคือ การช่วยกระตุ้นให้มีเลือดไหลเวียนในสมองอย่างเพียงพอ

นวดกดจุดสะท้อนสมองซึ่งคือส่วนปลายสุดของทุกนิ้ว โดยเฉพาะหัวแม่มือ วิธีการคือ

- เริ่มออกแรงกดปลายสุดของหัวแม่มือซ้ายด้วยหัวแม่มือขวา หมุนวน

- หากพบจุดที่นุ่มมากผิดปกติบนปลายหัวแม่มือ นั่นสะท้อนว่าสมองมีปัญหา ให้กดนวดปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางด้วย เพื่อกระตุ้นสมองให้ควบคุมการทำงานของประสาทส่วนกลาง

ถ้ายังรู้สึกมึนงงอยู่ ให้กดนวดปลายนิ้วนางและนิ้วก้อยด้วย

13. นวดกระตุ้นตับ

ตับมีหน้าที่ขับของเสียและพิษออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สะสมวิตามินบางอย่าง เพื่อร่างกายไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น วิตามินเอ บี ดี และเหล็ก

ปกติตับจะมีความสามารถในการเยียวยาตัวเองได้ เช่น ถ้าส่วนหนึ่งของตับถูกทำลายไป ตับก็จะสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน

การนวดกระตุ้นตับคือ การนวดเพื่อกระตุ้นศักยภาพในการสร้างเซลล์ใหม่ของตับนั่นเอง วิธีคือ

- หาตำแหน่งของจุดสะท้อนตับบนมือ นั่นคือ บริเวณกลางฝ่ามือ ใต้นิ้วนางของมือขวา

- กดจุดนั้นด้วยนิ้วโป้งซ้าย นวดถูไปมา ให้กินพื้นที่บริเวณจุดสะท้อนปอดด้วย

- สลับนวดมือซ้าย เพื่อนวดจุดสะท้อนหัวใจซึ่งอยู่ตำแหน่งเดียวกับตับ

14. นวดกระตุ้นไต

ไตมีหน้าที่กรองของเสียออกจากกระแสเลือด โดยส่งของดีกลับขึ้นไปฟอกต่อที่หัวใจ ส่วนของเสียก็ผสมกับน้ำและขับออกเป็นปัสสาวะ การนวดมือคือการกระตุ้นให้กระบวนการกรอง และขับของเสียมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การนวดกระตุ้นจุดสะท้อนไตมีดังนี้

- หงายมือข้างซ้ายเข้าหาลำตัว

- ใช้นิ้วแม่มือขวากดจุดสะท้อนไต ซึ่งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้

- ออกแรงกดและหมุนไปรอบ ๆ บริเวณ นานราวสองสามวินาที

- สลับนวดมือขวาด้วยนิ้วโป้งข้างซ้าย

หากคุณหมอตรวจพบว่า ไตมีความผิดปกติ เราไม่ควรนวดกดจุดสะท้อนไตนานเกินไป

15. นวดคลายอาการปวดประจำเดือน

ความทรมานระหว่างวันนั้นของเดือน มักส่งผลต่ออารมณ์ของหญิงสาวหลายคน

เราสามารถเยียวยาอาการปวดประจำเดือนได้ด้วยการนวดมือดังนี้

- ยกมือขวาขึ้นตั้งขนานกับลำตัว บิดข้อมือไปทางด้านหลัง

- ยกมือซ้ายจับข้อมือขวา กดบริเวณข้อมือขวาให้แน่นด้วยนิ้วกลางและนิ้วนาง ทิ้งไว้ 3-15 นาที จึงค่อย ๆ คลายออก

- ทำสลับข้าง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://board.palungjit.com/f9/ปาฏิหาริย์นวดมือบำบัด-15-อาการยอดฮิต-230393.html